ในประวัติศาสร์ของมนุษยชาติที่ผ่านมา โลกเผชิญกับวิกฤติผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่มานับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจวบจนถึงยุคปัจจบัน จากการเก็บข้อมูลของสหประชาชาติ พบว่าในปลายปี 2016 ประชากรกว่า 65 ล้านคนทั่วโลก ถูกบังคับให้ต้องพลัดพรากออกจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อหลบลี้หนีจากความอดอยากยากจน ความรุนแรงจากภัยการเมืองและสงคราม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ

จำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายเช่นนี้ถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจและประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจร่ำรวยควรต้องร่วมกันให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในระหว่างการลี้ภัยอย่างปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

แต่โลกแห่งความเป็นจริงก็ไม่ได้สวยงามเช่นนั้น หลายประเทศๆ ทั่วโลกเพิกเฉยต่อปัญหานี้และปฏิเสธที่จะต้อนรับหรือให้ความช่วยเหลือเหล่าผู้ลี้ภัยที่เดินทางมา ล่าสุดในสหรัฐอเมริกาก็เพิ่งมีข่าวอื้อฉาวและน่าสะเทือนใจเกี่ยวกับนโยบายอันแข็งกร้าวต่อผู้อพยพของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใช้วิธีพรากเด็กจากพ่อแม่ที่เป็นผู้อพยพเข้าเมืองมาในสหรัฐเพื่อสกัดกั้นผู้อพยพผิดกฎหมาย ซึ่งถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาคมโลกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอย่างรุนแรง

ในวงการศิลปะโลก มีศิลปินหลายคนที่ใช้งานศิลปะของพวกเขาสะท้อนถึงความทุกข์ยากของผู้ลี้ภัยและความเพิกเฉยของเหล่าบรรดานานาอารยประเทศต่อวิกฤตการณ์นี้

เช่น ผลงานของ ซานติอาโก เซียร่า (Santiago Sierra) ศิลปินชาวสเปนผู้ทำงานศิลปะที่เป็นส่วนผสมของงานประติมากรรมสังคม (social sculpture) และประเด็นทางการเมือง ด้วยศิลปะการแสดงสดและศิลปะจัดวางสุดอื้อฉาว ที่กระตุ้นให้ผู้ชมสำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเขามักจะว่าจ้างเหล่าบรรดาคนชายขอบและคนด้อยโอกาสทางสังคม ที่ตกเป็นเหยื่อและเบี้ยล่างในโลกทุนนิยมอย่างแรงงานพลัดถิ่น โสเภณี หรือผู้ลี้ภัย มาทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่แสดงงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการผลักแท่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ไปรอบๆ ห้องแสดงงานเป็นเวลาหลายชั่วโมงอย่างไร้ประโยชน์ หรือนั่งเรียงแถวให้สักหลังเป็นเส้นตรงต่อกัน หรือยืนเฉยๆ รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ในงานเปิดนิทรรศการศิลปะ หรือแม้แต่สำเร็จความใคร่ให้ศิลปินบันทึกภาพเอาไว้ เซียร่าต้องการเปิดโปงอำนาจความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมที่กดทับคนชายขอบเหล่านี้และปิดบังพวกเขาเอาไว้จนมองไม่เห็น

ในผลงานที่อื้อฉาวที่สุดของเขาอย่าง Six People Who Are not Allowed to Be Paid for Sitting in Cardboard Boxes (2000) ที่จัดแสดงในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เดิมที ผลงานชิ้นนี้ดัดแปลงจากผลงานที่เขาทำในกัวเตมาลาและนิวยอร์กในปี 1998 ซึ่งในครั้งนั้นเซียร่าจ้างกรรมกรให้นั่งเงียบๆ อยู่ในกล่องกระดาษภายใต้สถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ

ซานติอาโก เซียร่า: Six People Who Are not Allowed to Be Paid for Sitting in Cardboard Boxes (2000), ภาพจาก https://www.deichtorhallen.de/index.php?id=349

ส่วนผลงานในปี 2000 เซียร่าจ้างผู้ลี้ภัยจากเชชเนียหกคนให้นั่งบนเก้าอี้ภายในกล่องกระดาษลังที่ต่อขึ้นมาหยาบๆ วันละสี่ชั่วโมง เป็นเวลาหกสัปดาห์ พวกเขาต้องรับค่าจ้างอย่างลับๆ เนื่องจากมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งตามกฎหมายของเยอรมนี ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะได้รับเงินสงเคราะห์เดือนละ 80 มาร์คเยอรมัน หรือราว 40 เหรียญสหรัฐ แต่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ทำงานหาเลี้ยงชีพอย่างเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะถูกเนรเทศและส่งตัวกลับประเทศบ้านเกิดทันที ดังนั้น รายละเอียดของผลงานชิ้นนี้จึงไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ทั้งหมด

ด้วยความที่ตัวกล่องปิดมิดชิด ผู้ชมจะไม่สามารถมองเห็นผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจากภายนอก แต่จะรับรู้ว่ามีคนอยู่ในกล่องได้จากเสียงของความเคลื่อนไหวหรือความพยายามกลั้นไอของผู้ลี้ภัยที่นั่งอยู่ภายในกล่อง ซึ่งก่อให้เกิดความกระอักกระอ่วนใจและสร้างความตึงเครียดให้แก่บรรยากาศในห้องแสดงงานและผู้ชมเป็นอย่างมาก

ผลงานชิ้นนี้ส่งให้เซียร่ากลายเป็นดาวเด่นของวงการศิลปะร่วมสมัยโลก และดึงดูดความสนใจสาธารณชนให้หันมาสนใจในสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยและแรงงานชายขอบในสังคมยุคนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานชุดนี้ก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียง และทำให้เขาถูกโจมตีจากผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ชมชาวเยอรมันที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ว่าผลงานชิ้นนี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์อันเลวร้ายของผู้ลี้ภัยเหล่านั้นลดน้อยลงแต่อย่างใด เพราะเมื่อนิทรรศการสิ้นสุดลง แรงงานและผู้ลี้ภัยเหล่านั้นก็ถูกปล่อยกลับไปสู่สถานะเดิม ในโลกเดิมที่พวกเขาถูกกดขี่ ในขณะที่ศิลปินอย่างเซียร่ากลับเป็นผู้รับผลประโยชน์ทุกอย่าง ซึ่งยืนยันได้จากการที่เขาได้ตะเวนแสดงผลงานไปทั่วโลก ทั้งเกาหลี เปอร์โตริโก ฮาวานา และมาดริด เป็นต้น

ที่ตลกร้ายและเจ็บแสบยิ่งกว่านั้นก็คือ พนักงานรักษาความปลอดภัยของพิพิธภัณฑ์ในห้องแสดงงานใกล้ๆ กัน ที่ต้องยืนหลังขดหลังแข็งเฝ้าพิพิธภัณฑ์เป็นเวลาแปดชั่วโมงต่อวันนั้น ก็ได้รายได้ในอัตราพอๆ กับผู้ลี้ภัยที่มานั่งเฉยๆ อยู่ในกล่องด้วยซ้ำไป

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยหลายคนก็ต้องการเข้าร่วมในการแสดงสดครั้งนั้นของเซียร่า เพราะหวังว่าจะใช้นิทรรศการครั้งนั้นป่าวประกาศให้โลกรับรู้ถึงสถานการณ์อันเลวร้ายของพวกเขา

หรือในผลงานของศิลปินชาวจีนผู้ทรงอิทธิพลอย่างอ้าย เว่ยเว่ย ที่สำรวจวิกฤติของผู้ลี้ภัยที่ส่งผลกระทบอันมหาศาลต่อมวลมนุษยชาติอย่างเข้มข้นจริงจัง และรณรงค์ด้วยการทำงานศิลปะที่มุ่งเน้นในการนำเสนอสถานการณ์อันยากลำบากของเหล่าผู้ลี้ภัยให้โลกได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นในผลงานอย่าง Law of the Journey (2017) ประติมากรรมจัดวางรูปแพยางชูชีพสีดำขนาดยักษ์ ยาว 60 เมตร ที่มีประติมากรรมเป่าลมรูปคนไร้ใบหน้าจำนวน 258 คน สวมเสื้อชูชีพนั่งอยู่ในเรือ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยไร้ชื่อที่ต้องหลบลี้หนีภัยจากบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง แพยางและประติมากรรมเป่าลมรูปคนเหล่านี้ ทำมาจากยางสีดำที่ผลิตโดยโรงงานในประเทศจีนที่เดียวกับที่ผลิตแพชูชีพ (ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพและปลอดภัยนัก) ที่เหล่าผู้ลี้ภัยนับพันชีวิตใช้ในการพยายามล่องข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อเสาะหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่า

 

อ้าย เว่ยเว่ย: Law of the Journey (2017), ภาพจาก https://www.biennaleofsydney.art/artists/ai-weiwei

หรือ Laundromat (2016) ผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจำนวน 2,046 ชิ้น ของผู้ลี้ภัยนับพันที่ถูกบังคับให้อพยพออกจากค่ายผู้ลี้ภัยบนเกาะเลสบอส ในประเทศกรีก ที่ปิดตัวลงในปี 2016 โดย อ้าย เว่ยเว่ย และทีมงานของเขา ทำการเก็บเอาเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและข้าวของที่ผู้ลี้ภัยจำต้องท้ิงไว้เหล่านั้นมาทำความสะอาด จัดระเบียบ และแสดงพร้อมกับภาพถ่ายและวิดีโอจากกล้องไอโฟน ซึ่งเขาเคยเผยแพร่ในอินสตาแกรมส่วนตัวของเขา

อ้าย เว่ยเว่ย: Laundromat, (2016), ภาพจาก http://www.fashionstudiesjournal.org/commentary/2017/1/27/ai-weiweis-laundromat-clothing-as-contact-points

 นอกจากนั้นยังมีงานศิลปะที่เขาใช้เสื้อชูชีพนับพันตัว ที่เขาเก็บมาจากค่ายผู้ลี้ภัยบนเกาะเลสบอส มาทำเป็นศิลปะจัดวางบนอาคารสถานที่สำคัญในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก หรือเบอร์ลิน โดยเขาทำการติดเสื้อชูชีพเหล่านั้นไว้บนช่องหน้าต่างด้านนอกของอาคาร หรือเอาไปติดคลุมทั่วทั้งเสาทุกต้นด้านหน้าของอาคาร

นอกจากนั้นเขายังใช้เวลานับปี ในกว่า 23 ประเทศ ตามติดเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่แตกกระสานซ่านเซ็นไปทั่วโลก เพื่อบันทึกภาพและเรื่องราวชีวิตของเหล่าผู้ลี้ภัยทั้งหญิง ชาย เด็กๆ ในหมู่เตนท์พักพิงฉุกเฉิน บนเรือ หรือบนถนนหนทางอันยากลำบากและดูไร้จุดหมายของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ในค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งทั่วโลก เพื่อตีแผ่ประเด็นผู้ลี้ภัยและปมภายในจิตใจของมนุษย์จาก 23 ประเทศทั่วโลกที่ประสบปัญหา อาทิ อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ฝรั่งเศส กรีซ เยอรมัน อิรัก อิสราเอล อิตาลี เคนย่า เม็กซิโก และตุรกี ฯลฯ และถ่ายทอดมันออกมาเป็นหนังสารคดีที่มีชื่อว่า Human Flow (2017)

อ้าย เว่ยเว่ย: Human Flow (2017) ภาพจาก https://www.humanflow.com/gallery/

เขาเริ่มต้นทำสารคดีเรื่องนี้จากการไปเยี่ยมเยือนผู้ลี้ภัยที่ชายหาดเมืองเลสบอส ประเทศกรีซ ในช่วงวันหยุด ภาพอันน่าสะเทือนใจของเหล่าผู้ลี้ภัยที่เขาพบเห็นทำให้เขาถึงกับพูดไม่ออก เขาจึงเริ่มต้นถ่ายบันทึกของผู้ลี้ภัยเหล่านั้นเอาไว้ด้วยโทรศัพท์มือถือของเขา และใช้เวลากว่า 600 ชั่วโมงในการถ่ายทำและสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนด้วยตัวเอง จนออกมาเป็นหนังสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยออกมาได้อย่างทรงพลังเรื่องนี้

หรือผลงานในปี 2016 ของศิลปินกราฟฟิตี้นิรนามชื่อดังชาวอังกฤษอย่างแบงก์ซี ที่ทำขึ้นบนกำแพงตรงข้ามสถานทูตฝรั่งเศส ในเขตไนท์สบริดจ์ ในกรุงลอนดอนตะวันตก เพื่อวิพากษ์วิจารณ์มาตรการที่รัฐบาลจัดการกับค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองกาแล (Calais) ประเทศฝรั่งเศส

ผลงานของแบงก์ซีบนกำแพงตรงข้ามสถานทูตฝรั่งเศส ในปี 2016 ภาพจาก https://londoncallingblog.net/2016/01/25/new-banksy-street-art-in-knightsbridge/

มันเป็นภาพของ โกแซตต์ (Cosette) ตัวละครเด็กหญิงผู้ยืนอยู่หน้าธงชาติขาดวิ่นที่ปรากฏบนโปสเตอร์ของละครเพลงสุดคลาสสิคอย่าง Les Misérables (ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมในชื่อเดียวกันของนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส วิกตอร์ อูโก) เธอมีน้ำตาไหลพรากจากแก๊สน้ำตาที่ปล่อยควันพวยพุ่งอยู่ด้านล่าง มุมล่างของภาพมี QR Code เมื่อสแกนด้วยสมาร์ตโฟน ก็จะลิงค์ไปยังคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง บุกจู่โจมค่ายผู้ลี้ภัยในวันที่ 5-6 มกราคม 2016

ก่อนหน้านั้นเขาทำกราฟฟิตี้บนกำแพงในค่ายผู้อพยพในเมืองกาแล ที่มีชื่อว่า Jungle เพื่อแก้ไขทัศนคติในแง่ลบของคนทั่วไปที่มีต่อผู้ลี้ภัยนับพันที่อาศัยอยู่ที่นั่น โดยเป็นภาพของอดีตซีอีโอและผู้ก่อตั้งแบรนด์ Apple ผู้ล่วงลับอย่าง สตีฟ จอบส์ ผู้กำลังแบกถุงขยะสีดำบนบ่า และถือคอมพิวเตอร์แมคอินทอชรุ่นแรกของแอปเปิ้ลเอาไว้ในมืออีกข้าง ผลงานชิ้นนี้อ้างอิงไปถึงพื้นเพของจ็อบส์ผู้เป็นลูกชายของผู้อพยพชาวซีเรียที่เดินทางเข้ามายังสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และกระตุ้นให้เราตระหนักว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้อาจสร้างผลกระทบในแง่บวกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประเทศที่พวกเขาลี้ภัยเข้าไปได้ด้วยเช่นกัน

ผลงานของแบงก์ซีบนกำแพงในค่ายผู้อพยพ Jungle ในเมืองกาแล ในปี 2015, ภาพจาก https://www.publimetro.co/co/noticias/2016/03/04/esta-seria-la-verdadera-identidad-de-banksy.html

โดยเขากล่าวในแถลงการณ์ว่า เรามักจะเชื่อว่าผู้อพยพเข้ามาช่วงชิงทรัพยากรของประเทศ แต่ สตีฟ จ็อบส์ ซึ่งเป็นลูกชายของผู้อพยพชาวซีเรีย เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ที่มีผลกำไรมากที่สุดในโลก และจ่ายภาษีให้ประเทศมากกว่า 7 พันล้านเหรียฐสหรัฐในแต่ละปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพียงเพราะเราเปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นเข้ามา

หรือผลงานกราฟฟิตี้ที่อีกชิ้นบนกำแพงอาคารใกล้ค่ายผู้อพยพในเมืองกาแล ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดคลาสสิคของจิตรกรชั้นครูชาวฝรั่งเศส ธีโอดอร์ เจริโค (Theodore Gericault) อย่าง The Raft of the Medusa (18181819) โดยดัดแปลงเป็นภาพของกลุ่มผู้อพยพบนแพที่กำลังจะแตก ที่พยายามกระเสือกกระสนโบกธงขอความช่วยเหลือจากเรือยอชต์สุดหรูที่อยู่ไกลลิบๆ ซึ่งในเวลาต่อมาภาพนี้ถูกเจ้าของตึกทาสีทับ เพราะพวกเขาคิดว่ามันดูสกปรกเลอะเทอะเกินไป (อ่านะ!)

ผลงานของแบงก์ซีบนกำแพงใกล้อาคารกับค่ายผู้อพยพในเมืองกาแล ในปี 2015, ภาพจาก https://www.ibtimes.co.uk/banksy-calais-migrant-crisis-mural-painted-over-because-house-needed-renovation-1639084

หรือผลงานในโครงการศิลปะในรูปสวนสนุกสุดสยอง Dismaland ของเขา ที่ตั้งอยู่ในเมืองชายทะเล เวสตันซุปเปอร์แมร์ ในมณฑลซอเมอร์เซ็ท ประเทศอังกฤษ อย่าง Migrant boats (2015) ที่เป็นงานศิลปะจัดวางเชิงโต้ตอบ ในรูปของเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยและเรือของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำลอง ที่ลอยอยู่ในสระน้ำเล็กๆ ที่มี (ตุ๊กตา) ซากศพของผู้ลี้ภัยลอยเท้งเต้งอยู่ โดยผู้ชมสามารถใช้รีโมทบังคับเรือให้แล่นไปมาได้ แต่ไม่อาจเลือกได้ว่าเรือที่พวกเขาบังคับอยู่นั้นจะเป็นเรือของผู้ลี้ภัยหรือเรือของเจ้าหน้าที่ตำรวจกันแน่

ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่สวนสนุก Dismaland ปิดตัวลงในเดือนกันยายน 2015 แบงก์ซีก็ขนส่งวัสดุ อุปกรณ์ และโครงสร้างที่รื้อถอนจากสวนสนุกแห่งนี้ไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองกาแล เพื่อให้นำไปใช้ในการสร้างที่พักฉุกเฉินสำหรับผู้ลี้ภัยจำนวน 7,000 ชีวิต อีกด้วย

หรือในผลงานของศิลปิน และอดีตผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย อับดาลา อัลล์ โอมารี (Abdalla Al Omari) ที่ตัดสินใจส่งข้อความด่วนไปถึงเหล่าผู้นำโลก ที่ส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่แยแสกับวิกฤติผู้ลี้ภัยกันนัก ด้วยผลงานภาพวาดในชุดที่มีชื่อว่า The Vulnerability ที่วาดภาพผู้นำประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์, วลาดีมีร์ ปูติน, อังเกลา แมร์เคิล, เดวิด คาเมรอน, คิม จอง อึน, บารัค โอบามา ฯลฯ ในภาพลักษณ์ของผู้ลี้ภัยอันซ่อมซ่อ อดอยากยากจน และสิ้นหวัง หรือวาดภาพพวกเขาให้อยู่ในสถานการณ์และสถานที่อันเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นการต่อคิวรับอาหารในค่ายผู้ลี้ภัย แออัดยัดเยียดกันบนเรืออ้างว้างกลางทะเล หรือเดินขบวนเบียดเสียดในระหว่างหลบหนีภัยสงคราม ที่เหล่าผู้ลี้ภัยต้องเผชิญหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

อับดาลา อัลล์ โอมารี: The Vulnerability ภาพจาก https://www.demilked.com/world-leaders-as-refugees-vulnerability-series-abdalla-al-omari/

อับดาลา อัลล์ โอมารี: The Vulnerability https://www.demilked.com/world-leaders-as-refugees-vulnerability-series-abdalla-al-omari/

หรือผลงานของศิลปินไทยอย่าง ปพนศักดิ์ ละออ ในนิทรรศการ ไกลบ้าน (2017) ที่ศิลปินได้แรงบันดาลใจจากการอ่าน บันทึกผู้ลี้ภัย ที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เผยแพร่ข้อความและภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อเล่าถึงการเดินทางออกจากประเทศไทยผ่านป่าเขาเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ปัจจุบันสมศักดิ์ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในต่างประเทศ ภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ผลงานในนิทรรศการนี้ประกอบด้วยภาพวาดทิวทัศน์ของภูเขาจากสถานที่ต่างๆ ที่วาดออกมาในสไตล์เหมือนจริงจำนวน 29 ภาพ โดยมีชื่อประเทศที่ตั้งของภูเขาเหล่านั้นกำกับเอาไว้ใต้ภาพ อาทิ ออสเตรเลีย อเมริกา ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส สวีเดน นิวซีแลนด์ ฯลฯ หากมองอย่างผิวเผิน ภาพวาดเหล่านี้ดูละม้ายคล้ายคลึงกับโปสการ์ดที่ระลึกของสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติในประเทศต่างๆ ที่ดูสวยงามสบายตา แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาพชุดนี้แฝงเร้นความหมายอันเข้มข้นเกี่ยวกับประเด็นของผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยเป็นการอ้างอิงข้อมูลจากบันทึกผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเดินทางอันยากลำบากของสมศักดิ์รวมถึงผู้ลี้ภัยการเมืองคนอื่นๆ นั่นเอง

ปพนศักดิ์ ละออ: ไกลบ้าน (2017)

นอกจากนี้ยังมีผลงานชุด Them (2017) ซึ่งเป็นภาพเหมือนของบุคคลที่มีที่มาจากภาพใบหน้าของผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวน 29 คน ที่ถูกนำมาซ้อนทับกันด้วยโปรแกรมรวมใบหน้า แล้ววาดออกมาเป็นเป็นใบหน้าเดียว

ปพนศักดิ์สร้างผลงานชุดนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมลดอคติและพยายามทำความเข้าใจและยอมรับในความเป็นมนุษย์ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ และคนอื่นๆ ที่ประสบสถานการณ์ในลักษนะเดียวกัน และถ้าหากวันข้างหน้ามีข้อมูลของผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอีก ปพนศักดิ์ก็จะวาดใบหน้าเพิ่มเติมขึ้นเป็นภาพใหม่ๆ เรื่อยไป ซึ่งในระหว่างช่วงเวลาแสดงนิทรรศการ ศิลปินก็เตรียมเฟรมผ้าใบว่างเปล่าเผื่อเอาไว้ในกรณีที่มีผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ปพนศักดิ์ ละออ: Them (2017) ภาพจากหอศิลป์ ARTIST+RUN

ดังคำกล่าว อ้าย เว่ยเว่ย ศิลปินจีนที่ทำงานคลุกคลีกับประเด็นผู้ลี้ภัยจริงจังที่ว่า

วิกฤติผู้ลี้ภัยมันไม่มีหรอก มันมีแต่วิกฤติของมนุษยชาติเท่านั้น ในการเผชิญหน้ากับปัญหาผู้ลี้ภัย เราตระหนักว่าพวกเขาสูญเสียคุณค่าพื้นฐานที่สุดบางอย่างของเขาไป และในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ เราจำเป็นต้องมีความอดทนอดกลั้นและความเห็นอกเห็นใจและความไว้วางใจกันมากขึ้น เพราะเราทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่เช่นนั้นมนุษยชาติอาจต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ก็เป็นได้

หากจะถามว่าศิลปะสามารถแก้ไขปัญหาสังคมหรือเปลี่ยนแปลงโลกได้หรือไม่? สำหรับผมคิดว่าโดยตัวมันเอง ศิลปะอาจไม่มีพลังถึงขนาดที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่ๆ ได้ มันไม่สามารถแก้ไขปัญหาสังคม การเมือง ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาผู้ลี้ภัยให้หมดสิ้นไปได้

ในทางกลับกัน บทบาทหน้าที่ของศิลปะมักจะไม่ใช่การทำงานทางตรง หากแต่เป็นการทำงานทางอ้อม ทั้งในการช่วยการรณรงค์หรือสร้างจิตสำนึก และความตระหนักรู้ ให้ผู้คนหันมามองเห็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ หรือแม้แต่สร้างแรงบันดาลใจให้ใครบางคน (ที่มีอำนาจพอ) ทำอะไรบางอย่างที่อาจเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ก็เป็นได้

 

หมายเหตุ: ภาพเปิดบทความ เป็นภาพ Migrant boats (2015) โดยแบงก์ซี 

ภาพจาก http://time.com/4026497/see-worlds-largest-mural/

 

อ้างอิง:

 

Tags: , , , , , , , , , , , ,