นี่เป็นตอนสุดท้ายของ ‘ศิลปะของความผิดหวัง’ ที่ผู้เขียนตั้งใจจะใช้เป็นบทอำลาและข้อสรุปสำหรับเรื่องราวทั้งหลาย นั่นคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมิตรสหายผู้มีชื่อว่า ‘ความผิดพลาด’
ความผิดพลาดคืออะไร?
นวนิยาย Interstate ของสตีเฟน ดิกสัน (Stephen Dixon) บอกเล่าถึงเหตุการณ์ในวันธรรมดาที่พ่อกับลูกอีกสองคนขับรถไปบนทางหลวงข้ามรัฐ ก่อนที่จะมีรถยนต์คันหนึ่งขับมาข้างๆ แล้วยิงปืนใส่ ดิกสันฉายซ้ำผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวในแบบที่แตกต่างไปถึง 8 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นตามไล่ล้างแค้นให้ลูกสาวที่เสียชีวิต การหันหน้าไปพึ่งพาศาสนาและอุทิศตนให้พระเจ้า หรือแบบอื่นๆ
สิ่งที่นวนิยายเล่มนี้พยายามบอกกล่าวกับเรา นอกเหนือจากภาพสะท้อนของความรุนแรงบ้าคลั่งในสังคมอเมริกัน คือความคิดที่ว่าคนเราสามารถเลือกและกำหนดชีวิตได้ แต่ถึงเป็นเช่นนั้น เหตุการณ์บางอย่างที่เลือกไม่ได้ก็มักจะเกิดขึ้น (อย่างเหตุการณ์ต้นเรื่องที่มีชายสองคนขับรถมายิงปืนใส่) ซึ่งเราจะตระหนักถึงภาวะที่เลือกไม่ได้ก็เมื่อมันได้กลายเป็นความจริงของเราไปแล้ว
ความจริงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจึงมักถูกมองว่าเป็นความผิดพลาดอันมาจากการกระทำ ความคิด และการตัดสินใจบางอย่าง ความรู้สึกว่าถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ เหตุการณ์บางอย่างก็คงไม่เกิดขึ้น การอยู่กับความรู้สึกผิดจึงเกือบจะเป็นเรื่องที่เราแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความผิดพลาดคืออะไร?
คำว่า ‘ผิดพลาด’ หรือ err ในภาษาอังกฤษนั้นมีรากศัพท์มาจากคำฝรั่งเศสเก่า errer ซึ่งมาจากคำละติน errare ที่แปลว่า ‘หลงทาง’ หรือ ‘ร่อนเร่’ ถ้าพิจารณาในแง่ของความหมาย ความผิดพลาดจึงเกี่ยวพันกับการเดินทาง ถ้าเรามองชีวิตว่าเป็นการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง การหลงทางก็ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ชีวิตทั้งหลายอาจต้องเผชิญ
ในผลงานชิ้นสำคัญ City of God (book XI, 26) เซนต์ออกุสติน (Saint Augustine) ได้เขียนประโยคหนึ่งที่ชวนฉงนใจว่า “ฉันผิด ฉันจึงมีอยู่” (Si enim fallor, sum.) ข้อความนี้ต้องถือว่ากล่าวไว้ก่อนคำสำคัญอย่าง “ฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” (Cogito ergo, sum.) ของ เรอเน่ เดการ์ตส์ (René Descartes) นานเกือบ 1,200 ปีทีเดียว
เซนต์ออกุสตินเคยอุทิศตนให้กับปรัชญาก่อนจะหันมาเข้าเชื่อคริสตศาสนา หลักคิดสำคัญของเขาอยู่ในคำกล่าวที่ว่า “ฉันเชื่อ เพื่อว่าฉันจะอาจเข้าใจ” (Credo ut intellegiam.) ด้วยเขามองเห็นว่า การใช้เหตุผลของมนุษย์นั้นจะเกิดประโยชน์โภชผลก็เมื่อเรามีความศรัทธา คำกล่าวที่ว่า “ฉันผิด ฉันจึงมีอยู่” จึงเป็นการโต้แย้งและยืนยันถึงความเป็นไปได้ ที่เราจะสามารถไปถึงความรู้ที่แท้จริง แม้เราจะเริ่มจากความเข้าใจผิดก็ตาม
ความผิดพลาดอาจสร้างความรู้สึกอับอายขายหน้า แต่ความผิดพลาดนั้นก็ช่วยให้มนุษย์เราเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเอง และเป็นเครื่องเชื่อมประสานตัวเราเข้ากับโลกใบนี้ได้ด้วยเช่นกัน
ขำขันในความผิดพลาด
ปฏิกิริยาแรกๆ ที่เราส่วนใหญ่มีต่อความผิดพลาดของผู้อื่นหรือกระทั่งตัวเราเองในบางครั้งก็คือ ‘ความขบขัน’ การพูดผิด การทำอะไรเปิ่นเทิ่นจากความเลินเล่อไม่ใส่ใจ การขาดความรอบคอบระมัดระวัง กระทั่งความมั่นใจมากเกินไปจนนำไปสู่ข้อผิดพลาด เช่น ผู้นำเผด็จการคนหนึ่งที่เชื่อว่าตัวเองเป็นนักกีฬา สามารถเล่นฟุตบอลได้ดีมากถึงดีที่สุด โชว์ลีลาเลี้ยงลูกอยู่หน้ากล้องได้เพียงครู่ก่อนจะถูกผู้เล่นอื่นสะกัดจนล้มคว่ำหน้าคะมำลงไปกับพื้น ภาพดังกล่าวย่อมสร้างความขบขันให้แก่ผู้ได้เห็น แต่สำหรับตัวของท่านผู้นำแล้วเขาอาจไม่คิดเช่นนั้น เพราะความผิดพลาดทำให้เขารู้สึกด้อยกว่าผู้ที่หัวเราะ หรือเห็นการแสดงออกของเขาเป็นเรื่องตลก
อ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสได้อธิบายถึงอารมณ์ขันไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ความขบขันนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อเราใช้สติปัญญามากกว่าความรู้สึก เราจะหัวเราะได้อย่างง่ายดายก็เมื่อเราไม่ใส่ใจว่าผู้ที่เรากำลังหัวเราะอยู่จะรู้สึกเช่นไร นั่นก็ทำให้มุขตลกจำนวนมากบนโลกใบนี้ใช้ความผิดพลาดเป็นวัตถุดิบพื้นฐาน อย่าง Comedy of Errors บทละครเรื่องแรกๆ ของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ก็ได้นำเอาพลั้งผิดทั้งหลายมาสร้างเสียงหัวเราะ ทั้งที่ตัวละครส่วนใหญ่ในเรื่องไม่ได้เป็นตัวตลก แต่ที่เรารู้สึกขบขันได้ก็เพราะบรรดาตัวละครมักทำอะไรผิดพลาดมิได้หยุดหย่อน
ความผิดพลาดจึงอาจเป็นวัตถุดิบสำคัญในโลกศิลปะ หรือนวัตกรรมมากมายที่เกิดขึ้นก็จากความผิดพลาดทางเทคนิค แต่เมื่อก้าวพ้นจากโลกของความสร้างสรรค์มาสู่โลกความจริงที่เรายืนอยู่ ความผิดพลาดยังคงเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องจากทั้งสังคมและแม้แต่ตัวเราเอง ให้ต้องแก้ไข
ผิดพลาดคือมนุษย์
“ผิดผลาดคือมนุษย์ ให้อภัยคือพระเจ้า” (“To err is human; to forgive, divine.”) ถ้อยคำนี้มีที่มาจาก An Essay on Criticism (1721) ของอเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope) เอกกวีชาวอังกฤษ ซึ่งประพันธ์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเมื่อเขามีอายุได้ยี่สิบเอ็ดปี
หากอ่านด้วยสายตาของคนในปัจจุบัน เราคงคิดว่าการตั้งชื่อผลงานของโป๊ปอาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น essay ก็ต้องเขียนเป็นความเรียงร้อยแก้วแบบมิแช็ล เดอ มงแตจ์น (Michel de Montagne) ผู้เป็นต้นตำรับ หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องไม่หนีจาก essay ที่ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) นักปราชญ์อังกฤษผู้เรืองนามได้ประพันธ์ไว้
แต่กลายเป็นว่า An Essay on Criticism ถูกรจนาเป็นบทกวี
แน่นอนว่า นักวรรณคดีศึกษาคงสามารถอธิบายได้ไม่ยากเลยว่า ทำไมโป๊ปจึงเลือกใช้บทกวีสัมผัสคู่แบบฮีโรอิก (Heroic couplet) เป็นรูปแบบการประพันธ์ หรือเพราะเหตุใดเขาจึงเขียนบทกวีเสนอหลักการวิจารณ์กวี เพียงแต่ถ้าเราสืบย้อนกลับไปยังความหมายดั้งเดิมของคำว่า essay หรือ essai ในภาษาฝรั่งเศส ก็จะพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่า คำนี้มิได้หมายความถึง ‘ความเรียง’ อย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน หากมันแปลว่า ‘พยายาม’ หรือ ‘ทดลอง’ ซึ่งสืบรากศัพท์มาจาก exagium ในภาษาละตินที่แปลว่า ‘ชั่งวัด’
ฉะนั้นข้อเขียนนี้จึงตั้งชื่อตามความพยายามของโป๊ปในการจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า การวิจารณ์ และแม้คำกล่าวนี้จะอยู่รอบๆ ราวๆ โลกวรรณคดี แต่ผู้อ่านผลงานของเขาก็ได้สมาทานมาใช้กับเรื่องราวทั่วๆ ไป โดยเฉพาะในการอธิบาย หรือเน้นย้ำว่า ใครๆ บนโลกใบนี้ก็สามารถทำผิดพลาดได้ และมีเพียงพระเจ้าเท่านั้นที่จะให้อภัยเรา ซึ่งเมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุด ความผิดพลาดนั่นเองที่ทำให้เราเป็นมนุษย์
เพียงแต่ถ้าเราย้อนกลับไปพิจารณา “To err is human…” อีกครั้ง ถ้อยคำของโป๊ปนี้น่าจะมาจากการแปลแบบดัดแปลงคำละตินของปราชญ์ชาวโรมัน เซเนคา (Seneca) ที่มีข้อความว่า “Errare humanum est, sed in errare perseverare diabolicum.” หรือ “ผิดพลาดคือมนุษย์ แต่การคงความผิดพลาดไปเรื่อยๆ คือความชั่วร้าย”
ถ้อยคำนี้อธิบายว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาสามัญก็จริง แต่การปล่อยให้เราทำผิดพลาดไปเรื่อยๆ ถือเป็นความชั่วร้าย มนุษย์จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข และไม่สามารถปล่อยให้ตัวเองเผชิญกับความผิดพลาดซ้ำๆ
ความคิดของเซเนคาอาจเรียกได้ว่าสอดพ้องกับพวกนักคิดในยุคภูมิธรรม (Enlightenment) อย่างเดอนีส์ ดิดโรต์ (Denis Diderot) ในแง่ที่ความผิดพลาดนั้นจำเป็นต้องถูกขจัดออกไป เพียงแต่สำหรับดิดโรต์แล้ว ความผิดพลาดเป็นเพียงผลที่เกิดจากเหตุ เราจะสามารถขจัดความผิดพลาดออกไปได้ก็เมื่อมองเห็นเงื่อนไข หรือ ‘สาเหตุแรก’ ที่อยู่เบื้องหลังความผิดพลาดทั้งหมด ดังที่เขาได้อธิบายถึง ‘ความผิดพลาด’ หรือ Error ไว้ใน Encyclopédie เอาไว้ว่า
“การสืบย้อนกลับหาต้นตอบ่อเกิดของความผิดพลาดทั้งหลายดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงนั้น เราจำเป็นต้องโอบล้อมมันด้วยเหตุปัจจัยอันเดียว เช่นว่า ถ้าความทะยานอยาก เป็นเงื่อนไขให้เกิดความผิดพลาด ก็เป็นด้วยว่ามันทำเราใช้หลักคิดอันเคลือบคลุม การแสดงออกเชิงอุปมา หรือถ้อยคำกำกวม เพื่อปรับแปลงเป็นข้อคิดเห็นแบบตีขลุม ซึ่งมีไว้เพื่อสนับสนุนตัวเรา ฉะนั้นถ้าการหลอกตัวเองด้วยหลักการคลุมเครือ การอุปมาอุปไมย และความกำกวมเป็นผลจากความทะยานอยากแล้วไซร้ การไม่ใช้ภาษาอันว่างเปล่ากลวงโบ๋นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะขจัดรูปแบบต่างๆ ของผิดพลาดทั้งหลายไปได้”
สำหรับดิดโรต์ ความผิดพลาดจึงผูกพันกับความคิด และความคิดผูกพันกับภาษาที่เราใช้ ที่โดยมากก็เป็นถ้อยคำทางศาสนา จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่เขาจะแนะนำให้ผู้อ่านหางาน Essay on the Origin of Human Knowledge ของก็องดียัค (Condillac) นักคิดคนสำคัญของศตวรรษที่ 18 มาอ่านเพิ่มเติม (เพราะข้อความข้างต้นที่ยกมาแทบจะเรียกว่าคัดมาจากตำราของก็องดียัคแบบคำต่อคำ)
ก็องดียัคแลเห็นว่า เราทั้งหลายเคยชินกับความคิดประเภทที่ไม่ใส่ใจความถูกต้อง ส่วนใหญ่ก็มาจากภาษาที่เราสร้างขึ้น ฉะนั้น ถ้าเราสามารถขจัดศัพท์แสงถ้อยคำอันคลุมเครือซึ่งมาจากความฟุ้งฝันและความคิดนามธรรมออกไปจากการสื่อสาร เราก็อาจไปถึงหลักการที่เป็นจริงได้โดยไม่หลงทาง
แต่โครงการอันยิ่งใหญ่แห่งยุคภูมิธรรมก็ได้ถูกตั้งคำถามและวิจารณ์โดยนักคิดในยุคต่อมาว่า เสนอหลักเหตุผลแบบเบ็ดเสร็จนิยม (totalitarianism) หรือมิได้เป็นยุคที่เป็นแสงสว่างทางปัญญามากพอ และแม้หลักคิดในเวลานั้นจะต่อต้านมายาคติต่างๆ แต่ยุคแห่งภูมิธรรมก็กลับกลายเป็นมายาคติเสียเอง
Error 404 not found
“404 not found” เป็นข้อความระบุความผิดพลาดซึ่งเรามักพบเห็นกันบ่อยๆ ยามที่ไฮเปอร์ลิงก์ไม่สามารถเชื่อมต่อไปสู่ไฟล์ หรือหน้าที่ระบุบอกไว้
ความผิดพลาดทางเทคนิคนี้ดูจะมีอะไรมากกว่าข้อความธรรมดา อย่างน้อยก็สำหรับตัวผู้เขียนที่ทำให้นึกคิดโยงใยว่า “404 not found” อาจใช้อธิบายชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองได้เหมือนกัน ว่าจากที่เคยเชื่อมั่นในหลายครั้งหลายคราว่า เราจะสามารถเดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้ตามที่ป้ายได้ระบุบอกไว้ แต่กลับกลายเป็นไม่มีสถานที่ที่ว่า หรือสุดท้ายแล้วก็เป็นเพียง ‘ความขาดหาย’ และ ‘หาไม่พบ’
แต่ถ้าการหลงทางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความผิดพลาดก็เป็นสิ่งที่เราไม่อาจเลี่ยงพ้น ภาษิตที่เราเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ อย่าง “ผิดเป็นครู” ก็ยังคงเป็นความจริง ไม่แพ้คำกล่าวของอาจารย์โยดาใน Star Wars Episode VIII ที่ว่า “ความล้มเหลวคือครูผู้ยิ่งใหญ่” (“The greatest teacher, failure is”)
อ้างอิง
- Etienne Bonnot Condillac, Essay on the Origin of Human Knowledge, Translated and Edited by Hans Aarsleff, (California: Cambridge University Press, 2001)
- Zachary Sng, The Rhetoric of Error from Locke to Kleist, (California: Standford University Press, 2010)
- https://www.gutenberg.org/files/45304/45304-h/45304-h.htm
- https://www.wired.com/story/page-not-found-a-brief-history-of-the-404-error/