บทความชุด ‘ศิลปะของความผิดหวัง’ กำเนิดขึ้นในท่ามกลางความสิ้นหวังพังทลายของหลายชีวิตรอบข้าง โดยมิพักต้องกล่าวถึงตัวผู้เขียนเอง จะมองว่างานเขียนชุดนี้มีเพื่อเข้าใจชีวิตอื่นๆ ซึ่งต้องประสบโชคร้ายแรงก็คงเรียกเช่นนั้นได้
แต่กลายเป็นว่าภายหลังจากงานเขียนชุดนี้เผยแพร่ออกไปได้หลายตอน ก็เริ่มมีคำถามกลับมาจากมิตรสหายบางท่านว่า ทั้งหมดเป็นความพยายามจะหล่อเลี้ยงผู้อ่านด้วยความเศร้าและปล่อยให้เขาลอยคออยู่ในมหาสมุทรแห่งความสลดหดหู่เช่นนั้นหรือเปล่า ผู้เขียนคงได้แต่ส่ายหน้า แต่ก็ไม่รู้จะตอบหรืออธิบายอย่างไรว่า มิได้มีเจตนาล่อหลอกใครมาอ่านด้วยอารมณ์ขื่นขมหมดหวังเลย เพราะอย่างที่กล่าวไปว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะผู้เขียนอยากจะเข้าใจ ‘ศิลปะของความผิดหวัง’ ในแง่มุมต่างๆ และเมื่อใดที่ผู้เขียนคิดว่า ‘เข้าใจ’ อย่างถ่องแท้เพียงพอแล้ว ตอนนั้นก็คงถือเป็นบทอวสาน
มาหนนี้เราจะขยับออกมาพูดเรื่องยากๆ ย้ายจากความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนไปสู่พรมแดนทางชีววิทยา ก่อนจะขยับมาพิจารณาที่มาของสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ สัญญาว่าตอนนี้ไม่เศร้า แต่อาจมีกึ่มๆ มึนๆ บ้างพอเป็นกระษัย
มนุษย์แห่งอารมณ์
มนุษย์เป็นสัตว์แห่งอารมณ์หรือเหตุผลกันแน่ นักปรัชญาชาวบาสก์อย่างมิเกล เด อูนามูโน (Miguel de Unamuno) เคยได้ตั้งคำถามที่ดูไม่ค่อยสำคัญนี้ผ่านงานชิ้นสำคัญของเขา The Tragic Sense of Life (1912) ว่า “เราพูดกันว่ามนุษย์เป็นสัตว์แห่งเหตุผล ผมก็ไม่รู้ว่า ทำไมคนเราจึงไม่ถูกนิยามว่าเป็นสัตว์แห่งอารมณ์ หรือความรู้สึกบ้าง บางทีอาจเพียงเพื่อแยกคนออกจากสรรพสัตว์ที่ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล แต่บ่อยครั้งเลยที่ผมเห็นแมวใช้เหตุผลมากกว่าที่มันจะหัวเราะหรือร้องไห้…”
เหตุผลเป็นเส้นแบ่งที่ใช้จำแนกมนุษย์เราออกจากสัตว์ ที่ในมุมมองของอูนามูโนเขาอาจเห็นว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งหรือส่วนน้อยกว่าที่มนุษย์จะใช้เหตุผล และมนุษย์โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดยังคงมีอารมณ์ และใช้ความรู้สึกกับหลายสิ่งหลายอย่างเกือบตลอดเวลา ซึ่งก็นำมาสู่คำถามว่า ถ้าโดยส่วนใหญ่แล้วมนุษย์เราใช้เหตุผลกันน้อยกว่าอารมณ์แล้ว ไฉนเราจึงนิยามตัวเองว่าเป็น ‘สัตว์แห่งเหตุผล’ หรือจริงๆ แล้วมนุษย์คือ ‘สัตว์แห่งอารมณ์’ ไม่ใช่อย่างที่เชื่อกันมา
จากข้อสงสัยเล็กๆ นี้ก็ได้มีงานวิชาการในปัจจุบันเริ่มหันไปให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านอารมณ์ของมนุษย์ ซึ่งก็ทำให้ค้นพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า อารมณ์นั้นมีบทบาทต่อวัฒนธรรมและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากกว่าที่เราคิด (เราจะได้กล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไปข้างหน้า)
ชุมชนสะเทือนอารมณ์
แม้แต่งานวิจัยทางด้านวรรณกรรมเช่น Sentimental Communities ของมาร์กาเร็ต โคเฮน (Margaret Cohen) ก็ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการสร้างความรู้สึกร่วม หรือชุมชนในจินตนากรรม (Imagined Community) ของปัจเจกที่อยู่ห่างไกลกันให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยระบบทุนนิยมการพิมพ์ (Print Capitalism) อันเป็นแนวคิดของนักวิชาการผู้ล่วงลับเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) เกิดขึ้นได้เพราะความแพร่หลายของนวนิยายสะเทือนอารมณ์ (ซึ่งในงาน Imagined Communities ของเบนอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก) จนกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า ชุมชนสะเทือนอารมณ์ (Sentimental Community) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการกำเนิดความเป็นชาติ
นวนิยายขายดีที่เป็นรองเพียงแค่พระคัมภีร์ไบเบิล อย่าง กระท่อมน้อยลุงทอม หรือ Uncle Tom’s Cabin เป็นผลงานที่ได้รับการอ่านอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาก็ด้วยความสะเทือนอารมณ์ หรือผลงานที่คนนิยมอ่านมากที่สุดของฌ็อง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ก็ไม่ใช่ผลงาน สัญญาประชาคม หรือ Social Contract แต่กลับเป็นนวนิยาย Julie, or the New Heloise ที่นักประวัติศาสตร์วรรณกรรมโรเบิร์ต ดาร์นตัน (Robert Darnton) กล่าวว่า เป็นหนึ่งในสี่ของนวนิยายขายดีที่สุดในเวลานั้น ลำพังแค่ก่อนปี 1800 ก็มีการพิมพ์ซ้ำมากถึง 70 ครั้ง เรียกว่า ขายดิบขายดีจนพิมพ์ไม่ทัน และก่อให้เกิดธุรกิจเช่าหนังสืออ่านในตอนนั้นขึ้นมา
โดยหนึ่งในผลงานสะเทือนอารมณ์ที่ได้รับการกล่าวขานถึงมากที่สุดในระดับปรากฏการณ์อีกเล่มก็คือ แวร์เธ่อระทม หรือ The Sorrows of Young Werther ของนักเขียนชาวเยอรมันโยฮันน์ โวลฟ์กัง เกอเธ่ (Johann Wolfgang Goethe)
ในยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 เรื่อง Young Werther จัดเป็นนวนิยายขายดีที่ทำให้เกิดลัทธิแวร์เธ่อที่มีชายหนุ่มจำนวนมากในเวลานั้นพยายามแต่งตัวและพกปืนให้เหมือนตัวเอกของเรื่อง จนกระทั่งมีความพยายามการฆ่าตัวตายเลียนแบบแวร์เธ่อในหลายที่หลายแห่ง ทั้งในและนอกเยอรมนี จนบางประเทศในยุโรปต้องจัดให้ Young Werther เป็นหนังสือต้องห้าม เช่นในเดนมาร์กที่มีประกาศออกมา แต่หนังสือเล่มนี้ก็ได้ระเบิดผลกระทบรุนแรงอีกครั้งเมื่อถูกแปลและตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา
ความคลั่งไคล้ในนวนิยาย Young Werther ถูกเรียกว่าเป็น ‘โรคระบาด’ เพราะได้ทำให้ผู้อ่านชาวอเมริกันที่เป็นคนหนุ่มสาวจำนวนมากในเวลานั้นตัดสินใจก่ออัตวินิบาตกรรมตามตัวเอกในเรื่องอย่างต่อเนื่อง จนกล่าวได้ว่าเป็นวิกฤติการของสังคมอเมริกันเวลานั้น และถึงแม้จะกลายเป็นหนังสือต้องห้ามในบ้าน แต่มันก็ได้ส่งผลแทรกซึมผ่านแนวการเขียนนวนิยายประเภทแฟน-ฟิกชั่น (Fan-Fiction) ซึ่งยึดโยงล้อเลียนกับโครงสร้างของ Young Werther และในบางเรื่องบางเล่มถึงกับใส่หนังสือ Young Werther ลงไปประกอบฉากจบที่ตัวละครตัดสินใจฆ่าตัวตาย
แนวคิดเรื่องชุมชนสะเทือนอารมณ์ของมาร์กาเร็ต โคเฮน ทำให้เราเห็นว่าตัวบทที่กระทบความรู้สึกผู้อ่านสามารถส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อสังคมอย่างไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าก่อนหน้านี้ เรามักจะยกให้ปัญญา (Intellect) หรือการใช้เหตุผล (Rationality) เป็นผู้สร้างรากฐานทางวัฒนธรรมและความคิดของคนในสังคม แต่จากตัวอย่างข้างต้นที่ยกมา เราก็เห็นได้แล้วว่า กระบวนการสร้างความเป็นชาติ และความเป็นหนึ่งเดียวกันของปัจเจก มีอารมณ์และความรู้สึกเป็นส่วนประกอบอย่างมีนัยสำคัญ ถัดจากนี้ไป เราจะขยับกรอบการมองความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือบุคคลกับตัวบท (Text) ไปสู่การพิจารณาในระดับที่ลึกกว่า นั่นคือ ระหว่างเซลส์กับเซลส์
คำพิพากษาของอารมณ์
ในห้วงเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา อันโทนิโอ ดามาซิโอ (Antonio Damasio) นักสรีรวิทยาชาวอเมริกัน-โปรตุเกส ได้เสนอแนวคิดทฤษฎีที่เรียกว่า Somatic marker hypothesis หรือ ‘ข้อสมมติฐานเครื่องบ่งชี้ประสาทกาย’ ที่อธิบายว่า ‘อารมณ์’ มีส่วนอย่างมากในกระบวนการตัดสินใจของมนุษย์
Somatic marker เป็นปฏิกิริยาทางร่างกายที่ส่งผลให้เกิดอัตราการเต้นของหัวใจให้เร็วขึ้น ความกระวนกระวายใจ และความรู้สึกวิงเวียน เชื่อกันว่ามีตำแหน่งที่ตั้งในสมองส่วน Ventromedial Prefrontal Cortex (VMPFC) ทฤษฎี Somatic marker hypothesis นี้ได้รับการทดลองผ่าน Iowa Gambling Task (IGT) ที่เป็นแบบทดสอบในรูปของเกมเปิดไพ่
โดยทั่วไปแล้วการตัดสินใจของมนุษย์เรานั้นได้รับการอธิบายผ่านทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่า เป็นการตัดสินโดยปราศจากอารมณ์ และมาจากการใช้ตรรกะเหตุผล หรือการคิดคำนวณบนหลักผลประโยชน์เป็นหลัก หากการทดลอง IGT ที่ดามาซิโอมีส่วนร่วมพัฒนาขึ้นนั้นได้ชี้ให้เห็นว่า อารมณ์กลับมีอิทธิพลอย่างมากในการตัดสินใจ ทั้งในแง่ของความเร็ว การทำความเข้าใจปัญหายุ่งยากซับซ้อนในสถานการณ์ไม่แน่นอนทั้งหลาย
อารมณ์คืออะไร ดามาซิโออธิบายว่า อารมณ์เป็นประสบการณ์ทางจิตใจที่เชื่อมโยงกับร่างกายในส่วนต่างๆ ที่ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นมา ซึ่งกล่าวให้ง่ายแล้วก็คือ อารมณ์คือการตระเตรียมข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับสภาวะต่างๆ ของชีวิต แต่มันก็เป็นมากกว่าข้อมูลในความหมายที่เราใช้กันกับคอมพิวเตอร์ และความรู้สึกพื้นฐานนั้นก็ไม่ได้มีลักษณะเป็นนามธรรม แต่เป็นประสบการณ์ของชีวิตที่วางอยู่บนภาพแทนของกระบวนการชีวิตที่มีลักษณะเชิงซ้อน นั่นทำให้บางแง่อารมณ์ก็สามารถเป็นกระบวนการทางปัญญาได้ เพราะอารมณ์สามารถแปลงเปลี่ยนเป็นความคิดและถ้อยคำที่สามารถถ่ายทอดหรือบรรยายถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และนี่เองก็เป็นเหตุผลว่าทำไมอารมณ์จึงมีบทบาทอย่างยิ่งในการสร้างวัฒนธรรม
จากภาพที่มนุษย์คนแรกๆ วาดขึ้นบนผนังถ้ำมาถึงการโพสต์ข้อความลงไปบนเฟซบุ๊คมีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นมากมายระหว่างนั้นซึ่งกินเวลาไม่น้อยกว่า 50,000 ปี การคิดค้นเครื่องมือ อุปกรณ์ล่าสัตว์ อาวุธอาจเป็นสิ่งที่เรามองว่าเป็นผลมาจากปัญญาของมนุษย์ที่พัฒนาขึ้นตามกาลเวลา แต่หากพิจารณาว่าปัญญานั้นเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อขาดหายหรือบกพร่องไปแล้ว มนุษย์เราจะหิว หวาดกลัว และรู้สึกไม่มั่นคง ความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นรากฐานหรือแรงขับเคลื่อนเพื่อการมีชีวิตรอด และยิ่งชัดเจนขึ้น เมื่อความรู้สึกเศร้า ความสูญเสีย ความรู้สึกเห็นใจทำให้มนุษย์คนหนึ่งเริ่มขับขานบทเพลง หรือบทกวีให้แก่มนุษย์อีกคนหนึ่ง
อ้างอิง
- Margaret Cohen & Carolyn Dever (Ed.), The literary channel : the inter-national invention of the novel, (New Jersey: Princeton University Press, 2002)
- Antonio Damasio, The Strange Order of Things: Life, Feeling, and the Making of Cultures, (New York: Pantheon Books, 2018)
- Shafquat Towheed & W. R. Owens (Ed.), The History of Reading, Volume 1: International Perspectives, c.1500–1990,(London: Palgrave Macmillan, 2011)