ตราบใดที่การประณามของสังคมโดยอาศัยน้ำมือกฎหมายและประเพณียังคงสร้างนรกขึ้นบนพื้นโลกต่อหน้าต่อตาของอารยธรรม และก่อวิบากแก่ทางเดินอันงดงามของชีวิตโดยเอาความวิบัติของมนุษย์เป็นเครื่องมือ
ตราบใดที่ยังมิได้แก้ปัญหาปัญหาสามประการประจำยุค คือ ความเสื่อมทรามของมนุษย์เพราะความยากจน ความพินาศของชีวิตหญิงเพราะอดอยากยากแค้น ความเจริญของเด็กต้องชะงักงันเพราะถูกคุกคามทางกายและทางใจ
ตราบใดที่ยังมีความบีบคั้นทางสังคมอยู่ในดินแดนบางแห่ง หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งด้วยทรรศนะที่กว้างกว่าก็คือ ตราบใดที่ยังมีความเขลาและความทุกข์อยู่ในโลกมนุษย์
หนังสือเช่นนี้ย่อมไร้ประโยชน์มิได้
บ้านโอ๊ทวิลล์
ค.ศ. ๑๘๖๒
ข้างบนนั้นเป็นอารัมภบทของผู้ประพันธ์ – วิกตอร์ อูโก เขาใช้ข้อเขียนนี้ประหนึ่งคำประกาศ (Manifesto) ของจุดยืนในการทำงานเขียนและแกนหลักของนิยายเรื่องสำคัญนี้ ด้วยการวางมันไว้ทุกๆ ภาคของ Les Mise’rables หรือ เหยื่ออธรรม อมตะนิยายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาและของโลกอีกเล่มหนึ่ง ในบทความนี้ผมใช้สำนวนแปลของ จูเลียต ผู้เป็นภริยาของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) สุภาพบุรุษแห่งวงการนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ ด้วยทั้งสองมีจุดยืนอยู่ข้างประชาชนผู้ยากไร้เสียเปรียบตลอดมา ต่อต้านเผด็จการ และส่งเสริมประชาธิปไตยตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต
เหตุที่เขียนถึงหนังสือเรื่องนี้นั้น เพราะแรกทีเดียว เคยตั้งใจว่าจะเขียนถึงหนังสือเรื่องนี้เป็นชิ้นสุดท้ายในการเขียนคอลัมน์ ‘คนขายหนังสือ’ และล่าสุดผมเพิ่งขาย เหยื่ออธรรม ฉบับสมบูรณ์ 5 เล่มในกล่องให้กับเด็กนักเรียนมัธยมหกคนหนึ่งที่อยากอ่านมัน ที่สำคัญมันเป็นชุดสุดท้ายในร้าน พอสองเรื่องนี้ประจวบเหมาะกันพอดี ก็จึงได้โอกาสเขียนถึง
ในฐานะคนขายหนังสือ ผมอบอุ่นใจเสมอที่มีหนังสือชุดนี้อยู่ในร้านหนังสืออิสระของตัวเอง (คุณเชื่อไหมว่าผมขาย เหยื่ออธรรม ชุดนี้ได้เกิน 20 ชุด) มันเป็นความรู้สึกเดียวกับเส้นทางการอ่านหนังสือ ที่เมื่อได้อ่านหนังสือเรื่องนี้แล้วทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ ภาคภูมิใจ และสามารถพูดได้เต็มปากว่า “เราเป็นคนอ่านหนังสือที่แท้จริง” ด้วยความที่นิยายเรื่องนี้ยาวมากๆ และเป็นงานชั้นยอด ทรงพลังที่สุด
ที่สำคัญมันเป็นความโหยหาอย่างประหลาดที่เมื่อได้อ่าน เหยื่ออธรรม ฉบับที่จูเลียตแปล ซึ่งแปลได้แค่สองภาคแรก คือ ฟังตีญ และ โกแซตต์ ถึงกระนั้นก็ตาม นิยายที่แปลไม่จบเรื่องนี้ก็เป็นดัชนีหรือตัวชี้วัดความเป็นมนุษย์ของเรา – ผู้ที่อ่านมัน และยังทำให้รู้สึกถึงพลังแห่งความอยากอ่านฉบับสมบูรณ์ 5 ภาค ไม่ว่าจะด้วยทางใดก็ตาม เช่น ไปลงเรียนภาษาฝรั่งเศสเพื่ออ่านฉบับต้นทาง (ผมก็เคยไปลงเรียนสมัยเป็นนักศึกษา แต่เรียนได้แค่เทอมเดียว เพราะไม่สามารถเพียงพอ) ฝึกภาษาอังกฤษเพื่ออ่านในเวอร์ชันนั้น หรือแม้แต่ ‘เฝ้ารอคอย’ ที่จะมีใครสักคนแปลมันออกมาอย่างสมบูรณ์
ความฝันและแรงปรารถนาของผมบรรลุ เมื่อมีคนแปลงานเรื่องนี้ออกมาอย่างสมบูรณ์ และตีพิมพ์ออกมาในปี 2553
และที่บอกว่ามันเป็นความโหยหาอย่างประหลาด นั่นคือ เวลา 15 ปี นับจากวันที่ได้อ่านฉบับแปลของจูเลียตจบจนมาถึงวันที่มีฉบับสมบูรณ์พิมพ์ออกมาและได้ซื้ออ่าน พลังแห่งความโหยหา ความใคร่ที่จะอ่านนั้นไม่เคยลดลงเลยแม้เสี้ยวเดียว และเมื่อได้อ่าน – อ่านแบบรวดเดียวจบ (เพราะคนเขียนเขียนดีและเขียนเก่งเหลือเกินจนไม่อาจวางได้) ยิ่งทำให้ความรู้สึกถึงความเป็นนักอ่านของตัวเองเต็มเปี่ยมสมบูรณ์
ดังนั้นเวลาผมรู้สึกรำคาญเวลามีใครนำเสนอตัวเองว่าอ่านหนังสือมาเยอะ เป็นนักอ่าน ผมมักจะถามว่า เคยอ่าน เหยื่ออธรรม ไหม? ถ้าเคย เราจะได้คุยกันต่อ…
เด็กนักเรียนหญิง ม.6 คนนี้ไม่เคยอ่าน เหยื่ออธรรม
เมื่อสองอาทิตย์ที่แล้วเธอมาที่ร้าน ขับมอเตอร์ไซค์ 15 กม. ฝ่าแดดเปรี้ยงมาจากในตัวเมือง เธอมาถามหางานดอสโตเยฟสกี พอคุยได้สักพัก เธอก็ถามว่า ผมสนใจการเมืองหรือไม่ ผมเคยไปม็อบไหม ผมคิดอย่างไรกับกองทัพและสถาบันกษัตริย์
เราคุยแลกเปลี่ยนกันตลอด 3–4 ชั่วโมงในบ่ายนั้น เธอทำให้ผมต้องพูดถึงนิยายเรื่อง เหยื่ออธรรม และบอกกับเธอถึงการแอบนึกเสียดาย กระทั่งนึกตำหนิอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎรผู้จบจากฝรั่งเศส ที่ไม่บรรจุนิยายเรื่องนี้เข้าในหลักการศึกษาซึ่งเป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการ ให้คนได้อ่านตั้งแต่มัธยม หรือเป็นหนังสือบังคับอ่านระดับมหาวิทยาลัย เพราะจะเป็นการสร้างรากฐานโครงสร้างทางสำนึกในระบอบประชาธิปไตยให้หยั่งรากและกระจายไปสู่ประชาชนผ่านศิลปะวัฒนธรรม
“ถ้าเป็นพี่นะ พอปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จ พี่จะหาคนแปลแล้วจะพิมพ์แจกประชาชนเหมือนรัฐธรรมนูญเลย” ผมบอกกับเธอ
และเมื่อได้เห็นความเร่าร้อนสนใจของเธอ ก็ยิ่งทำให้ผมนึกถึงมาริอุสและเหล่าเพื่อนหนุ่มของเขาใน เหยื่ออธรรม และเมื่อเราคุยกันมาถึงม็อบทะลุแก๊ส และเหตุการณ์ที่แฟลตดินแดง ผมก็เล่าเรื่องราวบางตอนในภาคที่สี่ เพลงยาวบนถนนปลูเมต์ และหมากาพย์แห่งถนนแซงต์-เดอนีส์ ให้เธอฟัง ฉากที่ประชาชนบนตึกขว้างปาและทิ้งสิ่งของลงมาเป็นป้อมปราการให้เหล่าผู้ประท้วงรัฐบาล ฉากการต่อสู้และจุดจบที่ความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาชน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม บนความพ่ายแพ้ครั้งนั้น มันคือเนื้อดินที่โอบอุ้มเมล็ดพันธุ์แห่งแรงบันดาลใจของการปฏิวัติเป็นความโหยหา เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ที่เปี่ยมพลัง จนวันหนึ่งการปฏิวัติของประชาชนก็เกิดขึ้นจริงๆ และได้รับชัยชนะจนฝรั่งเศสไม่อาจกลับไปเหมือนเดิมได้อีก
เธอเดินมาแหงนหน้ามอง เหยื่ออธรรม ที่ผมวางไว้อย่างโดดเด่นเป็นสง่าที่ชั้นบนสุดของร้าน
“เหยื่ออธรรม ราคาเท่าไหร่คะ”
“ราคาปก 3,500 บาท แต่มันเหลือกล่องเดียว แม้แต่สำนักพิมพ์เขาก็ไม่เหลือแล้ว พี่ไม่อยากขาย อยากให้มีอยู่ในร้าน เลยตั้งราคาไว้แพงมากๆ”
“เท่าไหร่คะ”
“ล่าสุดมีคนโทรมาถามตอนที่มันเริ่มเป็นกระแสอีกครั้ง เพราะสายส่งหนังสือเล่มนี้เขาประกาศขาย 30 ชุดสุดท้าย และมันขายเกลี้ยงในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พี่บอกเขาไปว่า 7,000 บาท”
“เขาซื้อไหมคะ”
“เขาบอกแพงไป พี่บอกดีแล้วครับ (ที่ไม่ซื้อ)”
“พี่ขายหนูไหม”
“อย่าซื้อเลยมันแพงเกินไป”
“ถ้าหนูผ่อนจ่ายทุกเดือนได้ไหม ครบแล้วค่อยมาเอา หนูว่าหนูจ่ายเดือนละพันได้ ขายหมื่นนึงหนูก็จะซื้อ”
ผมพาเธอขึ้นไปห้องสมุดส่วนตัว เพื่อให้เธอได้เห็นร่องรอยการอ่าน เหยื่ออธรรม ของผม และในทุกๆ เวอร์ชันที่ผมอ่านจบ เธอเปิดสัมผัสมัน อ่านที่ผมขีดเส้นใต้และเพ่งดูเครื่องหมายต่างๆ ที่ผมทำไว้ แม้แต่โน้ตที่ผมเขียนในบางหน้า
“อยากฟังอะไรไหม” ผมบอกกับก่อนที่จะพาเธอกลับลงมา
“ค่ะ”
ผมเปิด เหยื่ออธรรม
“ตราบใดที่การประณามของสังคมโดยอาศัยน้ำมือกฎหมายและประเพณียังคงสร้างนรกขึ้นบนพื้นโลกต่อหน้าต่อตาของอารยธรรม และก่อวิบากแก่ทางเดินอันงดงามของชีวิตโดยเอาความวิบัติของมนุษย์เป็นเครื่องมือ
“ตราบใดที่ยังมิได้แก้ปัญหาสามประการประจำยุค คือ ความเสื่อมทรามของมนุษย์เพราะความยากจน ความพินาศของชีวิตหญิงเพราะอดอยากยากแค้น ความเจริญของเด็กต้องชะงักงันเพราะถูกคุกคามทางกายและทางใจ
“ตราบใดที่ยังมีความบีบคั้นทางสังคมอยู่ในดินแดนบางแห่ง หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งด้วยทรรศนะที่กว้างกว่าก็คือ ตราบใดที่ยังมีความเขลาและความทุกข์อยู่ในโลกมนุษย์ หนังสือเช่นนี้ย่อมไร้ประโยชน์มิได้… วิกตอร์ อูโก”
วิกตอร์ อูโก เขียนคำประกาศนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1862 ผ่านมา 159 ปีแล้ว ดูบ้านเมืองของเราสิ!
Tags: คนขายหนังสือ, เหยื่ออธรรม, Les Mise’rables