โทนี วูดซัม (Tony Woodsome) กลายเป็นชื่อที่สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ในแอพพลิเคชัน Clubhouse ของไทย ด้วยการทำลายสถิติผู้เข้าร่วมฟังสูงสุดในประเทศ ภายหลังที่ ‘โทนี’ หรือทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมห้องสนทนา ‘ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองตรงเน้’ ในชื่อ @tonywoodsome ส่งผลให้มียอดผู้เข้าฟังเต็ม 8,000 คนอย่างรวดเร็ว และยังถูกถ่ายทอดเสียงมากกว่า 9 ห้อง เท่ากับว่ามีผู้รับฟังสดๆ รวมกันกว่า 7.2 หมื่นคน
การเคลื่อนไหวดังกล่าวของโทนี (ทักษิณ) กลายเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการสนทนากว่า 2 ชั่วโมงถึงยุครุ่งเรืองของพรรคไทยรักไทย หรือการยอมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมวงสนทนาพูดคุยกับอดีตนายกฯ ทักษิณ โดยตรง ไม่ว่าคำถามนั้นจะ ‘ละเอียดอ่อน’ ขนาดไหน
คำถามที่แวดล้อมตลอดทั้งวันก็คือ การเคลื่อนไหวของทักษิณครั้งนี้ เป็นความบังเอิญจากกระแสที่มาแรงของคลับเฮาส์ หรือเพราะเป็นการมองเกมส์ที่ขาดของ ‘โทนี’ กันแน่
1.
การกลับมาของทักษิณในรูปแบบคลับเฮาส์ เรียกว่ากลับมาในช่วงที่เหมาะเจาะ กับห้วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยกำลังขาด ‘เสาหลัก’ เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ลาออกไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา พร้อมกับการก้าวเข้ามา ‘ยึดพรรค’ เต็มตัวของกลุ่ม CARE ซึ่งมีคนอย่าง นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช, ภูมิธรรม เวชยชัย คนเก่าคนแก่ยุคไทยรักไทย
ในห้วงเวลาที่พรรคเพื่อไทยยังขาดเสาหลัก ทักษิณได้ถือโอกาสวัดกระแสความนิยมไปพร้อมๆ กับการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทย ที่มีแผน ‘ปฏิรูปพรรค’ โดยจัดทำขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 และมีเป้าหมายเจาะตลาด ‘คนรุ่นใหม่’ ยืดอายุให้พรรคในเวลาที่พรรคขาดทั้งธงนำ ทั้งในแง่ความเป็นประชาธิปไตย และในแง่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ทางการเมือง
2.
แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะครองชัยชนะในสนามเลือกตั้งติดต่อกันถึง 5 ครั้ง นับตั้งแต่ช่วงพรรคไทยรักไทยที่ชนะเลือกตั้งเมื่อปี 2544 และปี 2548 พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้งปี 2550 และพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ปี 2554 และ ปี 2562 แต่การเกิดและเติบโตของ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ที่กลายเป็นพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน สามารถสร้างปรากฏการณ์เรียกเสียง ‘คนรุ่นใหม่’ ได้เป็นจำนวนมาก และการใช้โซเชียลมีเดียมาเป็นจุดขาย ทำให้ที่ยืนของพรรคก้าวไกลดูจะโดดเด่นกว่าพรรคเพื่อไทย ที่เต็มไปด้วยนักการเมืองเก่า และความขัดแย้งภายในพรรค
ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ถือธงนำ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ กลายเป็นพรรคที่ครองเสียงเฉพาะคนที่ ‘เกิดทัน’ รุ่นไทยรักไทย และในตลาดภูธรอย่างภาคเหนือและภาคอีสาน
สิ่งนี้อาจกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยถึงเวลาต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ภายใต้ศัพท์ในแวดวงธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า ‘ดิสรัปต์’ (Disrupt)
3.
นัยสำคัญของการกลับมาของทักษิณ จึงเสมือนการแสดงให้เห็นว่า ตัวเขายังคงมีอิทธิพลทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า ซึ่งคำพูดนี้ตอกย้ำได้จากด้วยยอดผู้เข้าฟังที่ทำลายสถิติทุกห้อง และทุกการสนทนาในประเทศไทย จนกลายเป็นกระแสของวันนี้ตลอดทั้งวัน และทำให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับออกอาการ ‘ของขึ้น’ เมื่อมีคนถามถึงเรื่องนี้
‘ไอ้คนผิดกฎหมาย ผิดกฎหมาย ไปฟังมันอยู่ได้’ นายกรัฐมนตรีระบุ
4.
หากถอยกลับมาดูแล้ว จังหวะที่ทักษิณกลับมานั้น ได้เข้ามาหลังช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งพรรคก้าวไกล กำลังอยู่ในช่วงที่อาจเรียกได้ว่า ต้องเผชิญทั้ง ‘ศึกใน’ และ ‘ศึกนอก’ ทั้งการรับมือกับงูเห่า ที่สมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคทั้ง 4 คน ได้โหวต ‘สวนมติพรรค’ ไปลงมติไว้วางใจ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกระแสของม็อบคณะราษฎร ก็ถูกมองว่า ‘แผ่วลง’ จากการไม่สามารถไปต่อในประเด็นที่เคลื่อนไหวใหญ่อย่าง ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ ได้ พร้อมๆ กันนี้ แกนนำจำนวนมาก ก็ต้องเผชิญคดีความ อีกจำนวนหนึ่ง อยู่ในเรือนจำไปเรียบร้อย
การกลับมาของทักษิณเพื่อถือธงนำฝ่ายประชาธิปไตย และหาทางออกใหม่ โดยไม่แตะ ‘ข้างบน’ จึงอาจทำให้ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ที่ยังลังเล กับข้อเรียกร้องของคณะราษฎรข้อที่ 3 หลายคน เริ่มหันกลับมามองทิศทางนี้
5.
นอกจากวิกฤติภายในพรรคก้าวไกลแล้ว ในแง่ของพรรครัฐบาลเองก็มีรอยร้าวหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเช่นกัน ทั้งแกนนำรัฐบาลอย่างพรรค ‘พลังประชารัฐ’ ที่ได้คะแนนเสียงสนับสนุนรัฐมนตรีแตกต่างกันออกไป เช่น ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ที่ได้คะแนนเสียง ‘ไม่ไว้วางใจ’ มากที่สุด 215 เสียง หรือสุชาติ ชมกลิ่น ที่ได้รับการโหวต ‘ไม่ไว้วางใจ’ 212 เสียงจากพรรคเล็กร่วมรัฐบาล เช่น พรรคไทรักธรรม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ซึ่งมีแนวโน้มว่า รัฐบาลพลังประชารัฐ จะแตกเป็นเสี่ยงในไม่ช้า
จึงนับได้ว่า ทักษิณกลับมาเคลื่อนไหวในจังหวะ ‘สะดุด’ ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านอย่างพอดิบพอดี
6.
ส่วนประเด็นหลักๆ ที่ทักษิณพูดในคลับเฮาส์ เป็นการ ‘รำลึก’ ความหลังยุคไทยรักไทยเป็นส่วนมาก พร้อมกับการสร้างความหวังเรื่องเศรษฐกิจด้วยแนวคิด ‘รัฐบาลประชานิยม’ นโยบายในอดีตที่ทักษิณเข้ามามีส่วนร่วม คล้ายกับการแชร์ประสบการณ์และแนวคิด ส่วนนโยบายที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์, การใช้หนี้ IMF จนหมดก่อนกำหนดในรัฐบาลทักษิณรอบแรก และการตอกย้ำว่า รัฐบาลสมัยยุคไทยรักไทยยังให้ความเคารพวินัยการคลังเป็นอย่างมาก จึงสามารถทำให้งบประมาณขาดดุลเปลี่ยนเป็นงบประมาณสมดุลได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
7.
นอกจากนโยบายโครงการต่างๆ ในยุครัฐบาลไทยรักไทย เช่น โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือ ODOS (One District One Scholarship) โครงการที่นำเงินจากหวยบนดินที่สร้างรายได้มหาศาล แบ่งเงินส่วนหนึ่งกลับคืนสู่ประชาชนโดยการมอบทุนการศึกษา และวิธีการแก้ปัญหาความจนของคนในประเทศ ที่ทักษิณกล่าวว่า “แก้ความจน เหมือนยากแต่ไม่ยาก” พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ถ้าได้อยู่จนครบวาระ 8 ปี คงแก้ความจนได้หมดแล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่าความคิดของทักษิณยังคง ‘หลักแหลม’ เหมือนเดิม และสร้างความตื่นตะลึงในมุมมองของคนรุ่นใหม่ แม้จะมีรอยด่างเรื่อง ‘ตากใบ-กรือเซะ’ ทักษิณก็ยังเอาตัวรอดในภาพใหญ่ได้ และทุกครั้งที่เขาพูด คนจะนั่ง ‘ฟัง’ อย่างตั้งใจเหมือนเดิม
8.
แต่ถ้อยความระหว่างบรรทัด นอกจากการหวนรำลึกถึงอดีตอันหอมหวานแล้ว ‘สารหลัก’ อีกอย่างก็หนีไม่พ้นการพูดถึงความเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการ ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ โดยทักษิณเลี่ยงที่จะตอบตรงๆ และหันไปเน้นที่ประเด็นการ ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ เป็นหลัก
ด้วยคำตอบที่ว่า “การเมืองดีหรือเฮงซวยอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ถ้าคนรุ่นใหม่อยากได้การเมืองต้องออกไปผลักดันให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันมาจากคณะรัฐประหาร ด้านการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ทักษิณขอใช้สิทธิ์ ‘ไม่ขอตอบคำถาม’ และยึดหลักสถาบันพระมหากษัตริย์ยังต้องเป็นที่เคารพ ก่อนประเด็นดังกล่าวจะถูกขยายความโดยขุนพลคู่ใจ ‘หมอมิ้ง’ นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช ที่บอกว่า หากจะแก้อะไรก็ต้องให้ ‘สภา’ เป็นตัวตัดสิน
9.
ต้องไม่ลืมว่า นอกจากบทบาทอันโดดเด่นของการเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี นักการเมือง นักธุรกิจ และผู้อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยแล้ว สถานะอีกอย่างของทักษิณ คือการเป็น ‘ดีลเมกเกอร์’ เพื่อหาทางอยู่รอด และหาทาง ‘กลับบ้าน’ ในทุกช่วงเวลาที่มีโอกาส ต้องไม่ลืมว่า การออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ‘เหมาเข่ง’ เมื่อปี 2556 และการส่งแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ‘ไทยรักษาชาติ’ เมื่อปี 2562 ล้วนมีเบื้องหลังอันสลับซับซ้อน ที่เป็นผลกระทบสำคัญจาก ‘ดีล’ เช่นกัน แน่นอนว่าทั้งสองดีลล้มเหลวอย่างรุนแรง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม จบลงด้วยการรัฐประหาร ส่วนเรื่องพรรคไทยรักษาชาติจบลงด้วยการยุบพรรค การโดน ‘ถอดยศ’ และการ ‘หายตัว’ ไปพักใหญ่ของทักษิณ
10.
เพราะฉะนั้น การกลับมาในมุมของ ‘โทนี’ เพื่อเจาะตลาดกลุ่มรุ่นใหม่ในคลับเฮาส์จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ในมุมมองของนักธุรกิจและนักการเมืองอย่างเขา อาจมองเห็น ‘โอกาส’ ในช่วงเวลาที่ธงนำฝ่ายประชาธิปไตยกำลังขาดหาย เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่ามองไม่เห็นอนาคต พรรคเพื่อไทยที่มีเขาอยู่เบื้องหลังอาจต้องการแสดงตัวให้เห็นว่าพร้อมเป็น ‘ธงนำ’ ในช่วงเวลานี้
แต่สิ่งที่จะตามมาหลอกหลอนทักษิณ จะไม่ได้มีแค่เรื่องตากใบหรือกรือเซะเท่านั้น คำถามที่ตอบไม่ได้หรือน่ารำคาญใจสำหรับเขายังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการ ‘ขายหุ้น’ ชินคอร์ป ให้กับเทมาเส็ก, ความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับ ‘สถาบันฯ’ เรื่องลึกลับซับซ้อนของดีลต่างๆ ซึ่ง ‘คลับเฮาส์’ เปิดโอกาสให้คนนอกสามารถถามคำถามกับ ‘โทนี’ ได้โดยตรง ซึ่งจะมีคนเตรียมพร้อมเพื่อตั้งคำถามอย่างแน่นอน
คำถามก็คือหลังจากนี้ ทักษิณในวัย 71 ปี ซึ่งมีประวัติศาสตร์ของการตายเพราะ ‘ปาก’ และตายเพราะ ‘ดีล’ มาหลายครั้ง จะทำผิดซ้ำซ้อนอีกหรือไม่ แล้วหากเจอคำถามที่ซับซ้อนซึ่งเขาหลีกเลี่ยงการตอบมาหลายปีดีดัก เขาจะเผชิญหน้ากับคำถามเหล่านั้นอย่างไร ที่จะไม่ทำให้ ‘คนรุ่นใหม่’ ผิดหวัง
เพราะวันเวลานี้คือปี 2564 วันที่สภาพสังคมและการเมืองเปลี่ยนไปชัดเจน จากวันที่ทักษิณชนะการเลือกตั้งผ่านพรรคไทยรักไทยในปี 2544
แต่หากประเมินจากสถานการณ์ของสังคมและการเมืองในปัจจุบัน ด้วยมุมของนักธุรกิจและนักการเมือง ‘ชั้นเซียน’ อย่างทักษิณ เขาคงไม่มีทางเล่นคลับเฮาส์เพื่อความบันเทิง โดยไม่หวังผลอะไรอย่างแน่นอน
Tags: คลับเฮ้าส์, The Momentum, ทักษิณ, Clubhouse, โทนี วูดซัม