ปีที่ผ่านมา มีโอกาสได้ลงไปทำธุระที่เมืองสงขลาหลายครั้ง ไปครั้งใดก็ประทับใจเมืองนี้ทุกครั้ง โดยเฉพาะในย่านเมืองเก่าที่ตั้งอยู่เลียบทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นย่านที่ชุกชุมไปด้วยตึกโคโลเนียลลูกผสมคล้ายๆ กับที่เมืองภูเก็ต หรือปีนัง ในมาเลเซีย

เมืองเก่าสงขลาก็มีความโดดเด่นอยู่ตรงที่การผสมผสานระหว่างร้านค้าเก่าแก่ที่เจ้าของได้รับตกทอดจากบรรพบุรุษ รุ่นสู่รุ่น และร้านรวงที่เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่มารีโนเวทตึกเก่าให้ร่วมสมัย แต่ยังคงบรรยากาศของความเป็นชุมชนมากกว่าย่านท่องเที่ยว เข้มข้นกว่าสองเมืองที่ยกตัวอย่างข้างต้น

ขณะที่ร้านค้าเก่าแก่ส่วนใหญ่ในย่านจะเป็นร้านอาหารอร่อยๆ หรือไม่ก็เปิดเป็นร้านขนม (ที่ไม่ว่าจะเป็นร้านไหนก็อาจทำให้เราหลงลืมน้ำตาลและความอ้วนไปได้ในอารมณ์ชั่ววูบ) ส่วนร้านรวงที่มีเจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่ ส่วนมากหากไม่เป็นร้านกาแฟก็เป็นบาร์ หรือไม่ก็โรงแรมขนาดเล็ก และหนึ่งในโรงแรมขนาดเล็กที่ฉันกับเพื่อนลงความเห็นว่าเป็นบูติกโฮเทลที่ดีที่สุดของย่านคือ ‘บ้านในนคร’

ย่านเมืองเก่าสงขลาประกอบด้วยถนนสามสายหลักๆ ได้แก่ ‘ถนนนครใน’ ที่ตั้งอยู่เลียบทะเลสาบสงขลา มีโรงสีแดงหับโห้หิ้น เป็นแลนด์มาร์ก  ‘ถนนนครนอก’ ซึ่งเป็นถนนสายกลาง และ ‘ถนนนางงาม’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลหลักเมืองสงขลา เป็นถนนสายนอก

บ้านในนครตั้งอยู่เกือบสุดถนนนางงาม ไม่ไกลจากย่านมัสยิดอุสาสนอิสลามที่อยู่บนถนนพัทลุงเท่าไร เวลาลงไปสงขลาทีไร ฉันก็มักจะเลือกพักที่บูติกโฮเทลแห่งนี้ จนเคยคุ้นกับเจ้าของที่พัก – เลยเอาเรื่องของเขาและประวัติการเปลี่ยนแปลงอาคารที่พักแห่งนี้มาฝากกัน

แม – ดนัย โต๊ะเจ คือเจ้าของและผู้บูรณะบ้านในนครจากอาคารอายุกว่าร้อยปีมาเป็นบูติกโฮเทลขนาด 6 ห้องนอน ที่เปี่ยมสีสันและน่ารักมากๆ แห่งนี้

แมเป็นคนสุไหงโก-ลก แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน กระนั้นในสมัยที่เขาเป็นเด็ก เขามีโอกาสมาเที่ยวสงขลาอยู่หลายครั้ง และพบ ‘รักแรก’ กับเมืองเก่าที่นี่ ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะพบกับภรรยาที่ทำงานสายการบินเดียวกัน และพบว่าภรรยาเป็นคนสงขลา เมื่อมีโอกาสได้กลับบ้านของภรรยา ก็เจอว่าอาคารแห่งหนึ่งประกาศขายอยู่ เขาจึงไม่ลังเลที่จะลาออกจากการงานอันมั่นคง เพื่อเอาเวลาส่วนใหญ่มารีโนเวทอาคารเก่าความสูงสามชั้นหลังนี้ให้กลายมาเป็นโรงแรมในวิสัยทัศน์แบบพี่เขา

 “เจออาคารหลังนี้ครั้งแรกก็ชอบเลย หน้าตาข้างนอกมันไม่เป็นโคโลเนียลแบบอาคารส่วนใหญ่ในย่าน แต่ข้างในเป็นอาคารก่ออิฐดินเผาแบบไร้เสา ซึ่งเป็นเทคนิคของการก่อสร้างเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว แถมยังแข็งแรงอยู่ ผมไม่ได้รีโนเวทโครงสร้างอาคารเลย แค่กั้นห้องใหม่ จัดสวนหย่อมด้านข้างของบ้าน และตบแต่งภายในใหม่ทั้งหมด” แมเล่าให้ฉันฟัง

ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นคนควบคุมการก่อสร้างด้วยตัวเอง แต่ยังเป็นคนเลือกเฟอร์นิเจอร์ และสรรหาวัสดุอันหลากหลายมาตบแต่งภายในอย่างเก๋ไก๋และเป็นตัวของตัวเอง – ไม่ว่าจะเป็นการนำเศษอิฐและกระเบื้องที่แตกหักเป็นชิ้นเล็กๆ มาประกอบกันใหม่กลายเป็นงานโมเสกสุดเก๋ประดับไว้ตามจุดต่างๆ การนำถาดทรงกลมใช้แล้วมาเปลี่ยนฟังก์ชั่นใหม่กลายเป็นของตบแต่งผนังเปี่ยมลวดลาย หรือการนำลูกปัดมาร้อยเรียงเป็นสายเพื่อใช้แบ่งพื้นที่ต่างๆ ภายใน

ขณะที่ภายในห้องพักแต่ละห้องก็ได้รับการออกแบบในสไตล์เฉพาะตัวที่แตกต่าง แต่ก็ไม่ต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะแมก็ยังรักษาคาแรกเตอร์ของความเป็นพื้นถิ่นจากลวดลายผ้าแบบภาคใต้และเฟอร์นิเจอร์สไตล์จีนในศตวรรษที่แล้ว ซึ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนที่โรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่ได้ชัดเจน  

ไม่เพียงแต่ตั้งอยู่ในย่านประวัติศาสตร์ที่มีผู้คนจากสามวัฒนธรรมหลัก ทั้งไทยพุทธ จีน และมุสลิมเป็นเพื่อนบ้านกัน (โรงแรมแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากมัสยิด และอยู่ระหว่างทางจากมัสยิดไปศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา) หากลำพังตัวอาคารของโรงแรมแห่งนี้เองก็ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของเมืองโดยที่กระทั่งคนสงขลาเองหลายคนก็ยังไม่เคยทราบมาก่อน

“ตอนที่ได้อาคารหลังนี้มา ผมก็ไม่รู้ประวัติอะไรมากนัก จนเปิดมาได้สักพักก็มีทายาทเจ้าของบ้านหลังนี้มาเยี่ยม และก็สืบทราบว่าชื่อเจ้าของในโฉนดที่ดินผืนนี้คนแรกคือพระนิเทศโลหะสถาน (วู๊ดฮัล วุฒิภูมิ) ชาวศรีลังกาที่มารับราชการในไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับมอบหมายให้มาวางผังเมืองสงขลาและปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทายาทของท่านยังมอบรูปถ่ายของท่านมาไว้ให้ผมเลย” แม กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น คนที่มาอยู่บ้านหลังนี้ต่อจากพระนิเทศฯ ก็เป็นเซเลบริตี้ไม่ต่างกัน เพราะเจ้าของบ้านคนที่สองคือนายคล้าย ละอองมณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ ส.ส.สงขลาแปดสมัย ซึ่งนายคล้ายเคยใช้บ้านหลังนี้รองรับแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญหลายคน รวมทั้งหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านหลังนี้ก็เคยเป็นที่พักของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงที่ญี่ปุ่นใช้สงขลาเป็นกองบัญชาการ

นอกจากอาคารที่เป็นปัจจุบันของ ‘บ้านในนคร’ หลังนี้ แต่เดิมอาคารหลายๆ หลังในย่านเมืองเก่าสงขลาก็เป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทาบทับอยู่เช่นกัน อาทิ โรงสีแดงหับโห้หิ้น ที่เป็นแลนด์มาร์กของย่าน แต่ก่อนความที่มีขนาดโอ่โถงและถูกทาด้วยสีแดงทั้งหลัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงถูกใช้เป็นสถานพยาบาล เพราะเวลาที่เครื่องบินสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิด ก็จะเป็นที่รู้กันว่าเขาจะไม่ทิ้งระเบิดใส่อาคารสีแดงหลังนี้ หรือบนถนนนครนอกก็มีอาคารสูงสามชั้นที่เคยถูกระเบิดลง หากโครงสร้างบางส่วนยังอยู่ และปัจจุบันกลายเป็นอาคารประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของย่านที่ซากอาคารตระหง่านอยู่เช่นนั้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 นับจากวันที่ลูกระเบิดตกใส่ถึงสามครั้ง   

“อันที่จริงถ้าไปดูบ้านหลังอื่นๆ ในย่านนี้ก็ต่างมีประวัติศาสตร์เฉพาะตัวที่น่าสนใจทั้งนั้นแหละครับ ไม่ใช่เฉพาะอาคารที่เป็นแลนด์มาร์กของย่าน แต่เป็นบ้านหลังเล็กหลังน้อยที่มีครอบครัวตั้งรกรากมาหลายชั่วอายุคน หรือผู้ประกอบการที่เช่าอาคารเปิดกิจการสืบต่อกันมาหลายสิบปี ผมว่าสิ่งนี้แหละที่เป็นเสน่ห์ไม่แพ้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมหรือบรรยากาศเก่าๆ ซึ่งก็อยู่ที่คนรุ่นเราและคนรุ่นหลังแล้วว่าเราจะหาวิธีเล่าเรื่องราวที่มีคุณค่าเช่นนี้ต่อไปอย่างไร”  

แมปิดท้ายให้เราฟังว่าเขารู้สึกโชคดีที่ได้มาอยู่ในย่านที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ ในชุมชนที่ผู้คนต่างตระหนักถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ เท่าๆ กับที่เขารู้สึกโชคดีที่ท้ายที่สุดเขาก็ได้ทำโรงแรมในรูปแบบที่สะท้อนความเป็นตัวเขา ในรูปแบบที่เขาวาดฝัน  

Fact Box

บ้านในนครตั้งอยู่เลขที่ 166 ถนนนางงาม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
โทร. 09 5438 9323, Facebook: บ้านในนครบูติกโฮเต็ล