“ถ้าคุณอยู่ในสถานการณ์ที่กลัวที่จะพูดอะไรออกมา ลองใส่หน้ากากดู แล้วคุณจะคาดไม่ถึงเลยว่าคำพูดอะไรจะหลุดออกมาจากปากของคุณ” — Guerrilla Girls

นี่เป็นคำกล่าวของกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะและการเมืองที่โดดเด่นที่สุดกลุ่มหนึ่ง นับตั้งแต่ช่วงยุคทศวรรษที่ 80s ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มเคลื่อนไหวที่ว่า มีชื่อว่า Guerrilla Girls

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพวกเธอเป็นใคร รู้แต่เพียงว่านี่คือกลุ่มศิลปินหญิงเฟมินิสต์ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1985 เพื่อก่อปฏิบัติการประท้วงด้วยงานศิลปะ ภารกิจของพวกเธอคือการเปิดโปงและประจานความอัปยศของโลกศิลปะ ที่กีดกันไม่ให้ความสำคัญกับศิลปินเพศหญิงและคนชายขอบในสังคม พวกเธอเป็นนักก่อกวนปั่นป่วนโลกศิลปะและสังคมด้วยกลยุทธ์แบบกองโจร (Guerrilla) เพื่อกระตุ้นให้คนตระหนักถึงความอยุติธรรมลำเอียงทางเพศในโลกศิลปะ รวมถึงโลกใบนี้ นั่นเป็นเหตุผลที่พวกเธอเรียกขานตัวเองว่า Guerrilla Girls

เอกลักษณ์อันโดดเด่นของพวกเธอคือการสวมหน้ากากลิงกอริลลาออกบุกไปตามท้องถนนกับภารกิจในการเปิดโปงและประจานความอัปยศของโลกศิลปะ โดยมีอาวุธเป็นกาวแป้งเปียก (Wheat paste) และสื่อสิ่งพิมพ์อย่างโปสเตอร์ ที่สื่อสารถ้อยคำจ้วงจาบหยาบคาย ประจานชื่อเสียงเรียงนามของบุคคลและสถาบันสำคัญในโลกศิลปะให้ได้อับอายขายขี้หน้า รวมถึงแสดงสถิติข้อมูลของความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมทางเพศในโลกศิลปะอย่างตรงไปตรงมาแต่ก็แฝงไว้ด้วยความยอกย้อนยียวนกวนบาทาเป็นอย่างยิ่ง สิ่งพิมพ์เหล่านี้มักจะไปปิดอยู่บนกำแพงของพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ และสถาบันทางศิลปะอันทรงเกียรติทั้งหลายที่ตกเป็นเป้าการประจานของพวกเธอ

Dearest Art Collector (1986), © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.tate.org.uk/art/artworks/guerrilla-girls-dearest-art-collector-p78802

When Racism & Sexism Are No Longer Fashionable, What Will Your Art Collection Be Worth? (1989), © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.tate.org.uk/art/artworks/guerrilla-girls-when-racism-and-sexism-are-no-longer-fashionable-how-much-will-your-art-p78791

Guerrilla Girls ต่อสู้กับการกีดกัน แบ่งแยก และเลือกปฏิบัติทางเพศ สีผิว และการเมือง ด้วยการใช้ข้อเท็จจริง หากแต่สอดแทรกอารมณ์ขันและความหฤห่ามเพื่อดึงดูดผู้คนให้สนใจไปพร้อมกับกระตุ้นให้ขบคิด สื่อมวลชนบางคนนิยามว่า งานของพวกเธอช่างหยาบคายหากแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ

นอกจากโปสเตอร์แล้ว ผลงานของพวกเธอยังมีในรูปแบบของป้ายบิลบอร์ด ศิลปะแสดงสด ศิลปะจัดวาง การจัดบรรยาย ไปจนถึงการประท้วง และการทำสื่อสิ่งพิมพ์ทางศิลปะอันหลากหลาย รวมถึงการปรากฏตัวในที่สาธารณะในนามของกลุ่ม

ด้วยการใช้กลยุทธ์แหกคอก นอกรีต และไม่มีรูปแบบตายตัวในการปฏิบัติเคลื่อนไหวทางศิลปะ ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้มีความสตรองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และคอยตอกย้ำวงการศิลปะว่าพวกเธอยังคงไม่เลิกราง่ายๆ แม้เวลาจะผ่านมานานเท่าไร พวกเธอนิยามตัวเองว่าเป็น ‘จิตสำนึกแห่งโลกศิลปะ’ ที่พร้อมจะลุกฮือขึ้นทุกเมื่อ เมื่อมีการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นไม่ว่าที่ไหนเมื่อไหร่ก็ตาม

ไม่เพียงแค่ในวงการศิลปะ แต่ Guerrilla Girls ยังสั่งสมชื่อเสียงจากการโจมตีเป้าหมายในวงการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นฮอลลีวูด นักการเมืองคลั่งชาติขวาจัด ประเด็นทางการเมืองเรื่องเพศ ฯลฯ พวกเธอเคยกล่าวอย่างทีเล่นทีจริงว่า “เรากำลังพัฒนาอาวุธที่เรียกว่า ระเบิดเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) ที่เมื่อทิ้งลงไปที่ไหนแล้ว เหล่าบรรดาผู้ชายจะทิ้งปืนในมือและหันมากอดกันแทน พวกเธอยังยุยงให้คนส่งยาเสริมฮอร์โมนเพศหญิงให้นักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างรีพับลิกันเพื่อให้ลดความเป็นชายลงบ้างอะไรบ้างด้วย

The Anatomically Correct Oscar (2002), ป้ายบิลบอร์ดของ Guerrilla Girls ที่วิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำทางเพศของรางวัลออสการ์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานที่จัดงานมอบรางวัลในฮอลลีวูด, © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.nytimes.com/2015/08/09/arts/design/the-guerrilla-girls-after-3-decades-still-rattling-art-world-cages.html?_r=0

Unchain The Women Directors (2006), ป้ายบิลบอร์ดของ Guerrilla Girls ที่รณรงค์เกี่ยวกับสิทธิอันไม่เท่าเทียมผู้กำกับเพศหญิงในอุตสาหกรรมฮอลลีวูด © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.artgallery.nsw.gov.au/collection/works/150.2014.73/

กลยุทธ์ในการรณรงค์เคลื่อนไหวของ Guerrilla Girls มีความเหนือชั้นกว่าการรณรงค์เคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์กลุ่มใดๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบโฆษณา การดึงดูดสายตาของเหล่าผู้บริโภคชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาและมวลชนกระแสหลัก ทำให้พวกเธอเข้าถึงกลุ่มผู้คนในวงกว้างมากขึ้น

พวกเธอใช้อารมณ์ตลกขบขันเป็นกลยุทธ์ในการสื่อสาร  ซึ่งช่วยลบล้างอคติที่ว่า กลุ่มเฟมินิสต์นั้นไร้อารมณ์ขันโดยสิ้นเชิง

Guerrilla Girls ทำให้เฟมินิสต์กลายเป็นกลุ่มคนที่เก๋ไก่เปี่ยมสเน่ห์ที่ทุกคนอยากเข้าร่วม ดังที่นักวิจารณ์ศิลปะแห่งหนังสือพิมพ์ New York Times กล่าวว่า พวกเธอนำแก่นของทฤษฎีสตรีนิยมมาสอดใส่อารมณ์ขันหักมุมแบบป๊อปและความเซ็กซี่เย้ายวนเพื่อให้คนทั่วไปเข้าถึงง่าย แล้วค่อยนำไปตีแผ่บนท้องถนน

โดยทางกลุ่มจะรับแต่สมาชิกเพศหญิงที่มาจากการแนะนำและเชื้อเชิญเท่านั้น ซึ่งเป็นการสะท้อนและเสียดสีวงจรอำนาจแบบชายเป็นใหญ่ในโลกศิลปะนั่นเอง

การสวมหน้ากากบดบังหน้าตาและใช้ชื่อปลอมที่หยิบยืมจากศิลปินและนักคิดสตรีเพศที่ทรงอิทธิพลในประวัติศาสตร์ศิลปะอย่าง ฟรีด้า คาห์โล เกอร์ทรูต สไตน์ และ แคธี โคลวิตซ์ นอกจากจะสร้างลักษณะแบบการละครในการปรากฏตัวในที่สาธารณะของพวกเธอแล้ว มันยังมีเป้าหมายในการปกปิดซ่อนเร้นตัวตนจริงของศิลปินที่เข้าร่วมขบวนการ เพื่อป้องกันการโต้ตอบหรือมุ่งร้ายหมายขวัญของสถาบันและบุคคลที่พวกเธอทำการโจมตีอีกด้วย

ซึ่งการตัดสินใจปิดบังตัวตนของพวกเธอก็แสดงนัยที่โยงใยไปถึงสถานภาพของศิลปินหญิงในประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างจงใจ ด้วยความที่ในช่วงเวลานั้น ชื่อของศิลปินหญิงหลายคนไม่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะ ถึงแม้ศิลปินหญิงหลายคนจะเป็นที่รู้จักอย่างดีในปัจจุบัน แต่ในเวลานั้นพวกเธอกลับเป็นศิลปินตกสำรวจในหน้าประวัติศาสตร์ที่เพศชายถือครองอำนาจอยู่

และยิ่งกว่านั้น การปิดบังตัวตนของพวกเธอก็มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งเน้นในการนำเสนอประเด็นทางสังคมส่วนรวม มากกว่าจะให้คนหันเหความมาสนใจไปยังความเป็นตัวตนของศิลปินแต่ละคนในกลุ่ม

เดิมทีกลุ่ม Guerrilla Girls ออกปฏิบัติการโดยพรางตัวด้วยการสวมหน้ากากสกี แต่เมื่อสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มสะกดคำผิดจากคำว่า Guerrilla กลายเป็น Gorilla (ก็ ลิงกอริลล่า นั่นแหละ) สมาชิกของกลุ่มเลยเห็นว่าสองคำนี้มันพ้องเสียงกันดี และน่าจะตลกดีที่จะสวมหน้ากากลิงกอริลล่าแทนหน้ากากสกี นับแต่นั้นมา หน้ากากกอริลล่าก็เลยกลายเป็นทั้งเครื่องพรางตัวและกลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มไปในที่สุด

ถึงแม้การใช้หน้ากากลิงกอริลล่าเป็นสัญลักษณ์อาจมีที่มาจากความบังเอิญ แต่อย่างไรก็ดี ตัวมันเองก็ยังมีนัยยะอันสำคัญที่เชื่อมโยงกับหัวใจสำคัญของกลุ่มอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่กอริลล่าถูกใช้เป็นตัวละครอันโด่งดังในวัฒนธรรมป๊อปอย่าง คิงคอง อีกทั้งมันยังมีความเชื่อมโยงกับความเป็นชายอย่างเหลือล้น และที่สำคัญหน้ากากลิงยักษ์ก็ดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชนได้ไม่หยอก!

จุดเริ่มต้นของกลุ่ม Guerrilla Girls เกิดขึ้นจากสองเหตุการณ์สำคัญในโลกศิลปะ เหตุการณ์แรกก็คือ การตีพิมพ์ความเรียงอันทรงอิทธิพลของกลุ่มเฟมินิสต์ที่มีชื่อว่า “Why have there been no great women artists?” หรือ “ทำไมถึงไม่มีศิลปินเพศหญิงผู้ยิ่งใหญ่ ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ลินดา โนชลิน (Linda Nochlin) ในปี 1971 ผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา ศิลปินหญิงไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่เทียบเคียงกับศิลปินอย่าง มิเกลันเจโล หรือ ปิกัสโซ ในโลกศิลปะได้เลย โนชลินตำหนิโลกศิลปะที่มักจะหลีกเลี่ยงประเด็นนี้ด้วยการกล่าวอ้างข้างๆ คูๆ ว่า สาเหตุน่าจะมีที่มาจากการที่เพศหญิงมีพื้นฐานทางกายภาพและสติปัญญาด้อยกว่าเพศชาย

โนชลิน โต้แย้งว่า สิ่งเหล่านี้น่าจะมีปัจจัยมาจากระบบอันบิดเบี้ยวและอยุติธรรมลำเอียงในโลกศิลปะที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศิลปินหญิงไม่เคยมีโอกาสที่จะแข่งขันกันในเวทีระดับเดียวกันกับศิลปินเพศชาย เธอตีแสกหน้าโลกศิลปะด้วยคำพูดว่า “ความผิดพลาดนี้มันไม่ได้เกิดจากโชคชะตา ฮอร์โมน หรือรอบเดือนของเรา แต่มันเกิดขึ้นจากสถาบันศิลปะและสถาบันการศึกษาของเราเสียมากกว่า” ซึ่งกลุ่ม Guerrilla Girls สมาทานแนวคิดของโนชลินมาอย่างเต็มที่

เหตุการณ์ที่สองก็คือ เหตุการณ์ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก จัดนิทรรศการที่มีชื่อว่า An International Survey of Painting and Sculpture ขึ้นในปี 1984 ที่อ้างว่าการแสดงงานผลศิลปะชิ้นสำคัญๆ ของศิลปินผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นตลอดกาลในวงการศิลปะถ้วนทั่วทุกตัวคน แต่ความจริงมันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะในบรรดาศิลปินจำนวน 169 คน นั้นมีศิลปินหญิงแค่เพียง 13 คน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในจำนวนนี้ไม่มีศิลปินผิวดำแม้แต่เพียงคนเดียว ซึ่งก่อให้เกิดความขุ่นเคืองแก่กลุ่ม Guerrilla Girls อย่างมาก เพราะในความเป็นจริง ศิลปินหญิงและศิลปินผิวดำก็สร้างความสั่นสะเทือนให้วงการศิลปะอย่างมากมายตลอดมา

ดังนั้น พวกเธอเลยออกมาทำการประท้วงด้วยการแจกโปสเตอร์บนท้องถนนรอบๆ พิพิธภัณฑ์และในเมืองนิวยอร์ก หนึ่งในโปสเตอร์เหล่านั้น เป็นการนำเสนอรายชื่อของสี่พิพิธภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ในนิวยอร์กอย่าง พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ (Guggenheim Museum) พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน (Metropolitan Museum of Art หรือ the Met) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) และพิพิธภัณฑ์วิทนีย์ (Whitey Museum) ว่าในรอบหนึ่งปีมีศิลปินหญิงได้แสดงนิทรรศการเดี่ยวในพิพิธภัณฑ์เหล่านี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าดูจากข้อมูลก็จะเห็นได้ว่าแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำไป ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมพวกเธอถึงต้องบันดาลโทสะกันน่ะนะ!

How Many Women Artists Had One-Person Exhibitions In NYC Art Museums Last Year? (1985), © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.tate.org.uk/art/artworks/guerrilla-girls-how-many-women-artists-had-one-person-exhibitions-in-nyc-art-museums-last-p78811

Guerrilla Girls’ 1986 Report Card (1986), © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.tate.org.uk/art/artworks/guerrilla-girls-guerrilla-girls-1986-report-card-p78808

Guerrilla Girls Review The Whitney (1987), © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.tate.org.uk/art/artworks/guerrilla-girls-guerrilla-girls-review-the-whitney-p78798

ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของพวกเธอก็คือ โปสเตอร์ Do Women Have To Be Naked To Get Into the Met. Museum? (1989) หรือ “ผู้หญิงต้องเปลือยก่อนหรือ ถึงจะเข้าไปใน the Met ได้?” ที่ตั้งคำถามอันเจ็บแสบเกี่ยวกับข้อมูลของ The Met ว่ามีผลงานศิลปะของศิลปินเพศหญิงเพียง 5% จากทั้งหมดของคอลเล็คชั่นศิลปะสมัยใหม่ ในขณะที่ 85% ของผลงานที่แสดงอยู่นั้นเป็นภาพนู้ดของผู้หญิงทั้งนั้น

เดิมทีโปสเตอร์นี้ถูกออกแบบเพื่อทำเป็นบิลบอร์ด โดยได้รับการว่าจ้างจากองค์กร Public Art Fund ในนิวยอร์ก แต่ภายหลังกลับถูกยกเลิกโดยไม่ทราบเหตุผลแน่ชัด แม้ Guerrilla Girls จะทำการเช่าพื้นที่บนรถประจำทางของเมืองนิวยอร์กด้วยแต่เอง แต่ก็ถูกบริษัทเจ้าของรถยกเลิกสัญญาเช่า ด้วยเหตุผลที่ว่า ภาพในโปสเตอร์มีนัยยะแอบแฝงมากเกินไป และสิ่งที่อยู่ในมือของนางแบบในภาพไม่น่าจะใช่พัดธรรมดาๆ (รู้นะว่าคิดอะไรอยู่!)

นอกจากตัวโปสเตอร์จะตั้งคำถามเจ็บๆ ต่อสถาบันศิลปะยักษ์ใหญ่อย่าง The Met แล้ว มันยังสร้างความช็อกให้คนดู ด้วยการจับคู่เปรียบระหว่างภาพวาดร่างเปลือยเปล่าของนางในฮาเร็ม ซึ่งหยิบยืมนางแบบจากภาพวาด La Grande Odalisque (1814) ของจิตรกรชาวฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 19 ฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์ (Jean-Auguste-Dominique Ingres) แต่นางแบบที่ว่าดันมีหัวเป็นลิงกอริลล่ายักษ์แยกเขี้ยวเกรี้ยวกราดเนี่ยสิ!

ซึ่งไอ้เจ้าหัวลิงกอริลล่านี้ ทำหน้าที่ช่วยเบี่ยงเบนอำนาจแห่งการจ้องมองเพศชายที่มีต่อเพศหญิง (male gaze) และเปลี่ยนวิถีทางของผู้ชมในการมองและทำความเข้าใจต่อภาพที่มีนัยยะทางเพศอย่างมาก รวมทั้งตั้งคำถามและลบล้างมุมมอบอันคับแคบเหมารวมเกี่ยวกับความงามในศิลปะตะวันตกและวัฒนธรรมป๊อป ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการปฏิบัติการของกลุ่มนั่นเอง

Do women have to be naked to get Into the Met.Museum? (1989), © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.tate.org.uk/art/artworks/guerrilla-girls-do-women-have-to-be-naked-to-get-into-the-met-museum-p78793 

Grande Odalisque (1814) ภาพวาดของ ฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์ ที่ Guerrilla Girls หยิบยืมมาทำโปสเตอร์ ), © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.nytimes.com/2015/08/09/arts/design/the-guerrilla-girls-after-3-decades-still-rattling-art-world-cages.html?_r=0

Guerrilla Girls ประสบความสำเร็จในการต่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและการเมือง การเคลื่อนไหวทางศิลปะของพวกเธอไม่เพียงเป็นที่ยอมรับในโลกศิลปะ (ที่น่าขันขื่นก็คือ ทางพิพิธภัณฑ์ที่ถูกโจมตีเหล่านั้นเก็บโปสเตอร์ประจานตัวเองเป็นคอลเล็คชั้นสะสมสำคัญของพิพิธภัณฑ์ด้วย) ส่วนผสมของอารมณ์ขันแบบตลกร้าย จิกกัด เสียดสี อุกอาจ ก้าวร้าว ตรงไปตรงมา ของพวกเธอ ส่งแรงบันดาลใจไม่เพียงต่อศิลปินเฟมินิสต์รุ่นหลัง หากแต่ยังส่งผ่านไปยังวงการอื่นๆ อาทิเช่น กลุ่มนักดนตรีพังก์ร็อกเฟมินิสต์ Pussy Riot ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิของผู้หญิง LGBTQ และต่อต้านโยบายของรัฐบาลรัสเซีย ก็ได้แรงบันดาลใจจาก Guerrilla Girls มาหลายส่วน

การเคลื่อนไหวของพวกเธอนอกจากจะกลายเป็นบรรทัดฐานของการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง แล้ว มันยังส่งผลเป็นรูปธรรมต่อการตัดสินใจของภัณฑารักษ์ สื่อมวลชน นักวิจารณ์ และนักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นหลังๆ ในการคัดสรรหรือนำเสนอผลงานของศิลปินเพศหญิงและเหล่าบรรดาคนชายขอบในสังคมมากขึ้นอีกด้วย

How Many Women Had One-person Exhibitions At NYC Museums Last Year? (2015), © courtesy www.guerrillagirls.com, ภาพจาก https://www.pinterest.co.uk/pin/435934438910191455/

นับจากยุคก่อตั้ง Guerrilla Girls ยังคงมีบทบาทและเคลื่อนไหวในโลกศิลปะมาอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงทุกวันนี้

ที่น่าตื่นเต้นยิ่งไปกว่านั้นคือ ตอนนี้ Guerrilla Girls ก็เพิ่งมีผลงานมาแสดงในเมืองไทยเราสดๆ ร้อนๆ! โดยพวกเธอเป็นหนึ่งในศิลปินหญิง (ล้วน) จำนวน 12 คน (กลุ่ม) ที่ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ Quid Pro Quo ซึ่งเป็นพาวิลเลียนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ Bangkok Biennial ที่คัดสรรโดยกลุ่ม LIV_ID collective โดยนำเสนอนิทรรศการศิลปะที่เป็นการแลกเปลี่ยนและสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและชุมชนในพื้นที่ตลาดกลางคืน บางรัก บาร์ซาร์ 

ผลงานของ Guerrilla Girls ที่ส่งมาแสดงในตลาดบางรัก บาร์ซาร์ นั้นมี 4 ชิ้น ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเด่นๆ ที่เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของพวกเธอ ที่นำมาแสดงในรูปแบบของโปสเตอร์ และป้ายไวนีลขนาดใหญ่ แต่ที่พิเศษก็คือ ในนิทรรศการนี้มีผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งของ Guerrilla Girls ที่ถูกทำออกมาในเวอร์ชั่นภาษาไทยเป็นครั้งแรก โดยสารแห่งการประท้วงที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยในผลงานชิ้นนี้มีความว่า

อย่ายอมให้สถาบันทางศิลปะ ลดค่าของงานศิลปะให้เหลือเพียงแค่จากเหล่าศิลปินจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมจากพวกผู้ค้างานศิลปะ ภัณฑารักษ์ หรือนักสะสมเท่านั้น

ถ้าสถาบันทางศิลปะนั้นไม่ได้แสดงงานศิลปะที่มี ความหลากหลาย ทางวัฒนธรรมตามที่พวกเขาอ้างว่าเป็นตัวแทนของสิ่งเหล่านั้น จงบอกพวกเค้าไปว่า พวกเขาไม่ได้แสดงประวัติศาสตร์ทางศิลปะหรอก แต่ก็แค่สงวนไว้สำหรับประวัติศาสตร์ของ ความมั่งคั่งและอํานาจเท่านั้นแหละ” – Guerrilla Girls

ผลงานของ Guerrilla Girls ที่แสดงในนิทรรศการ Quid Pro Quo ที่จัดแสดงที่ตลาดบางรัก บาร์ซาร์

 

ผลงานของ  Guerrilla Girls ที่ถูกทำขึ้นในเวอร์ชั่นภาษาไทยเป็นครั้งแรก ในนิทรรศการ Quid Pro Quo

ใครสนใจจะไปสัมผัสผลงานศิลปะของนักก่อกวนปั่นป่วนโลกศิลปะอย่าง Guerrilla Girls แบบตัวจริงเสียงจริง ก็ขอเชิญไปดูไปชมกันได้ในนิทรรศการ Quid Pro Quo ที่จัดแสดงที่ตลาดบางรัก บาร์ซาร์ ติดห้างสรรพสินค้าโรบินสัน บางรัก ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน และท่าเรือด่วนเจ้าพระยาท่าสาทร ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 กันยายน 2018 นี้ กันได้ตามอัธยาศัย

เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.lividcollective.com

ข้อมูล

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก LIV_ID collective

https://www.guerrillagirls.com/

https://www.theartstory.org/artist-guerrilla-girls-artworks.htm#pnt_1

https://en.wikipedia.org/wiki/Guerrilla_Girls#cite_note-68

https://www.tate.org.uk/art/artists/guerrilla-girls-6858

https://www.tate.org.uk/kids/explore/who-is/who-are-guerrilla-girls

ภาพปกบทความ: Guerrilla Girls, นิวยอร์ก ปี 1985 ภาพถ่ายโดย George Lange / Divulgation, ภาพจาก https://revistacult.uol.com.br/home/guerrilla-girls-no-brasil-masp/

Tags: , , , , , , ,