มีคนเคยกล่าวไว้ว่าในโลกมีคนแค่สองประเภท คือคนที่ชอบหมาและคนที่ชอบแมว 

แน่นอนว่าข้อความนี้คงไม่จริงเสียทีเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำให้เราเห็นขั้วความชอบของคนจำนวนไม่น้อย คือทำให้เราเห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ค่อยจะรักชอบแมวเท่าไหร่ อาจเพราะรู้สึกว่าแมวหยิ่ง เข้าใจยาก ไม่เข้ามาคลอเคลียกับเรา แต่ก็มีคนอีกจำพวกที่ปวารณาตนเป็นทาสแมว เพราะหลงใหลความน่ารักออดอ้อนที่จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อเอาชนะการเมินของแมวได้แล้วเท่านั้น

อันที่จริงแล้ว แมวเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เช่นในสมัยอียิปต์โบราณ แมวถือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนบูชา ทั้งยังมีการสักการะเทพีบาสเต็ทซึ่งเป็นเทพีผู้มีเศียรเป็นแมวด้วย หรือในยุโรปก็มีความเชื่อว่าแมวดำเป็นสัตว์ที่นำพาโชคร้ายมาให้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่แมวจะไปโผล่ในสำนวนต่างๆ ในภาษาอังกฤษ เช่น Cat got your tongue. และ Curiosity killed the cat. ที่เคยเขียนถึงไปแล้ว

สัปดาห์นี้ เราจะเอาใจทาสแมวด้วยการพาไปสำรวจว่าแมวถูกพูดถึง (หรือปู้ยี่ปู้ยำ) อย่างไรบ้างในสำนวนภาษาอังกฤษ

There’s more than one way to skin a cat.

สำนวนนี้อาจจะฟังดูรุนแรงสักนิด เพราะหากแปลตรงตัวแล้วจะได้ความว่า การถลกหนังแมวไม่ได้มีแค่วิธีเดียว (ชวนให้นึกสงสัยว่าแมวไปทำอะไรให้ถึงต้องจับถลกหนังและหนังแมวที่ได้มาจะเอาไปทำอะไร) แต่แท้จริงแล้ว สำนวนนี้ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการทารุณกรรมสัตว์ ใช้พูดแค่เพื่อบอกว่า เป้าหมายหนึ่งๆ มีวิธีไปถึงมากกว่าหนึ่งวิธี ไม่ได้แค่วิธีเดียว ตัวอย่างเช่น สมมติเราอยู่ต่างบ้านต่างเมืองแล้วคิดถึงรสอาหารไทยเลยอยากจะตำเครื่องแกงขึ้นมา แต่ดันไม่มีครก บางคนก็อาจจะล้มเลิกความตั้งใจเพราะรู้สึกว่าไม่มีครกจะไปทำได้อย่างไร แต่ถ้าเรารู้สึกว่า อันที่จริงมันก็ยังมีวิธีอื่นอยู่อีก เช่น ใช้เครื่องปั่นหรืออุปกรณ์อื่นทดแทนไปก่อน แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า There’s more than one way to skin a cat. ก็คือ วิธีการตำเครื่องแกงมันมีวิธีเดียวซะที่ไหนกันล่ะ

สำนวนนี้มีที่มาไม่แน่ชัด แต่พบว่าใช้กันมาเป็นร้อยปีแล้ว ที่น่าสนใจก็คือ ในเวอร์ชั่นเก่าๆ สัตว์ที่โดนกระทำชำเราไม่ใช่แมวแต่เป็นน้องหมา คือ There are more ways to kill a dog than hanging. (จะฆ่าหมาให้ตาย ยังมีวิธีอื่นอีกนอกจากจับไปแขวนคอ) ทั้งนี้ บางแหล่งก็บอกว่าที่แมวโผล่มาเป็นผู้รับเคราะห์ในสำนวนนี้ได้ก็เพราะในสมัยที่มีการล่าแม่มด เมื่อแม่มดถูกจับไปเผาทั้งเป็น แมวของแม่มดก็จะถูกจับไปถลกหนังและเผาให้ตายตามไปด้วย

Let the cat out of the bag

สำนวนนี้หมายถึง เผยความลับออกไป โดยเฉพาะในกรณีที่เผยความลับนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนเราคนหนึ่งเริ่มตั้งครรภ์ได้สักพักหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ได้อยากให้ใครรู้ เลยเก็บเป็นความลับไว้ แต่ว่าสามีดันหลุดปากออกมาว่าเพิ่งพาไปอัลตร้าซาวนด์ แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า No one knew that she was pregnant until her husband let the cat out of the bag. ส่วนถ้าเกิดความลับนั้นถูกเปิดเผยแล้วและไม่ใช่ความลับอีกต่อไป เราก็อาจจะพูดว่า The cat is out of the bag. ก็คือ ใครๆ ก็รู้แล้ว

ส่วนที่แมวและถุงกระสอบมาเกี่ยวกับการเปิดเผยความลับได้นั้นมีที่มาย้อนกลับไปถึงการซื้อขายลูกหมูในยุคกลาง ในสมัยนั้น คนจะมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันในตลาดเปิด พ่อค้าขายหมูจะเอาลูกหมูโชว์ไว้ตัวสองตัวให้คนรู้ว่าขายหมู แต่ที่เหลือก็จะใส่ถุงกระสอบไว้แบบพร้อมขาย ทั้งนี้ พ่อค้าคนไหนเจ้าเล่ห์หน่อยก็จะแอบเอาแมวใส่กระสอบให้ไปแทนตอนที่ลูกค้าไม่ทันดู พอกลับไปถึงบ้านแล้วเปิดกระสอบดูคนที่ซื้อไปถึงจะรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในกระสอบเป็นแมวและไม่ใช่หมู ดังนั้น การเทแมวออกจากถุงกระสอบจึงเป็นการเผยความลับที่ซ่อนไว้นั่นเอง

กลโกงแบบนี้ยังเป็นที่มาของสำนวน buy a pig in a poke ด้วย คำว่า poke ในที่นี้ไม่ใช่การจิ้ม แต่แปลว่า ถุง กระสอบ (เป็นที่มาของคำว่า pocket) สำนวนนี้หมายถึง ซื้อของโดยไม่ได้สำรวจดูสิ่งที่ซื้อให้ถี่ถ้วนดีเสียก่อน เหมือนซื้อหมูโดยไม่ได้เปิดดูว่าในกระสอบเป็นหมูหรือเป็นแมวนั่นเอง

Not enough room to swing a cat

สำนวนนี้เป็นอีกหนึ่งสำนวนที่แมวโดนทารุณกรรม แปลได้ตรงๆ ว่าที่ไม่พอให้เหวี่ยงแมว เห็นภาพว่าพยายามจะหยิบแมวขึ้นมาแล้วหมุนเหวี่ยงรอบตัวเหมือนม้าหมุน แต่ทำไม่ได้เพราะว่าสถานที่คับแคบมาก เหวี่ยงไปก็ฟาดกำแพงหรือติดผนัง ด้วยเหตุนี้ สำนวนนี้จึงถูกนำมาใช้บรรยายสถานที่ที่คับแคบ แปลอย่างไทยๆ ได้ว่า ที่เท่าแมวดิ้นตาย ตัวอย่างเช่น คอนโดสมัยนี้หั่นซอยจนห้องเหลือเล็กนิดเดียวจนแทบไม่พอวางข้าวของ เดินไปตรงไหนแขนขาก็ชนนู่นนี่ แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า There’s not enough room to swing a cat in my room. ก็คือ ห้องเราเล็กมาก ที่เท่าแมวดิ้นตาย

Can’t swing a dead cat without hitting something

นี่น่าจะเป็นอีกสำนวนหนึ่งที่ PETA คงไม่ปลื้มและชวนให้สงสัยว่าชาวอังกฤษติดใจการเหวี่ยงแมวอะไรหนักหนา แปลตรงตัวได้ว่า เหวี่ยงศพแมวไปตรงไหนก็โดนสิ่งสิ่งหนึ่ง ซึ่งแปลว่าในสถานที่นั้นต้องมีสิ่งๆ นั้นอยู่เยอะมากๆ ดังนั้น สำนวนนี้จึงใช้บรรยายสิ่งที่มีอยู่ดาษดื่น ตัวอย่างเช่น วัดอรุณเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม หันมองไปทางไหนก็มีแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ หากเราต้องพูดเว่อร์ๆ ให้เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะขนาดไหน เราก็อาจจะพูดว่า You can’t swing a dead cat in Wat Arun without hitting a tourist.

อีกสำนวนหนึ่งที่มีความหมายและวิธีใช้ใกล้เคียงกัน (และไม่ต้องกระทำชำเราศพแมว) ก็คือ can’t throw a stone without hitting stone เปลี่ยนจากเหวี่ยงแมวมาเขวี้ยงหินแทน ให้ภาพว่าแค่โยนหินอย่างสุ่มก็ยังโดนสิ่งๆ นั้นเลยเพราะมีอยู่ถมเถทั่วไปหมด ตัวอย่างเช่น You can’t throw a stone in Hollywood without hitting a celebrity. ก็คือ ฮอลลีวู้ดมีดาราอยู่เยอะไปหมด เดินๆ ไปก็เจอ

Look what the cat dragged in

คนที่เลี้ยงแมวหลายคนคงเคยประสบเหตุการณ์ที่น้องแมวคาบซากสัตว์ที่ตัวเองไปพิชิตมาได้ เช่น จิ้งจก หนู นก งู มาอวดเรา พฤติกรรมนี้ของแมวนี่เองที่เป็นที่มาของสำนวน Look what the cat dragged in. ซึ่งแปลทื่อๆ ได้ว่า ดูสิว่าแมวไปคาบอะไรมา หรือหากจะแปลให้เป็นภาษาปกติที่คนไทยจะพูดก็อาจจะเป็น ดูสิใครมา โดยปกติแล้วเราจะใช้สำนวนนี้เพื่อแสดงว่าเรารับรู้ว่าคนคนหนึ่งมาถึงหรือเข้ามายังสถานที่ที่เราอยู่ แต่คนคนนี้เป็นเราไม่ค่อยอยากเห็นขี้หน้า ชวนให้เรานึกถึงศพของสัตว์ที่ถูกแมวตะปบแล้วลากมาให้เราดู ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราอยู่ในงานเลี้ยงรุ่นและกำลังพูดคุยกับเพื่อนฝูงอย่างออกรสออกชาติ แต่ทันใดนั้นเอง เราก็เหลือบไปเห็นว่าอดีตเพื่อนรักที่แย่งแฟนเก่าเราไปเพิ่งมาถึงและกำลังเดินเข้างานมาพอดี แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า Look what the cat dragged in. ก็คือ แหม ดูสิใครมา

Bell the cat

ในที่นี้ คำว่า bell เป็นกริยา หมายถึง คล้องกระดิ่ง ดังนั้น สำนวนนี้จึงแปลแบบตรงตัวได้ว่า คล้องกระดิ่งให้แมว มีที่มาจากนิทานปรัมปราที่เล่ากันในยุโรปอยู่เรื่องหนึ่งชื่อว่า Belling the Cat หรือ The Mice in Council เรื่องมีอยู่ว่า ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีแมวตัวหนึ่งที่เที่ยวฆ่าหนูอยู่เนืองๆ บรรดาหนูจึงมาปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรดีเพื่อแก้ปัญหานี้ หนูหัวใสตัวหนึ่งก็เสนอว่า เอากระดิ่งไปคล้องคอแมวดีไหม เวลาที่แมวตัวนี้เข้ามาคุกคาม บรรดาหนูๆ จะได้ได้ยินเสียงกระดิ่งและหนีได้ทัน หนูทุกตัวก็ต่างเห็นดีเห็นงามก็ไอเดียแสนบรรเจิดนี้ แต่พอถึงเวลาต้องหาอาสาสมัครไปทำภารกิจเสี่ยงตายนี้ (หากคนที่พยายามคล้องกระดิ่งให้แมวยังถูกตะปบได้ สำหรับหนูตัวจ้อยแล้วคงไม่เหลือ) หนูแต่ละตัวกลับพากันงัดข้ออ้างมาใช้สารพัดเพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องไปเสี่ยงชีวิต

ด้วยเหตุนี้ สำนวนนี้จึงนำมาใช้ในความหมาย เสี่ยงทำสิ่งที่ยากหรืออันตราย ตัวอย่างเช่น หากเรามีข่าวร้ายที่ต้องบอกเจ้านายซึ่งกำลังอารมณ์บูดสุดๆ ทุกคนในทีมต่างเกี่ยงกันเพราะไม่มีใครอยากโดนเจ้านายฟาดงวงฟาดงาใส่ แบบนี้ เราก็อาจจะพูดว่า Who’s going to bell the cat? ก็คือ ใครจะทำภารกิจเสี่ยงตายครั้งนี้ดีจ๊ะ

A cat in gloves catches no mice

ที่แมวตะปบและจับหนูได้ นอกจากจะเป็นเพราะแมวเป็นสัตว์ที่มีความปราดเปรียวว่องไวแล้ว ยังเป็นเพราะแมวมีอุ้งเล็บที่แหลมคมเป็นดั่งอุปกรณ์สังหาร แต่หากเราดันพิเรนทร์จับแมวมาใส่ถุงมือให้ดูนุ่มฟูน่ารักขิขุแล้วล่ะก็ แมวก็คงหมดความเป็นเครื่องจักรสังหารหนูทันที จะให้ไปจับหนูที่ไหนก็คงไม่ได้เหยื่อติดมือกลับมา เพราะแสนยานุภาพของกรงเล็บถูกบั่นถอนด้วยถุงมือนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ สำนวนนี้จึงเป็นการเปรียบเปรยว่า การใช้ไม้อ่อน การใช้วิธีผ่อนปรนประนีประนอม บางครั้งก็ไม่ได้ผล หากอยากได้สิ่งที่ต้องการก็ต้องใช้ไม้แข็งหรือมาตรการรุนแรง มักจะใช้พูดเมื่อต้องการให้คนที่ฟังอยู่เลือกใช้วิธีการที่เข้มข้นรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเพื่อนของเราหวังจิกผู้ชายคนหนึ่ง แต่พยายามส่งสายตาก็แล้วก็ไม่ได้ผล พยายามโผล่ไปอยู่ในที่ที่เขาจะเจอบ่อยๆ ก็ไม่นำพา หากเราดูท่าแล้วว่าเพื่อนใช้วิธีแพสซิฟแบบนี้อีกกี่ชาติก็คงเข้าหาไม่สำเร็จ ก็อาจจะบอกเพื่อนไปว่า A cat in gloves catches no mice. ก็คือ ไม่งัดไม้แข็งรุกคืบกว่านี้ก็คงชวดนะจ๊ะ นั่นเอง

บรรณานุกรม

Bibliography

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Barnett, Martha. Dog Days and Dandelions: A Lively Guide to the Animal Meanings Behind Everyday Words. St. Martin’s Press: New York, 2003.

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Idioms and Their Origins. Kylie Cathie: London, 2011. 

Jack, Albert. Red Herrings and White Elephants: The Origins of the Phrases We Use Every Day. Metro Publishing: London, 2004.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

Taggart, Caroline. An Apple a Day: Old-fashioned Proverbs and Why They Still Work. Michael O’ Mara Books: London, 2009.

 

Tags: , ,