โควิด-19 ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกกว่า 1.8 ล้านคน ในจำนวนนั้นหลายคนเป็นบุคคลสำคัญของโลก เช่นเดียวกับ ‘หลุยส์ เซปุล์เบดา’ (Luis Sepulveda) นักเขียนคนดังชาวชิลีที่จากไปด้วยวัย 70 ปี เมื่อปีที่ผ่านมา 

หลายคนรู้จักเซปุล์เบดาดีจากผลงานเรื่อง นางนวลกับมวลแมวผู้สอนให้นกบิน และ ชายชราผู้อ่านนิยายรัก แต่ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักอย่าง โลกสุดขอบฟ้า กลับโดดเด่นไม่แพ้เรื่องอื่น โดยเฉพาะการตีแผ่ประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สะเทือนถึงโครงสร้างทางสังคม

แม้ชื่อหนังสือและหน้าปกจะบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าเกี่ยวกับการผจญภัยบนท้องทะเล แต่การผจญภัยแบบเซปุล์เบดาย่อมไม่ใช่การผจญภัยธรรมดา นอกจากจะพาผู้อ่านไปสัมผัสความสวยงามของเกาะน้อยใหญ่แถบตอนใต้ประเทศชิลี พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชนพื้นเมืองที่หาเลี้ยงชีพด้วยการล่าวาฬมาหลายชั่วอายุคน อีกด้านของการผจญภัยยังเผยให้เห็นความบ้าคลั่งของมนุษย์ ทั้งความบ้าคลั่งที่กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน และต่อสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน แม้ว่าราคาที่ต้องจ่ายนั้นคือความพังทลายของสิ่งแวดล้อม 

เนื้อเรื่องช่วงแรกเล่าผ่านการผจญภัยของเด็กหนุ่มวัย 16 ปี จากเมืองซานติอาโก ที่อยากใช้เวลาช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนเป็นกะลาสีหนุ่มบนเรือล่าวาฬ ตามรอยนวนิยายเรื่อง โมบิดิก ของ เฮอร์แมน เมลวิลล์ หนังสือเล่มโปรดของเขา ความกระหายใคร่รู้ตามประสาวัยรุ่นพาเราไปพบเรื่องราวชวนตื่นตาตื่นใจ ตั้งแต่วิธีการล่าวาฬแบบดั้งเดิมของชนพื้นเมือง ความเร้นลับของท้องทะเลแปซิฟิกใต้ และความเอื้ออารีของเหล่าลูกเรือดาวใต้และเรือผู้นิพนธ์พระคัมภีร์  

“จงรู้ไว้ หนุ่มน้อย น้าดีใจที่เธอไม่ชอบล่าวาฬ นับวันวาฬยิ่งเหลือน้อยลงทุกที บางทีเราอาจจะเป็นคนล่าวาฬรุ่นสุดท้ายในน่านน้ำแห่งนี้ ก็ไม่เลวนะ ถึงเวลาที่จะปล่อยให้พวกมันอยู่อย่างสงบ ทวดของน้า ตาของน้า พ่อของน้า พวกเราทุกคนเป็นนักล่าวาฬ ถ้าน้ามีลูกเหมือนเธอ น้าจะแนะนำเขาไปทำอาชีพอย่างอื่น”  

เด็กหนุ่มในวัยผู้ใหญ่ไม่ได้ทำอาชีพล่าวาฬจริง เขาก่อตั้งสำนักข่าวอิสระเพื่อผลักดันประเด็นสิ่งแวดล้อม ส่วนพวกวาฬก็ไม่ได้อยู่อย่างสงบอย่างที่น้าชาวบาส์กคาดหวัง จากการผจญภัยแสนตื่นตาตื่นใจในพาร์ตแรกขยับมาสู่การสืบสวนสุดเข้มข้นในประเด็นล่าวาฬผิดกฎหมาย โดยมีฉากหลังเป็นท้องทะเลผืนเดิม 

ข่าวอุบัติเหตุของเรืออุตสาหกรรมนิชินมารุในน่านน้ำช่องแคบมาเจลลันส่งกลิ่นไม่ชอบมาพากลบางอย่าง เมื่อวาฬนำร่องที่คณะกรรมาธิการล่าวาฬระหว่างประเทศ หรือ IWC ประกาศให้เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ห้ามล่าโดยเด็ดขาด มีผู้พบเห็นว่าพวกมันอพยพจากน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือมายังมหาสมุทรแปซิฟิกใต้  

เด็กหนุ่มวัย 16 ในอดีต ผู้กลายมาเป็นนักข่าววัยกลางคนจึงพยายามหาคำตอบร่วมกับพันธมิตรผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อมว่าการปรากฏตัวของเรือนิชินมารุเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่ แต่ยิ่งสืบเสาะลงไปก็ยิ่งเห็นว่าการล่าวาฬผิดกฎหมายนั้นทำเป็นกระบวนการ โดยมีรัฐบาลหลายประเทศอยู่เบื้องหลัง 

นักข่าววัยกลางคนกลับไปยังทะเลในความทรงจำของเขาเพื่อพบ ‘ฆอร์เฆ่ นิลเซน’ กัปตันเรือสุดขอบโลก ผู้รู้เห็นสิ่งที่เรือนิชินมารุกระทำด้วยตาตัวเอง ประสบการณ์ผจญภัยครั้งใหม่ของเขาจึงเริ่มต้นขึ้น ประสบการณ์แสนเศร้า แต่สะท้อนความโหดร้ายของมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น 

ชีวิตของฆอร์เฆ่อาศัยอยู่แถบช่องแคบมาเจลลันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1910 แม่ของเขาเป็นชาวโอนา ชนพื้นเมืองเก่าแก่ผู้ถูกขับไล่อย่างไร้ความปรานีจากคนนอกที่มายึดบ้านของตน 

“…ชาวโอนาทนทุกข์ทรมานเพราะการไล่ล่าของเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ ชาวอังกฤษ สกอต รัสเซีย เยอรมัน และเชื้อสายสเปนที่เกิดในอเมริกาแล้วมาตั้งรกรากที่ปาตาโกเนียและติเอร์ราเดลฟูเอโก แม่เป็นเหยื่อและสักขีพยานแห่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยใหม่... ฟาร์มปศุสัตว์ซึ่งเป็นที่เชิดชูราวกับยอดความเจริญในซานติอาโกและบัวโนสไอเรสมีการไล่ล่าอินเดียนแดง ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินหนักหนึ่งออนซ์สำหรับใบหูแต่ละคู่ ทั้งยังจ่ายเป็นค่าอวัยวะเพศ หน้าอก ท้ายสุดเป็นหัวค่าหัวของชาวญากัน ชาวโอนา ชาวปาตากอน หรือชาวอลากาลูเฟ แต่ละหัวซึ่งพวกเขานำไปให้ที่ฟาร์ม… เพื่อหนีการถูกสังหารหมู่ พวกเขาจำนวนมากระเหเร่ร่อนอยู่ในทะเล ทว่า ในเรือก็ใช่ว่าปลอดภัย การไล่ล่าอินเดียนแดงกลายเป็นกีฬาชนิดหนึ่งของเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์…” 

เซปุล์เบดาอธิบายหลายเหตุการณ์ที่ชนพื้นเมืองต้องเผชิญ ทุกเหตุการณ์ล้วนชวนให้ตั้งคำถามว่า มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกันได้ถึงเพียงนี้เลยหรือ และหากเป็นสัตว์พวกเขาจะทำกับมันได้ขนาดไหน คำตอบที่เซปุล์เบดาเฉลยไว้ในตอนท้ายของเรื่อง 

การล่าแสนอำมหิต เปลี่ยนทะเลสีครามให้แดงฉานด้วยเลือดของฝูงวาฬที่ถูกฉีกเป็นชิ้นๆ  แต่ขณะมนุษย์อีกกลุ่มทำลายทุกสิ่งอย่าง เรายังคงเห็นมนุษย์อีกกลุ่มอุทิศตัวเองปกป้องสัตว์เหล่านั้นให้คงอยู่ แม้จะรู้ดีว่าสิ่งที่ต่อสู้ใหญ่เกินกว่าจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เพียงลำพังก็ตาม 

เรื่องราวในหนังสือเกิดขึ้นช่วงปี 1988 ก่อนหน้านั้นสองปีทาง IWC ได้ทำข้อตกลงห้ามล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์ ยกเว้นกรณีใช้ในงานวิจัยและทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ที่ผ่านมาญี่ปุ่นพยายามล่าวาฬอย่างถูกกฎหมายโดยอ้างเหตุผลข้างต้นมาตลอด กระทั่งปี 2019 ญี่ปุ่นประกาศถอนตัวจาก IWC อย่างเป็นทางการสำหรับเริ่มล่าวาฬเพื่อการพาณิชย์ในน่านน้ำของตนและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ แต่ไม่ใช่ญี่ปุ่นชาติเดียวที่เพิกเฉยต่อสิ่งแวดล้อม การบุกรุกพื้นที่ป่าไม่เว้นวัน การล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย การทารุณสัตว์ในฟาร์มอุตสาหกรรม ข่าวเหล่านี้ไม่เคยหายไป 

หนังสือ โลกสุดขอบฟ้า อาจเป็นข้อความจากอดีตถึงคนยุคปัจจุบันเพื่อตอกย้ำว่าแม้เวลาจะล่วงเลยผ่านไปกี่สิบปี มนุษย์ก็ยังคงรุกล้ำธรรมชาติด้วยเหตุผลเดิม คนกลุ่มหนึ่งรักษาไว้ คนกลุ่มหนึ่งทำลาย เป็นวงจรที่ดำรงอยู่และดำเนินต่อไปอย่างไม่จบสิ้น   

“…ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม การฆาตกรรมโลกเป็นประจำทุกวัน ไม่จำกัดอยู่แต่การล่าวาฬหรือช้าง ภาพของวิทยาศาสตร์และความเจริญอันไร้เหตุผลกลับทำให้อาชญากรรมเหล่านั้นเป็นสิ่งถูกกฎหมาย และรู้สึกคล้ายกับว่ามรดกชิ้นเดียวของมนุษย์ที่เหลือคือความบ้าคลั่ง เรากลับไปพูดเรื่องวาฬ เขาฆ่ามันด้วยจุดประสงค์ใด เพื่อสนองความหิวโหยด้านการกินของคนรวยที่มีรสนิยมแปลกประหลาดเพียงหยิบมือเดียว หรือความสำคัญของวาฬต่ออุตสาหกรรมเครื่องสำอางเป็นอดีตไปแล้ว เงินที่ใช้ลงทุนเพื่อให้ได้ไขมันวาฬหนึ่งลิตร เท่ากับจำนวนเงินที่ลงทุนเพื่อส่งเสริมการผลิตไขมันพืชสำหรับประเทศยากจนประเทศหนึ่งเพื่อใช้ผลิตน้ำมันพืชจำนวนยี่สิบลิตร…”  

Fact Box

  • โลกสุดขอบฟ้า (Mundo Del Fin Del Mundo), ผู้เขียน Luis Sepulveda, ผู้แปล สถาพร ทิพยศักดิ์, สำนักพิมพ์ผีเสื้อ
Tags: , , ,