หากจะมีสำนวนไทยอะไรที่อธิบายชะตากรรมของพี่น้องที่อยู่ในภาคอีสานในช่วง 1-2 เดือนมานี้ได้อย่างเหมาะเหม็ง ก็เห็นจะเป็น ‘พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก’ เพราะหลังจากที่เพิ่งประสบภัยแล้งได้ไม่นานแท้ๆ ก็ดันมาเจอน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีอีก ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาต่างๆ อย่างมหาศาล รวมถึงยังทำให้มีผู้เสียชีวิตด้วย

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูศัพท์และสำนวนที่เกี่ยวกับอุทกภัยในภาษาอังกฤษ และดูว่านอกจากจะใช้พูดถึงน้ำท่วมได้แล้ว ยังนำไปใช้สื่อความหมายอะไรได้อีก

Flood

แน่นอนหากพูดถึงน้ำท่วมแล้ว คำพื้นฐานที่สุดที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คือคำว่า flood คำนี้เป็นคำที่มีมาตั้งแต่สมัยอังกฤษโบราณ (สมัยนั้นเขียนว่า flōd) และมาจากรากโปรโตอินโดยูโรเปียนที่เป็นที่มาของคำต่างๆ ที่เกี่ยวกับการไหล เช่น flow และ float เป็นต้น

คำว่า flood นี้โดยปกติแล้วใช้หมายถึง น้ำท่วม เป็นได้ทั้งนามและกริยา เช่น The flood has cut the village off from the outside world. คือ น้ำท่วมทำให้หมู่บ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก หรือ The whole area was flooded in a matter of hours. ก็คือไม่กี่ชั่วโมงน้ำก็ท่วมทั้งพื้นที่

แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าต้องรอให้เกิดน้ำท่วมจึงจะมีโอกาสได้ใช้คำนี้ เนื่องจากคำว่า flood นี้ยังมักนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยด้วย คือนำมาใช้พูดถึงสถานการณ์ที่มีสิ่งสิ่งหนึ่งถาโถมเข้ามาเป็นปริมาณมาก คล้ายๆ กับที่เกิดน้ำท่วมเมื่อมีน้ำปริมาณมากไหลบ่าเข้าสู่พื้นที่ ตัวอย่างเช่น หากวันนี้มีคนส่งอีเมลเข้ามาในอินบ็อกซ์เราเป็นร้อยๆ ฉบับ เราก็อาจเรียกสิ่งนี้ว่า a flood of emails หรือ My inbox is getting flooded with emails. หรือในกรณีที่ทางการเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการส่งแบบฟอร์มแจ้งที่พักของคนต่างด้าว (ตม. 30 ) จนสร้างความไม่สะดวกให้แก่ชาวต่างชาติในไทย ทำให้บรรดาชาวต่างชาติบ่นกันหนาหูขึ้น แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า The stricter regulation has provoked a flood of complaints. นั่นเอง หรือแม้แต่เวลาที่เราไปห้างวันหยุดสุดสัปดาห์แล้วคนล้นจนห้างแทบแตก ก็อาจจะบอกว่า It is flooded with people.

นอกจากนั้น เรายังใช้คำว่า flood พูดถึงเวลาที่มีสารเคมีไหลไปทั่วทุกส่วนของอวัยวะหรือร่างกายได้อีกด้วย ให้ภาพเหมือนกับสารเคมีนี้ไหลบ่าจนทั่วร่างกาย เช่น หากร่างกายเราอยู่ในภาวะที่มีฮอร์โมนความเครียดที่ชื่อว่าคอร์ติซอลในระดับสูง เราก็จะอยากกินของหวานๆ แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า When your body is flooded with cortisol, you’ll start to crave sugar.

ทั้งนี้ คำว่า flood ยังใช้กันในโลกออนไลน์ได้ด้วยในกรณีที่มีคนลงภาพหรือวิดีโอแบบรัวๆ จนท่วมหน้าฟีดไปหมด แบบนี้ก็จะเรียกว่า flooding the feed เช่น Stop flooding my feed with photos of your vacation in Paris, or I’ll unfriend you. ก็คือ เลิกลงภาพที่ไปเที่ยวที่ปารีสรัวๆ ได้แล้ว ไม่งั้นอันเฟรนด์นะ

Inundate

คำนี้ก็เป็นอีกคำที่ใช้พูดถึงน้ำท่วมได้ มีที่มาจากคำว่า inundare ในภาษาละติน ประกอบขึ้นจาก in- ที่หมายถึง เข้ามา (เช่น income และ incarcerate) รวมกับ undare ที่แปลว่า โถมเหมือนคลื่น (มาจากคำว่า unda ที่แปลว่า คลื่น อีกที และพบได้ในคำว่า undulate ที่แปลว่า เคลื่อนไหวเหมือนลูกคลื่น) รวมแล้วจึงได้ความหมายว่า เข้าท่วม นั่นเอง

คำว่า inundate นี้คล้ายกับ flood ตรงที่จะใช้พูดถึงน้ำท่วมจริงๆ ก็ได้ (เช่น The floodwaters have inundated most parts of Ubon Ratchatani. คือ น้ำท่วมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี) หรือจะใช้ในเชิงเปรียบเปรยก็ได้เช่นกัน (เช่น I have been inundated with work for weeks now. ก็คือ งานท่วมมาหลายสัปดาห์แล้วจ้ะ)

ที่น่าสนใจก็คือว่า คำว่า undare/unda ในคำนี้อันที่จริงแล้วยังแฝงตัวอยู่อย่างแนบเนียนในคำภาษาอังกฤษคำอื่นๆ ที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย เช่น surround (ล้อมรอบ) ที่หน้าตาชวนให้เราคิดว่ามาจากคำว่า round ที่แปลว่า กลม แต่อันที่จริงแล้ว คำนี้มาจากคำว่า superundare ที่แปลว่า ท่วมท้น ในภาษาละติน สร้างขึ้นจาก super- ที่แปลว่า เกิน ล้น รวมกับ undare ที่แปลว่า โถมเหมือนคลื่น แต่เนื่องจากคำนี้ถูกเจ้าแห่งการละเสียงอย่างภาษาฝรั่งเศสยืมไป จึงกร่อนเหลือเพียง surounder ในช่วงยุคกลาง เมื่อภาษาอังกฤษนำเข้ามา จึงมีคนเข้าใจว่าคงมาจากคำว่า round และเขียนใหม่เป็น surround อย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้

อีกตระกูลคำที่มี undare ซ่อนอยู่ก็คือ abundant และ abound ที่แปลว่า อุดมสมบูรณ์ เต็มไป เหลือล้น ทั้งสองคำมาจาก abundare ในภาษาละติน แปลว่า ท่วมท้น เช่นเดียวกัน โดยมาจาก ab- ที่แปลว่า ออกไป รวมกับ undare เช่นเดิม ให้ภาพว่ามีสิ่งสิ่งหนึ่งท่วมท้น มากมายเหลือเฟือ นั่นเอง

แต่ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านั้น เพราะคำว่า redundant ที่แปลว่า เกินความจำเป็น ก็มี undare ซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน เกิดจากการนำ undare มาผสมกับ re- ที่แปลว่า อีกครั้ง ได้ความหมายทำนองว่า ไหลท่วมอีกครั้ง จึงนำมาใช้ในความหมายว่ามีมากเกินความจำเป็น เช่น Redundant details ก็คือ รายละเอียดซ้ำๆ กันที่ตัดออกได้ แต่ถ้ามีคนพูดว่า I was made redundant from my job. ก็จะหมายความว่าถูกไล่ออกจากงาน เพราะถูกทำให้เป็นบุคคลที่เกินความจำเป็นขององค์กรนั่นเอง

Deluge

คำนี้ต่างจากสองคำด้านบนสักหน่อยตรงที่เป็นคำที่ใช้เรียกได้ทั้งน้ำท่วม (เช่น The worst deluge in decades has already displaced at least 50,000 people.) และฝนตกหนัก (เช่น The ceaseless deluge has turned streets into canals.) ดังนั้นเวลาพบเจอคำนี้ก็อาจต้องใช้บริบทช่วยเดาความหมายเล็กน้อย

ทั้งนี้คำว่า deluge นี้สามารถใช้ในเชิงเปรียบเปรยว่ามีอะไรถาโถมเข้ามาเป็นปริมาณมากคล้ายกับคำว่า flood และ inundate เช่น We were deluged with phone calls yesterday. หรือ We received a deluge of calls yesterday. ก็คือ เมื่อวานคนกระหน่ำโทรหาเรา รับสายไม่หวาดไม่ไหว 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เวลาที่คนพูดถึงน้ำท่วมหรือฝนตก ก็มักไม่ค่อยเลือกใช้คำนี้เป็นคำแรก จะใช้ก็ต่อเมื่อน้ำท่วมหรือฝนตกหนักมากแบบฟ้ารั่ว เพราะคำนี้นอกจากจะฟังดูยิ่งใหญ่แล้ว ยังมักโยงกับเหตุการณ์น้ำท่วมโลกในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลด้วย ตำนานน้ำท่วมโลกในหนังสือปฐมกาล (the Book of Genesis) เล่าไว้ว่า พระเจ้าเห็นว่ามนุษย์โลกเริ่มมีแต่ความเสื่อมทรามสามานย์ จึงส่งน้ำลงมาท่วมโลกเพื่อขจัดคนชั่ว แต่ก่อนจะลงมือ พระเจ้าเห็นว่าในโลกยังมีมนุษย์ที่ดีหลงเหลืออยู่คือ โนอาห์ (Noah) จึงมาบอกโนอาห์ให้ต่อเรือขนาดใหญ่เพื่อตนเองและครอบครัวจะได้รอดจากน้ำท่วม นอกจากนั้นยังบอกให้โนอาห์นำสัตว์ขึ้นเรือด้วยชนิดละคู่ เพื่อจะได้สืบพันธุ์และสร้างลูกหลานได้ใหม่หลังจากน้ำลด ทั้งนี้ พระเจ้าบันดาลให้น้ำท่วมอยู่ถึง 150 วัน ก่อนที่จะให้น้ำลดจนครอบครัวของโนอาห์และสัตว์ต่างๆ สามารถออกจากเรือมาได้

คำว่า deluge นี้หากสืบกลับไปจะพบว่ามาจากคำว่า diluvium ในภาษาละติน ซึ่งแปลว่า น้ำท่วม มาจาก dis- ที่แปลว่า ออกไป รวมกับ lavare ที่แปลว่า ชะล้าง (พบได้ในคำว่า lavatory ที่แปลว่า ห้องน้ำ) ด้วยเหตุนี้ คำนี้จึงมีความเชื่อมโยงกับคำว่า dilute ที่แปลว่า ทำให้เจือจาง (มาจาก dis- รวมกับ lavare เช่นกัน) เพราะหมายถึงการเติมน้ำเข้าไปชะให้ความเข้มข้นของสิ่งสิ่งหนึ่งลดลง นอกจากนั้น คำว่า deluge ยังเป็นญาติกับคำว่า antediluvian ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า สมัยก่อนน้ำท่วม มาจาก ante- ที่แปลว่า ก่อน (เช่นในคำว่า antebellum ที่แปลว่า ยุคก่อนสงคราม) รวมกับ diluvium ที่แปลว่า น้ำท่วมนั่นเอง ทั้งนี้ ที่บอกว่าสมัยก่อนน้ำท่วมนี้ก็คือก่อนน้ำท่วมโลกในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ด้วยเหตุนี้ คนทั่วไปจึงใช้คำว่า antediluvian ในความหมายว่า เมื่อนานมาแล้ว หรือหากจะแปลแบบไทยๆ ก็คงเป็น ตั้งแต่สมัยพระเจ้าเหา นั่นเอง

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/ 

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Shorter Oxford English Dictionary

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

 

Tags: , , , ,