หนึ่งปีกำลังจะผ่านไป…มากมายเหมือนโกหก

จาก Brexit ถึงทรัมป์ กับมวลความรู้สึกของผู้คนและปฏิกิริยาของรัฐบาลประเทศเจริญแล้วต่อปัญหาผู้อพยพ จะบอกว่าเป็นปีแห่งความเหนือจริง เหนือความคาดหมาย เหนือข้อจำกัดของความเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นปีแห่งการกลับมาอยู่กับความจริงและความเป็นไปได้ พูดยังไงก็คงจะถูก

นั่นเพราะไม่มีใครรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป การด่วนสรุปว่าเป็นกระแสโลกหันขวา ยิ่งฟังดูติดกรอบคิดที่มีเพียงระนาบเดียวไปกันใหญ่

จากยุคเหตุผลนิยมที่เกี่ยวแขนมากับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์
สู่ยุคโรแมนติกที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกและความเป็นปัจเจก
อันถือเป็นปฏิกิริยาต่อต้านเหตุผล
และเมื่ออารมณ์มันมากเกินรับไหว
เราก็วกกลับเข้าสู่ยุคสัจนิยมที่ว่ากันด้วยความจริง

แม้ออกซ์ฟอร์ดจะออกมาประกาศให้คำว่า Post-truth ที่สื่อถึงภาวะ ‘อารมณ์เป็นใหญ่’ ของโลกมนุษย์เป็นคำแห่งปี แต่ประวัติศาสตร์ก็บอกให้รู้ว่าเราผ่านช่วงเวลาแบบนี้มาไม่รู้กี่ครั้ง

จากยุคเหตุผลนิยมที่เกี่ยวแขนมากับการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ สู่ยุคโรแมนติกที่เน้นอารมณ์ความรู้สึกและความเป็นปัจเจกอันถือเป็นปฏิกิริยาต่อต้านเหตุผล และเมื่ออารมณ์มันมากเกินรับไหว เราก็วกกลับเข้าสู่ยุคสัจนิยมที่ว่ากันด้วยความจริง

เราอาจจะบอกว่าเป็นเพราะมนุษย์ขี้เบื่อจนต้องหันกลับไปกลับมาเหมือนมีอาการสมาธิสั้นก็ได้ หรือจะบอกว่ามันเป็นสัญชาตญาณที่บอกให้ตั้งหลักและหาสมดุลใหม่เมื่ออะไรบางอย่างถ่วงน้ำหนักมากเกินไปก็คงจะได้เช่นกัน

และในหลายครั้ง สิ่งที่มากเกินไปก็คือความหวัง ที่ชอบหลอกให้เราหลงตื่นเต้นกับอะไรง่ายๆ

ย้อนกลับไป 6 ปีก่อน

ในวันที่อาหรับสปริงถูกจุดขึ้น เราต่างมีความหวังว่าโลกจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เมื่อมาถึงวันนี้ มันกลายเป็นภาพความตกต่ำของมนุษยชาติที่สะท้อนผ่านเด็กน้อยแห่งอเลปโป และการที่โลกต้องกลับมามีสองขั้ว โดยมีรัสเซียเป็นขั้วอำนาจหลักอยู่ด้านหนึ่ง ราวกับมีใครมือบอนมามากดปุ่ม rewind หน้าตาเฉย

อย่างกับฝันร้ายที่ชอบวนกลับมาหาซ้ำๆ

ทั้งที่เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความท้าทายนานัปการที่เผชิญอยู่ คือข้อเรียกร้องให้เราเลิกล้มความคิดแบบทวิลักษณ์ ซึ่งมองทุกอย่างเป็นคู่ แล้วรวมกันเป็นหนึ่งเพื่อสู้กับความท้าทาย ไม่ว่าจะทางทรัพยากร สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ปัญญาประดิษฐ์ และการแบ่งโลกออกเป็นสองขั้วน่าจะเป็นมรดกห่วยแตกจากศตวรรษก่อนที่ล้าสมัยไปแล้ว (พูดง่ายๆ ก็คือมันไม่มีเวลาให้ทะเลาะกันเองแล้ว)

น่าเสียดายที่ไม่เป็นแบบนั้น เอาเข้าจริงการที่ทุกอย่างมาเป็นคู่อาจเป็นสัจธรรมเดียวของโลก ไม่ว่าจะเป็นโลกเก่าหรือโลกฐานสองที่มีเพียง 0 กับ 1 และการคิดแบบทวิลักษณ์ก็ติดมากับสัญชาตญาณสัตว์ของเรา จากวันที่เราเป็นผู้ถูกไล่ล่าและต้องเลือกว่าจะวิ่งหนีไปทางซ้ายหรือขวา หรือจนถึงวันนี้ที่เรายังคงแบ่งผู้คนว่าเป็นอนุรักษ์นิยมหรือหัวก้าวหน้า ฉลาดหรือโง่ ดูทีวีช่อง 21 หรือ 22 ราวกับว่าทำอย่างนั้นแล้วจะได้อะไรขึ้นมา

นอกจากถ่างให้รอยแยกมันกว้างขึ้น

ย้อนกลับไป 2 ปีที่แล้ว

มันคือวาระครบรอบ 75 ปีของภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่อย่าง Gone with the Wind

หากออกฉายในตอนนี้ มันจะเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้กว่าสามพันล้านเหรียญ มากกว่าที่ Avatar ทำไว้ พูดใหม่ก็คือ เมื่อปรับอัตราเงินเฟ้อแล้ว นี่คือภาพยนตร์ที่ยังคงทำรายได้สูงสุดตลอดกาล ไม่นับรางวัลออสการ์อีก 10 ตัวที่กอดไว้

ทั้งๆ ที่มันคือภาพยนตร์ที่เราสามารถกา ‘ผิด’ ได้แทบทุกข้อ

มันทั้งเหยียดผิว เหยียดพันธุ์ และเหยียดเพศ ทั้งยังบอกเล่าประวัติศาสตร์ในแบบที่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่าบิดเบือน ด้วยเนื้อเรื่องที่เล่าจากมุมของคนขาวชาวใต้ ซึ่งทำให้สงครามกลางเมืองกลายเป็นการบุกรุกโดยคนทางเหนือ โดยมีนายและทาสชาวใต้สู้กับสงครามนี้ร่วมกัน มากกว่าเป็นการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยทาส

ไม่นับฉากที่นางเอกถูกขืนใจโดยสามีของเธอในค่ำคืนหนึ่ง ก่อนตื่นมาอย่างมีความสุข ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากที่สุด

มันคือสิ่งที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ด้วยเหตุผลว่าด้วย ‘บริบททางประวัติศาสตร์’ อะไรเลย

ในความเป็นจริง ใช่ว่ามันจะไม่ถูกวิพากษ์ในเวลาที่ออกฉายเมื่อปี 1939 แต่ภาพของสการ์เลตต์ โอฮารา หญิงแกร่งผู้ลุกขึ้นมาเชิดหน้าต่อสู้กับโชคชะตาที่เปลี่ยนผันและความโหดร้ายของสงคราม ก็ทำให้กระแสตอบรับนั้นกลบเสียงวิจารณ์ได้เสียสนิท

โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนยังไม่ลืมความยากลำบากหลังเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ และพลังของผู้หญิงกำลังจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นทัพหลังขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมเพื่อสร้างผลผลิตให้กับอเมริกา ในขณะที่ผู้ชายออกไปรบในสงครามโลกครั้งที่สอง

Gone with the Wind จึงเป็นภาพยนตร์บอกเล่าประวัติศาสตร์ ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญในตัวมันเองด้วย ในฐานะภาพยนตร์ที่ชาวอเมริกันรักและหวงแหน และพร้อมกันก็อาจรู้สึกผิดบาป กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับประวัติศาสตร์ชิ้นใหญ่นี้ดี

มันคือตัวอย่างของมรดกจากศตวรรษก่อน ที่ต้องเผชิญความยากลำบากในการข้ามผ่าน ‘บททดสอบแห่งกาลเวลา’ เมื่อเข้าสู่ศตวรรษใหม่ โดยเฉพาะกระแสเรียกร้องจากคนรุ่นใหม่ให้ ‘แบน’ ภาพยนตร์เรื่องนี้เสียที ในขณะที่คนอีกส่วนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่กว่าที่เลือกจะยักไหล่ ทั้งไม่ใส่ใจจะดู และไม่ใส่ใจว่ามันควรถูกแบนหรือไม่ คล้ายกับประโยคอมตะที่ เรตต์ บัตเลอร์ พระเอกของเรื่องกล่าวไว้ “Frankly, my dear, I don’t give a damn.”

เอาเข้าจริงการที่ทุกอย่างมาเป็นคู่อาจเป็นสัจธรรมเดียวของโลก ไม่ว่าจะเป็นโลกเก่าหรือโลกฐานสองที่มีเพียง 0 กับ 1
และการคิดแบบทวิลักษณ์ก็ติดมากับสัญชาตญาณสัตว์ของเรา จากวันที่เราเป็นผู้ถูกไล่ล่าและต้องเลือกว่า
จะวิ่งหนีไปทางซ้ายหรือขวา
หรือจนถึงวันนี้ที่เรายังคงแบ่งผู้คนว่าเป็น
อนุรักษ์นิยมหรือหัวก้าวหน้า ฉลาดหรือโง่
ดูทีวีช่อง 21 หรือ 22 ราวกับว่าทำอย่างนั้นแล้วจะได้อะไรขึ้นมา

ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าลำบากใจกว่าการแบนหรือไม่แบนภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ยิงกอริลลาในสวนสัตว์กลางเมืองซินซินแนติ (เพื่อความปลอดภัยของเด็ก) เมื่อกลางปี ที่จุดประกายให้เรากลับมาตั้งคำถามกันใหม่ถึงการมีอยู่ของสวนสัตว์

จำเป็นหรือไม่ที่เราจะต้องกักขัง เพื่อให้มนุษย์ได้เรียนรู้ โดยเฉพาะในวันที่ทางเลือกในการเรียนรู้มีอยู่อย่างไม่จำกัด

แต่ก็อีกนั่นแหละ การตั้งคำถามที่คาดคั้นเกินไป จะไม่ลงเอยด้วยการได้คำตอบในเชิงโครงสร้าง

ไม่ต่างจากชุดความถูกต้องทางวาทกรรมอย่าง Political Correctness ที่กลายเป็นเรื่องน่าอึดอัดสำหรับหลายคน เหมือนกับหลายเรื่องในชีวิตที่ยิ่งพยายามทำให้ถูก มันยิ่งไม่ถูกไปกันใหญ่ ยิ่งคาดคั้นเท่าไหร่ ยิ่งโดนหันหลังให้เท่านั้น

แล้วจะแปลกอะไรหากความจริงที่มากไปจะนำมาสู่โลกยุคหลังความจริงอย่าง Post-truth

ในยุคที่สังคมเต็มไปด้วยผู้คุมวิญญาณและบทวิพากษ์ดาษดื่น การที่หลายคนคร่ำครวญว่าอยากดู Fantastic Beast and Where to Find Them ตอนต่อไปทันทีที่ออกจากโรงภาพยนตร์จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

มันทั้งง่ายและสนุก มันคือสองชั่วโมงแห่งความปลดปล่อย มันไม่มีอะไรให้ต้องใคร่ครวญมากไปกว่าการเลือกว่าเราอยากมีสัตว์วิเศษตัวไหนเป็นของเราเอง (นอกเหนือจากพระเอกอย่างนิวท์) และการที่เราอดหันมาถามตัวเองไม่ได้ว่านานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้รู้สึกแบบนี้

มันไม่เพียงอนุญาตให้เราหลบจากเหตุผลและความถูกต้องขมปร่า เพื่อกลับไปเป็นเด็กที่ยืนเลือกขนมหวานรสฉ่ำละลานตา แต่ยังใจดีแถมพล็อตเก่าเก็บแบบ ‘พวกงี่เง่ากลับใจตอนจบแบบดื้อๆ’ และ ‘การเสกความพังให้กลับไปดีแบบเดิมได้หน้าตาเฉย’ ไว้ให้แบบไม่ต้องอาศัยความซับซ้อน หรือความจริงของชีวิตมากมาย

โดยเฉพาะความจริงอันเจ็บปวดว่าเรา ‘รีเซ็ต’ อะไรไม่ได้เลย แม้จะยอมแลกด้วยความทรงจำทั้งหมด

แต่เมื่อเดินพ้นจากโรงภาพยนตร์กลับสู่โลกจริง (ซึ่งคือโลกออนไลน์) สิ่งที่รอเราอยู่ก็คือการเมืองของ Harry Potter ซึ่งมีหลังฉากเป็นโรคบ้าคลั่งความบริสุทธิ์แบบนาซี และภาพยนตร์ที่แตกกิ่งออกมาเล่าเรื่องสัตว์วิเศษนี้ก็คืออุปมาว่าด้วยความรู้สึกที่มีต่อชาวยิวของสังคมอเมริกันช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

จึงไม่แปลกที่ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่ามันเป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยอคติ และความจงใจที่จะแสดงให้เห็นว่าสังคมอเมริกานั้น ‘แบ่งแยก’

อย่างกับว่าไม่บอกแล้วจะไม่รู้แน่ะ ต้องแคร์ด้วยหรือ?
 

Frankly, my dear, I don’t give a damn!

ภาพประกอบ: Thomthongc

Tags: ,