ในบ่ายวันอาทิตย์ที่ดูจะเงียบเหงาสำหรับโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ขณะที่หลายคนกำลังเพลิดเพลินอยู่กับกิจกรรมในวันหยุดตามไลฟ์สไตล์ของตัวเอง อยู่ๆ ก็มีเหตุการณ์ที่สร้างให้เกิดจุดร่วมทางสังคมโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อปรากฏคลิปของคนดังรายหนึ่งแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับเพื่อนร่วมท้องถนน ตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมาผู้คนในโลกออนไลน์ต่างก็จมหม่นอยู่กับอารมณ์โกรธขึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากไทม์ไลน์เงียบๆ ก็กลายเป็นกระแสที่ชักชวนให้หลายคนอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็น ทั้งในฐานะคนธรรมดา องค์กร ไปจนถึงเพจชื่อดังต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อผู้คนในโลกยุคใหม่ และเมื่อเหตุการณ์ดูจะลุกลามบานปลายไปจนถึงจุดสูงสุด อยู่ๆ เรื่องก็ค่อยๆ เงียบหายไปราวกับไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาก่อน

เหตุการณ์ในบ่ายวันอาทิตย์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะถ้าย้อนกลับไปสังคมไทยเคยผ่านเหตุการณ์ที่เรียกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์แบบนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ตั้งแต่ดีเจถอยรถชน ดาราสาวเสียงสูง ทศกัณฐ์ขี่โกคาร์ต จนมาถึงพิธีกรกราบรถ ที่เราต่างคุ้นเคยกับเหตุการณ์เหล่านี้เป็นอย่างดีในฐานะ ‘ดราม่า’

สงสัยไหมว่าทำไมดราม่าเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายเป็นแพตเทิร์น สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นธรรมชาติอะไรของสังคมไทย และเราได้อะไรจากการเสพเรื่องราวที่เต็มไปด้วยอารมณ์เหล่านี้ The Momentum ชวนคุณมาหาคำตอบด้วยการพาไปพูดคุยกับผู้ตามติดกระแสของโลกออนไลน์อย่าง สโรจ เลาหศิริ เจ้าของเพจ ‘สโรจขบคิดการตลาด’, สื่อกลางของการแพร่กระจายดราม่าในโลกออนไลน์ เจ้าของเพจ Drama-addict และนักวิชาการด้านสื่อ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

คนไทยเมื่ออยู่ในโลกโซเชียลฯ จะน่ากลัวมาก
วันไหนที่เขารักคุณเขาก็จะเทิดทูนคุณแบบพระเจ้า
แต่วันไหนที่เขาเกลียดคุณ
เขาก็สามารถกดคุณให้จมดินหรือหมดอนาคตไปได้เลย
เพราะคนไทยมีความเชื่อฝังหัวอยู่เรื่องหนึ่งคือ คนไม่ดีต้องไม่มีที่ยืนในสังคม

 

แพตเทิร์นดราม่า วงจรที่วนซ้ำไปมาไม่มีวันสิ้นสุด

เกือบทุกดราม่าที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ถ้ามองให้ลึกซึ้งจะพบว่าแต่ละเหตุการณ์ต่างมีแพตเทิร์นหรือวงจรตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสิ้นสุดแทบไม่ต่างกัน ซึ่งสโรจ เลาหศิริ มองเห็นแพตเทิร์นนั้น และเขียนเป็นบทความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘สโรจขบคิดการตลาด’ ไว้ดังนี้ https://www.facebook.com/SarojKhobKid/posts/1218826404822982:0

Photo: สโรจขบคิดการตลาด, Facebook

ถ้าว่ากันตามแพตเทิร์นที่เขาเขียนไว้ เมื่อถามว่ามองเห็นอะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาเหล่านี้บ้าง สโรจให้ความคิดเห็นว่า

“สิ่งแรกที่มองเห็นคือโลกโซเชียลฯ เป็นอะไรที่น่ากลัว โดยเฉพาะคนไทยเมื่ออยู่ในโลกโซเชียลฯ จะน่ากลัวมาก วันไหนที่เขารักคุณเขาก็จะเทิดทูนคุณแบบพระเจ้า แต่วันไหนที่เขาเกลียดคุณ เขาก็สามารถกดคุณให้จมดินหรือหมดอนาคตไปได้เลย เพราะคนไทยมีความเชื่อฝังหัวอยู่เรื่องหนึ่งคือ คนไม่ดีต้องไม่มีที่ยืนในสังคม ถ้าให้ไปด่า หรือต่อยเขาต่อหน้าจะไม่มีใครกล้าเลย แต่พออยู่ในโลกโซเชียลฯ เราเหมือนมีเกราะป้องกันตัวคือหน้าจอ มันทำให้เรากล้ามาก แล้วยิ่งได้เห็นคนอื่นๆ เฮโลมาสนับสนุน ก็ยิ่งทำให้เรากล้ามากขึ้นไปอีก

“อีกเรื่องที่มองเห็นคือ ประเด็นนี้จะไม่เป็นดราม่าขนาดนี้เลย ถ้าไม่มีใครบอกว่าคนนี้เป็นดารา ถ้าเป็นคนธรรมดาเรื่องนี้อาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่านี้ก็ได้ แต่สิ่งที่จะไม่หายก็คือ digital footprint หรือประวัติของคนคนนี้ในโลกโซเชียลฯ ที่จะติดตัวเขาไปตลอด แล้ววันใดวันหนึ่งที่มีเรื่องอีก คนก็จะขุดประวัติคนเหล่านี้ขึ้นมาประจานเหมือนเดิม”

เช่นเดียวกับศูนย์กระจายข่าวดราม่าอย่างเจ้าของเพจ Drama Addict ที่มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีแพตเทิร์นที่แทบไม่ต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ ในโลกโซเชียลฯ ที่ผ่านมา

“มันเป็นคอนเซปต์ที่ค่อนข้างสะท้อนพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยในปัจจุบัน คือพอเกิดเรื่องอะไรขึ้นทางอินเทอร์เน็ต เราก็จะมีการแชร์และส่งต่อกันในเพจต่างๆ มีคลิป หรือภาพออกมาแชร์กัน จนสื่อเริ่มเอาไปนำเสนอ แต่แพตเทิร์นที่สำคัญคือจะต้องมีท่อนฮุก หรือวลีเด็ดที่สามารถนำไปขยายต่อ หรือนำไปล้อเลียนต่อได้ เพราะสังคมไทยชอบล้อเลียนเสียดสี ในกรณีนี้ก็คือวลี #กราบรถกู ที่กลายเป็นคอนเทนต์ให้แต่ละเพจสามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง พอถึงจุดหนึ่งก็จะมีกลุ่มคลิกเบตเข้ามาใช้กระแสนี้เป็นเครื่องมือเพื่อดึงคนเข้าไปในเพจ หรือเว็บไซต์ของเขา”

ทุกครั้งที่เกิดเรื่องใหม่ๆ ที่เป็นกระแส
หรือเป็นเทรนด์ในสังคมขึ้นมา เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์
ก็จะหยิบเอาสิ่งที่เป็นกระแสเหล่านั้นมาโชว์ให้เราดู
เหมือนกับว่าเรากำลังถูกอัลกอริทึมควบคุม
ให้เสพข่าวใดข่าวหนึ่งที่เป็นเทรนด์อยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เรื่องจะลุกลามเหมือนไฟลามทุ่ง

มาไวไปไว 48 ชั่วโมงผ่านไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

ธรรมชาติอีกอย่างของดราม่าบนโลกออนไลน์คือ แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ดูจะร้อนแรงแค่ไหน แต่เมื่อเวลา 48 ชั่วโมงผ่านไปทุกกระแสจะหายวับไปจากไทม์ไลน์ราวกับว่าเราไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้กันมาก่อน โดยสโรจให้คำอธิบายในเรื่องนี้ว่า

“ทุกครั้งที่เกิดเรื่องใหม่ๆ ที่เป็นกระแส หรือเป็นเทรนด์ในสังคมขึ้นมา เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ก็จะหยิบเอาสิ่งที่เป็นกระแสเหล่านั้นมาโชว์ให้เราดู เหมือนกับว่าเรากำลังถูกอัลกอริทึมควบคุมให้เสพข่าวใดข่าวหนึ่งที่เป็นเทรนด์อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกที่เรื่องจะลุกลามเหมือนไฟลามทุ่ง แล้วทุกดราม่าก็มักจะมีแฮชแท็ก หรือคีย์เวิร์ดที่เป็นเทรนดิ้งในขณะนั้นอยู่ โซเชียลเน็ตเวิร์กก็เลยหยิบมาโชว์ให้เราดู

“แต่พอ 48 ชั่วโมงผ่านไป กระแสเริ่มหยุด ไม่มีคอนเทนต์ใหม่ให้ขยี้แล้ว หรือมีเรื่องอื่นๆ ผุดขึ้นมาเป็นกระแสแทน เฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ก็จะหยิบเรื่องใหม่มาโชว์ให้เราดู คนก็จะเฮโลกันไปเล่นเรื่องใหม่ เพราะอัลกอริทึมมันมีผลที่ทำให้เราเห็นข่าวนี้เยอะ ยิ่งมีการกดไลก์ หรือตอบสนองกับข่าวไหน เฟซบุ๊กก็จะโชว์สิ่งนั้นมากขึ้น”

เรื่องเหล่านี้คนไทยส่วนมากมักจะมองว่า
เป็นเรื่องของการไม่มีความอดทนอดกลั้นเพียงพอ
แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู
พฤติกรรม EQ หรือปัญหาทางความคิด
ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยเหลือเยียวยาได้ถ้าไปพบจิตแพทย์

สังคมได้-เสียอะไรจากไทม์ไลน์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์

ฟากฝั่งของ Drama Addict ที่เปิดเว็บไซต์ และแฟนเพจมาเพื่อกระจายข่าวดราม่า โดยหวังให้สังคมได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระบุถึงสิ่งที่สังคมจะได้จากการเผยแพร่เรื่องนี้คือ

“เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธได้ จนกระทั่งเรื่องราวบานปลาย ปัญหาคือเรื่องเหล่านี้คนไทยส่วนมากมักจะมองว่าเป็นเรื่องของการไม่มีความอดทนอดกลั้นเพียงพอ แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู พฤติกรรม EQ หรือปัญหาทางความคิด ซึ่งเป็นเรื่องที่ช่วยเหลือเยียวยาได้ถ้าไปพบจิตแพทย์ เพราะจิตแพทย์ไม่ได้มีหน้าที่รักษาโรคจิตเวชอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเรื่องความผิดปกติของอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หรือการผิดปกติของบุคลิกภาพ แต่คนที่มีปัญหามักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองต้องการความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ หรือบางคนก็กลัวการไปหาจิตแพทย์เพราะกลัวคนจะหาว่าเป็นบ้า”

วันนี้น็อตโดนยกเลิกสัญญา เพราะการกระทำแค่ 1 นาทีครึ่ง
หรือใครก็ตามที่เคยถูกสังคมลงโทษก่อนหน้านี้
ต้องกลายเป็นคนที่หมดอนาคตไปเลย
ไปสมัครงานที่ไหนก็จะมีประวัตินี้ติดตัวเขาไปตลอด

ในทางวารสารศาสตร์ ดร.มานะ ให้คะแนนคุณค่าข่าว หรือ Value of News จากกรณีที่เกิดขึ้น 5 เต็ม 10 คะแนน เนื่องมาจากมีคุณค่าข่าวด้านความขัดแย้ง การเตือนใจ เป็นเรื่องของบุคคลสาธารณะที่มีคนสนใจ ประกอบกับมีวลีเด็ดที่นำไปขยายข่าวต่อได้

“ผมให้คะแนนในแง่ที่ว่ามันเป็นข่าวที่น่าสนใจ แต่ไม่ถึงขั้นจำเป็นต้องรู้ ถ้าเน้นสร้างเรตติ้ง ถือเป็นข่าวที่ทำได้ดี แต่ในแง่ของคุณค่าข่าวที่จะสร้างผลกระทบทางสังคม มีประโยชน์ ไม่รู้แล้วก่อให้เกิดผลเสีย คงไม่ใช่ เพราะเมื่อรู้ไว้ก็เอามาเป็นเรื่องพูดคุยกัน เพื่อสอนตัวเอง สอนลูกว่าอารมณ์โกรธนิดเดียวอาจทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้”

แต่เมื่อถามถึงผลเสียที่มีต่อเรื่องนี้ ดร.มานะให้ความเห็นว่า “การที่สังคมให้ความสนใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเทความสนใจไปด้านเดียว นั่นอาจหมายถึงการเสียโอกาสที่จะทำให้เราไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องอื่นๆ ของวันเดียวกัน หรือได้รับน้อยลง เช่น วันนี้อาจจะมีข่าวเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ข่าวเรื่องข้าวกับชาวนา หรืออีกหลายเรื่องที่มีประเด็นทางสังคมอยู่เยอะ ซึ่งเหมือนเป็นการจำกัดข้อมูลการรับรู้ข่าวของคนในโซเชียลมีเดีย

“ข้อแนะนำของผมคือ ทุกคนควรเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายช่องทางมากขึ้น ไม่ใช่แค่จากเฟซบุ๊กอย่างเดียว ขณะที่สำนักข่าวเองก็ควรจะต้องเล่นทุกเรื่องที่เป็นประเด็นในสังคม ถ้าจะเล่นเรื่องนี้ในฐานะประเด็นร้อนก็ควรจะมีมุมมองที่แตกต่าง หรือให้แง่คิดอะไรกับสังคมบ้าง ไม่ควรละทิ้งมิติของข่าวอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วย การที่เทไปด้านใดด้านเดียวอาจทำให้ผู้เสพข่าวเสียโอกาสในการรับรู้เรื่องราวที่เป็นประเด็นสำคัญจริงๆ”

ด้านสโรจมองในมุมต่างว่า ดราม่าที่เกิดขึ้นอาจสร้างผลเสียให้กับสังคมมากกว่าจะได้

“ผมว่าเราเสียมากกว่าได้ เพราะปัจจุบันการล่าแม่มด หรือการทำให้คนคนหนึ่งไม่มีที่ยืนในสังคมมันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ซึ่งจริงๆ มันไม่ควรเป็นแบบนั้น วันนี้น็อตโดนยกเลิกสัญญา เพราะการกระทำแค่ 1 นาทีครึ่ง หรือใครก็ตามที่เคยถูกสังคมลงโทษก่อนหน้านี้ต้องกลายเป็นคนที่หมดอนาคตไปเลย ไปสมัครงานที่ไหนก็จะมีประวัตินี้ติดตัวเขาไปตลอด

“ผมว่าบางทีคนบางคนก็โหดร้ายกับเพื่อนมนุษย์โดยไม่รู้ตัว แล้วยิ่งมีคนเข้ามาสนับสนุนการกระทำนั้นมากๆ คนคนนั้นก็กลายเป็นฮีโร่ กลายเป็นผู้กล้า ซึ่งมันจะทำให้เขาซึมซับต่อไปว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง เพราะคนส่วนใหญ่ให้การยอมรับ ตอนนี้น็อตถือว่าโชคร้ายมากอย่างหนึ่ง เพราะนี่ถือเป็นดราม่าแรกหลังจากโซเชียลเน็ตเวิร์กถูกแช่แข็งไปจากเหตุการณ์เดือนที่ผ่านมา คนเลยมีความกระหายดราม่าเป็นพิเศษ พอคนมีความอัดอั้น ก็เลยใส่กันแบบไม่ยั้ง”

Photo: Pixel Crazy 8bit สมาคมคนรัก8บิท, Facebook

Social Sanction หรือ Cyberbullying เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน?

หนึ่งในข้อถกเถียงของหลายๆ คนตอนนี้ก็คือ บทลงโทษทางสังคมที่เจ้าตัวได้รับเป็นเรื่องที่สมควรแล้วหรือไม่ ทั้งผลกระทบเรื่องงาน ธุรกิจ รวมไปถึงความบอบช้ำของคนในครอบครัว ซึ่งทางด้าน Drama Addict มองว่าบทลงโทษเหล่านี้เป็นเรื่องที่พอเหมาะพอดีแล้ว

“เท่าที่เห็นตอนนี้คือมีคนเข้าไปรุมรีพอร์ต หรือรุมด่าในเพจร้านอาหารของเขา ซึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่าการกระทำในอินเทอร์เน็ตกับชีวิตจริงบางทีก็ไม่ค่อยสัมพันธ์กัน อย่างบางเรื่องชาวเน็ตก็รุมด่ากันแทบตาย พอถึงเวลาที่มีคนเรียกร้องให้ไปยืนแสดงจุดยืน หรือประท้วงกันจริงๆ ก็มีแค่ 4-5 คนเอง

“อย่างกรณีนี้เท่าที่เห็นถ้าไม่เกินเลยไปกว่านี้ผมถือว่าโอเค ถ้าเกิดมีการเอาเลือดไปสาดหน้าบ้าน เอาไข่เน่าไปปาใส่บ้าน หรือทำร้ายร่างกายกันผมว่าเกินไป ซึ่งจริงๆ เรื่องอาจจะมาไม่ถึงจุดนี้ก็ได้ ถ้าเมื่อวานเขาออกมาขอโทษแล้วเงียบๆ ไป”

เราอาจจะต้องมานั่งคุยกันว่า Social Sanction
หรือบทลงโทษทางสังคมแบบไหนที่เหมาะสม
แบบไหนเป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว
หรือถึงขั้นกลั่นแกล้งกันเกินความเหมาะสม
ถ้าเขาทำผิดจริงก็เป็นอีกเรื่อง
แต่ถ้าเกิดกรณีนี้แล้วกลายเป็นผิดฝาผิดตัวไป
แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ส่วน ดร.มานะมองว่า ประเด็นหนึ่งที่สำคัญในตอนนี้คือ สังคมต้องหาข้อตกลงร่วมกันว่าแบบไหนคือ Social Sanction หรือบทลงโทษทางสังคม และแบบไหนคือ Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้งที่เกินเส้นแบ่งที่เหมาะสม

“บางเรื่องเราสามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ก็ต้องคำนึงด้วยว่าเราต่างไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น อาจจะมองเห็นแค่เสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ประเด็นสำคัญกว่านั้นคือเราอาจจะต้องมานั่งคุยกันว่า Social Sanction หรือบทลงโทษทางสังคมแบบไหนที่เหมาะสม แบบไหนเป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว หรือถึงขั้นกลั่นแกล้งกันเกินความเหมาะสม ถ้าเขาทำผิดจริงก็เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้าเกิดกรณีนี้แล้วกลายเป็นผิดฝาผิดตัวไป แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีการถกเถียงกันในสังคมมากนัก

“แต่หลายคนก็เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าทำไปทำมา นี่คนในสังคมอินเทอร์เน็ตกำลังทำตัวคล้ายๆ กับน็อตอยู่หรือเปล่า เพราะแทนที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมายมาจัดการเรื่องต่างๆ ก็ใช้ความรู้สึกตัวเองเป็นหลัก ยิ่งถ้าไปเปิดดูเพจร้านอาหารของเขาก็จะยิ่งเห็นภาพนี้ได้ชัดขึ้น”

Photo: Pixel Crazy 8bit สมาคมคนรัก8บิท, Facebook

เอาตัวรอดอย่างไรเมื่อตกเป็นเหยื่อของกระแสสังคม

ทั้งสโรจ และเจ้าของเพจ Drama Addict ต่างก็ยอมรับว่าในสังคมทุกวันนี้ ‘ไม่ว่าใครก็สามารถตกเป็นเหยื่อดราม่าได้’ เพียงแค่คุณพลาดพลั้งทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม และบังเอิญว่ามีหลักฐานที่แสดงถึงความผิดนั้นอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งในหลายๆ กรณีเจ้าตัวมักจะออกมายอมรับว่า ‘ผิดจริง’ แต่อีกหลายๆ เหตุการณ์ก็เป็นเพียงการเข้าใจผิดที่กลายเป็นกระแสลุกลามเกินกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

เมื่อเราทุกคนมีสิทธิ์จะกลายเป็นเหยื่อของดราม่าได้ทั้งนั้น จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้าเราจะเรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดจากกระแสสังคมเพื่อพลิกสถานการณ์จากเลวร้ายให้ทุเลาเบาบางลง

สโรจให้ความเห็นว่า “อย่างแรกเลยคือคนที่โดนดราม่ามักจะหนีหรือออฟไลน์จากโลกโซเชียลฯ ไปเลย ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องผิด เพราะจังหวะนั้นคือสังคมเห็นแล้ว  สิ่งที่ตามมาก็คือการขุดคุ้ยประวัติว่าคนนี้เป็นอย่างนี้มาก่อน เหมือนเป็นการขยี้ให้คนในสังคมรู้สึกว่าคนคนนี้เลวเหลือเกิน เป็นการขยายเรื่องที่เกิดขึ้นให้บานปลายเข้าไปอีก ซึ่งความจริงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นจุดเปลี่ยนจริงๆ คือการที่คนโดนดราม่าจะต้องออกมาพลิกสถานการณ์จากคำแถลงต่างๆ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้สังคมได้รับรู้อย่างรวดเร็วที่สุด

“จากที่เรียนรู้มาจากแถลงการณ์ของดาราหลายๆ คน หรือคนที่โดนดราม่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะออกมาในแนวของการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอโทษสังคม ซึ่งอาจทำให้เรื่องไม่จบง่ายๆ แต่คนที่แก้ข่าวได้ดีก็มี อย่างกรณีของปันปันที่ให้สัมภาษณ์ได้โอเค ทำให้เรื่องจบลงอย่างรวดเร็ว”

ด้าน Drama Addict ให้คำแนะนำว่า “การแถลงข่าวอย่างแรกคือต้องมีการชี้แจงข้อเท็จจริง แล้วต้องอธิบายให้ฝั่งผู้เสียหายเข้าใจ มีการชดเชยความเสียหายตามที่ควรจะเป็น และการันตีว่าสิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นเขาเป็นบุคคลของประชาชน คู่กรณีของเขาไม่ใช่เฉพาะครอบครัวของคนที่ถูกต่อยจมูกหักอย่างเดียว แต่รวมไปถึงประชาชนที่รับรู้ข่าวด้วย เพราะฉะนั้นวิธีการเอาตัวรอดจากกรณีนี้ต้องไม่ใช่แค่ทำให้คู่กรณีโอเค แต่ต้องทำอย่างไรให้ประชาชนรู้สึกโอเคด้วย เรื่องถึงจะจบ”

 

แน่นอนว่าแพตเทิร์นดราม่าแบบนี้คงไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย และครั้งต่อๆ ไปที่กำลังจะเกิดขึ้นก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครจะตกเป็นเหยื่อ ถ้าวันนั้นมาถึงแล้วปรากฏว่าเรื่องแบบนี้กำลังเกิดขึ้นกับตัวคุณ ถึงตอนนั้นอาจจะสายไปแล้วก็ได้ที่จะตั้งคำถามว่า ‘เราจะหยุดวงจรนี้ได้อย่างไร?