ปาราวตีวนเวียนไปกลับอินเดียอยู่บ่อยครั้ง ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างของกัว (Goa) รัฐชายฝั่งตะวันตกติดทะเลอาหรับตัวจี๊ด มาเนิ่นนาน แต่ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนสักที

จนการเดินทางล่าสุดปลายธันวาคมที่ผ่านมา (2561) หลังรับบทเจ้าหญิงวุ่นวายที่มันดันกัด (Mandangad) เมืองเล็กบนเขา รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) อยู่นาน ว่าจะไปเริงระบำคืนสิ้นปีพิกัดไหนเมืองใดในอินเดียดี ไปนิวเดลีตามจริตซิตี้เกิร์ล กลับปูเน (Pune) สังสรรค์กับสมาคมชาวไทย หรือดื่มด่ำความโรแมนซ์ที่ทะเลทรายรัฐราชสถาน (Rajasthan) ก็ดูเข้าท่าไปหมด

ทว่า ตั๋วรถไฟกลับไม่เป็นใจ ทุกจุดหมายปลายทางเต็มหมด เหลือแค่ตั๋วสถานะ waitlist และ RAC (Reservation Against Cancellation) ให้ช้ำใจ ซึ่งใช้ขึ้นรถไฟได้จริง แต่ไม่มีที่นั่งเป็นหลักแหล่ง ต้องร่อนเร่จากตู้นี้ไปตู้นั้น หรือนั่งจมจ่อมอยู่ตามทางเดิน

“ปาราวตี เธอต้องไปปาร์ตี้ที่รัฐกัวสักครั้งในชีวิต!”

คำพูดของเพื่อนสาวชาวอินเดียกลับมาย้ำหญิงสาวอีกครั้ง

ได้จ้ะ เพื่อนรัก… ปาราวตีลองกดเช็กตั๋วรถไฟออนไลน์อีกครั้ง พยายามข่มใจไม่ให้ตั้งความหวัง ขนาดเมืองตาสีตาสา รถไฟยังแน่นขนัด แล้วนี่เมืองปาร์ตี้ตัวท็อป ฉันจะไปสู้ใครเขาทัน

…แต่ปรากฏว่า เหลือที่นั่งว่างสองที่!

รัฐกัวโดดเด่นกว่ารัฐอื่นในอินเดีย เพราะไม่เคยอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ ถูกปกครองโดยโปรตุเกสแทน วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมจึงมีกลิ่นอายอังกฤษแทรกแซงน้อยมาก บ้านเรือนมีลักษณะเรียบง่าย เฉดสีอ่อน ลักษณะคล้ายอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีส (Sino-Portuguese) แถวเมืองเก่าภูเก็ต ไม่เน้นรายละเอียดยิบย่อยเหมือนสถาปัตยกรรมสไตล์วิกตอเรียนย่านมรดกโลกที่มุมไบ

ความยาวรัฐกัวตั้งแต่ชายฝั่งเหนือสุดถึงใต้สุดยาว 160 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าสั้นมาก เทียบกับรัฐอื่นของอินเดีย สั้นกว่าความยาวชายฝั่งจังหวัดที่ยาวที่สุดของไทย อย่างประจวบคีรีขันธ์ 60 กว่ากิโลเมตร (ชายฝั่งประจวบฯ ยาว 224.8 กิโลเมตร) รัฐกัวจึงเป็นรัฐขนาดเล็กที่สุดจากทั้ง 29 รัฐ  

31 ธันวาคม 2561

ปาราวตีลงรถไฟที่สถานีเพอร์เน็ม (Pernem) สถานีรถไฟทิศเหนือสุดของรัฐ ด้วยหมุดหมายครั้งนี้ของหญิงสาวคือหาดอะรัมโบล (Arambol Beach) หนึ่งในหาดหลักชื่อดังของรัฐกัว

บรรยากาศสถานีดูเวิ้งว้าง ผิดกับจินตภาพที่ปาราวตีคาดการณ์ไว้ อาจเพราะเป็นเวลาสองทุ่มกว่าแล้ว ใครๆ เขาคงแต่งสวยพร้อมอวดโฉมบนชายหาดกันหมดแล้ว ไม่ได้การ! หญิงสาวจะไปงานเลี้ยงสายไม่ได้! พลันรีบเร่งพุ่งตัวไปโบกออโต้ริกชอว์ รถรับจ้างคล้ายตุ๊กตุ๊ก

“500 รูปีจ้ะ น้องสาว”

ปาราวตีชักสีหน้ามองแรง แต่หลังจากสำรวจโดยรอบ พี่เขาคือความหวังหนึ่งเดียว ได้แต่บอกตัวเองในใจ หารสองเป็นเงินบาทก็ไม่น่าเกลียดเท่าไร “ไปก็ไปค่ะพี่”   

ถึงที่พักหญิงสาวจัดแจงเก็บกระเป๋า ก่อนผัดหน้าประทินผิว สวมแจ็กเกตปักลายมังกรตัวโปรด เพราะถึงแม้จะอยากโชว์เนื้อหนังแค่ไหน แต่อุณหภูมิฤดูหนาวภาคเหนือของอินเดียก็ไม่เป็นใจ ตกดึกอาจต่ำได้ถึงสิบกว่าองศา โดยอากาศรัฐกัวต่างกันชัดเจนในแต่ละฤดู ฤดูร้อนอากาศแผดเผาไม่ต่างจากประเทศไทย ฤดูมรสุมพายุเข้าถาโถมกระหน่ำ ส่วนฤดูหนาวอากาศช่วงเช้าและกลางคืนเย็นมาก (เดือนเริ่มต้นและสิ้นสุดฤดูกาลต่างๆ อิงจากไทยได้)

ปกติรัฐกัวขึ้นชื่อเรื่องปาร์ตี้อยู่แล้ว บวกกับคืนพิเศษวันสิ้นปี แทบจะทุกหลืบมุมจึงมีแต่แสงสีและเสียงเพลง แถมปาร์ตี้ยังหลากหลาย ไม่ว่าจะ EDM เพลงแดนซ์น็อนสตอป ปาร์ตี้ลับที่ต้องได้รับบัตรเชื้อเชิญ แม้กระทั่งงานรื่นเริงสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะก็มี

ระหว่างเตร็ดเตร่ตามหาปาร์ตี้ที่ถูกใจ ปาราวตีพบกับชายหนุ่มจากจอร์แดน เขาเข้ามาขายตรงปาร์ตี้เล็กๆ กลางดงต้นมะพร้าว รู้ตัวอีกที หญิงสาวก็แฝงตัวอยู่กับก๊วนเพื่อนหนุ่มสาวหลากหลายเชื้อชาติของเขาแล้ว พร้อมเงินค่าเข้างาน 500 รูปีที่ล่องลอยไป ทั้งที่ตั้งมั่นมาดิบดีว่าจะแจมปาร์ตี้เข้าฟรีเท่านั้น

ผู้ชายคือจุดอ่อนของปาราวตีเสมอ!

แม้จัดงานในพื้นที่ขนาดเดินวนครบรอบภายในห้านาที แต่ก็มีโซนให้เลือกเอ็นจอยมากมาย ทั้งโซนดนตรีสดจัดเต็มเพลงเร็กเก โซนลานโล่งสำหรับโยกย้าย โซนบาร์ไม้นั่งชิล โซนซุ้มเต็นท์สไตล์ชนเผ่าไว้จับกลุ่มเมาท์มอย และโซนผิงไออุ่นข้างกองเพลิงลุกโชนตลอดคืน

นอกจากส่วนของงานรื่นเริง ปาร์ตี้นี้ยังมีนิทรรศการศิลปะมากมาย ใครใคร่ซื้อก็จับจองได้ หรือใครใคร่มองชื่นชมอย่างเดียว ศิลปินก็ดูจะไม่ว่าอะไร

ปาราวตีบอกลาชายหนุ่มและผองเพื่อนหลังนับถอยหลังต้อนรับปีใหม่จบ ถึงหญิงสาวจะเพิ่งย่างเข้าวัย 25 ปี แต่จะให้เริงร่าทั้งคืนจนรุ่งสางเหมือนวันวาน กลับทำไม่ได้แล้ว…

วันต่อมา ปาราวตีเก็บเสื้อผ้าไปพักกับแดเนียล โฮเซ (Daniel José) เพื่อนหนุ่มชาวอินเดียจากรัฐเกรละ (Kerala) ทางภาคใต้ ที่ทั้งชื่อจริงและนามสกุลไม่มีเค้าความอินเดียแม้แต่น้อย ไม่เหมือนคุณวิชัย (Vijay), อนุรักษ์ (Anurag) หรือปราโมทย์ (Pramod) ที่หญิงสาวพานพบจากรัฐอื่น

ซึ่งจริงๆ ก็ไม่แปลก สำหรับภูมิภาคอินเดียชายฝั่งตะวันตก ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าสมัยยุคล่าอาณานิคม ทั้งโกชิ (Kochi) รัฐเกรละ รวมไปถึงรัฐกัว ที่บรรดาประชากรชาวยุโรปหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนมาค้าขาย รวมถึงคณะมิสชันนารีที่ตามติดมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ จนก่อเกิดชุมชนคริสต์ศาสนิกชนกลุ่มย่อยขึ้นตามเมืองทางผ่านเหล่านี้

คนอินเดียบางกลุ่ม หลังเปลี่ยนศาสนาสลัดทิ้งชื่อเก่าภาษาสันสกฤต โบกมือลาชื่อเสียงเรียงนามเดิม ที่มักผูกพ่วงตีตราวรรณะไว้ ต้อนรับชื่อใหม่สุดอินเตอร์ผสานความเท่าเทียม ตามอาคันตุกะต่างสัญชาติ  

แดเนียลเป็นหนุ่มรักอิสระ เขาลาออกจากงานมากางเต็นท์ใช้ชีวิตอยู่บนภูเขาอะรัมโบล ภูเขาขนาดย่อมติดชายหาดชื่อเดียวกัน ได้พักใหญ่แล้ว การตั้งแคมป์ระยะยาวที่รัฐกัวไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ทั้งบนเขาและในป่า รวมถึงชายหาดอื่นด้านหลัง ล้วนเป็นแหล่งพักพิงของชาวต่างชาติและชาวอินเดียส่วนน้อยมาเนิ่นนาน บางกลุ่มมีเพียงผ้าใบขึงกั้นระหว่างคานไม้แฮนด์เมด บางกลุ่มใช้เต็นท์สนามครบเครื่อง

เต็นท์ของแดเนียลจะเป็นบ้านหลังใหม่ของปาราวตีไปอีกสองคืน…

คืนแรกกับการนอนเต็นท์ผ่านไปอย่างราบรื่น ปวดหลังบ้างนิดหน่อย เพราะหญิงสาวนอนดิ้นหลุดออกนอกถุงนอนค่อนคืน ปาราวตีตื่นรับเช้าวันใหม่พร้อมท้องไส้ปั่นป่วน จึงหันปลุกเพื่อนชายร่วมเต็นท์ถามหาแดนสุขาวดี

“ลงเขาไปร้านอาหารข้างล่าง ซื้อน้ำสักขวด แล้วขอเข้าห้องน้ำ” แดเนียลตอบอย่างงัวเงีย

ปาราวตีจัดแจงธุระส่วนตัวเสร็จ ก็ถึงเวลาอาหารเช้า สมาคมตั้งแคมป์ส่วนใหญ่เน้นทำอาหารกินเอง แต่มื้อนี้ปาราวตีขอลา ฉันต้องได้กินเมนูซีฟู้ดจุกๆ ให้สาแก่ใจ พร้อมชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เต็มเปี่ยม ก่อนกลับขึ้นไปเก็บของเตรียมอาบน้ำให้ชื่นใจ

หญิงสาวตามเพื่อนชายเข้าป่าหลังชายหาดกาลาชา (Kalacha) หาดเล็กเงียบสงัดข้างชายหาดอะรัมโบล ในป่ามีลำธารสายเล็กๆ ไหลผ่าน

“เราจะอาบน้ำกันที่นี่” แดเนียลกล่าว สีหน้าเรียบเฉย

ปาราวตีตกใจนิดหน่อย แต่มือเปลื้องผ้าเสร็จเรียบร้อย แดเนียลรองน้ำจากสายน้ำที่แทรกตัวออกมาจากซอกผนังหิน พร้อมดื่มโชว์สองสามอึก การันตีว่าสะอาดจนดื่มได้จริง ก่อนตักราดตัวจนชุ่ม ไม่นานหลังจากกลุ่มของพวกเรามาถึง ชาวต่างชาติอีกหลายกลุ่มก็ทยอยมาร่วมวงอาบน้ำสาธารณะนี้ด้วย

หนุ่มยุโรปผมบลอนด์คนหนึ่งสอนปาราวตีว่า ใช้น้ำล้างตัวอย่างเดียวไม่สะอาดหรอก ต้องเอาโคลนสีทองจากฝั่งหนึ่งของลำธารขัดตัว ใช้แล้วลืมสบู่ไปได้เลย

“จ้ะ ได้จ้ะ” ปาราวตีเชื่อผู้ชาย รีบจ้วงโคลนขัดผิวเป็นการใหญ่ ผู้คนรอบข้างเห็นสมาชิกใหม่อย่างหญิงสาวปรับตัวได้รวดเร็วต่างก็ชื่นชม

“ใช้โคลนแบบนี้แหละ ไม่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ” ใครคนหนึ่งพูดขึ้นเสริมความมั่นใจให้ปาราวตี

ฉันนี่สิ นักอนุรักษ์สาวตัวจริง!

ถัดลึกเข้าไปในป่า เป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ที่ระหว่างทางมีบาบา (Baba) กลุ่มผู้เลื่อมใสศาสนาฮินดู ซึ่งตัดแล้วทางโลก ผันตัวเข้าหาธรรมชาติมุ่งหวังเข้าถึงพระเจ้าให้มากขึ้น บางกลุ่มเคร่งมากถึงขั้นเข้าไปอยู่ในป่าลึกเลยก็มี ให้พบปะทักทายตลอดทาง

นักท่องเที่ยวหลายคนสนุกสนานกับการสนทนากับบาบา ทั้งเรื่องนามธรรมอย่างเรื่องจิตวิญญาณ ตายแล้วไปไหน ไปจนถึงบาบาคิดว่าพรรคบีเจพี (BJP: Bharatiya Janata Party) ที่เคยชนะเสียงโหวตถล่มทลายจะครองอำนาจอินเดียได้ต่อหรือไม่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ฯลฯ โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องอุปสรรคทางภาษา เพราะบาบารัฐกัวได้เจอะเจอชาวต่างชาติจนเป็นกิจวัตรไปแล้ว

ธรรมเนียมหนึ่งที่ทุกคนทำหลังจบบทสนทนาคือ หยิบยื่นสิ่งของบางอย่างเป็นสินน้ำใจให้บาบา ปาราวตีล้วงกระเป๋าผ้าเจอส้มสองลูก จึงจับวางไว้บนพื้นว่างด้านหน้า บาบาเหล่ตามองส้มเพียงชั่วครู่ ก่อนเงยหน้าพูดกับหญิงสาวว่า

“อยากได้กัญชาต่างหาก มีไหม”

แหม… หยิบส้มคืนแทบไม่ทันเลยนะคะบาบา

ถึงแม้จะขึ้นชื่อเรื่องชายหาด ทว่า ชีวิตของปาราวตีที่รัฐกัวกลับพัวพันทะเลน้อยมาก น้ำทะเลที่นี่ไม่ได้ใสจนสะท้อนแสงเป็นสีฟ้าเหมือนทะเลใต้เมืองไทย แถมคลื่นลมแรงเป็นพิเศษตามสไตล์ทะเลอาหรับ แต่ด้วยทัศนียภาพชายหาดที่ให้ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่ใช่ชายหาดเชิงพาณิชย์เรียงรายด้วยโรงแรมนานา มองเห็นทิวป่ามะพร้าว ภูเขาสูงลดหลั่นกันไป

แค่นี้ ชีวิตก็เหมือนไม่เคยมีเรื่องวุ่นวายเกิดขึ้นไปพักใหญ่แล้ว แม้แทบไม่รู้สึกเหมือนมาอินเดียเลยก็ตาม เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ริมหาดมีแต่ชาวต่างชาติ จนนึกว่าหลุดมาบนชายหาดประเทศใดประเทศหนึ่งทางยุโรปไปแล้ว

ถึงตอนนี้ ปาราวตีไม่แปลกใจเลย ว่าทำไมรัฐกัวถึงโด่งดังขนาดที่บรรดาเพื่อนสาวชาวอินเดียต่างพากันแนะนำเป็นเสียงเดียว

Fact Box

จริงๆ แล้วรัฐกัวแบ่งหลักๆ เป็นสามส่วน คือเหนือ กลาง ใต้ ซึ่งทุกจุดสามารถนั่งรถไฟไปลงได้หมด เลือกสถานีตามพิกัดในรัฐที่อยากไป สามารถนั่งรถไฟมาได้จากเมืองใหญ่ๆ ทั้งมุมไบ นิวเดลี เบงคาลูรู โกชิ ฯลฯ หรือถ้าอยากโดยสารเครื่องบิน รัฐกัวก็มีสนามบินนานาชาติพร้อมบริการ โดยสนามบินตั้งอยู่ตอนกลางรัฐ

การเดินทางภายในรัฐมีหลากหลาย ตั้งแต่เช่ารถจักรยานยนต์ขับ เหมารถส่วนตัวพร้อมคนขับ ออโต้ริกชอว์ รถจักรยานยนต์รับจ้างคล้ายวินมอเตอร์ไซค์ หรือหากต้องการลดรายจ่าย รถเมล์ในรัฐกัวก็มีครอบคลุมแทบจะทุกพื้นที่ในราคาไม่กี่สิบรูปี