อย่างที่เล่าให้ฟังในตอนก่อนๆ นะครับ ว่าชาวยุโรปยุคกลางนั้นไม่ค่อยนิยมกินอาหารเช้าสักเท่าไหร่ ทั้งยังเชื่อด้วยว่า การกินอาหารเช้าเป็นเรื่องของเด็กหรือคนป่วยเท่านั้น หรือเชื่อแม้กระทั่งว่าการกินอาหารเช้าเป็นเรื่องที่ ‘แปดเปื้อน’ คือทำให้ร่างกายไม่บริสุทธิ์ จึงไม่ควรจะกิน

ในตอนที่แล้ว เราได้รู้จักกับโธมัสสามคนที่ทำให้การกินอาหารเช้าเริ่มเป็นที่แพร่หลายขึ้นมา แต่ถ้ายกระดับให้ ‘สูง’ ขึ้นมากว่านั้นอีก คือเข้ามาถึงราชสำนัก เราจะพบนามของสองราชินีที่เพิกเฉยไม่สนใจข้อห้ามในการกินอาหารเช้าของชาวยุโรป

ราชินีทั้งสององค์มีนามว่า ‘เอลิซาเบธ’ ทั้งคู่

องค์แรกก็คือ ควีนเอลิซาเบธ (Queen Elizabeth) ที่เป็นราชินีจริงๆ คือเป็นพระมเหสีของกษัติย์เอ็ดเวิร์ดที่ 4 (Edward IV) นามเดิมคือ เอลิซาเบธ วูดวิล (Elizabeth Woodville)

มีการค้นพบบันทึกที่เขียนไว้ว่า ในวันที่ 10 พฤษภาคม 1451 (ซึ่งเป็นยุคที่คนยุโรปไม่เชื่อเรื่องการกินอาหารเช้ากันอย่างมาก) ตอนหกโมงเช้า พระนางได้เสวยอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว (ในบันทึกใช้คำว่า breakfasted คือกินเสร็จแล้ว) โดยมีรายละเอียดอาหารเช้าที่ว่า ว่าไม่ใช่ของเบาๆ สักเท่าไหร่ เพราะมันคือ The buttock of beef หรือเนื้อสะโพกวัว ซึ่งพระนางก็บันทึกเอาไว้แกมบ่นๆ ด้วยว่าเป็นเนื้อที่ rather too much boiled หรือถูกต้มจนสุกเกินไป เข้าใจว่าเมื่อต้มสุกเกินไป เนื้อน่าจะแข็ง โดยพระนางเสวยกับเอล ซึ่งพระนางก็บ่นอีกนั่นแหละว่าเจ้าเอล (ซึ่งคล้ายๆ กับเบียร์) นี้ มัน a little the stalest คือเก่าไปหน่อย ไม่สดใหม่ รสชาติไม่น่าพึงใจเท่าไหร่

พระนางบันทึกอาหารเช้าพวกนี้ไว้เป็นบันทึกช่วยจำ โดยลงรายละเอียดว่า “Memorandum: to tell the cook about the first fault, and to mend the second myself by tapping a fresh barrel directly” นั่นคือกับอาหารอย่างแรก ให้บอกพ่อครัวให้แก้ไขเสีย ส่วนอย่างที่สอง พระนางต้องแก้ไขเอง โดยการไปไขเปิดจากถังเอลที่หมักเอาไว้โดยตรง รสชาติจะได้อร่อย

นั่นแปลว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 มาแล้วนะครับ ที่คนชั้นสูงในราชสำนักดื่มเอล เบียร์ หรือไวน์ แกล้มกับอาหารเช้าด้วย

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 มาแล้วนะครับ ที่คนชั้นสูงในราชสำนักดื่มเอล เบียร์ หรือไวน์ แกล้มกับอาหารเช้าด้วย

ส่วนควีนเอลิซาเบธอีกองค์หนึ่ง คือควีนเอลิซาเบธที่ 1 (Queen Elizabeth I) แห่งอังกฤษและไอร์แลนด์ พระนางเป็นธิดาของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 และพระนางแอนน์ โบลีน ผู้ถูกประหารชีวิต และร่ำลือกันว่าเป็นผีเฝ้าหอคอยแห่งลอนดอนมาจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Elizabeth และจำได้ จะรู้ว่าควีนเอลิซาเบธที่ 1 ได้ฉายาว่าเป็น The Virgin Queen และเป็นราชวงศ์ทิวดอร์คนสุดท้ายที่เป็นผู้ครองบัลลังก์อังกฤษ

ประวัติของควีนเอลิซาเบธที่ 1 นั้นสลับซับซ้อนมาก พระนางยังไปเกี่ยวกับกับราชินีที่มีชื่อว่า แมรี่ (Mary) อีกสององค์ด้วย คือ Mary I of England และ Mary of Scots ซึ่งล้วนแต่เป็นญาติเกี่ยวดองกัน และเกี่ยวพันไปถึงเรื่องศาสนาด้วย เพราะพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ประกาศไม่ขึ้นกับพระสันตะปาปา (เนื่องจากอยากแต่งงานใหม่โดยที่พระมเหสียังไม่สิ้นพระชนม์ อันเป็นเรื่องผิดบาปของโรมันคาทอลิก) ความขัดแย้งต่างๆ ทำให้ควีนเอลิซาเบธต้องสั่งประหารควีนแมรี่แห่งสก็อต เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นพระนางเองนั่นแหละที่ต้องถูกต้อนให้จนมุม แต่ประหารไปแล้ว หลังจากที่ควีนเอลิซาเบธที่ 1 สวรรคต คนที่ได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากควีนเอลิซาเบธที่ 1 ก็คือพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระนางแมรี่แห่งสก็อตนั่นแหละ

เรื่องเหล่านี้ซับซ้อนและสนุกมาก น่าเสียดายที่ไม่สามารถเล่าให้ฟังได้ในพื้นที่นี้ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องอาหารเช้าของเราเท่าไหร่ ที่ผมอยากเล่าให้ฟังก็คือ ควีนเอลิซาเบธที่ 1 น้ัน ได้ชื่อว่าเป็นราชินีที่ไม่โปรดเรื่องราวรื่นเริงเอะอะมะเทิ่งหรือการดื่มเหล้าเมามาย พระนางชอบตื่นบรรทมแต่เช้าตรู่ ครั้งหนึ่ง เมื่อเสด็จฯ ไปเยี่ยมพระนางแมรี่แห่งสก็อต (ในยุคที่ยังไม่เกิดเรื่องราวซับซ้อนจนต้องห้ำหั่นกันน่ะนะครับ) พระนางจัดการประชุมกับทูตของราชินีแมรี่ คือเซอร์เจมส์ เมลวิล (James Melville) ตอนแปดโมงเช้า

เมื่อเจมส์ เมลวิล มาถึงนั้น เขาพบว่าพระนางกำลังเดินเล่นอยู่ในสวน ทรงทำโน่นนั่นนี่ พร้อมกับเสวยอาหารเช้าไปด้วย เจมส์บอกว่า อาหารเช้าของควีนเอลิซาเบธที่หนึ่งคือ manchet หรือขนมปังขาวก้อนหนึ่ง เอล เบียร์ ไวน์ และสตูว์ที่เรียกว่า pottage ถ้วยใหญ่ เป็นสตูว์ที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก มีลักษณะเหมือนสตูว์ที่ชาวบ้านทั่วไปกินนั่นแหละครับ ทำจากเนื้อวัวหรือไม่ก็เนื้อแกะ โดยมีกระดูกใส่ลงไปในสตูว์ด้วย

เป็นไปได้ว่าเพราะเป็น ‘พระราชนิยม’ ดังนั้นในราวศตวรรษที่ 15 ชาวอังกฤษที่เป็นคนชั้นสูง จึงอนุญาตตัวเองและอนุญาตกันและกันให้สามารถกินอาหารเช้าได้โดยไม่ต้องสนใจคำเตือนของหมอหรือค่านิยมที่แพร่หลายอยู่ในยุโรป เหล่าเอิร์ลและดัชเชสทั้งหลายล้วนกินอาหารเช้ากันเป็นการใหญ่ ส่วนใหญ่แล้วจะมีลักษณะคล้ายๆ อาหารเช้าของควีนเอลิซาเบธที่หนึ่ง คือขนมปังหนึ่งหรือสองก้อน เบียร์หนึ่งควอร์ต แล้วก็เสริมด้วยปลาต่าง เช่น  ปลาหมักเกลือ ปลาเฮร์ริงทอด ปลาเฮร์ริงต้ม หรือปลาอื่นๆ

ในศตวรรษที่ 17 ก็มีหลักฐานว่า ควีนเฮนเรียตต้ามาเรีย (Queen Henrietta Maria) ซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ (ผู้ที่ถูกโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ประหาร แล้วหลังจากนั้นอังกฤษก็กลายเป็นสาธารณรัฐอยู่ช่วงหนึ่ง) เสวยสตูว์ pottage ทุกๆ เช้า โดยทรงจุ่มขนมปังลงไปในสตูว์ด้วย

พระนางมีเชฟประจำตัว คือ เคเนล์ม ดิกบี (Kenelm Digby) ผู้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับสูตรอาหารเช้าของพระนางเอาไว้ในหนังสือของเขา ซึ่งในสูตรนั้น เขาแนะนำว่า หลังกินสตูว์แล้ว ควรจะตบท้ายด้วยไข่ต้มสักสองฟอง และเบคอนอีกนิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อาหารเช้าเริ่มลงหลักปักฐานแล้วอย่างมั่นคง และชาวยุโรปภาคพื้นทวีปเองก็เริ่มหันมากินอาหารเช้าด้วยเหมือนกัน

มีหลักฐานบอกว่า หลังยุคกลางใหม่ๆ (เรียกว่าเป็นยุคใหม่ตอนต้น หรือ Early Modern Period) ชาวอังกฤษชั้นสูงจะกินเนื้อและไข่ ส่วนคนจนจะกินพวกข้าวโอ๊ตต้มหรือขนมปังค้างคืนกับเอล พอมาถึงศตวรรษที่ 18 อาหารมื้อ dinner (ซึ่งเดิมคืออาหารกลางวัน) ถูกผลักไปไกลถึงราวสี่หรือห้าโมงเย็น (จนต่อมา dinner ก็กลายเป็นอาหารค่ำ) และอาหารค่ำหรือ supper จะกินกันดึกขึ้นไปอีก ดังนั้น อาหารเช้าจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ได้กินอะไรเลยเกือบทั้งวัน

ชาวอังกฤษชั้นสูงจะกินเนื้อและไข่ ส่วนคนจนจะกินพวกข้าวโอ๊ตต้มหรือขนมปังค้างคืนกับเอล

ทั้งวงการแพทย์และวงการศาสนาเริ่มหันมายอมรับการกินอาหารเช้ามากขึ้น ไม่ค่อยมีปฏิกิริยาด้านลบกับการกินอาหารเช้า และในที่สุด การกินอาหารเช้าก็ได้รับชัยชนะ

ยิ่งเมื่อมาถึงยุคของราชินีผู้ยิ่งใหญ่ อย่างควีนวิกตอเรีย (Queen Victoria) ด้วยแล้ว เราจะพบว่าอาหารเช้าที่ประกอบไปด้วยเบคอนกับไข่นั้นกลายเป็นอาหารประจำวันของคนทั่วไป แม้กระทั่งชนชั้นกรรมกรของอังกฤษก็ยังกินเบคอนกับไข่เป็นอาหารเช้า

มีคนพูดติดตลกว่า อาหารเช้าของคนอังกฤษนั้น จะไม่มีเบคอนอยู่แค่สองวัน คือวันที่เสิร์ฟแฮมหรือไส้กรอกแทนเบคอน นั่นแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจเป็นอันมาก ยิ่งถ้าเป็นบ้านของเศรษฐี อาหารเช้าก็จะยิ่งอลังการมากขึ้นไปอีก ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลกลายมาเป็น The Full Breakfast (หรือ English Full Breakfast)

ในยุควิกตอเรีย (คือราวครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19) เกิดชนชั้นใหม่ขึ้นมา นั่นคือชนชั้นกระฎุมพี (Bourgeois Middle Class) ซึ่งแข่งขันกันกินอาหารเช้าเพื่อประกาศสถานภาพ ตอนนี้ พวก ‘รวยใหม่’ (Nouveau Riche) รับเอาโครงสร้างการกินของคนชั้นแรงงานเข้ามาไว้ในโครงสร้างอาหารของตัวเองเรียบร้อยแล้ว คือกินสามมื้อ และอาหารเช้าที่เคยถูกเหยียดว่าเป็นของเด็ก คนแก่ หรือคนใช้แรงงาน ก็กลายมาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนชั้นกลางเหล่านี้ด้วย

คนที่รวยๆ ถึงขั้นสร้างห้องกินอาหารเช้าโดยเฉพาะขึ้นมา ไม่ปะปนกับห้องอาหารค่ำที่หรูหราเข้าไปอีก โดยอาหารเช้าในยุควิกตอเรียนั้น แบ่งออกเป็นสามคอร์สด้วยกัน โดยอาจมีได้ตั้งแต่ไข่ ปลา แฮม ซีเรียลร้อน ผลไม้สด ขนมปังทาเนยและแยม รวมไปถึงกาแฟและชา ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะใช้เวลาเช้ารื่นรมย์ไปกับอาหารเช้าของตัวเอง โดยมีการเชื้อเชิญแขกมา ‘ร่วมรับประทานอาหารเช้า’ กันด้วย

ทีนี้เมื่อกินอาหารเช้ากันเยอะๆ ก็ต้องใช้เวลายาวนาน ต่อมาอาหารเช้าของคนอังกฤษจึงเริ่มกลายมาเป็นมื้อแบบที่เราเรียกว่า brunch กันในปัจจุบัน คำนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในภาษาอังกฤษช่วงเดียวกับการกินอาหารเช้าแบบนี้ คือปรากฏครั้งแรกในนิตยสาร Hunter’s Weekly ในปี 1895 โดยบอกว่าในเช้าวันอาทิตย์ คนเราไม่ควรจะรีบลุก แต่นอนตื่นสายได้ เพื่อให้ค่ำวันเสาร์ได้สนุกสนานพักผ่อนกันอย่างเต็มที่

ดังนั้น มื้อบรันช์จึงมีความหมายในแง่ของความบันเทิง รื่นรมย์ สนุกสนาน และเป็นการ ‘อวดสถานภาพ’ มาตั้งแต่ต้น เพราะเป็นเรื่องของการอวดความสุขใส่กัน บรันช์ไม่ใช่อาหารที่กินกันแบบเงียบๆ ต่างคนต่างกิน แต่มักเป็นการกินร่วมกัน เพื่อทำให้คนอยู่ในอารมณ์ที่ดี สวยสดงดงาม ปลอดความกังวลใดๆ

มื้อบรันช์มีความหมายในแง่ของความบันเทิง รื่นรมย์ สนุกสนาน และเป็นการ ‘อวดสถานภาพ’ มาตั้งแต่ต้น

จะเห็นว่า บทอาหารเช้าจะพุ่งขึ้นสู่ความหรูหราขั้นสุด อาหารเช้าก็ไปได้ไกลเกินจินตนาการมาก แต่อย่าลืมว่า ที่อาหารเช้าหรูหราและแฝงไปด้วยสัญญะต่างๆ ได้มากถึงเพียงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่นำความมั่งคั่งร่ำรวยมาให้คนในสังคมอังกฤษ และกระจายความมั่งคั่งนั้นไปถึงคนทุกชนชั้นด้วย

อาหารเช้าราชินีจึงไม่ใช่แค่อาหารเช้าที่กักเก็บอยู่แต่ในวงแคบของราชสำนัก

แต่ในที่สุดแล้ว ก็ได้แพร่หลายกระจายทั่วไปในหมู่สามัญชนคนอังกฤษ

นี่อาจเป็นนัยอีกอย่างหนึ่งของการ ‘ได้กินอาหารเช้า’ ที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง

Tags: , , , , , , ,