เราเดินทางออกจากปราสาทปุยฝ้ายปามุกคาเล (Pamukkale) ช่วงบ่ายๆ แวะพักหนึ่งคืนที่คอนยา (Konya) ก่อนจะตีรถต่อไปยังคัปปาโดเกีย (Cappadocia) ดินแดนที่มีภูมิประเทศราวกับอยู่นอกโลก บ้างว่ากันว่าราวกับหลุดไปในเทพนิยาย หากใครเคยเห็นภาพใน Google คงจะคุ้นกับภาพบอลลูนลอยฟ้า พระอาทิตย์ขึ้น กับพื้นด้านล่างเป็นหินสลับซับซ้อนแปลกตา นั่นแหละครับคือภาพในฝันที่ผมตั้งใจว่าจะบันทึกไว้ในความทรงจำ

แต่ฝันนั้นต้องสลายเป็นฝุ่น เมื่อเราถึงหุบเขานกพิราบ (Pigeon Valley) เพื่อเก็บภาพพาโนรามาของคัปปาโดเกีย  หลังจากควักกล้องคู่ใจมาตั้งท่าเตรียมถ่าย ผลลัพธ์ที่ได้คือความนิ่งเงียบ

แล้วผมค่อยตระหนักได้ว่าลืมแบตเตอรีและที่ชาร์จไว้เป็นที่ระลึกในโรงแรมเมืองคอนยา!

ภูมิประเทศแปลกตาที่มีองค์ประกอบของเทือกเขาสลับซับซ้อน แท่งหินทรงประหลาด 

นี่แหละครับ คือจุดเริ่มต้นของทริปคัปปาโดเกีย ดินแดนในเทพนิยายที่ฟ้าดูท่าจะไม่อำนวย (คนขี้ลืมอย่างผม) โชคยังดีที่ยังพอหยิบยืมกล้องดิจิทัลที่คุณภาพพอถูไถจากพ่อตามาใช้ไปพลางๆ แล้วปลอบใจตัวเองว่า เอาน่า วันนี้ฟ้าไม่สวย กล้องดีแค่ไหนภาพที่ได้คงคุณภาพพอๆ กัน (ฮือ)

ถ้ำศาสนสถานที่ซ่อนตัวในหุบเขา

สองข้างทางคัปปาโดเกียดูยังไงก็ไม่คุ้นตา เรียกได้ว่าจอดลงตรงไหนก็ได้ภาพแปลกประหลาดจากชั้นหินภูเขาไฟที่ปะทุและทับถมทั้งภูมิภาคตั้งแต่สมัยโบราณ ก่อนถูกน้ำและลมกัดเซาะจนกลายสภาพเป็นภูมิภาคแปลกตา แล้วจึงถูกแปลงโฉมอีกครั้งด้วยมือมนุษย์ที่ค่อยๆ เซาะหินภูเขาไฟที่ค่อนข้างนุ่ม เป็นเคหสถานสารพัดประโยชน์ ทั้งที่อยู่อาศัย ห้องเก็บของ แม้แต่เมืองใต้ดินที่ความลึกพอๆ กับตึก 8 ชั้น

ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเกอเรเมที่หุบเขาทั้งลูกถูกเจาะจนพรุนเพื่อแปลงเป็นศาสนสถานทางคริสตศาสนา 

ไฮไลท์แรกที่จะพาเราย้อนเวลาไปหลายร้อยปี คือพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเกอเรเม (Göreme Open Air Museum) กิจกรรมทางศาสนาในภูมิภาคคัปปาโดเกียสามารถสืบย้อนกลับไปถึงคริสตศตวรรษที่ 4 โดยเกอเรเมเป็นชุมชนศูนย์กลางสำหรับนักบวช มีการจัดสรรเป็นห้องพัก ห้องอาหาร ห้องน้ำ ห้องครัว และที่ขาดไม่ได้คือโบสถ์สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งจำนวนร่วมสิบ

จิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์นั้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี เราสามารถเห็นพัฒนาการทางศาสนศิลป์ จากยุคแรกๆ ที่เน้นการประดับตกแต่งด้วยสัญลักษณ์กางเขนเรียบง่ายและลวดลายแบบเรขาคณิต ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นภาพนักบุญและพระเยซูในอิริยาบถต่างๆ รวมถึงการถ่ายทอดเรื่องราวจากพระคัมภีร์ ตกแต่งด้วยสีสันฉูดฉาดตระการตาจนไม่อยากเชื่อว่าภาพตรงหน้าอายุร่วมพันปี

ที่เกอเรเม เราสามารถสำรวจไปตามห้องหับสลับซับซ้อน พลางจินตนาการถึงการใช้งานของเหล่านักบวชที่หันหลังให้โลกแล้วมาอาศัยอยู่ในถ้ำ เรียกว่าเดินเที่ยวได้ครึ่งค่อนวันก็ไม่รู้เบื่อ เพราะหน้าต่างลึกลับที่สลักลงบนหิน ราวกับกำลังเชื้อเชิญให้เราเข้าไปค้นหาว่ามีอะไรอยู่ข้างใน

การประดับตกแต่งยุคเริ่มแรกของคริสตศาสนาที่เน้นการวาดลวดลายกางเขนและรูปทรงเรขาคณิต

ท่องไปในภูมิประเทศแปลกตา

ข่าวร้ายที่สองคือทริปนี้อาจไม่มีบอลลูนเนื่องจากลมแรงในระดับที่รัฐบาลตุรกีไม่อนุญาตให้ลอยฟ้า ความหวังที่ว่าจะเก็บทัศนียภาพสวยๆ จากท้องฟ้าท่ามกลางหมู่บอลลูนยามพระอาทิตย์ขึ้นเป็นอันต้องพับเก็บ

เมื่อไม่ต้องตื่นเช้า เราจึงเลือกออปชันรองคือนั่งรถเที่ยวเล่นไปตามภูมิประเทศแปลกตา

หากมองจากท้องฟ้า คัปปาโดเกียจะแบ่งออกเป็นสองฟากฝั่ง ฝั่งหนึ่งปกคลุมด้วยหินภูเขาสีค่อนไปทางเหลือง ส่วนอีกฝั่งหนึ่งเป็นสีแดงหม่นปกคลุมเป็นเนินเล็กๆ ยาวเหยียดสุดสายตาจนได้ชื่อว่าหุบเขาสีกุหลาบ นอกจากนั้น เรายังได้แวะชมกลุ่มหินรูปร่างแปลกตา ทั้งที่เป็นรูปทรงคล้ายเห็ดตั้งโด่เด่ หน้าตาคล้ายอูฐ รวมถึงกลุ่มหินปล่องนางฟ้า (Fairy Chimney) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคแห่งนี้ที่ดูไปดูมาก็คล้ายกับศิวลึงค์อยู่ไม่น้อย

หุบเขาสีกุหลาบจากหินภูเขาไฟสีแดง

เราเฝ้าดูพระอาทิตย์ตกที่จุดชมวิวเมืองออร์ทาไฮซาร์ (Ortahisar) เมืองขนาดเล็กที่เด่นด้วยป้อมปราการความสูงร่วม 100 เมตรที่ตั้งตระหง่านกลางเมือง นับว่าเป็นสถาปัตยกรรมอาคารจากหินที่เรียบง่ายและกลมกลืนกับธรรมชาติ ที่รอบนอก เรายังคงเห็นตึกรามบ้านช่องที่ถูกปล่อยให้เป็นซากปรักหักพัง

หากสังเกตตามรายทาง คัปปาโดเกียมีห้องในกลุ่มหินจำนวนมากที่ถูกทิ้งร้างเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าสรรพสัตว์อย่างนกพิราบ หรือเป็นสถานที่เก็บของจิปาถะ โครงสร้างหลายแห่งยิ่งมองก็ยิ่งสงสัยจนต้องอดใจไม่เดินเข้าไปสำรวจว่าด้านในเป็นอะไร มีใครอาศัยอยู่หรือไม่ และใครกันนะช่างขยันขันแข็งไปเซาะหินจนกลายเป็นที่อยู่อาศัย

ยิ่งมองดูก็ยิ่งกระตุ้นจินตนาการ สมกับที่ถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนเทพนิยายจริงๆ

ภูมิทัศน์ที่พบเห็นได้ทั่วไปของคัปปาโดเกีย จะเห็นว่าแท่งหินแทบทั้งหมดได้ถูกดัดแปลงเป็นห้องหับสำหรับใช้งาน

หินหน้าตาคล้ายอูฐอีกหนึ่งจุดถ่ายรูปยอดฮิต

กลุ่มหินพี่น้องทั้งสาม (The Three Sisters) แห่งคัปปาโดเกีย

เที่ยวบนฟ้าไม่ได้ ก็ลองลงไปใต้ดินสิ

หลังจากนอนเต็มอิ่มในโรงแรมถ้ำที่ไร้สัญญาณโทรศัพท์มือถือรบกวน ยามเช้าเราก็ได้รับข่าวที่คาดเอาไว้ว่าวันนี้ไม่มีบอลลูนขึ้นได้เพราะลมแรง แต่เมื่อเที่ยวบนฟ้าไม่ได้ ก็เปลี่ยนเป้าหมายไปเที่ยวเมืองใต้ดิน

ตาปีศาจ (Evil Eye) เครื่องรางของตุรกีมีความเชื่อว่าจะช่วยปกป้องผู้ถือครองจากโชคร้าย 

เมืองใต้ดินในคัปปาโดเกียอาจมีจำนวนมากกว่าห้างในกรุงเทพฯ เพราะปัจจุบันมีการค้นพบแล้วมากกว่า 30 แห่ง แต่ถ้านับห้องใต้ดินที่ความลึกไม่เกินสองชั้น ก็อาจมีร่วม 200 แห่ง และยังมีข่าวการค้นพบเผยแพร่ออกมาอยู่เนืองๆ สำหรับเมืองใต้ดินที่เป็นสถานที่ฮอตฮิตสำหรับนักท่องเที่ยวก็คือเมืองใต้ดินเดอรินคูยู (Derinkuyu Underground City) และเมืองใต้ดินเคย์มัคลี (Kaymakli Underground City) โดยเมืองแรกได้ชื่อว่าลึกที่สุด ส่วนเมืองที่สองได้ชื่อว่ากว้างใหญ่ที่สุด

ภาพพาโนรามาของเมืองออร์ทาไฮซาร์ ตรงกลางเป็นป้อมปราการหิน ที่เรียกว่า ‘ปราสาทกลาง (Central Castle)’

คำว่า ‘เมือง’ ที่ว่าไม่ใช่ชื่อเรียกเก๋ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวนะครับ เมืองใต้ดินทั้งสองแห่งข้างต้นสามารถจุคนได้หลายหมื่น มีการแบ่งสันปันส่วนที่พักสำหรับคนต่างชนชั้น คอกสัตว์ ห้องเก็บไวน์ ห้องอาหาร ห้องครัว ห้องหมักเหล้า ศาสนสถาน รวมถึงพื้นที่ฝังศพ โดยมีระบบระบายอากาศครบครันถึงระดับความลึกกว่า 60 เมตร

เมืองที่ว่าคือสถานที่หลบภัยของชาวคริสต์ที่ถูกไล่ล่าตั้งแต่จากสมัยทหารโรมัน ชาวมองโกเลีย ไปจนถึงจักรวรรดิออตโตมัน โดยมีกลไกสำคัญคือประตูทางเข้าที่เป็นหินหนักแต่สามารถเปิดได้เพียงด้านเดียว ส่วนระบบระบายอากาศก็มีการเจาะกระจายตัวไว้นับหมื่นแห่ง ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะบุกเข้าทำร้ายประชาชนที่หลบในเมืองใต้ดินแห่งนี้

เส้นทางเดินในนครใต้ดินซึ่งบางจุดค่อนข้างลาด และบางช่วงเพดานเตี้ยจนต้องคู้ตัวเดิน

ห้องที่มีการจัดแบ่งเป็นสัดส่วนสำหรับผู้อยู่อาศัย

เราเดินท่องเที่ยวใต้ดินไปค่อนวัน ชมความอัศจรรย์และอุตสาหะของผู้คนสมัยก่อน เลาะเลียบไปตามทางเดินลาดที่ต้องคู้ตัว มองหาร่องรอยหลงเหลือ เช่น คราบเขม่าไปในห้องครัว หินแท่นทรงคล้ายที่นั่งรับประทานอาหาร หรือลานสำหรับย่ำองุ่นเพื่อใช้หมักไวน์ พลางใช้จินตนาการถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีต

ช่องระบายอากาศที่หากเงยหน้าขึ้นไปจะมองเห็นแสงสว่างจากภายนอก จุดนี้ถ่ายจากความลึกประมาณตึก 3 ชั้น

แม้จะเดินกันจนเหงื่อซก แต่ผู้นำทัวร์ของเราก็อธิบายว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นเพียงกระผีก เมืองใต้ดินเหล่านี้ยังมีห้องหับที่รอการเข้าไปขุดสำรวจ และพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เปิดให้กับนักท่องเที่ยว แถมเมืองใต้ดินหลายแห่งก็มีทางเชื่อมต่อกัน เช่น เดอรินคูยู และเคย์มัคลี จนกล่าวได้ว่าอาณาจักรใต้ดินของคัปปาโดเกียยังมีประวัติศาสตร์ที่รอการค้นพบอีกมาก

แม้สามวันนี้ฟ้าจะไม่เป็นใจ แต่คัปปาโดเกียก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะมีเรื่องราวและสีสันมากมายให้ค้นหาจากภาคพื้นดิน!

*ขอบคุณธิษณา กูลโฆษะผู้ร่วมทาง

เอกสารประกอบการเขียน

Göreme National Park and the Rock Sites of Cappadocia

History The Story Behind Turkey’s Underground Cities

Derinkuyu Underground City

Tags: ,