สัปดาห์ที่ผ่านมา จะยังมีอะไรร้อนแรงไปกว่าข่าว เทย์เลอร์ สวิฟต์ ออกมาประกาศว่าเธอได้สูญเสียลิขสิทธิ์ในงานเพลงอัลบั้มก่อนๆ ของเธอให้กับค่าย Big Machine Records ไปแล้ว และนี่นับเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดที่เธอเคยเผชิญมาทีเดียว นี่นับรวมสมัยปี 2009 ที่เธอเคยโดน คานเย่ เวสต์ แย่งไมโครโฟนไปจากมือสมัยขึ้นรับรางวัล MTV Video Music Awards แล้วด้วยนะ

ก็อาจจะเป็นอย่างนั้น สำหรับศิลปินที่เขียนเพลงเองทุกขั้นตอนอย่างสวิฟต์ จะยังมีอะไรน่าหดหู่ใจไปกว่าการต้องมองดูผลงานของตัวเองตลอดทศวรรษที่ผ่านมาตกอยู่ในมือคนอื่นแบบที่ไม่อาจจัดการอะไรได้

แล้วนี่มันเกิดอะไรกัน ทำไมอยู่ดีๆ เธอถึงได้ไม่มีสิทธิ์ในงานเพลงของตัวเอง แล้วงานของเธอไปอยู่ที่ไหน เกิดอะไรขึ้นในการร่างสัญญาประวัติศาสตร์เมื่อสิบปีก่อนนั้น เรามาค่อยๆ ทยอยย้อนดูไปทีละฉาก

ปี 2004 ครอบครัวสวิฟต์ย้ายถิ่นฐานจากเพนซิลเวเนียบ้านเกิดมาสู่แนชวิลล์ เมืองแห่งเพลงคันทรีเพื่อจะให้เทย์เลอร์ในวัย 14 ปีได้ทำตามความฝันด้วยการเขียนเพลงและเป็นนักดนตรีคันทรี่ให้ค่ายเพลงสักค่าย และประจวบเหมาะกับที่เวลานั้น สก็อตต์ บอร์เชตตา ผู้บริหารใหญ่ของค่ายเพลง Big Machine Records —ค่ายเพลงคันทรียักษ์ใหญ่แห่งเมืองแนชวิลล์ ผู้ดูแลศิลปินคันทรีขวัญใจสวิฟต์อย่าง ทิม แม็กกรอว์และรีบา แม็กเอ็นไทร์— พบเจอสวิฟต์เข้าพอดี และเซ็นสัญญาให้เธอเป็นศิลปินในสังกัด โดยในสัญญานั้นระบุว่าเธอตกลงจะมอบลิขสิทธิ์ให้บอร์เชตตาและค่ายเพลงเป็น ‘เจ้าของ’ ผลงานเพลงเธอทั้งหมดอย่างถาวร ก่อนจะปล่อยอัลบั้มเดบิวต์ที่สร้างชื่อให้เด็กสาวอย่าง Taylor Swift ออกมาในปี 2006 พร้อมซิงเกิลคันทรีจ๋าอย่าง Tim McGraw ที่ไต่ขึ้นติดอันดับท็อปเท็นของชาร์ตเพลงคันทรีของบิลบอร์ด และนับเป็นการแจ้งเกิดอย่างสวยงามสำหรับสวิฟต์ ในฐานะนักร้องสาวที่แหวกคลื่นกระแสเพลงป๊อปร้องเพลงคันทรีในเวลานั้น

และความสำเร็จของอัลบั้มแรกได้รับการต่อยอดอย่างถึงขีดสุดด้วยอัลบั้มที่สองอย่าง Fearless (2008) นอกจากมันจะพุ่งทะยานเข้าอันดับหนึ่งทุกชาร์ตเพลง (กับซิงเกิลฮิต Love Story, You Belong with Me) ขายได้ทั่วโลกกว่า 9.7 ล้านก๊อปปี้ มันยังคว้ารางวัลอัลบั้มแห่งปีจากเวทีแกรมมี่มาได้ด้วย เส้นทางของสวิฟต์จากนั้นจึงแทบจะเสมือนกรุยทางด้วยกลีบกุหลาบ ตามมาด้วยอัลบั้ม Speak Now (2010 -คว้ารางวัลอัลบั้มเพลงคันทรีแห่งปีจากแกรมมี่) และอัลบั้มที่มีกลิ่นอายดนตรีป๊อปมากกว่าเคยใน Red (2012 -ชิงอัลบั้มแห่งปีของแกรมมี่) ก่อนจะตามมาด้วยอัลบั้มเพลงป๊อปเต็มตัวอย่าง 1989 (2014) ที่สัปดาห์แรกทำยอดขายไปได้ 1.28 ล้านก๊อปปี้ กับรางวัลอัลบั้มแห่งปีและเวิลด์ทัวร์ที่ทำเงินไปกว่า 250 ล้านเหรียญฯ จนคอนเสิร์ตของเธอได้รับการจัดอันดับว่าเป็นคอนเสิร์ตที่ทำเงินมากที่สุดในปี 2015

สวิฟต์ปิดท้ายการทำงานกับค่าย Big Machine ด้วยอัลบั้มที่ 6 ในชีวิตที่พลิกภาพลักษณ์สาวสดใสมาเป็น ‘ควีน’ ที่มีงูยักษ์เป็นเครื่องหมายการค้าอย่าง reputation (2017) สัปดาห์แรกมันทำยอดขายไปได้ 1.16 ล้านก๊อปปี้ กับสเตเดี้ยมทัวร์ที่ทำเงินไปทั้งสิ้น 345 ล้านเหรียญฯ 

และผลงานทั้งหมดนี้กล่าวมานี้ ไม่ได้เป็นของเธออีกต่อไปนับตั้งแต่เธอหมดสัญญากับ Big Machine ในปี 2018 ที่ผ่านมา และเซ็นสัญญาในค่ายใหม่กับ Republic Records ที่มีศิลปินในค่ายอย่าง แอริอาน่า กรานเด, นิกกี้ มินาจ, เดอะ วีคเกนด์ และเดรค 

ดังที่ระบุไปแล้ว สวิฟต์ในวัย 14 ได้ตกลงเห็นด้วยกับสัญญาที่บอร์เชตตาร่างขึ้นว่า จากนี้ไป ผลงานที่เธอเขียนจะต้องเป็นของค่าย Big Machine Records เมื่อเธอตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับค่าย ทุกสิ่งจึงเป็นไปตามที่ตัวเธอเมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยตกลงไว้ นั่นคือเธอไม่ได้เป็นเจ้าของผลงานตัวเองอีกต่อไปเมื่อหลุดพ้นไปจากชายคาแห่งนี้ และเอาเข้าจริงๆ ดูเหมือนตัวสวิฟต์เองก็ ‘ทำใจ’ กับมันประมาณหนึ่งแล้ว ด้วยการแถลงการณ์โบกมือลากับบ้านหลังเดิมอย่างอบอุ่นในปลายปี 2018 ดูเหมือนไม่น่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นด้วยซ้ำ แล้วเพราะอะไร อยู่ๆ นักร้องสาวถึงปล่อยข้อความยาวเหยียดผ่านบล็อก Tumblr ของเธอเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า

“นานนับปีทีเดียวที่ฉันอ้อนวอนขอร้องในการเป็นเจ้าของสิทธิ์ผลงานตัวเอง แต่กลับได้รับข้อเสนอให้กลับมาเซ็นสัญญากับค่าย Big Machine อีกหนเพื่อได้สิทธิในการครอบครองอัลบั้มเพลงเพียงหนึ่งอัลบั้ม การเซ็นหนึ่งครั้งต่ออัลบั้มหนึ่งชิ้น ฉันเดินจากมาเพราะรู้ว่าหากตกลงเซ็นสัญญากับค่ายแล้ว สก็อตต์ บอร์เช็ตตา จะขายค่ายนี้ในอีกไม่นาน และตัวฉันกับผลงานก็คงจะถูกขายไปด้วย และฉันจำต้องตัดใจทิ้งผลงานไว้ในอดีต นั่นคือบทเพลงที่ฉันเขียนบนพื้นห้องนอน คลิปวิดีโอที่เล่นเพลงในบาร์ ในคลับ ในสนามกีฬา แล้วจึงมาเป็นในสเตเดี้ยม

“ข้อเท็จจริงขันขื่นเกี่ยวกับข่าวคราวในทุกวันนี้คือ ฉันรู้มาว่า สกูเตอร์ บรอน (จะเล่าถึงในต่อไปนี้) จ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดของฉัน และสิ่งเดียวที่ฉันคิดออกในตอนนี้คือ นี่มันเป็นการกลั่นแกล้ง ต่อเนื่องยาวนานอย่างที่ฉันได้รับจากเขามาตลอดหลายต่อหลายปี

“เช่นเดียวกันกับกรณีที่คิม คาร์ดาเชียน ปล่อยบันทึกเสียงการสนทนาที่ถูกดัดแปลงมาแล้วทางโทรศัพท์ ก็สกูเตอร์กับทีมงานอีกสองคนนี่แหละที่กลั่นแกล้งฉันทางออนไลน์ หรือแม้แต่ตอนที่ลูกค้าของเขาอย่าง คานเย่ เวสต์ ทำมิวสิกวิดีโอเพลงที่มีฉันนอนเปลือยอยู่ แล้วมาตอนนี้อีก สกูเตอร์ดึงทิ้งฉันออกจากงานของตัวเองที่ทำมาทั้งชีวิต ฉันไม่มีโอกาสได้ซื้องานของตัวเอง แล้วเอาเข้าจริงๆ ดนตรีของฉันกลับตกไปอยู่ในมือคนที่พยายามทำลายมันมาตลอดด้วยซ้ำไป”

“นี่เป็นสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุดที่ฉันเคยได้เจอ นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเซ็นสัญญาตอนอายุสิบห้า เซ็นกับคนที่คุณเชื่อใจว่าเขาจะซื่อตรงในการทำสัญญากับคุณ แล้วพอชายคนนี้พูดว่า ‘ดนตรีมันมีคุณค่า’ เขาหมายถึงคุณค่าในสายตาของชายอีกคนที่ไม่มีแม้แต่ส่วนในการสร้างสรรค์มันขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ”

“เมื่อฉันจำต้องทิ้งงานของตัวเองไว้ในมือของสก็อตต์ ฉันก็ทำใจไว้แล้วว่าเขาสามารถขายมันให้คนอื่นได้ และแม้แต่ฝันร้ายที่สุดของฉัน ก็ยังไม่เคยแม้จะคิดว่าคนซื้อนั้นจะเป็นสกูเตอร์ เพราะทุกครั้งที่สก็อตต์ บอร์เชตตาได้ยินคำว่า ‘สกูเตอร์ บรอน’ หลุดมาจากปากฉัน นั่นก็แปลว่าฉันกำลังร้องไห้หรือกลั้นน้ำตาไว้ เขารู้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ รู้กันทั้งคู่เลย นั่นคือการควบคุมผู้หญิงที่ไม่ได้อยากข้องเกี่ยวกับพวกเขาสักนิด บงการเรื่อยไป ตลอดกาล

“ขอบคุณที่ทุกวันนี้ฉันได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงที่ฉันจะได้เป็นเจ้าของผลงานของตัวเองทุกสิ่ง ขอบคุณที่ฉันทิ้งอดีตของตัวเอง -ไม่ใช่อนาคต- ไว้ในมือสก็อตต์ และหวังว่า จากนี้ ศิลปินรุ่นใหม่และเด็กๆ ที่มีความฝันอยากทำดนตรีจะอ่านสิ่งที่ฉันเขียนนี้และเรียนรู้วิธีปกป้องตัวเองจากการเจรจาต่อรองในสัญญา คุณคู่ควรกับงานศิลป์ที่คุณสร้างขึ้นมานะ

“ฉันจะภูมิใจกับงานที่ผ่านมาของฉันเสมอ แต่สำหรับเรื่องดีๆ ก็คือ อัลบั้ม Lover จะวางขายวันที่ 23 สิงหาคมนี้ค่ะ 

ด้วยความเศร้าใจ

เทย์เลอร์”

อย่างที่เราเห็น ตัวละครอีกหนึ่งตัวที่งอกโผล่ขึ้นมาในมหากาพย์นี้คือ สกูเตอร์ บรอน 

สำหรับอุตสาหกรรมดนตรีป๊อปในอเมริกา ชื่อของสกูเตอร์ บรอน ไม่ได้แปลกใหม่ไปจากการรับรู้ เขาคือผู้จัดการของนักร้องสาวกรานเดและนักร้องหนุ่ม จัสติน บีเบอร์ ทั้งยังเป็นคนสนิทกับคานเย่ เวสต์ ศัตรูคู่อาฆาตของสวิฟต์มาตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งไข่ในวงการเพลง บรอนคือคนเดียวกันกับที่ออกมาถากถางและหัวเราะสวิฟต์สมัยถูกโจมตีหนักๆ จากสองสามีภรรยาเวสต์-คาร์ดาเชียน โดยเฉพาะการไปปรากฏตัวในอินสตาแกรมของจัสติน บีเบอร์เมื่อปี 2016 ซึ่งคานเย่ เวสต์ เพิ่งจะปล่อยเพลง Famous ที่มีเนื้อความกล่าวเสียดสีถึงคนที่ชื่อ ‘เทย์เลอร์’ และเวสต์ที่ตัดพ้อว่า “กูไม่น่าไปทำให้นังนั่นมันมีชื่อเสียงขึ้นมาเล้ย” พร้อมมิวสิกวิดีโอที่มีหุ่นสวิฟต์ (และคนดังคนอื่นๆ) นอนเปลือยกายอยู่บนเตียงกับเวสต์ 

ภายหลังจากเอ็มวีเพลงเจ้าปัญหานั้นปล่อยออกมา บีเบอร์ลงภาพที่เขาเฟซไทม์คุยกับบรอนและเวสต์ พร้อมแคปชั่นเด็ด “หวัดดีเทย์เลอร์ สวิฟต์” ซึ่งมองเป็นอื่นใดไปไม่ได้นอกจากเจตนาแหย่สวิฟต์ที่อยู่ในเนื้อเพลงและเอ็มวีของเวสต์ แถมยังเป็นช่วงเวลาที่สวิฟต์เพิ่งถูกกระหน่ำจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นนังงูพิษในคลิปเสียงที่คิม คาร์ดาเชียน ภรรยาของเวสต์ปล่อยออกมาอีก

และก็เป็นบรอนนี่เองที่เป็นคนติดต่อขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงต่างๆ จากค่าย Big Machine ของสก็อตต์ บอร์เชตตาด้วยมูลค่ากว่า 300 ล้านเหรียญฯ ซึ่งสำหรับสวิฟต์ นี่ไม่มีอะไรน่าเจ็บปวดไปกว่าการเห็นคนที่เคยเยาะเย้ยเธอเมื่อสมัยตกต่ำจากข่าวฉาว เป็นเจ้าของผลงานตัวเองอีกแล้ว 

แต่ถามจริงๆ เถอะ สำหรับนักร้องระดับโลกที่รายได้เฉลี่ยต่อปี 320 ล้านเหรียญฯ อย่างสวิฟต์ เป็นไปไม่ได้เลยหรือที่เธอจะซื้อผลงานทุกอย่างของเธอคืนมา แม้มันจะดูมีหวังแค่ไหน แต่คำตอบก็คือยากจนถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ อันเนื่องมาจากร่างสัญญาที่เธอเคยจรดปากกาเซ็นเมื่ออายุ 14-15 นั่นเอง

ย้อนกลับไปในยุคสมัยนั้นที่เพลงยังขายผ่านแผ่นซีดีอยู่และการสตรีมมิ่งยังมาไม่ถึง สัญญาฉบับนั้นก็ดูเป็นสัญญาที่เข้าใจได้ ชอบธรรมและใช้กันอยู่ทั่วไปในอุตสาหกรรมดนตรี หากแต่ในระยะหลัง สัญญาที่ตัวค่ายซื้อขาดเพลงจากศิลปินนั้นไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกันเท่าไหร่แล้ว

ทิม อินแกรม นักเขียนจากเว็บไซต์ Music Business Worldwide ออกความเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เทย์เลอร์ สวิฟต์ เซ็นสัญญานี้เป็นระยะยาวถึงหกอัลบั้มติดในยุคสมัยที่เพลงยังถูกโปรโมตผ่านรายการวิทยุและช่อง MTV เป็นหลัก ศิลปินจำเป็นต้องอาศัยพลังจากค่ายในการช่วยดันเพลงของพวกเขาและพวกเธอผ่านช่องวิทยุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนชวิลล์ เมืองแห่งเพลงคันทรี่และเป็นฐานทัพหลักของค่าย Big Machine “ในแนชวิลล์ Big Machine เป็นค่ายใหญ่ที่ทรงอิทธิพลมาก จนวางใจได้ว่าค่ายจะกระจายแผ่นซีดีเพลงของคุณในร้านค้า โปรโมตในคลื่นวิทยุอย่างทั่วถึงและกว้างขวาง ดังนั้น ในระยะแรกๆ สวิฟต์จึงต้องอาศัยเงินจำนวนมากของค่ายในการประชาสัมพันธ์อัลบั้มของเธอ” อินแกรมอธิบาย

บอร์เชตตาเองไม่ได้นิ่งเงียบหลังจากข้อพิพาทนี้ เขาออกแถลงการณ์ไล่เลี่ยกันกับที่สวิฟต์โพสต์ลงใน Tumblr โดยระบุว่า พ่อของเทย์เลอร์ สวิฟต์ -คือคุณสก็อตต์ สวิฟต์- ถือหุ้นอยู่ในค่าย Big Machine อยู่สี่เปอร์เซ็นต์ และรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงถึงสัญญาการถือหุ้นมาตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา และรู้ดีว่า บริษัทของสกูเตอร์ บรอนได้ติดต่อมาขอซื้อสิทธิ์เพลงแล้ว “มิหนำซ้ำ ตามมารยาท ผมยังส่งข้อความไปหาเทย์เลอร์ด้วยตัวเองในเวลา 9.30 น.ของคืนวันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน เพื่อบอกให้เธอรับรู้เกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมดก่อนที่เธอจะระเบิดแถลงการณ์ของตัวเองในวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ฉะนั้น เธอจึงรู้เรื่องทั้งหมดอยู่ก่อนแล้วจากผมโดยตรง” 

บอร์เชตตายังระบุด้วยว่า เป็นไปได้เหมือนกันที่ทนายความและตัวแทนของพ่อเธอจะไม่ได้บอกอะไรให้เธอรู้ และเป็นไปได้อีกเหมือนกันว่า เธอจะไม่เห็นข้อความที่เขาส่งไป “แต่ผมสงสัยเหลือเกินว่า มันเป็นไปได้หรือที่เธอจะ ‘ตื่นมารู้ข่าวหลังจากที่ทุกคนรู้กันหมดแล้ว’” เขาว่า 

“และอย่างที่คุณทราบดี ผลงานและสินทรัพย์ของเทย์เลอร์ สวิฟต์ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์จะได้รับการเปลี่ยนถ่ายทันทีที่มีการเซ็นสัญญาใหม่ เรากำลังร่างสัญญาที่เหมาะกับโลกสตรีมมิ่ง ที่มันไม่จำเป็นต้องขายทั้งอัลบั้มอีกต่อไปแล้ว แต่มุ่งเน้นความสำคัญไปที่ระยะเวลาการขายมากกว่า

“เราเป็นค่ายเพลงอิสระ เราอาจไม่ได้มีศิลปินในสังกัดนับพันชีวิต และข้อเสนอที่ผมมีให้เทย์เลอร์ -ซึ่งเหมาะสมสำหรับขนาดของค่ายเพลงเรา- ก็เป็นข้อเสนอที่สามัญเหลือเกิน แต่มันก็เป็นทั้งหมดที่ผมพอจะทำได้แล้วในฐานะที่ต้องรับผิดชอบอาชีพศิลปินคนอื่นๆ อีกหลายชีวิต ตลอดจนผู้บริหารกว่า 120 รายและครอบครัวของพวกเขา

“เทย์เลอร์กับผมมีสัมพันธ์อันดีต่อกันมาตลอด ตอนที่เธอบอกว่าอยากลองคุยกับค่ายเพลงอื่นดูและมองหาหนทางอื่นๆ ให้ตัวเอง ผมก็ได้แต่หวังให้เธอโชคดี 

“เช้าวันที่มีการประกาศเซ็นสัญญาของเทย์เลอร์กับค่าย Universal Music Group (เครือแม่ของ Republic Records) เธอส่งข้อความมาบอกผมก่อนหน้าลงนามในสัญญาเพียงไม่กี่นาที

“และขณะที่เราต่างก็โพสต์ข้อความของตัวเองลงในโซเชียลมีเดียด้วยกันทั้งคู่ เราก็ยังเคารพ และให้กำลังใจกันและกันไปด้วย

“เทย์เลอร์มีโอกาสทุกอย่างในการจะเป็นเจ้าของสิทธิ์ ไม่ใช่แค่เพลงตัวเอง แต่ยังเป็นวิดีโอ รูปถ่าย และทุกๆ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเธอ แต่เธอเลือกจะไปเอง

“อ้อ และที่เธอบอกว่าทุกครั้งที่พูดชื่อเพื่อนร่วมงานคนใหม่ของผม สกูเตอร์ บรอนออกมา ‘ทั้งน้ำตาหรือกลั้นน้ำตาไว้’ ผมไม่ยักจำได้ว่าเคยมีอะไรแบบนั้นด้วย แต่ถามว่าผมรู้เรื่องระหว่างเทย์เลอร์กับจัสติน บีเบอร์มาก่อนไหม ผมรู้ครับ แต่เทย์เลอร์เองก็รู้เหมือนกันว่าผมสนิทกับสกูเตอร์มาก ทั้งเขายังเป็นผู้จัดตารางการปล่อยอัลบั้ม, ทัวร์และอื่นๆ ที่ดีมากด้วย ผมติดต่อกับเขาก็เพื่อหาข้อมูลเพื่อเราทั้งคู่นั่นแหละ และเท่าที่รู้ สกูเตอร์หวังดีกับเทย์เลอร์เสมอมา จำได้ว่าสมัยเหตุระเบิดที่แมนเชสเตอร์ เขาโทรศัพท์มาหาผมโดยตรงเพื่อดูว่าเทย์เลอร์อยู่ในงานหรือเปล่า (ซึ่งเธอปฏิเสธ) เขาโทรหาผมโดยตรงเพื่อถามไถ่ว่าเทย์เลอร์ได้เข้าร่วมในการประท้วงที่พาร์คแลนด์ (ภายหลังการสังหารหมู่ที่โรงเรียนท้องถิ่นจนมีผู้เสียชีวิต 17 ราย) หรือเปล่า (ซึ่งเธอปฏิเสธ) สกูเตอร์นั้นเป็นผู้ซื่อสัตย์ต่อเทย์เลอร์และงานของเธอ และจะเป็นตลอดไปด้วย”

ในภาพรวม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลานี้จึงเป็นประเด็นที่ว่า สัญญาในอุตสาหรรมดนตรีนั้นมันกำลังก้าวไม่ทันเทคโนโลยี เมื่อในยุคนี้ ทุกคนแห่กันไปฟังผ่านระบบสตรีมมิ่งที่ต้นทุนการประชาสัมพันธ์ถูกกว่าการต้องไปดีลกับหน้าร้านขายแผ่นซีดี แน่นอนว่าค่ายเพลงก็ยังมีความจำเป็นต่อตัวศิลปินและการจัดจำหน่าย หากแต่บทบาทและความทรงพลังของมันต่อคนฟังนั้นดูเป็นเรื่องที่ถดถอยน้อยลงมามากจากเมื่อสิบปีก่อน และหากจะมีสักอย่างที่สวิฟต์รู้สึกผิดพลั้งจากความเดียงสาของตัวเองในอดีต ก็อาจจะเป็นการตกลงเห็นด้วยกับสัญญาที่ว่าผลงานของเธอจากนี้อีก 6 อัลบั้มติดจะตกเป็นของค่าย และการวางใจที่ว่า บอร์เชตตาซึ่งร่วมรู้เห็นความเจ็บช้ำน้ำใจที่เธอมีต่อสกูเตอร์ บรอน จะไม่ขายเพลงของเธอให้ชายคนนั้น –แต่บอร์เชตตาก็ทำ

สำหรับสวิฟต์ ดูเหมือนเจ้าตัวจะไม่ได้อยากมีปัญหาข้อพิพาทก่อนปล่อยอัลบั้มที่เจ็ดภายใต้ชายคาค่ายเพลงแห่งใหม่กับอัลบั้ม Lover ที่มาในธีมสีสันสดใส ลบคราบอสรพิษสาวในอัลบั้ม reputation เสียสนิท และหวนกลับมาสู่เทย์เลอร์ สวิฟต์ผู้สดใสคนเก่าที่แฟนๆ รัก การต้องมีข่าวลบกับค่ายเพลงเก่าของตัวเองก่อนจะปล่อยอัลบั้มใหม่เพียงเดือนกว่าๆ จึงนับเป็นการเดินแต้มที่ถ้าเลือกได้ เธอ หรือไม่ว่าใคร ก็คงไม่อยากเผชิญ

อย่างไรก็ดี เหตุพิพาทในครั้งนี้มันได้ส่งแรงกระเพื่อมสู่อุตสาหกรรมดนตรีถึงความตื่นตัวของเหล่าศิลปิน ว่าอาจจะเป็นเช่นเดียวกับสวิฟต์ ที่วันหนึ่ง รู้ตัวขึ้นมาอีกที พวกเขาก็ไม่ได้เป็นเจ้าของสิทธิ์ในผลงานตัวเองอีกต่อไปแล้ว เลวร้ายยิ่งกว่าคือ หากเอาเพลงในอดีตของตัวเองมาขับร้อง ก็ยังต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสิทธิ์มาร้องอย่างถูกต้องอีกด้วย 

ดังนั้น นี่จึงเป็นวาระที่น่าจับตาว่า ในอนาคต สัญญาในอุตสาหกรรมดนตรีมันจะพลิกผันไปทางไหน เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสตรีมมิ่งและทิ้งโลกซีดีกับอัลบั้มไว้ข้างหลังแล้ว

Tags: , , , ,