อาจเรียกได้ยากว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือท่องเที่ยว เพราะเมื่ออ่านแล้วจะพบว่านี่มันหนังสือประวัติศาสตร์ที่ปล่อยให้สถานที่และเส้นทางนำเราเข้าสู่เรื่องราว โดยเฉพาะเรื่องราวหม่นมืดของยุโรป
ไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของราชวงศ์ที่เคยเกรียงไกรจนเป็นผู้นำใครๆ ได้ทุกสถาบัน แม้จะขยันขันแข็งทำงานแต่เช้ายันค่ำ แต่การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดและขาดความไว้ใจต่อคนใกล้ชิด ก็อาจนำไปสู่ความล่มสลายของประเทศ (แต่ผู้เขียนก็ระวังที่จะไม่กล่าวโทษว่าอะไรเป็นสาเหตุเพียงอย่างเดียว)
หรือเรื่องราวของเมืองรุ่มรวยวัฒนธรรม ที่มาวันหนึ่งก็ตกเป็นเหยื่อของการทะเลาะเบาะแว้ง ผันตัวไปเป็นเพียงช่องขาว-ดำหนึ่งในกระดานของนักการเมืองโลก ที่ประเทศศัตรูต่างวางหมากกระทืบลงไปเพื่อสร้างความได้เปรียบของตนในเกมสงคราม ทำลายสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตให้เหลือเพียงซาก ภายหลังทำได้อย่างมากก็แค่ช่วยกันระดมทุนบริจาคเพื่อรื้อฟื้น
หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนเพื่อนนักวิชาการ ที่หากได้ไปเที่ยวยุโรปด้วยแล้วเราจะไม่ได้มีแค่รูปสวยๆ ห่มเสื้อกันหนาวขนเฟอร์ถ่ายคู่แลนด์มาร์กไว้ลงโซเชียลมีเดีย แต่เราจะได้รับรู้ว่าสิ่งที่ถ่ายอยู่ด้วยนั้นสำคัญขนาดไหน หรือบางสถานที่อาจโอบอุ้มความเศร้าสลดเอาไว้มาก กระทั่งการกดชัตเตอร์บันทึกสักภาพกลับกลายเป็นเรื่องหนักอึ้งในใจ และไม่รู้ว่าเหมาะสมหรือเปล่า
ยุโรปมืด สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยสว่าง
บาง ‘ความมืด’ ไม่ได้มากับเหตุการณ์นองเลือด แต่เป็นเพียงพื้นที่ที่ถูกพรากแสงสว่างในอดีตกาลออกไป เช่นตอนหนึ่งที่ พีรพีฒน์ ตันฑวนิช ผู้เขียน ได้มองปราสาทหลังโตที่เคยอยู่ในครอบครองของเจ้าอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ ตอนนี้กลับถูกครอบครอง (อย่างน้อยก็ชั่วคราว) ด้วยมือของยามถือกุญแจเฝ้าปราสาท ที่มีอาญาสิทธิว่าใครจะเข้าไปในนั้นได้เวลาไหน
น้ำเสียงของพีรพัฒน์อาจไม่ได้ตลกขับขัน อบอุ่นเหมือนแดดกลางลมหนาว ให้กำลังใจ หรือกระตุ้นให้เราอยากรีบเปิดแอปฯ จองตั๋วเครื่องบินเพื่อไปกินเมนูอร่อย แต่มุมมองบางแง่ของเขาโดยเฉพาะตอนจบแต่ละบท ก็อาจทำให้เราได้ยิ้มนิดๆ
เช่นตอนที่เขาเดินไปเยี่ยมหลุมศพของฟรันซ์ คาฟคา นักเขียนผู้โดดเดี่ยวและมีความมืดห่มคลุมช่วงชีวิต แต่กลับสร้างผลงานที่ชาวโลกต้องรู้จัก
พีรพัฒน์ยืนอ่านโน้ตมากมายที่คนมาฝากความขอบคุณนักเขียนวรรณกรรมคนนี้ จากนั้นเขาทำเพียงหาที่นั่งว่างๆ เพื่ออ่านหนังสือตรงนั้น แต่สักพัก กลับพบชาวจีนที่เดินทางมาเยี่ยมหลุมศพคาฟคาเช่นกัน
สิ่งที่แปลกไป คือชายชาวจีนคนนั้นได้รินชาลงในถ้วยเล็กๆ แล้ววางไว้ตรงหลุมศพ ราวกับว่าจะชวนคาฟคาดื่มชาด้วยกันตามวัฒนธรรมจากบ้านเกิดของเขา จากนั้นจึงหันมายิ้มให้กับพีรพัฒน์
เป็นเหตุการณ์ระหว่างทางที่น่าสนใจ ว่าวรรณกรรมเก่าหรือเรื่องราวในอดีตที่ฝังอยู่ในสถานที่สำคัญ และประวัติบุคคลที่ตลอดชีวิตอาจเป็นความล้มเหลวสำหรับเขา กลายเป็นเรื่องที่คนจากทั่วโลกจดจำและผูกพันอย่างไม่มีกำแพงทางวัฒนธรรม
ภาพจำมืดมน ที่ประเทศไม่อยากให้จำและไม่อยากให้ลืม
ระหว่างพลิกหน้าหนังสือชมภาพพิมพ์สี่สีสวยงามบนกระดาษอย่างดี เป็นธรรมดาที่ประเทศต่างๆ อยากให้เราไปเยือนพร้อมภาพจำที่ดีเมื่อได้มาเจอทัศนียภาพที่สวยงามตรงหน้า
ในขณะที่พีรพัฒน์พาเราไปเดินย่ำบนเส้นทางป่าเถื่อนของมนุษย์ โดยเฉพาะในยุคนาซีเรืองอำนาจ เขาย้ำเตือนว่าสิ่งหนึ่งที่คนเยอรมันช้ำใจ คือการที่ประเทศนี้มีบุคคลยอดเยี่ยมโดดเด่นมากมาย อย่างไอน์สไตน์ เกอเธ่ หรือวากเนอร์
แต่คนต่างชาติมักนึกถึงชื่อ ฮิตเลอร์ เมื่อพูดถึงเยอรมนี และที่ขำไม่ออกก็คือฮิตเลอร์ ที่แท้แล้วเป็นคนออสเตรีย
เป็นตัวอย่างหนึ่งของภาพจำ ที่หากเราไม่ค้นคว้าเพิ่มเติม เราจะทั้งเป็นผู้ที่ทั้งหลงลืมสิ่งที่มนุษยชาติไม่ควรลืม และดันไปจำในสิ่งที่เป็นความเข้าใจผิดซึ่งส่งต่อกันมา
เขายังเล่าให้เราฟังอีกแง่มุมของการเรืองอำนาจของนาซี หน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราได้เห็นเพียงการเล่าซ้ำเหตุการณ์โหดร้ายในค่ายกักกัน แต่ไม่ค่อยได้ยินได้ฟังต้นตอที่ทำให้คนเยอรมันในยุคนั้นยกความศรัทธาของตนให้ผู้นำบ้าอำนาจอย่างฮิตเลอร์
หลายครั้งเราเผลอเหมารวมง่ายๆ ว่าคนชนชาตินั้นในเวลานั้นเป็นคน ‘ไม่ดี’ ตามตัวผู้นำที่เขาเลือก
การเหมารวมนั้นอาจจะทำให้เราละอายใจเสียเอง เมื่อพบว่าอคติที่ถูกปั่นจนนำไปสู่การตัดสินแบบไม่เหลือช่องว่างในหัวใจ มันคือความมืดของมนุษย์ที่มีฉากหลังเป็นสถาปัตยกรรมสวยงามของยุโรป
หรือบางครั้งการเที่ยวแบบชะโงกทัวร์ ที่ไกด์นำทางบอกว่า “ข้างในไม่มีอะไรหรอก” อาจเป็นตลกร้ายสำหรับนักเดินทางสายความรู้ และกลายเป็นความมืดในอีกแง่มุม
หนังสือ ยุโรปมืด เล่มนี้อาจเป็นคู่หูเดินทางไปทวีปเหน็บหนาวในครั้งหน้า เปรียบเหมือนยุคแสงสว่างทางปัญญาเล็กๆ อุ่นๆ ของนักเดินทางชาวไทยอย่างเรา
Fact Box
ยุโรปมืด The Sun Still Shines
สำนักพิมพ์ a book, 2018
เขียนและถ่ายภาพ โดย พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช
บรรณาธิการเล่ม: ชมพูนุท ดีประวัติ
ออกแบบปก: KANITP