ในช่วงเวลาแห่งความสูญเสียที่คนไทยต่างต้องเผชิญร่วมกัน ณ ขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะมองท้องฟ้าในมุมที่มืดหม่นกว่าเดิม บรรยากาศโดยรอบอาจดูทึบทึมกว่าที่เคย เนื่องด้วยคลื่นลมแห่งความเศร้าโศกจากคนรอบข้างที่ถาโถม มองไปทางไหนก็ดูจะไร้สีสันและขาดชีวิตชีวาจนทำให้เกิดความรู้สึกห่อเหี่ยวลงเรื่อยๆ

แน่นอนว่าความเศร้าโศกเสียใจในเรื่องใหญ่ๆ อาจต้องใช้ระยะเวลานานในการเยียวยา แต่ถ้าจะปล่อยตัวเองให้จมอยู่กับความหม่นเศร้าต่อเนื่องเป็นเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตตามมาได้ The Momentum จึงต่อสายตรงถึง แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต และ แครธริน ทรงพัฒนะโยธิน ผู้เขียนหนังสือ Genius ทางอารมณ์ และผู้เชี่ยวชาญด้าน Cognitive and Decision Sciences เพื่อเป็นอีกทางออกในการช่วยเยียวยาจิตใจของคนไทยในเวลานี้

ร้องไห้ได้… แต่หลีกให้ไกลจากคนที่ไม่เห็นอกเห็นใจเรา

ความโศกเศร้าเสียใจเป็นเรื่องปกติทั่วไปของมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อคนเราผูกพันกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากๆ เมื่อสูญเสียสิ่งนั้นไปก็ย่อมเกิดความเสียใจตามระดับความผูกพันที่มีอยู่

อย่างแรกที่ต้องทำเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเศร้าก็คือ ยอมรับว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ก่อนจะย้อนมาสำรวจจิตใจตัวเองว่าเราเจ็บปวดแค่ไหน กำลังทุกข์อย่างไร และแสดงออกถึงความทุกข์นั้นด้วยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งแพทย์หญิงอัมพร ให้คำแนะนำว่า

“วิธีการที่เป็นที่ยอมรับคือ การร้องไห้ออกมา หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่าต้องไม่ร้องไห้ ต้องเข้มแข็ง แต่ความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจเป็นสิ่งที่เหนือความควบคุมของคนธรรมดาสามัญอย่างเรา เลยต้องย้ำเตือนว่าเมื่อเสียใจก็จงรู้ว่าเสียใจ และร้องไห้ออกมาได้ เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกและเยียวยาตัวเองในระยะเบื้องต้น”

นอกจากนี้แครธรินยังแนะนำว่า สิ่งสำคัญที่ควรหลีกหนีให้พ้นในช่วงเวลาแห่งความเสียใจก็คือ การอยู่ใกล้คนที่ไร้ความเห็นอกเห็นใจเรา

“สิ่งนี้อาจจะมาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นจากสื่อมวลชน โซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่คำพูดที่เจอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะมาทางไหนก็ตาม ถ้าเรารู้สึกว่าเขาไม่ได้เข้าใจ หรือเห็นอกเห็นใจเราในช่วงเวลาที่เรากำลังสูญเสีย เราควรอยู่ให้ห่างสิ่งเหล่านี้ เพราะถ้ามีคนมาพูดจารุนแรง หรือแสดงออกว่าเขาไม่มีความเห็นอกเห็นใจในช่วงเวลาที่เราบอบช้ำทางจิตใจอยู่ เราจะไม่มีพลังงานที่จะดูแลป้องกันตัวเองได้ดีพอ เพราะความเศร้าเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังงานมาก และใช้เวลาในการเยียวยากว่าจะกลับขึ้นมาดีได้เหมือนเดิม”

 

5 ขั้นตอนของความโศกเศร้าที่ทุกคนต้องผ่านไปให้ได้

ในกระบวนการทางจิตวิทยา แครธรินระบุว่า เมื่อเกิดอาการหม่นเศร้า สิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญหน้าไม่ต่างกันมีอยู่ 5 ขั้นตอนสำคัญ ก่อนจะนำไปสู่หนทางแห่งการเยียวยาจิตใจของตัวเอง

ขั้นแรกคือ Denied หรือปฏิเสธว่าเรื่องนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริง รู้สึกว่าเรื่องที่เผชิญอยู่คือฝันร้ายที่ต้องตื่นขึ้นมาให้ได้

ขั้นที่ 2 คือ Anger หรือความโกรธแค้นในสิ่งต่างๆ เช่น ทำไมเรื่องร้ายๆ ต้องเกิดกับคนดีๆ แบบนี้ หรือทำไมเราต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้

ขั้นที่ 3 คือ Bargaining หรือการต่อรองกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น การคิดว่ามีอะไรที่เราควรจะทำเพื่อป้องกันสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเปล่า และทำตอนนี้ทันไหมเพื่อพยายามกอบกู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ขั้นที่ 4 คือ Depression หรือความเศร้าโศก ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีทั้งความรู้สึกสูญเสีย ความเศร้า ความเสียดายผสมปนเปกัน และโจมตีจิตใจเราด้วยอารมณ์ด้านลบต่างๆ

และขั้นตอนสุดท้ายคือ Accepting ที่แครธรินอธิบายว่า “เป็นช่วงเวลาที่เราสามารถทำความเข้าใจ และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ว่าสิ่งนั้นมันเกิดขึ้นไปแล้ว และเราก็สามารถพูดคุยถึงสถานการณ์นั้นๆ ได้โดยไม่ร้องไห้เสียใจ หรือมีอารมณ์ถาโถมเท่าก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกสงบมากขึ้น”

เมื่อคนเราเกิดความรู้สึกสูญเสีย
แต่ไม่สามารถจัดการกับความสูญเสียนั้นได้อย่างเหมาะสม
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออาการป่วยไข้ทางจิตใจ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า
ที่เป็นเสมือนบาดแผลทางจิตใจที่ไม่ได้รับการเยียวยา
ทำให้บางคนกลายเป็นคนที่เศร้าซึม หดหู่ และไม่สามารถดูแลตัวเองได้

3 สัญญาณเตือนต้องรู้ก่อนป่วยไข้ทางจิตใจ

เมื่อคนเราเกิดความรู้สึกสูญเสีย แต่ไม่สามารถจัดการกับความสูญเสียนั้นได้อย่างเหมาะสม สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคืออาการป่วยไข้ทางจิตใจ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ที่เป็นเสมือนบาดแผลทางจิตใจที่ไม่ได้รับการเยียวยา ทำให้บางคนกลายเป็นคนที่เศร้าซึม หดหู่ และไม่สามารถดูแลตัวเองได้

มากกว่านั้นคืออาการที่จะทับซ้อนเข้ามาพร้อมกับโรคซึมเศร้า คือการทำร้ายตัวเอง และใช้ความรุนแรง ซึ่งก่อนที่จิตใจจะป่วยไข้จนยากจะเยียวยา ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูลเปิดเผยถึง 3 สัญญาณเตือนอันตรายที่ตัวเราเองและคนรอบข้างควรตระหนักรู้คือ

“สัญญาณเตือนแรก คือการที่เราคิดวนๆ หรือทำอะไรวนๆ อยู่กับเรื่องที่ชวนให้เราเสียอกเสียใจ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกห่อเหี่ยวจนไม่อยากจะทำอะไร ไม่อยากกิน ไม่อยากนอน

“สอง คือรูปแบบพฤติกรรม ที่แยกออกเป็น 3 ส่วน คือ หนึ่ง ไม่สามารถจัดการกับภารกิจประจำวันได้ สอง ไม่สามารถดูแลหน้าที่ของตัวเองได้ และสาม คือไม่สามารถดูแลความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้

“สาม คือการคงอยู่ของภาวะเช่นนี้มีมากกว่า 2 สัปดาห์ แบบนี้แสดงว่าแย่แล้ว ถ้าเป็นๆ หายๆ วันหนึ่งเป็นสัก 2-3 ชั่วโมงยังไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นตลอดทั้งวัน ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และยังคงแย่อยู่ แบบนี้มั่นใจเลยว่าต้องแสวงหาความช่วยเหลือ หรือถ้าคนรอบข้างเป็นแบบนี้ก็ควรจะเข้าไปช่วยเหลือเขา”

หนทางหนึ่งที่ทำได้ในการเยียวยาตัวเองให้คลายจากความเศร้าก็คือ
การทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นและสบายใจมากขึ้น

เสียใจแค่ไหนก็ต้องรับมือให้ได้

แครธรินให้คำแนะนำถึงวิธีการรับมือกับความเสียใจว่า แต่ละคนคงมีวิธีรับมือกับความเศร้าแตกต่างกันออกไป และแม้จะผ่านเหตุการณ์ความสูญเสียเหมือนๆ กัน แต่ระดับความเศร้าอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจ และความสัมพันธ์กับสิ่งที่สูญเสีย

หนทางหนึ่งที่ทำได้ในการเยียวยาตัวเองให้คลายจากความเศร้าก็คือ การทำกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกอบอุ่นและสบายใจมากขึ้น ซึ่งบางคนอาจใช้การสวดมนต์เป็นทางออก บางคนอาจทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม หรือบางคนอาจเลือกหนทางง่ายๆ ด้วยการหยิบภาพยนตร์เรื่องเก่าที่เคยประทับใจสมัยเด็กๆ มาดู เพราะการย้อนกลับไปทำสิ่งเดิมๆ จะช่วยให้เรานึกถึงความทรงจำดีๆ ที่เคยมีในช่วงเวลาเหล่านั้นอีกครั้ง

“อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้คือ การได้พบเจอเพื่อนๆ หรือครอบครัวที่ผ่านความสูญเสียมาเหมือนกัน เพราะการที่มีคนแสดงออกว่าเขาเข้าใจเรา และกำลังผ่านกระบวนการเยียวยาไม่ต่างกันกับเรา จะทำให้เรารู้สึกใจชื้นขึ้นมา เหมือนได้แชร์ความรู้สึกซึ่งกันและกัน ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว ช่วยให้เรามีที่ปลดปล่อยความเศร้าเสียใจได้บ้าง”

เปิดโอกาสให้เขาได้บอกเล่าความรู้สึกโดยไม่พยายามปิดกั้นด้วยประโยคที่ว่า
“อย่าไปคิดมาก” หรือ “อย่าไปเสียใจ”
ใช้การสบตา และให้กำลังใจด้วยภาษากายและภาษาพูดที่เหมาะสม

ส่วนแพทย์หญิงอัมพร ในฐานะตัวแทนจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราควรช่วยกันมองหาคนที่อยู่ในอาการย่ำแย่ให้เจอ เพื่อจะได้ช่วยเขาเหล่านั้นในการรับฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ เปิดโอกาสให้เขาได้บอกเล่าความรู้สึกโดยไม่พยายามปิดกั้นด้วยประโยคที่ว่า “อย่าไปคิดมาก” หรือ “อย่าไปเสียใจ” ใช้การสบตา และให้กำลังใจด้วยภาษากายและภาษาพูดที่เหมาะสม ซึ่งการรับฟังความในใจของคนที่มีความทุกข์ท่วมท้นจะช่วยให้เขาค่อยๆ ตั้งสติได้

แต่หากช่วยเหลือเบื้องต้นด้วยการรับฟังอย่างเข้าใจแล้ว อาการของคนคนนั้นยังไม่ดีขึ้น กรมสุขภาพจิตแนะนำว่าควรให้ผู้เชี่ยวชาญได้ดูแลต่อไป

 

เปลี่ยนความเศร้าให้กลายเป็นพลังในทางสร้างสรรค์

นอกเหนือจากการเยียวยาจิตใจตัวเองและคนรอบข้างให้คลายความโศกเศร้าแล้ว คงจะดีไม่น้อยหากเรายอมให้ความเศร้าหมองลอยผ่านไป แล้วหยิบคว้าเอาไว้แต่พลังสร้างสรรค์ที่มาควบคู่กัน

“เราสามารถเปลี่ยนจากความทุกข์โศกให้เป็นพลังในการทำสิ่งที่ดีงามได้ เช่น การดูแลจิตใจคนรอบข้าง การช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์มากกว่าเรา หรือการทำงานจิตอาสาต่างๆ ซึ่งอันที่จริงแล้วสื่อต่างๆ ในทีวี หรือโซเชียลมีเดียตอนนี้ดูเหมือนจะมีข่าวที่ชวนให้เรานึกถึงความเศร้า แต่ถ้าสังเกตดีๆ และสามารถปรับมุมคิดได้ จะพบว่าสื่อต่างๆ กำลังสะท้อนให้เห็นถึงความดีงามด้วย เราสามารถรำลึกถึงความดีของพระองค์ท่าน โดยไม่หยุดอยู่ที่ความเศร้า ถ้าเราเขยิบมุมคิดไปอีกนิด เราก็จะไม่จมอยู่กับน้ำตา แต่จะกลายเป็นความมุ่งมั่นที่อยากจะทำความดีต่อไป” แพทย์หญิงอัมพร กล่าวทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับแครธรินที่เลือกจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นในด้านบวกมากขึ้น

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือเราได้รู้สึกถึงความสามัคคี ความเข้าอกเข้าใจกัน อย่างถ้าเสพข่าวตอนนี้ก็จะเห็นว่ายังมีคนจำนวนมากพยายามแสดงออกถึงน้ำใจที่พวกเขามีในช่วงเวลาที่คนอื่นกำลังเศร้าที่สุด เป็นสิ่งที่ทำให้เราใจชื้นขึ้นมาได้เยอะมาก ในช่วงนี้เรารู้สึกขอบคุณและชื่นชมสื่อต่างๆ ที่ทำข่าวในทางที่ช่วยเหลือ หรือเชิงบวกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

 

FACT BOX:

สายด่วนสุขภาพจิต 1323

สำหรับใครที่กำลังอยู่ในภาวะทุกข์โศกจนรับมือไม่ไหว กรมสุขภาพจิตเปิดให้บริการ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งจะรวบรวมผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาคอยรับฟังและให้คำปรึกษา รวมทั้งคัดกรองเบื้องต้นว่าแต่ละคนต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือไม่

นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังมีหน่วยอาสาเชิงรุกที่คอยตั้งเต็นท์ให้บริการอยู่รายรอบพระบรมมหาราชวัง 6 จุด ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้ให้การดูแลไปแล้วกว่า 800 ราย

Tags: , , , ,