แม้ประวัติศาสตร์โลกจะบันทึกไว้ว่า ‘การล่าแม่มด’ หมดไปแล้วตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 แต่ถ้าใครเลื่อนฟีดในโซเชียลมีเดียดูตอนนี้อาจพบว่า การล่าแม่มดไม่เคยยุติลงจริงๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง หรือแม้แต่ช่วงเวลาแห่งการไว้อาลัยในขณะนี้ นอกจากการใช้ความรุนแรงผ่านถ้อยคำในโซเชียลมีเดีย การแชร์ภาพ หรือคลิปประจานพฤติกรรมที่เห็นว่าไม่เหมาะสม ที่มักจะตามมาด้วยเสียงสนับสนุนที่สะท้อนถึงความสะใจแล้ว การล่าแม่มดในวันนี้ยังมาพร้อมกับการใช้ความรุนแรงแบบเผชิญหน้าในหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และดูเหมือนว่าจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องลุกลามไปเรื่อยๆ โดยแทบมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด ท่ามกลางความแตกต่างในการแสดงความคิดเห็นที่แบ่งผู้คนออกเป็น 2 ขั้ว ที่ขั้วหนึ่งต่อต้านการล่าแม่มด และการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ขณะที่อีกขั้วกลับมองว่าสิ่งที่เห็นอยู่ไม่ใช่การล่าแม่มด แต่เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งของคนที่มีความจงรักภักดี The Momentum ขอเบรกกระแสความคิดเห็นด้วยการพูดคุยกับ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ผู้เขียนหนังสือ ล่าแม่มด ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เพื่อค้นหาคำตอบว่าอะไรคือที่มาของการล่าแม่มด ทำไมการล่าแม่มดจึงกลายเป็นกระแสร้อนแรงในปัจจุบัน และเราจะยุติการล่าแม่มดได้อย่างไรในสังคมที่มีความคิดเห็นแตกต่าง “ผมอ่านเจอข้อความหนึ่งแล้วชอบมากคือ ‘เสื้อสีดำของฉันดำกว่าเสื้อสีดำของเธอ’ คือมันเกิดจากความรู้สึกที่พยายามจะขจัดคนอื่นๆ โดยใช้กรอบความเชื่อของความจงรักภักดี เพื่อไปชี้หน้าคนโน้นคนนี้ว่าเขาไม่ใช่คนจงรักภักดีเหมือนกับเรา วิวัฒนาการ ‘ล่าแม่มด’ จากศตวรรษที่ 14 ในยุโรป สู่สถานการณ์ปัจจุบันในไทย จากการค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อนำมาเขียนเป็นหนังสือ อนุสรณ์เริ่มต้นปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ล่าแม่มดว่า แท้จริงแล้วการล่าแม่มดในยุโรปมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 14 และดำเนินต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนถึงศตวรรษที่ 18 กินระยะเวลานับหลายร้อยปี จนกระทั่งระบบความคิดของผู้คนในยุคสมัยนั้นเริ่มเปลี่ยนแปลงไป และศาสนจักรเองก็ออกมายุติไม่ให้มีการล่าแม่มดในนามศาสนาคริสต์อีกต่อไป “แต่เดิมการล่าแม่มดเป็นเรื่องการกำจัดคนที่ต่อต้าน มีบทบาท หรือความคิด ซึ่งแตกต่างจากในพระคัมภีร์ […]