คุณเชื่อเรื่องสวรรค์บนดินไหม?

คิดเล่นๆว่าลึกๆ แล้ว ชาวอียิปต์โบราณคงเชื่อว่าสวรรค์บนดินนี้มีอยู่จริง ไม่อย่างนั้นศิลปะแห่งการทำมัมมี่คงไม่เกิดขึ้น ทำไมถึงตายไปแล้ว คนเรายังอยากจะหวนกลับมายังโลกนี้อีก?

อาจจะเป็นเพราะเราได้เห็น ได้สัมผัสกับตาแล้ว ว่าโลกนี้สวยงามได้มากแค่ไหน และเมื่อได้มาถึงลักซอร์ เราก็เข้าใจ ว่าทำไมเหล่าฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ถึงเลือกให้ดินแดนแถบนี้เป็นแหล่งพักพิงสุดท้าย

สวรรค์บนดินอยู่ที่นี่นี่เอง

สุสานฟาโรห์ในลักซอร์ว่ากันว่ามีมากถึง 63 สุสาน

แต่ก็ไม่ง่ายที่จะตกหลุมรักลักซอร์

อียิปต์ถือว่าเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยนัก และทุกอย่างก็ยิ่งแย่หลังจากการปฏิวัติอาหรับสปริงในปีค.ศ. 2010 ที่พัดพาเอานายทุนจากต่างชาติออกไปหมด พร้อมๆ กับนักท่องเที่ยวที่หวาดกลัวการก่อการร้าย ไม่แปลกเลยที่ผู้คนที่นี่จะดิ้นรนเพื่อปากท้องมากกว่าที่อื่น และทำให้อาการตื๊อกวนใจหรือ hassle กลายเป็นเรื่องธรรมดา จนหลายๆ ครั้งช่วงเวลาสุดแสนโรแมนติกก็ถูกทำลายลงง่ายๆ ด้วยคำว่า “Hello, my friend” ซึ่งถ้าเผลอไปตอบเข้า ก็ทำใจไว้ได้เลยว่ายาวแน่ๆ แต่ถ้าใจแข็งสักหน่อยและทำเฉยไม่ใส่ใจอะไรนัก ประสบการณ์ที่ได้ก็จะดีขึ้นอีกระดับ

บางทีก็ไม่ใช่คนหรอกที่เลือกสถานที่ฝ่ายเดียว สถานที่ก็เลือกคนเหมือนกัน

หุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings)

ลักซอร์ ปัจจุบันคือเมืองท่องเที่ยวสำคัญในส่วนของอียิปต์บน (Upper Egypt) ซึ่งหมายถึงบริเวณทางตอนใต้ของประเทศ ในอดีตนั้นลักซอร์เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวกรีกในชื่อว่า ‘ธีบส์’ (Thebes) และเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอียิปต์ในยุคใหม่ (New Kingdom) หรือในช่วงระหว่างปี 1570 และ 1544 ก่อนคริสตกาลซึ่งเป็นยุคของราชวงศ์ที่ 18-20 ส่วนหนึ่งไฮไลต์ของที่นี่จึงอยู่ที่บรรดาวิหารที่เหล่าฟาโรห์สร้างขึ้นบูชาเทพเจ้าที่ตนเองนับถือ รวมถึงสุสานของของเหล่าฟาโรห์และราชินีในหุบเขากษัตริย์ (Valley of the Kings) และหุบเขาราชินี (Valley of the Queens)

ภาพเขียนภายในสุสานฟาโรห์

เราเลือกเริ่มจากหุบเขากษัตริย์ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์​ ที่พักพิงแห่งสุดท้ายของเหล่าฟาโรห์นี้คือจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่ฝันอยากจะได้มาเห็นสักครั้งในชีวิต แม้ว่าปัจจุบันมัมมี่ของฟาโรห์จะได้รับการอัญเชิญไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้วก็ตาม จนถึงทุกวันนี้ นักโบราณคดีขุดพบสุสานฟาโรห์และขุนนางในหุบเขากษัตริย์นี้ได้มากมายถึง 63 สุสาน และยังคงขุดกันต่อไป ส่วนทำไมต้องมาสร้างสุสานซะห่างไกลเมืองและยากลำบากต่อการเข้าถึงขนาดนี้ ก็คงเป็นเพราะต้องการปกป้องสุสาน (และของมีค่าในนั้น) จากมือโจรนั่นเอง

กระจกกั้นเพื่อกันไม่ให้นักท่องเที่ยวอยู่ใกล้กับผนังมากจนเกินไป เพราะลมหายใจของผู้ชมจะทำลายภาพเขียนได้

ประเพณีการฝังศพถือเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุดในชีวิตชาวอียิปต์โบราณ สำหรับพวกเขาแล้ว ความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นเหมือนภาวะเปลี่ยนผ่านชั่วคราวระหว่างโลกนี้กับโลกหน้าเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าชีวิตหลังความตายนั้นจะสุขสบายเหมือนตอนยังอยู่ ชาวอียิปต์โบราณจึงให้ความสำคัญกับการบูชาเทพเจ้า เมื่อสิ้นชีวิต ศพของชาวอียิปต์โบราณจะถูกทำเป็นมัมมี่เพื่อคงสภาพเดิมไว้รอให้วิญญาณกลับมาเข้าร่างอีกครั้ง

ส่วนข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจะถูกนำมาวางอยู่ในหลุมศพด้วยเพื่อให้ผู้ตายนำไปใช้ในโลกหน้าด้วย แม้ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้และของมีค่าในหลุมศพฟาโรห์จะโดนโจรกวาดไปหมดหรือถูกย้ายไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์หมดแล้ว แต่สุสานในหุบเขากษัตริย์นี้ก็ยังควรค่าแก่การเยี่ยมชมเพราะเต็มไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังสวยงามที่แตกต่างกันไปตามแต่ละ ‘สไตล์’ ของเจ้าของ ภาพบนผนังในสุสานไม่เพียงแต่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของฟาโรห์ผู้เป็นเจ้าของแล้ว ยังเล่าถึงเทพเจ้าที่พระองค์นับถืออีกด้วย ตั๋วเข้าชมหุบเขากษัตริย์นี้จะให้นักท่องเที่ยวเข้าสุสานได้ 3 สุสาน แม้จะห้ามถ่ายภาพด้านใน  แต่ผู้ที่สนใจถ่ายภาพด้านในด้วยกล้องถ่ายรูปและสมาร์ทโฟนก็สามารถซื้อตั๋วสำหรับการถ่ายภาพแยกได้ (ถ้าแอบถ่ายโดยไม่มีตั๋วแล้วโดนจับได้จะต้องเสียค่าปรับ) ซึ่งเหตุผลคาดว่าคงเป็นเพราะอยากลดระยะเวลาของนักท่องเที่ยวแต่ละคนในสุสานนั่นเอง แม้ภาพจิตรกรรมฝาผนังอายุหลายพันปีนี้จะยังดูชัดเจนในสายตาเรา แต่ในความจริงแล้ว ปฏิกิริยาจากลมหายใจของผู้เข้าชมได้ทำลายความสมบูรณ์ของภาพไปมาก จนบางสุสานต้องนำกระจกมาวางกั้นไว้อีกชั้นหนึ่งเพื่อกันไม่ให้นักท่องเที่ยวอยู่ใกล้กับผนังมากจนเกินไป ทางการอียิปต์คาดว่าอาจต้องปิดบางสุสานอย่างถาวรด้วยซ้ำ เพราะทนพิษบอบช้ำจากนักท่องเที่ยวไม่ไหว

แต่ถ้าใครเฝ้าฝันถึงทริปนี้มาตลอด ก็อยากบอกว่ายอมเสียเงินเพิ่มเถอะ เพราะข้างในนั้นอลังการจริงๆ และในชีวิตนี้ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะได้กลับมาดูอีกเป็นครั้งที่สองไหม และใครจะรู้ ถึงอยากคิดจะมาดู คราวหน้าอาจจะเหลือเพียงแค่ภาพโฮโลแกรมจำลองเท่านั้น

หน้าทางเข้าวิหารพระนางฮัตเชปซุต (Temple of Hatshepsut)

ใกล้ๆ กับหุบเขากษัตริย์ แท็กซี่ได้พาเราไปแวะที่วิหารพระนางฮัตเชปซุต (Temple of Hatshepsut) อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมสุดอลังการของยุคอียิปต์โบราณที่ตั้งตระหง่านอยู่อย่างเซอร์เรียลกลางหุบเขา แต่สิ่งที่ดูจะน่าทึ่งมากกว่าคือประวัติของพระนางเอง พระนางฮัตเชปซุตคือฟาโรห์หญิงองค์ที่สามในระยะเวลาสามพันปีของยุคอียิปต์โบราณที่ครองราชย์ก่อนพระนางคลีโอพัตราถึง 14 ศตวรรษ​ แม้จะเป็นทายาทโดยตรงของกษัตริย์ธุตโมสที่หนึ่ง (Thutmose I) แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิง ตำแหน่งฟาโรห์จึงตกเป็นของธุตโมสที่สองซึ่งเป็นพี่น้องต่างมารดาของพระองค์เอง และกลายเป็นพระสวามีของพระองค์ในเวลาต่อมา ทั้งคู่มีพระธิดาหนึ่งองค์ ซึ่งก็ทำให้รัชทายาทกลายเป็นธุตโมสที่สามซึ่งเป็นพระโอรสของธุตโมเซที่สองกับพระสนมที่มีตำแหน่งรองลงมา

สถาปัตยกรรมสุดอลังการของยุคอียิปต์โบราณของวิหารพระนางฮัตเชปซุต

เมื่อธุตโมสที่สามครองราชย์ตอน 2 ชันษา พระนางฮัตเซปซุตจึงเข้ามาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และขึ้นครองราชย์เป็นฟาโรห์ในเวลาต่อมา รัชสมัยของพระนางฮัตเชปซุตนับเป็นอีกหนึ่งยุคสมัยที่รุ่งเรืองยุคหนึ่งของอียิปต์โบราณ โดยเฉพาะความเจริญทางการค้าที่แผ่ขยายออกไปกว้างไกล แต่แม้กระนั้น การที่เกิดมาเป็นเพศหญิงพระองค์ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่มาก  เห็นได้จากความพยายามในการสั่งให้สร้างรูปปั้นของพระนางให้ดูเหมือนฟาโรห์เพศชาย

บ้านของฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter)

ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านของฮาเวิร์ด คาร์เตอร์

นอกจากแหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์แล้ว อีกหนึ่งจุดหมายในแถบหุบเขากษัตริย์ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักจะมองข้ามคือบ้านของฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter) ที่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์​ คาร์เตอร์คือนักโบราณคดีที่เป็นผู้ค้นพบสุสานของตุตันคามุนในสุสานที่ 62 ในหุบเขากษัตริย์ นักโบราณคดีจากอังกฤษผู้นี้หลงใหลในอียิปต์ และยอมทิ้งความสะดวกสบายทุกอย่างเพื่อมาอยู่ท่ามกลางหุบเขาอันแห้งแล้งเพื่อทำงานที่เขารัก บ้านเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ของเขานี้ทำให้เราได้แต่คิดว่าถ้าอินเดียน่า โจนส์มีจริง ก็คงจะมีบ้านแบบนี้

สำหรับทริปลักซอร์นี้ เราเลือกข้ามไปสำรวจทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ที่อยู่ไกลออกไปจากเมืองก่อน แล้วค่อยแวะกลับมาเก็บไฮไลต์ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกซึ่งอยู่ในตัวเมือง อย่างพิพิธภัณฑ์ลักซอร์ที่จัดแสดงวัตถุโบราณที่รวบรวมมาจากทั้งหุบเขากษัตริย์และหุบเขาราชินี พิพิธภัณฑ์การทำมัมมี่ที่จัดแสดงวิธีการทำมัมมี่ในสมัยอียิปต์โบราณ รวมถึงวิหารคาร์นัค (Karnak) ที่ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และแน่นอนว่าไม่พลาดเข้าไปชมวิหารลักซอร์ที่เราเดินผ่านอยู่ทุกวัน พอตกกลางคืนแล้ว วิหารแห่งนี้ดูจะอลังการขึ้นไปอีกขั้นด้วยระบบแสงไฟสุดดรามาติก ที่ทำให้เรารู้สึกตัวลีบยิ่งขึ้นไปอีกเพราะทุกอย่างช่างดูใหญ่โตเหลือเกิน

อีกหนึ่งกิจกรรมห้ามพลาดคือการล่องเรือกลางแม่น้ำไนล์

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คงบอกได้ว่าคุณจะยังมาไม่ถึงลักซอร์จริงๆ ถ้าไม่ได้นั่งเรือเฟลูกา (Felucca) หรือเรือใบท้องถิ่นออกไปชมพระอาทิตย์ตกกลางแม่น้ำไนล์​ ช่วงเย็นๆ เหล่าเรือใบสีขาวพากันออกมาแล่นล้อลมใต้แสงอาทิตย์ที่สาดส่อง เมื่อนั้นเองที่ลักซอร์แห่งนี้ดูเหมือนกับหลุดออกมาจากภาพฝัน

 บรรยากาศยามเย็นบนเรือเฟลูกาชมพระอาทิตย์ตก

บนเรือใบลำเล็ก เรานั่งจิบชาร้อน ชมพระอาทิตย์ตกด้วยกันเงียบๆ โดยมีเรือใบแล่นไปมาเป็นฉากหลัง จริงๆแล้วเรือของเราแล่นออกมาจากท่าเรือไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตรด้วยซ้ำ แต่ด้วยภาพที่เห็น ด้วยบรรยากาศที่สัมผัส ทุกอย่างมันลงตัวไปหมด จนกระทั่งกัปตันเรือพูดขึ้นมาว่า “อียิปต์สวยนะ เสียอย่างเดียว ก็เรื่องกวนใจนักท่องเที่ยวนี่แหละ” เขาหัวเราะ “ว่าแต่แล่นเรือเสร็จแล้ว พวกคุณอยากจะซื้อปลากลับไปไหม ผมมีนะ ขายไม่แพง” เราสองคนได้แต่มองหน้ากันแล้วหัวเราะ

ช่างปิดท้ายได้อียิปต์จริงๆ

Tags: , ,