วันที่ 26 เมษายน 2023 สื่อข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานตรงกันว่า สหรัฐอเมริกาวางแผนส่งเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear-Armed Ballistic Missile Submarine: SSBN) ไปประจำการในเกาหลีใต้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี หลังจากวอชิงตันเคยส่งเรือดำน้ำติดอาวุธร้ายแรงในช่วงสงครามเย็น หรือทศวรรษ 1970

สหรัฐฯ ถอนอาวุธนิวเคลียร์ทุกประเภทออกจากเกาหลีใต้ในปี 1991 เพราะมีข้อตกลงร่วมกับสองเกาหลีว่า จะไม่มีการ ‘ทดสอบ ผลิต รับ ครอบครอง จัดเก็บ ปรับใช้ หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์’ แม้ว่าภายหลังเกาหลีเหนือจะละเมิดข้อตกลงดังกล่าวด้วยการแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ก็ตาม

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joe Biden) และประธานาธิบดี ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ต่างให้คำมั่นในการป้องปรามต่อเกาหลีเหนือร่วมกันภายใต้ ‘ปฏิญญาวอชิงตัน’ (Washington Declaration) ซึ่งเป็นข้อตกลงใหม่เนื่องในความสัมพันธ์อันดีครบรอบ 70 ปี 

การพบกันระหว่างสองผู้นำในวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ณ ทำเนียบขาว (ที่มา: AFP)

ยุน ซอกยอลยังเผยว่า ข้อตกลงทวิภาคีในครั้งนี้แข็งแกร่งและขยายขอบเขตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ท่ามกลางการเพิ่มศักยภาพอาวุธนิวเคลียร์ของเปียงยาง 

“ประธานาธิบดีไบเดนยืนยันความมุ่งมั่น ที่จะสร้างการป้องปรามให้กับสาธารณรัฐเกาหลีใต้อีกครั้งด้วย

“(ประเทศต่างๆ) พร้อมจะปรึกษาพูดคุยกับไบเดนโดยทันที ในกรณีที่เกาหลีเหนือโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ พวกเราให้สัญญาว่า จะตอบโต้การกระทำดังกล่าวอย่างฉับพลัน รุนแรง และเด็ดขาดอย่างสุดความสามารถของชาติพันธมิตร” ผู้นำเกาหลีใต้เผย พร้อมเสริมกับวอชิงตันว่า หากเกาหลีเหนือใช้อาวุธนิวเคลียร์เมื่อใด เมื่อนั้นจะเป็นจุดจบของระบอบคิมในเปียงยางทันที 

อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ยืนยันว่า จะไม่มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อื่นๆ เพราะละเมิดภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT) แม้ว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของพลเมืองโดยสถาบันอาซาน (Asan Institute for Policy Studies) ค้นพบว่า ประชากร 64% สนับสนุนให้เกาหลีใต้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ในขณะที่ 33% ต่อต้าน รวมถึงคำพูดของยุน ซอกยอลในเดือนมกราคม 2023 ว่า โซลอาจต้องผลิตอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องปรามภัยคุกคามของเกาหลีเหนือ ซึ่งร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

เปิดข้อตกลง ‘วอชิงตัน’ ระหว่างเกาหลีใต้กับสหรัฐฯ: นัยสำคัญอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการคุ้มครองโซลจากเปียงยาง

เนื้อหาสำคัญของข้อตกลงวอชิงตัน ได้แก่ การส่งเสริมกระบวนการใหม่ด้านความร่วมมือทางทหารของสองประเทศ การแบ่งปันข้อมูล การประกาศจัดตั้ง ‘กลุ่มที่ปรึกษาด้านอาวุธนิวเคลียร์’ (Nuclear Consulative Group) เพื่อให้ข้อมูลอย่างละเอียดลึกซึ้งในด้านการวางแผน รวมถึงสิทธิในการออกเสียงเพื่อพิจารณากลยุทธ์

แต่หัวใจสำคัญที่สุดของข้อตกลงดังกล่าว คือการติดตั้งเรือดำน้ำขีปนาวุธในเกาหลีใต้ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ไม่มีแผนการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในโซลตามที่ยุน ซอกยอลกล่าวไว้ข้างต้น 

สำหรับความสำคัญในการเยือนทำเนียบขาวของผู้นำเกาหลีใต้ และการเกิดข้อตกลงครั้งนี้  ลีฟ เอริก-เอซลีย์ (Leif-Eric Easley) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยอีฮวา (Ewha University) ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี (AFP) ว่า ข้อตกลงดังกล่าวแสดงถึงความสัมพันธ์ระดับสูงระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ ผ่านความร่วมมือที่ไม่ได้ยุติแค่ความมั่นคงเท่านั้น แต่ยังรวมด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง  

อาจกล่าวได้ว่า มากกว่าการป้องปรามเกาหลีเหนือผ่านอาวุธนิวเคลียร์ ข้อตกลงนี้ยังเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างโซลกับวอชิงตัน หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ละทิ้งภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพราะให้ความสำคัญกับการเมืองภายในเป็นหลัก และตำหนิโซลว่าเป็น ‘Free-rider’ โดยอ้างว่าวอชิงตันต้องแบกรับภาระความมั่นคงฝ่ายเดียว รวมถึงยังหละหลวมต่อการจัดการปัญหาเกาหลีเหนือ ซึ่งปรากฏหลักฐานผ่านคำชมของอดีตผู้นำสหรัฐฯ ต่อจอมเผด็จการแห่งเปียงยาง คิม จองอึน (Kim Jong-un) 

“เขาเขียนจดหมายอันสวยงามมาหาผม มันเป็นจดหมายที่ดี จะว่าพวกเราตกหลุมรักกันก็ได้นะ” ทรัมป์อธิบายความรู้สึก หลังได้รับจดหมายจากผู้นำเกาหลีเหนือ

อีกทั้งการหนุนหลังของสหรัฐฯ ต่อเกาหลีใต้ ยังหมายถึงการสร้างความไว้วางใจต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก ด้วยการส่งสัญญาณว่า วอชิงตันจะไม่ทิ้งชาติพันธมิตร และยังคงเป็นแกนหลักของระเบียบ ‘แกนและซี่ล้อ’ (Hub and Spoke) ที่มีมาอย่างยาวนานในอินโด-แปซิฟิก ด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคง เป็นที่พึ่งพิงในยามยากของรัฐต่างๆ ผ่านการป้องปรามด้วย ‘ระบบร่มนิวเคลียร์’ (Nuclear Umbrella) รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ 

ซึ่งตรงกับคำพูดของไบเดนในงานแถลงข่าวว่า สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างอนาคตในอินโด-แปซิฟิกที่ ‘เสรี เปิดกว้าง มั่งคั่ง และปลอดภัย’

นอกเหนือจากนั้น การป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นไปเพราะภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการจับตาดูความเคลื่อนไหวของ ‘จีน’ ในเอเชียตะวันออกอย่างใกล้ชิด 

โดยเฉพาะเรื่องราวน่ากังวลจากความขัดแย้งช่องแคบไต้หวัน ข้อพิพาทบริเวณทะเลตะวันออก และความไม่ไว้วางใจของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ต่อความล้มเหลวของจีน ในฐานะ ‘พี่ใหญ่’ ที่ไม่สามารถควบคุมความประพฤติของเปียงยางได้ ซึ่งปักกิ่งเองไม่เห็นด้วยกับกลยุทธ์เรือดำน้ำในครั้งนี้ และมองว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่เห็นแก่ตัว

 

ความเคลื่อนไหวของเกาหลีเหนือที่เพิ่มพูนความกลัวของเกาหลีใต้และชาติพันธมิตร

แม้หลายคนมองว่าการเสริมสร้างศักยภาพของเกาหลีเหนือเป็นเพียงคำขู่ แต่เกาหลีใต้และอีกหลายประเทศไม่ได้มองเช่นนั้น 

ทั้งการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเปียงยางในปี 2006 และความสามารถที่เพิ่มขึ้น หลังจากสร้าง ‘ขีปนาวุธข้ามทวีป’ (ICBM) ได้สำเร็จ ซึ่งไม่ได้เป็นภัยคุกคามสำหรับเกาหลีใต้และเอเชียตะวันออกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสหรัฐฯ ซึ่งขีปนาวุธดังกล่าวมีศักยภาพสามารถทำลายทวีปอเมริกาเป็นจุลได้

นอกเหนือจากนั้น เกาหลีเหนือยังไม่หยุดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยสถานการณ์ล่าสุดของเดือนนี้ เปียงยางกำลังทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดใหม่ ซึ่งเป็นการพัฒนาครั้งล่าสุดที่พังทลายกลยุทธ์ทางการทหารว่าด้วย “การป้องกันที่ดีที่สุด คือการโจมตีล่วงหน้า” 

หากมองอย่างลึกซึ้งถึงพัฒนาการทางกลาโหมในเอเชียตะวันออก นี่เป็นการข่มขู่ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ คือญี่ปุ่น ที่กำลังพัฒนา ‘ระบบป้องกันตนเองด้วยการโจมตีล่วงหน้า’ (Preemptive strike) หรือใช้ชื่อว่า ‘Counterstrike Capability’ ซึ่งสามารถโจมตีเปียงยางได้ถึงฐานทัพ และไม่ขัดต่อ ‘รัฐธรรมนูญมาตรา 9’ หรือข้อห้ามการใช้กำลังของญี่ปุ่นในโลกระหว่างประเทศ หากเป็นไปตามเงื่อนไข 3 ข้อหลัก ได้แก่ โตเกียวสามารถระบุได้ว่าเกาหลีเหนือลงมือโจมตีอย่างแท้จริง ไม่มีวิธีการอื่นที่เหมาะสมเพื่อปกป้องประเทศแล้ว รวมถึงตั้งอยู่บนเงื่อนไขต่ำสุดเท่าที่จำเป็น (Minimum Necessary)

การติดตั้งเรือดำน้ำอาวุธนิวเคลียร์ในครั้งนี้ จึงเป็นทั้งกลยุทธ์และจิตวิทยาที่ป้องปรามไม่ให้เกาหลีเหนือกล้าลงมืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะการยื่นคำขาดของไบเดนและยุนว่า พร้อมจะถอนรากถอนโคนระบอบคิม หากเกาหลีเหนือลงมือใช้อาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างสหรัฐฯ และพันธมิตรจริง

 

เกมการเมืองของยุน ซอกยอล และอนาคตที่ไม่แน่นอนของการเมืองสหรัฐฯ: เสียงของประชาชนที่เรียกร้องอาวุธนิวเคลียร์

ข้อตกลงวอชิงตันระหว่างสองประเทศ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางต่างประเทศของเกาหลีใต้ภายใต้ยุน ซอกยอล คือการใช้แนวทางแข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ และเข้าหาสหรัฐฯ  

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า นอกจากเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศ การดึงสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วม ยังเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อสร้างความนิยมต่อกลุ่มอนุรักษนิยมในประเทศของยุน ซอกยอล หลังจากสาธารณชนเกิดความวิตกกังวลต่อภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ต่อเกาหลีเหนือในปัจจุบัน ห่างเหินจากคำว่า ‘พี่น้องร่วมคาบสมุทร’ นานมากแล้ว หากแต่เป็น ‘ศัตรูตัวฉกาจ’ เสียมากกว่า 

ตัวอย่างที่ชัดเจน คืออดีตประธานาธิบดี มุน แจอิน (Moon Jae-in) ถูกประชาชนวิจารณ์อย่างหนัก ถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ‘ตะวันทอแสง’ (Sunshine Policy) หรือนโยบายเป็นมิตรกับเกาหลีเหนือมากจนเกินไป เนื่องจากทำให้ผู้นำตระกูลคิมไม่เกรงกลัวและเรียกร้องต่อเกาหลีใต้มากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ยุน ซอกยอล เคยประสบความสำเร็จจาก ‘วาทกรรมอาวุธนิวเคลียร์’ ในการหาเสียง และเขาก็ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวครั้งล่าสุด โดยพูดถึงการมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง ซึ่งแสดงออกผ่านคำขู่ต่อเปียงยางในเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

แต่นักวิเคราะห์ฝ่ายกลาโหมแห่งสถาบันอาซาน ยัง อุค (Yang Uk) ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เนื่องจากวอชิงตันไม่เต็มใจพูดถึงการคงอยู่ของอาวุธนิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลี เพราะมีแต่จะทำให้สถานการณ์แย่ลง ทั้งการเสี่ยงเกิดสงครามนิวเคลียร์ การสิ้นสุดข้อตกลงพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากจีนเหมือนในอดีต รวมถึงละเมิดสนธิสัญญา NPT ดังนั้น การอาศัยร่มนิวเคลียร์จากสหรัฐฯ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้

อย่างไรก็ดี การเมืองภายในของสหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกาหลีใต้บางส่วนเริ่มกังขาความยืนยาวของข้อตกลงนี้ เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของวอชิงตันในปี 2024 อาจทำให้ปฏิญญาวอชิงตันล่มสลายได้ด้วยการกลับมาอีกครั้งของทรัมป์

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเสียงเรียกร้องจากประชาชนบางส่วนในเกาหลีใต้ถึงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในกลุ่มอนุรักษนิยม

“สหรัฐฯ จะไม่ใช้นิวเคลียร์เพื่อปกป้องเรา ดังนั้น เราควรเริ่มปกป้องตัวเราเอง

“เราถูกห้อมล้อมด้วยมหาอำนาจ และต้องระมัดระวังพวกเขาอย่างมาก เพื่อจะแข่งขันได้ พวกเราต้องมีอาวุธนิวเคลียร์” กู ซองอุค (Koo Sung-wook) อดีตทหาร แสดงความคิดเห็นกับบีบีซี (BBC) ในการสัมภาษณ์ประชาชนที่ห้องซาวน่า

“มีนิวเคลียร์ไว้น่าจะดีกว่า” ความคิดเห็นของหญิงสาวไม่เปิดเผยนามคนหนึ่ง หลังจากไม่แน่ใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างโซลกับวอชิงตัน

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเสียงเรียกร้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ฮง อินซู (Hong-In su) คุณป้าวัย 83 ปี กลับแสดงความเห็นในมุมที่แตกต่าง ด้วยสำนวนเกาหลีว่า หากใช้อาวุธนิวเคลียร์ เกาหลีใต้กำลัง ‘จมลงไปในบ่ออึตนเอง’ 

“ฉันคิดว่าอาวุธนิวเคลียร์จะกลับมาทำร้ายเรา ฉันรู้สึกไม่ดีกับเด็กรุ่นต่อไป” เธอกล่าว

นี่จึงเป็นเรื่องราวที่ต้องติดตามกันต่อไป และทุกสิ่งที่คาดเดาล่วงหน้าในบทสรุปนี้ อาจเปลี่ยนแปลงไปด้วยปัจจัยทางการเมืองภายในของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ รวมถึงตัวแปรสำคัญของเรื่องราวอย่างเกาหลีเหนือและจีน

 

อ้างอิง

https://www.reuters.com/world/south-korea-us-set-new-collaboration-deter-norths-nuclear-threat-2023-04-26/

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/27/a-threat-to-kim-jong-un-what-the-washington-declaration-means

https://www.aljazeera.com/news/2023/4/26/south-korea-us-summit-to-be-topped-by-nuclear-armed-sub-agreement

https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3218601/china-denounces-us-plans-send-nuclear-ballistic-submarine-south-korea

https://www.npr.org/2023/04/26/1172116000/u-s-and-south-korea-announce-moves-to-strengthen-alliance

https://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_international/1088982.html

https://thediplomat.com/2022/05/has-moon-jae-ins-north-korea-peace-process-failed/

https://www.bbc.com/news/world-asia-65333139

https://www.washingtonpost.com/politics/we-fell-in-love-trump-and-kim-shower-praise-stroke-egos-on-path-to-nuclear-negotiations/2019/02/24/46875188-3777-11e9-854a-7a14d7fec96a_story.html

Tags: , , , , , , , , ,