นิตยสาร TIME จัดลำดับเว็บไซต์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด 15 เว็บไซต์ ซึ่งส่วนใหญ่คือเว็บไซต์ที่เรารู้จักกันดี ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Amazon หรือ eBay ชื่อเหล่านี้มักมาพร้อมกับภาพเหล่าเศรษฐีวัยกลางคนที่ร่ำรวยหลายพันล้านดอลลาร์จากคลื่นอินเทอร์เน็ต แต่ยังมีอีกหนึ่งเว็บไซต์ที่เป็นคู่หูคู่ใจในวันที่ต้องทำรายงาน และเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการขุดค้นข้อมูลในฐานะสารานุกรมขนาดยักษ์ออนไลน์ เว็บไซต์นั้นคือ Wikipedia ที่แต่ละเดือนมีการเข้าชมเว็บไซต์กว่า 20,000 ล้านครั้ง จากผู้ใช้กว่า 516 ล้านคน

หลายคนอาจแปลกใจ หากรู้ว่า จิมมี เวลส์ (Jimmy Wales) ผู้ก่อตั้ง Wikipedia มีสินทรัพย์รวมราวหนึ่งล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวชนชั้นกลางระดับบนในสหรัฐอเมริกา

แน่นอนครับ เขาคงรวยไปแล้วหากแสวงหากำไรจาก Wikipedia โดยการขายโฆษณาเช่นเดียวกับ Google แต่เขาเลือกที่จะถ่ายโอนการบริหารจัดการทั้งหมดไปยังมูลนิธิ Wikimedia และระดมเงินบริจาคจากมวลชน ปัจจุบัน Wikipedia มีอาสาสมัครกว่า 100,000 คนคอยแก้ไขบทความและเนื้อหากว่า 270 ภาษาบนเว็บไซต์ นี่คือตัวอย่างใกล้ตัวของหลักการโอเพนซอร์ซ (Open-Source) ที่เชื่อในการระดมความรู้จากมวลชนอาสาสมัคร (Crowdsourcing) รวมถึงการแบ่งปันความรู้ดังกล่าวโดยไม่ได้คิดค่าลิขสิทธิ์ตามโมเดลธุรกิจดั้งเดิมของโลกทุนนิยม

ก่อนที่เราจะไปตามหาแรงผลักที่ขับเคลื่อนเหล่าอาสาสมัครให้มา ‘ทำงานฟรี’ บนเว็บไซต์หรือโปรแกรมโอเพนซอร์ซ ผู้เขียนขอพาย้อนกลับไปรู้จัก ‘ราก’ ของแนวคิดดังกล่าวซึ่งเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมพัฒนาซอฟต์แวร์

เมื่อ 60 ปีก่อนคือยุคแห่งการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ซแต่ไร้อินเทอร์เน็ต ผ่านการร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการจากสถาบันวิจัยทั้งในบริษัทและรั้วมหาวิทยาลัย เช่น ภาษา C และระบบปฏิบัติการ Unix

การเกิดขึ้นของโครงข่ายระหว่างคอมพิวเตอร์เป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1979 ทำให้การร่วมมือพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น แต่ปัญหาก็ตามมาหลังจาก AT&T Bell Laboratories พยายามใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญากับผู้ใช้ Unix เพื่อแสวงหากำไร

หลักการโอเพนซอร์ซ (Open-Source) เชื่อในการระดมความรู้จากมวลชนอาสาสมัคร (Crowdsourcing) รวมถึงการแบ่งปันความรู้ดังกล่าวโดยไม่ได้คิดค่าลิขสิทธิ์ตามโมเดลธุรกิจดั้งเดิมของโลกทุนนิยม

เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำรอย มูลนิธิฟรีซอฟต์แวร์ (Free Software Foundation) ได้คิดค้นการจดทะเบียนแบบใบอนุญาตแก่สาธารณะ (General Public License: GPL) ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าผู้ใช้จะไม่กระทำการใดๆ ที่จำกัดการเข้าถึงซอร์ซโค้ดที่ตัวเองเขียนขึ้น นอกจากนี้ ซอร์ซโค้ดที่พัฒนาต่อยอดจากโค้ดดั้งเดิมก็จะตกอยู่ภายใต้ข้อตกลงเดียวกันนี้

ใน ค.ศ. 1997 องค์กร Debian ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและเผยแพร่ระบบปฏิบัติการโอเพนซอร์ซ Linux ก็ได้กำหนดนิยามโอเพนซอร์ซที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะนิยามดังกล่าวยืดหยุ่นกว่าการจดทะเบียนแบบ GPL โดยให้สิทธิผู้พัฒนาโปรแกรมในการระบุว่าซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่จัดจำหน่ายร่วมกับโอเพนซอร์ซซอฟต์แวร์ว่าจะจดทะเบียนในรูปแบบใด

ช่วงเวลาดังกล่าว เหล่าโปรแกรมเมอร์แบ่งออกเป็นสองค่ายใหญ่ ค่ายหนึ่งคือเหล่าผู้ศรัทธาในโลกโอเพนซอร์ซ ทำงานอาสาสมัครเพื่อพัฒนาโปรแกรมที่จะถูกนำไปแจกจ่ายโดยไม่เสียสตางค์ รวมถึงเปิดโอกาสให้เหล่าโปรแกรมเมอร์เข้าถึง ‘ซอร์ซโค้ด (Source Code)’ โดยสามารถต่อยอด แก้ไข ดัดแปลง และนำไปแจกจ่ายต่อได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ส่วนอีกค่ายหนึ่งทำงานให้บริษัทขนาดยักษ์เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์หรือระบบปฏิบัติการ ‘ถูกลิขสิทธิ์’ ซึ่งผู้บริโภคจะต้องจ่ายเงินซื้อเพื่อติดตั้ง

สงครามระหว่างสองค่ายรุนแรงแค่ไหน ผู้เขียนขอยกคำพูดของ จิม ออลชิน (Jim Allchin) อดีตผู้บริหารไมโครซอฟต์ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อ ค.ศ. 2001 ว่า “โอเพนซอร์ซคือการทำลายล้างทรัพย์สินทางปัญญา ผมคิดไม่ออกเลยว่า จะมีอะไรเลวร้ายกว่านี้สำหรับธุรกิจซอฟต์แวร์และธุรกิจทรัพย์สินทางปัญญา” ในขณะที่เหล่าโปรแกรมเมอร์โอเพนซอร์ซมองว่า การพัฒนาโปรแกรมแบบเปิดนั้นจะช่วยทำให้ซอฟต์แวร์มีราคาถูกลง ช่วยลดการแก้ปัญหาซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพ และปลอดภัยกว่า เนื่องจากสมาชิกชุมชนโปรแกรมเมอร์จะช่วยกันทดสอบระบบ แก้ไขบั๊ก รวมถึงเสนอทางออกที่หลากหลาย แถมยังไม่ต้องผูกขาดกับผู้ให้บริการเจ้าใดเจ้าหนึ่ง

สมาชิกชุมชนโปรแกรมเมอร์จะช่วยกันทดสอบระบบ แก้ไขบั๊ก รวมถึงเสนอทางออกที่หลากหลาย แถมยังไม่ต้องผูกขาดกับผู้ให้บริการเจ้าใดเจ้าหนึ่ง

หลังจากอินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย ชุมชนโอเพนซอร์ซก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เส้นทางการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะไม่ว่าโครงการไหนก็มักเผชิญความท้าทายคล้ายคลึงกัน คือ การจัดเก็บเอกสารที่ไม่เป็นระบบ ขาดหน่วยงานการสนับสนุนที่ชัดเจน หน้าตาการใช้งานที่ไม่ค่อยเหมาะกับมือใหม่สักเท่าไร และทิศทางการพัฒนาที่มุ่งตอบสนองความต้องการ ‘โปรแกรมเมอร์มือฉมัง’ ซึ่งส่วนทางกับระบบปฏิบัติการเชิงพาณิชย์อย่าง Windows ที่เน้นตอบสนองสาธารณชน

ผู้ใช้งานอย่างเราๆ ท่านๆ อาจไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของเหล่าโปรแกรมโอเพนซอร์ซ เพราะส่วนใหญ่โปรแกรมเหล่านั้นจะอยู่ ‘เบื้องหลัง’ แอปพลิเคชันที่เราใช้งานอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น Linux ระบบปฏิบัติการที่ใช้ในคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ราว 1 ใน 5 ของโลก Apache ซอฟต์แวร์ที่รันเซิร์ฟเวอร์เว็บไซต์ราว 2 ใน 3 ของโลก โปรแกรมอย่าง Sendmail ที่ใช้จัดการระบบรับส่งอีเมลทั่วโลก และ MySQL โปรแกรมฐานข้อมูลยอดนิยม

ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมอาสาสมัครเหล่านั้นจึงยอมนั่งหลังขดหลังแข็งเขียนโค้ด หรือสละเวลาว่างแก้ไขบทความใน Wikipedia แทนที่จะเอาเวลาไปนั่งดูหนัง ฟังเพลง หรือเล่นเกม หรือนี่คือสัญญาณบ่งบอกว่าทุนนิยมกำลังล้าสมัยและการร่วมมือร่วมใจของเหล่ามนุษย์จะกลายเป็นแรงผลักดันสังคมในอนาคตอันใกล้

ทำไมอาสาสมัครเหล่านั้นจึงยอมนั่งหลังขดหลังแข็งเขียนโค้ด หรือนี่คือสัญญาณบ่งบอกว่าทุนนิยมกำลังล้าสมัย

ช้าก่อนครับ ช้าก่อน เพราะงานวิจัยของศาสตราจารย์ จอร์ช เลิร์นเนอร์ (Josh Lerner) จาก Harvard Business School และนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ฌ็อง ติโรล (Jean Tirole) ได้พยายามตอบคำถามข้างต้น โดยหยิบจับกรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์มาให้คำตอบที่ง่ายแสนง่าย ว่าเหล่าอาสาสมัครทั้งหลายทำงานบนแพลตฟอร์มโอเพนซอร์ซก็เพราะ ‘ผลประโยชน์สุทธิ’ ของการทำงานดังกล่าวมีค่าเป็นบวกยังไงล่ะ

ผลประโยชน์ที่อ้างอิงถึงในบทความ ไม่ได้หมายถึงผลประโยชน์ในเชิงผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้นนะครับ แต่เป็นผลประโยชน์แบบกว้าง ซึ่งรวมถึงผลตอบแทนอื่นๆ ที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเงินได้ โดยแบ่งออกเป็นผลตอบแทนระยะสั้นและระยะยาว ส่วนต้นทุนที่อาสาสมัครแต่ละคนใช้ ก็คือค่าเสียโอกาสที่จะทุ่มเทพลังงานไปกับงานประจำหรือการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยนั่นเอง

ผลประโยชน์ระยะสั้นข้อแรก คือการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ เช่น การแก้ไขบั๊ก เป็นการใช้เวลาว่างในการลับทักษะฝีมือซึ่งสุดท้ายอาจนำทักษะเหล่านั้นไปใช้ได้ในชีวิตการทำงาน ในขณะที่การพัฒนาซอฟต์แวร์ในบริษัทอาจไม่ได้เปิดโอกาสให้โปรแกรมเมอร์เห็นภาพรวมทั้งหมดของซอฟต์แวร์ ส่วนข้อที่สองก็หนีไม่พ้นความสนุกที่ได้ลงมือทำ คล้ายกับการทำงานอดิเรก เพราะการทำโครงการโอเพนซอร์ซคือการได้พูดคุยกับผู้คนที่มีความสนใจในประเด็นเดียวกัน

ส่วนผลประโยชน์ระยะยาว ทั้งสองท่านหยิบทฤษฎีแรงจูงใจจากการส่งสัญญาณ (Signaling Incentives) กล่าวคือ การแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์บนแพลตฟอร์มโอเพนซอร์ซ เป็นการส่งสัญญาณต่อเพื่อนร่วมงาน (หรือร่วมมหาวิทยาลัย) นักลงทุน รวมถึงเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ที่พยายามเฟ้นหาโปรแกรมเมอร์หน้าใหม่เข้ามาร่วมงานในบริษัท

การส่งสัญญาณดังกล่าวคือสิ่งที่โครงการพัฒนาซอฟต์แวร์ในบริษัทส่วนใหญ่ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ เพราะในแวดวงโอเพนซอร์ซ โค้ดทุกบรรทัดต่างก็มี ‘ลายเซ็น’ ว่าใครคือผู้เขียนขึ้น โดยเหล่าผู้ชมสามารถเข้ามาดูและวิเคราะห์ได้อย่างถึงลูกถึงคนว่าฝีไม้ลายมือของโปรแกรมเมอร์ ทักษะในการแก้ไขปัญหา และความยากของปัญหาอยู่ที่ระดับใด

และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ก็ใช่ว่าจะมองข้ามโอกาสจากซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซ บางบริษัท เช่น IBM ได้ลงทุนจ้างโปรแกรมเมอร์มาเพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการ Linux ส่วนบริษัทอย่าง Sun หรือ Apple ก็นำแนวคิดโอเพนซอร์ซมาปรับใช้ โดยเผยแพร่โค้ดบางส่วนต่อสาธารณะ แม้แต่ Microsoft เองก็มีท่าทีอ่อนลงและเริ่มคล้อยตามแนวคิดโอเพนซอร์ซ โดยล่าสุดได้ควักกระเป๋าซื้อ GitHub แพลตฟอร์มโอเพนซอร์ซยอดนิยมของเหล่าโปรแกรมเมอร์ในราคา 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจุบัน มีความพยายามนำแนวคิดโอเพนซอร์ซไปปรับใช้กับหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ใช่ว่าโมเดลดังกล่าวจะเป็นยาวิเศษเสมอไป เพราะโอเพนซอร์ซนั้นเหมาะกับอุตสาหกรรมที่ใช้ ‘ข้อมูลสารสนเทศเข้มข้น’ และสามารถแบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ ให้สาธารณชนมาช่วยกันสรรค์สร้างได้ เช่น ซอฟต์แวร์ สารานุกรม หรือการวิจัยเพื่อพัฒนายา

เราคงนึกภาพไม่ออกว่าจะทำการโอเพนซอร์ซอาคาร รถยนต์ หรือเครื่องจักรขนาดใหญ่ได้อย่างไร เพราะต้นทุนส่วนใหญ่ของสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่ค่าใช้จ่ายด้านสารสนเทศ แต่เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง การเปิดโอกาสให้เหล่าวิศวกรหรือนักออกแบบมาลองผิดลองถูกอาจมีต้นทุนสูงเกินไปจนการเปิดเผย ‘สูตรสำเร็จ’ หลังจากการทดลองอาจไม่คุ้มค่าในทางธุรกิจ

ปลายทางที่โอเพนซอร์ซจะมาแทนที่ระบอบทุนนิยมดั้งเดิมยังดูจะอยู่อีกไกลแสนไกล เพราะในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างโอเพนซอร์ซกับระบอบทุนนิยมดูจะไปกันได้แบบ ‘น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า’ แต่ในอนาคต โอเพนซอร์ซนี่แหละครับ ที่ดูจะเป็นเครื่องมือนำพาให้เราเข้าใกล้โลก ‘ยูโทเปีย’ ที่คนจำนวนมากทำงานเพื่อส่วนร่วมโดยไม่หวังผลตอบแทน

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: , , , , , , ,