นับตั้งแต่เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต เราอาจได้เห็นดราม่ารายสัปดาห์ (หรือรายวัน?) เกี่ยวกับปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะอินเทอร์เน็ตทำให้ข้อมูลสามารถส่งต่อกันในราคาประหยัด แถมเทคโนโลยีก็ทำให้ทุกคนสามารถจัดเก็บไฟล์จำนวนมหาศาลในราคาที่เอื้อมถึงได้ การถือกำเนิดของบิตทอร์เรนท์ (BitTorrent) ระบบการแชร์ไฟล์แบบผู้ใช้ถึงผู้ใช้ (Peer-to-Peer) ทำให้การจัดการปัญหาไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นยากเย็นแสนเข็ญ เพราะแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะตามจับผู้ใช้ทั้งหมด แถมยังไม่มีเครื่องเซิร์ฟเวอร์กลางให้ยึดทำลายอีกด้วย
บางครั้งปัญหาก็กรุ่นอยู่ในโซเชียลมีเดียที่มักเจอกับหลากหลายบทความหรือข้อความที่ ‘ก็อปแปะ’ ของสำนักข่าว ผู้มีชื่อเสียง และสารพัดเพจ หลายครั้งกระทำโดยไม่ได้ขออนุญาต เกิดเป็นข้อขัดแย้งในแง่การละเมิดลิขสิทธิ์ที่บางครั้งจบแค่การออกจดหมายขอโทษ บางกรณีถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลก็มี
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ (Copyright Protection) คือกฎหมายที่สร้างขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิในสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นสารพัดวรรณกรรม เพลง การแสดง ไปจนถึงซอฟต์แวร์ ซึ่งใช้ต้นทุนทั้งเงินและเวลาจำนวนมากในการเรียบเรียงพัฒนา แต่ใช้ต้นทุนน้อยมากในการที่จะลอกเลียนและผลิตซ้ำ
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น บทความชิ้นนี้ ผมใช้เวลาร่วมวันในการศึกษาเอกสารงานวิจัย อ่านทำความเข้าใจ แล้วจึงนำมาเรียบเรียงให้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่ทุกคนที่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาที กด Ctrl + C แล้วไปแปะไว้ในหน้าเว็บไซต์หรือบล็อกของตัวเองโดยได้ผลลัพธ์หน้าตาเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว แล้วอาจใช้เวลาอีก 15 วินาทีใส่ชื่อของท่านว่าเป็นผู้เขียน เพียงเท่านี้ ผู้เยี่ยมชมบล็อกก็อาจเข้าใจว่าคุณคือผู้เขียนบทความชิ้นนี้ไปโดยปริยาย โดยที่ผมอาจทำได้แค่มองตาปริบๆ หากไม่มีกฎหมายคุ้มครอง
ลองคิดดูเล่นๆ นะครับ หากไม่มีการคุ้มครองสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ใครจะมาลงทุนลงแรงสร้างสรรค์ผลงาน สู้เอาเวลาไปหมักหมูมาปิ้งขายหน้าปากซอยน่าจะดีกว่า
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปทำความเข้าใจข้อดีและข้อด้อยของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ แล้วคุ้มครองแค่ไหนจึงจะพอดี ไปจนถึงกระแสใหม่ว่าด้วยลิขซ้าย (Copyleft) ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของลิขสิทธิ์ และผลักดันให้มีการแบ่งปันผลงานสร้างสรรค์อย่างมีเงื่อนไข
คุ้มครองลิขสิทธิ์มากเกินไป ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี
หากจะทำความเข้าใจเหรียญสองด้านของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ วิธีที่ง่ายที่สุดคือแบ่งการพิจารณาจากสองมุมมองคือฝั่งอุปสงค์และอุปทาน นั่นก็คือการมองจากมุมผู้ผลิตและผู้บริโภคนั่นเอง
ในฝั่งผู้ผลิต แน่นอนว่ากฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ย่อมสร้างผลประโยชน์ทางการเงินให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงาน โดยในช่วงเวลาที่คุ้มครองนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ต่างจากผู้ผูกขาดสินค้าและบริการเพียงลำพังจึงสามารถรับผลประโยชน์ได้แบบเต็มๆ โดยปกติแล้วจะคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์ และกำหนดระยะเวลาการคุ้มครองหลังจากเสียชีวิต เช่น 50 ปีสำหรับประเทศไทย นั่นหมายความว่าลิขสิทธิ์นั้นจะกลายเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลาน ก่อนจะกลายเป็นสิ่งของสาธารณะในท้ายที่สุด
ในทางทฤษฎี กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ย่อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตสร้างสรรค์ผลงานมากขึ้น แม้การศึกษาเชิงประจักษ์อาจไม่ได้มีหลักฐานที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนมากนัก แต่หลายชิ้นก็ระบุว่าการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เข้มแข็งจะช่วยให้ผู้สร้างสรรค์ผลิตผลงานออกมามากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็อาจไม่ได้ชัดเจนมากนัก เนื่องจากมีคนจำนวนเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ร่ำรวยจากค่าลิขสิทธิ์ เช่น ในประเทศเยอรมนี นักเขียนส่วนใหญ่มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ต่ำว่ารายได้เฉลี่ย และมักจะมี ‘งานที่สอง’ เพื่อยังชีพ หรือศิลปินนักร้องไม่ถึงร้อยละ 10 ที่มีรายได้ลิขสิทธิ์มากกว่าการขายบัตรคอนเสิร์ต
ในฝั่งผู้บริโภค หากกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้น้ำหนักกับผู้ผลิตมากเกินไปหรือมีการคุ้มครองที่กว้างเกินไป ก็ย่อมทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในกลุ่มที่เสียเปรียบเนื่องจากต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น หรือเผชิญกับความยุ่งยากจากการถูกฟ้องร้อง
การศึกษาเชิงประจักษ์ของความยินดีจะจ่ายในสินค้าที่มีลิขสิทธิ์มีไม่มากนักจึงยากจะสรุปว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ส่งผลต่อผู้บริโภคอย่างไร แต่การศึกษาซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้นมีอยู่ค่อนข้างมาก โดยพบว่าการถือกำเนิดของโลกอินเทอร์เน็ตนั้นทำให้ตลาดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เติบโตขึ้น และย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าถูกกฎหมาย โดยมีตัวเลขอยู่ที่ราวร้อยละ 6 ถึงร้อยละ 30 ของยอดขาย
แต่หากไม่มีการคุ้มครองลิขสิทธิ์เมื่อไร ผู้บริโภคย่อมได้ประโยชน์เต็มๆ เพราะสามารถซื้อหาสินค้าได้ในราคาประหยัด การคุ้มครองลิขสิทธิ์จึงต้องออกแบบอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ฝั่งใดได้ประโยชน์มากเกินไป
คุ้มครองแค่ไหนจึงจะพอดี
คำถามต่อไปคือคุ้มครองแค่ไหนจึงจะพอดี?
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงกันมากหลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาผ่านกฎหมายขยายอายุลิขสิทธิ์ปี 1988 (1998 Copyright Term Extension Act) โดยมีผลย้อนหลัง ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือล็อบบี้ยิสต์สำนักดิสนีย์ที่ต้องการเก็บเกี่ยวรายได้จากตัวละครอย่างมิกกี้เมาส์ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ถูกตั้งชื่อเล่นว่ากฎหมายคุ้มครองมิกกี้เมาส์ (Mickey Mouse Protection Act) ซึ่งขยายการคุ้มครองจากเดิม 50 ปีเป็น 70 ปีหลังจากที่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต
การแก้กฎหมายของสหรัฐอเมริกาย่อมส่งผลกระทบต่อคู่ค้าทั่วโลก เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งถูกโจมตีจากนักเศรษฐศาสตร์ว่านานเกินไป โดยเอื้อประโยชน์ให้กับคนเพียงบางกลุ่มเนื่องจากผลงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่แทบไม่ได้ถูกผลิตซ้ำหลังจากเจ้าของความคิดเสียชีวิตไปแล้ว มีเพียงผลงานคลาสสิกไม่กี่ชิ้นที่อยู่เหนือกาลเวลาซึ่งควรจะตกเป็นสมบัติสาธารณะเพื่อเป็นฐานของการก่อร่างสร้างไอเดียใหม่ๆ รวมถึงผลักดันให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ เนื่องจากมรดกตกทอดเดิมไม่สามารถนำมาหากินได้อีกต่อไป
มิเคลา จิโอเชลลี (Michela Giorcelli) และเปตรา โมเซอร์ (Petra Moser) สองนักเศรษฐศาสตร์หัวใสพาเราย้อนเวลาเพื่อหาคำตอบ โดยใช้ช่วงเวลารุ่งโรจน์ของจอมทัพนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ที่เข้ายึดและควบคุมภูมิภาคทางเหนือของอิตาลีในราวปลายคริสตศตวรรษที่ 18 และได้นำเอากฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ไปใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2344 ในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งรวมถึงเมืองเวนิสและมิลาน โดยจะคุ้มครองตลอดชีวิตผู้สร้างสรรค์กระทั่ง 10 ปีหลังจากเสียชีวิต อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกบังคับใช้ทางตอนใต้ของอิตาลีอย่างกรุงโรม
ทั้งสองศึกษาอุปรากรอิตาเลียนหรือโอเปราซึ่งผลิตขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2313 ถึง พ.ศ. 2443 แล้วได้ข้อสรุปที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่นโปเลียนประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ ภูมิภาคทางตอนเหนือของอิตาลีเช่นเวนิสได้กลายเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์โอเปรา โดยประมาณการว่ามีผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 150 เปอร์เซ็นต์
สิ่งที่น่าสนใจของการศึกษาชิ้นนี้คือ ภายหลังการประกาศคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว ยังมีการปรับแก้ไข ยืดระยะเวลาคุ้มครองออกไปหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งทั้งสองพบว่าผลประโยชน์จากการขยายระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์นั้นจะเพิ่มขึ้นถึง 30 ปีหลังจากเสียชีวิต แต่หากเพิ่มเป็น 40 ปีหลังจากเสียชีวิต จำนวนผลผลิตก็จะเริ่มลดลง
เราอาจอนุมานจากผลการศึกษาชิ้นนี้ว่า การคุ้มครองลิขสิทธิ์ของไทยที่ 50 ปี หรือของสหรัฐอเมริกาที่ 70 ปีหลังจากผู้ประพันธ์เสียชีวิตเป็นการคุ้มครองที่เกินพอดี และอาจทำให้เราเสียโอกาสได้เห็นผลงานสร้างสรรค์ชิ้นใหม่ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
ลิขซ้าย กระแสใหม่ขั้วตรงข้ามลิขสิทธิ์
โลกในยุคดิจิทัลมาพร้อมกับความกังขาถึงคุณค่าของลิขสิทธิ์ เช่น ลิขสิทธิ์ในซอฟต์แวร์ซึ่งโปรแกรมเมอร์หลายคนมองว่านำโค้ดมาจำหน่ายในราคาขูดเลือดขูดเนื้อ หากเผยแพร่ออกไปในวงกว้างย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะคนอื่นๆ ก็สามารถนำความรู้ดังกล่าวไปต่อยอดได้
ในอดีต เรามีสองทางเลือกคือจดลิขสิทธิ์ซึ่งผลงานจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หรือปล่อยผลงานให้เป็นของสาธารณะซึ่งไม่มีกฎหมายใดคุ้มครอง โอกาสดังกล่าวทำให้การให้สิทธิรูปแบบใหม่งอกเงยขึ้นมานั่นคือ ‘ลิขซ้าย (Copyleft)’ ซึ่งผู้สร้างสรรค์ผลงานยังคงมีสิทธิเหนือผลงานชิ้นนั้นๆ แต่สามารถกำหนดขอบเขตการใช้งานต่อได้ โดยแบ่งออกเป็นระดับต่างๆ ดังนี้
เสรีภาพ 0 – เสรีภาพในการนำผลงานไปใช้
เสรีภาพ 1 – เสรีภาพในการนำผลงานไปศึกษา
เสรีภาพ 2 – เสรีภาพในการลอกเลียนและแบ่งปันผลงานให้ผู้อื่น
เสรีภาพ 3 – เสรีภาพในการปรับเปลี่ยนแก้ไข แล้วนำผลงานใหม่ไปเผยแพร่ต่อได้
แนวคิดลิขซ้ายถูกนำไปใช้จริงกับผู้สร้างสรรค์บางกลุ่ม ซึ่งไม่ได้สนใจผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินมากนัก แต่อาจได้รับรางวัลอื่นๆ ที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น ได้ใช้เวลาฝึกทักษะ ได้พูดคุยกับคนคอเดียวกัน สนุกสนานกับการแก้ปัญหาใหม่ๆ รวมถึงได้รับการยอมรับจากชุมชนที่ผลงานของตนเองเผยแพร่ โดยลิขซ้ายได้ถูกทำให้กลายเป็นรูปธรรม เช่น การจดทะเบียนแบบใบอนุญาตแก่สาธารณะ (General Public License: GPL) โดยมูลนิธิฟรีซอฟต์แวร์ (Free Software Foundation) หรือสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons License: CC)
แม้เราอาจจะไม่คุ้นตากับแนวคิดเหล่านี้ แต่ซอฟต์แวร์จำนวนมากซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของอินเทอร์เน็ตก็อยู่ในระบบโอเพนซอร์ซ (อ่านเพิ่มเติมได้ใน เปิดโลกโอเพนซอร์ซ – แพลตฟอร์มอาสาสมัครที่อาจไปไกลกว่าแรงผลักจากทุนนิยม) โดยซอฟต์แวร์เหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ที่หากพูดชื่อไปแล้วเหล่าโปรแกรมเมอร์ต้องร้องอ๋อ
อย่างไรก็ดี หลายคนก็ทำนายว่าแทบไม่มีทางเป็นไปได้ที่ลิขซ้ายจะมาทดแทนลิขสิทธิ์ได้ทั้งหมด (เว้นแต่ว่าเราจะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในระดับโครงสร้าง) แต่เรื่องในอนาคตคงยากที่จะคาดเดานะครับ เพราะวันหนึ่งประชาชนอาจเบื่อหน่ายกับระบบลิขสิทธิ์ และทนไม่ไหวกับการเอารัดเอาเปรียบของผู้สร้างสรรค์บางกลุ่มที่รวยล้นฟ้าและยังพยายามทุกวิถีทางเพื่อกุมลิขสิทธิ์เหล่านั้นไว้กับตัว
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ก็เช่นเดียวกับกฎหมายข้ออื่นๆ ที่เปรียบเสมือนดาบสองคม ที่ต้องระมัดระวังในการแกว่งไกวเพื่อหาสมดุลระหว่างสองด้านและบรรลุประโยชน์สูงสุดของสังคม
เอกสารประกอบการเขียน
Economic Analysis of Intellectual Property
Copyrights and Creativity: evidence From Italian Operas
Technology Trend: Intellectual Property and Creative Commons
Copyleft – the economics of Linux and other open source software
Copyleft vs. Copyright: 3 Key Concepts You Need to Know
Tags: copyleft, งานสร้างสรรค์, โอเพนซอร์ซ, ลิขสิทธิ์, ลิขซ้าย