แวดวงธุรกิจและนักลงทุนขึ้นชื่อเรื่องการตั้งคำย่อ ตั้งแต่กลุ่มประเทศพัฒนา เช่น BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ หรือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม

แต่ตัวย่อที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลายและเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มหุ้นอินเทอร์เน็ตสัญชาติอเมริกันอย่าง ‘FANG’ คือ เฟซบุ๊ก (Facebook – FB) แอมะซอน (Amazon – AMZN) เน็ตฟลิกซ์ (Netflix – NFLX) และ กูเกิล (Google – GOOGL) (ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า อัลฟาเบต (Alphabet)) กับกลุ่มบริษัทดาวรุ่งจากแดนมังกร ‘BAT’ คือ ไป่ตู้ (Baidu – BIDU) อาลีบาบา (Alibaba – BABA) และ เทนเซนต์ (Tencent – TCEHY) สามบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนไต่อันดับเคียงบ่าเคียงไหล่กับบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ และเป็นที่จับตามอง เพราะราคาหุ้นและอัตราการเติบโตกระโดดแซงหน้าไปเกือบสองเท่า

นักวิเคราะห์บางรายอธิบายหุ้นทั้งสามแบบกำปั้นทุบดินว่า ไป่ตู้ คือ กูเกิลแห่งเมืองจีน อาลีบาบา คือแอมะซอนเมืองจีน และเทนเซนต์ คือเฟซบุ๊กเมืองจีน แต่ความเป็นจริงแล้ว การดำเนินธุรกิจ แนวคิด รวมถึงปัจจัยเสี่ยงของสามบริษัทนั้นแตกต่างจากยักษ์ใหญ่จากโลกตะวันตกค่อนข้างมาก

ทั้งสามบริษัททำธุรกิจอะไร เสี่ยงแค่ไหน น่าลงทุนหรือไม่ ไปทำความรู้จักพร้อมกันครับ

ไป่ตู้ ผู้เป็นมากกว่ากูเกิลเมืองจีน

จุดเริ่มต้นของการเติบโตของไป่ตู้ คือวันแรกที่กูเกิลถูกแบนจากประเทศจีนเมื่อประมาณแปดปีก่อน ทำให้ไป่ตู้กลายเป็นเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลที่มีผู้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากกูเกิล และมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนสูงถึง 80 เปอร์เซนต์

อย่างไรก็ดี นับว่าหุ้นไป่ตู้เป็นหุ้นที่น่าสนใจน้อยที่สุดในกลุ่ม BAT เพราะกำลังตกที่นั่งลำบาก ทั้งเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลจากแพลตฟอร์มค้นหาข้อมูลไปยังโซเชียลมีเดียอย่างวีแชต (WeChat) ของเทนเซนต์ และการที่ทางการจีนสั่งแบนโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ หลังมีนักเรียนเสียชีวิตหลังจากทำตามวิธีรักษามะเร็งที่โฆษณาบนเว็บไซต์ ทำให้การเติบโตของไป่ตู้ดูจะไม่สดใสนัก

อย่างไรก็ดี ไป่ตู้ถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต เป็นบริษัทที่ลงทุนมหาศาล ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) รวมถึงเทคโนโลยีอย่างรถยนต์ไร้คนขับ เทคโนโลยีวิเคราะห์เสียงและใบหน้าขั้นสูง โดยมีตลาดขนาดยักษ์เป็นข้อได้เปรียบ ที่สำคัญ โรบิน ลี ผู้บริหารไป่ตู้ ยังนั่งอยู่ในคณะกรรมการที่ปรึกษาของรัฐบาลจีน เสริมความแข็งแกร่งในการกีดกันคู่แข่งจากประเทศตะวันตกอีกชั้นหนึ่ง

อนาคตในระยะสั้นของไป่ตู้อาจดูลุ่มๆ ดอนๆ เพราะการเติบโตของรายได้จากการขายโฆษณาในแพลตฟอร์มค้นหาอาจหยุดชะงัก จนนักวิเคราะห์บางคนตั้งฉายาว่าเป็นยาฮู (Yahoo) แห่งประเทศจีน แต่ในระยะยาวก็ต้องจับตาดูว่า ไป่ตู้จะกลับมาทวงแชมป์ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างปัญญาประดิษฐ์ได้หรือไม่

อาลีบาบา ผู้เป็นมากกว่าแอมะซอนเมืองจีน

นาทีนี้น้อยคนคงจะไม่รู้จัก แจ็ค หม่า ผู้บริหารแพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์ที่มีจำนวนธุรกรรมมากกว่าแอมะซอนและอีเบย์ (eBay) รวมกัน ธุรกิจหลักของอาลีบาบาประกอบด้วยสองแพลตฟอร์ม คือ ทีมอลล์ (Tmall) สื่อกลางระหว่างบริษัทและผู้บริโภครายย่อย (Business to Consumer: B2C) ที่มีส่วนแบ่งตลาดในจีนราว 50 เปอร์เซ็นต์ และเถาเป่า (Taobao) แพลตฟอร์มซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค (Consumer to Consumer: C2C) ที่มีส่วนแบ่งตลาดในจีนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญคือความขาดแคลนร้านค้าออฟไลน์ตามเมืองต่างๆ ทำให้การซื้อของออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวจีน

หน้าเว็บไซต์ taobao.com แพลตฟอร์มแบบ C2C ของ Alibaba

อีกธุรกิจคู่บุญของอาลีบาบา คือธุรกิจการเงินชื่อว่า แอนท์ ไฟแนนเชียล (Ant Financial) หรือ อาลีเพย์ (AliPay) ระบบจ่ายเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาเพียงแค่ห้าปี แต่แอนท์ไฟแนนเชียลไม่ได้หยุดแค่การเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม โดยขยายไปสู่บริการทางการเงินอื่นๆ ตั้งแต่การปล่อยสินเชื่อขนาดจิ๋ว ประกันขนาดจิ๋ว รวมถึงการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือโดยใช้ฐานข้อมูลขนาดยักษ์จากพฤติกรรมการใช้เงินของลูกค้า ปัจจุบัน แอนท์ไฟแนนเชียลเป็นบริษัทฟินเทคที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

จากความสำเร็จในประเทศอย่างล้นหลาม อาลีบาบาตั้งเป้าว่าจะขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ เช่น การเข้าซื้อแพลตฟอร์มอย่าง ลาซาดา (Lazada) ที่เจาะตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในทางกลับกัน อาลีบาบากลับเผชิญสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนักในสหรัฐอเมริกา เช่น การขึ้นบัญชีดำของเว็บไซต์เถาเป่า เนื่องจากมีการขายของละเมิดลิขสิทธิ์ รวมถึงการที่คณะกรรมการการลงทุนของต่างชาติในสหรัฐอเมริกาล้มดีลของแอนท์ ไฟแนนเชียล ที่จะเข้าซื้อ มันนีแกรม (MoneyGram) บริษัทโอนเงินที่มีเครือข่ายเกือบทุกประเทศในโลก จึงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า อาลีบาบาจะเจาะฐานลูกค้าต่างประเทศได้ตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่

เทนเซนต์ ผู้เป็นมากกว่าเฟซบุ๊กเมืองจีน

เทนเซนต์เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ที่ชื่ออาจจะไม่คุ้นหูเท่าบริษัทอื่นๆ แต่ความจริงแล้ว เทนเซนต์เป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของอาลีบาบา และทำรายได้แซงหน้าอาลีบาบาแล้วด้วยซ้ำ โดยมีธุรกิจหลักคือแอปพลิเคชันและโซเชียลมีเดียอย่าง วีแชต คิวคิว (QQ) และคิวโซน (Qzone) ที่มีผู้ใช้ต่อเดือนร่วมพันล้านคน

เทนเซนต์วางแผนจะผลักให้วีแชตเป็นซูเปอร์แอปฯ ที่สามารถใช้แชต จ่ายเงิน เล่นเกมส์ และล่าสุด วีแชตเริ่มบุกตลาดลูกค้าบริษัท โดยเพิ่มฟังก์ชันการใช้งาน เช่น การรายงานจำนวนสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต

อีกหนึ่งธุรกิจหลักของเทนเซนต์ คือสิ่งบันเทิงออนไลน์ โดยเฉพาะเกมบนโทรศัพท์มือถือที่ฮิตถล่มทลายอย่าง RoV ซึ่งการีนา (Garena) บริษัทลูกของเทนเซนต์เป็นผู้ร่วมพัฒนา เกมดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม หนังสือพิมพ์บางฉบับพาดหัวว่ามันไม่ต่างจากยาเสพติด จนเทนเซนต์ต้องจำกัดเวลาเล่นสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนี้ เทนเซนต์ยังได้เข้าซื้อซูเปอร์เซลล์ (SuperCell) บริษัทผู้พัฒนา Clash of Clans อีกหนึ่งเกมฮิตติดตลาดอีกด้วย

 RoV

Arena of Valor, Realm of Valor, Honour of Kings เกมส์มือถือยอดฮิตที่รู้จักกันดีในชื่อ RoV ภาพจาก www.esports-pro.com

นอกจากเกมแล้ว เทนเซนต์ยังเป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน อีบุ๊กส์ (e-books) ที่เป็นข่าวครึกโครมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาหุ้น China Literature พุ่งขึ้นหนึ่งเท่าตัวในวันที่มีการซื้อขายต่อสาธารณะเป็นวันแรกในตลาดหุ้นฮ่องกง รวมถึงบริการอ่านการ์ตูนและฟังเพลงออนไลน์ในประเทศจีนที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ความท้าทายของเทนเซนต์ ก็คล้ายกับคู่แข่งอย่างอาลีบาบา คือการเปิดตลาดสู่เวทีระดับโลก แต่อาจมีแรงต้านน้อยกว่าในฐานะแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงที่ดูไม่ค่อยมีพิษมีภัยเท่าแพลตฟอร์มซื้อขายของออนไลน์หรือบริการทางการเงิน สิ่งที่น่ากังวลของเทนเซนต์อีกหนึ่งประการ คือการกระจายธุรกิจมากเกินไปจนอาจสูญเสียความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยปัจจุบัน เทนเซนต์ก็มีบริการจ่ายเงินอย่าง เทนเพย์ (TenPay) ที่เป็นรองแค่อาลีเพย์ และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เทนเซนต์ก็จับมือกับแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์เบอร์สองในประเทศจีนอย่าง เจดี ดอตคอม เพื่อแข่งกับอาลีบาบา ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าใครจะกำชัยได้ในสงครามระหว่างสองยักษ์ใหญ่

จะเห็นว่าหุ้นกลุ่ม BAT มีโมเดลธุรกิจที่ต่างจากกลุ่ม FANG ค่อนข้างมาก ตั้งแต่การถือครองธุรกิจหลากหลายประเภท รวมถึงการขยายตลาดที่มีแนวโน้มว่าจะ ‘งัด’ กันเองค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่ง เนื่องจากทั้งสามบริษัทมีเงินสดเหลือเฟือ จนต้องคอยเฟ้นหาทางเลือกในการลงทุนที่จะทำกำไรสูงสุด เช่นบริษัท Didi Chuxing แพลตฟอร์มเรียกรถอารมณ์อูเบอร์ (Uber) เมืองจีน ที่ทั้ง ไป่ตู้ อาลีบาบา และเทนเซนต์ ต่างก็เข้าไปลงทุน ยังไม่นับธุรกิจการส่งอาหาร ละครออนไลน์ แพลตฟอร์มแชร์จักรยาน และอื่นๆ ที่ทั้งสามบริษัทบ้างก็พัฒนาขึ้นมาเอง หรือแย่งกันเข้าซื้อ

ผลตอบแทนสะสมของหุ้นกลุ่ม BAT และกลุ่ม FANG หนึ่งปีย้อนหลัง ข้อมูลจากเว็บไซต์ NASDAQ

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของกลุ่ม BAT คือความเสี่ยงทางการเมือง เนื่องจากพื้นที่ในโลกอินเทอร์เน็ตหลังกำแพงเมืองจีนนั้นค่อนข้างคับแคบและไร้เสรีภาพ การตั้งกลุ่มแชทลับต่อต้านรัฐบาลในวีแชต หรือผลการค้นเว็บไซต์ที่ ‘เป็นภัยต่อความมั่นคงและความสงบของสาธารณะ’ ย่อมทำให้รัฐบาลจีนไม่ค่อยสบายใจนัก และมีแนวโน้มว่ารัฐบาลอาจเข้ามาถือหุ้นบางส่วนของเทนเซนต์ และเว่ยป๋อ (Weibo) หรือทวิตเตอร์เมืองจีนที่มีอาลีบาบาเป็นผู้ถือหุ้น

ถ้าใครรับความเสี่ยงได้ และรู้สึกถูกใจในธุรกิจของกลุ่ม BAT ก็สามารถลงทุนได้ไม่ยาก เพราะทั้งสามตัวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาและฮ่องกง แต่อย่าลืมว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับผม

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Will Baidu Inc. Sink or Swim?

Baidu’s Robin Li is Helping China Win the 21st Century

Alibaba’s Failed MoneyGram Deal Shows How China’s Payment Wars Are Spilling Over into U.S.

How China’s Tech Giants Alibaba And Tencent Want to Shape How The World Pays

China’s BAT Stocks Have More Bite Than FANGs

China’s internet giants go global

China’s tech groups bow to Beijing censorship demands

BATs vs. FANGs: Why China’s Tech Has Extra Risk

Tags: , , , , ,