“ครั้งนี้เรามีความหวังว่าเราจะโค่นรัฐบาลลงได้ เพราะเป็นครั้งที่ฝ่ายค้านผนึกกำลังเข้าด้วยกัน”

“ผมมั่นใจว่า ในวันนั้นเราจะโค่นรัฐบาลโจรลงได้”

นี่คือถ้อยคำหาเสียงของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Mahathir Mohamad) อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ปกครองประเทศมายาวนาน 22 ปี เพื่อรณรงค์ให้ชาวมาเลเซียที่มีสิทธิลงคะแนนจำนวน 15 ล้านคน ออกมาเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับประเทศ

‘ความเปลี่ยนแปลง’ ในการเลือกตั้งมาเลเซียครั้งนี้ มีตั้งแต่ระดับชาติไปจนถึงระดับพรรค

ความเปลี่ยนแปลงแรกที่พลิกประวัติศาสตร์การเมืองมาเลเซียอย่างที่ชาวมาเลเซียเองก็ไม่คาดคิดมาก่อน คือ การกลับมาเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมหาเธร์ โมฮัมหมัด ในวัย 92 ปี

แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้น ครั้งนี้เขาหันหลังให้พรรครัฐบาลที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลของเขามาหลายสิบปี กลับตั้งพรรคขึ้นใหม่ และไปร่วมขบวนกับแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน ศัตรูทางการเมืองที่เขาเองเคยพยายามทุกวิถีทางที่จะกำจัด

แม้ทั้งนาจิบ ราซัค  (Najib Razak) และมหาเธร์ ต่างเติบโตภายใต้พรรคการเมืองเดียวกัน คือ อัมโน (United Malays National Organization) แต่มหาเธร์ ประกาศว่า เขาหันหลังให้พรรคร่วมรัฐบาลในนามกลุ่มบาริซัน เนชันแนล หรือบีเอ็น (Barisan Nasional) เพราะต้องการช่วยฝ่ายค้านกำจัด นาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีที่พัวพันกับคดีฉ้อโกง และเจ้าของนโยบายภาษีสินค้าและบริการที่ทำให้ค่าครองชีพพุ่งกระฉูด

และถ้าฝ่ายค้านสามารถชนะการเลือกตั้งได้ ก็จะเริ่มขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษให้ อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) แกนนำแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน

มหาเธร์ ท่ามกลางมวลชนแนวร่วมฝ่ายค้าน ที่ถือป้ายรณรงค์ว่า “ออกไปโหวต เอาชนะโจร” (28 มีนาคม 2018 จาก REUTERS)

หากมองย้อนไป อันวาร์ อิบราฮิม คืออดีตศัตรูคนสำคัญที่สุดของมหาเธร์ เพราะได้รับการสนับสนุนจากชาวมาเลเซียอย่างล้นหลาม แต่ปัจจุบันเขาถูกลงโทษจำคุก 5 ปีจากข้อหาคดีรักร่วมเพศ ข้อหานี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ามีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลัง

การโจมตีพันธมิตรเก่าอย่างดุเดือดแล้วหันไปโอบอุ้มศัตรูเก่า คือจุดยืนทางการเมืองที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ มหาเธร์ประกาศว่า เขาต้องการแก้ตัวเป็นครั้งสุดท้าย

หากครั้งนี้แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้ง จะปลดล็อกการเมืองมาเลเซียที่อยู่ภายใต้การปกครองของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวมาเป็นเวลาร่วม 60 ปี และอาจเปิดทางให้ อันวาร์ อิบราฮิม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต หากขอพระราชทานอภัยโทษได้สำเร็จ และมหาเธร์ทำตามสัญญาที่จะถอนตัวออกจากตำแหน่งภายหลัง

ชาวมาเลเซียทั้งประเทศจึงเฝ้าดูการเลือกตั้งครั้งนี้แบบตาไม่กะพริบ เพราะศึกครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงการขจัดนักการเมืองโกงกิน แต่ยังอาจเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการเมืองแบบพรรคเด่นพรรคเดียวของมาเลเซีย

การออกแบบเขตเลือกตั้งที่เอื้อให้บีเอ็นชนะ

แม้ครั้งนี้จะมีการผนึกกำลังของพรรคฝ่ายค้าน และได้แม่ทัพอย่าง มหาเธร์ โมฮัมหมัด มาร่วมทัพ เพื่อกำจัดศัตรูร่วมอย่าง นาจิบ ราซัค หนทางสู่ชัยชนะของฝ่ายค้านก็ไม่ได้ง่ายดายนัก

ปัจจัยสำคัญคือ การกำหนดพื้นที่เขตเลือกตั้ง และการกำหนดสัดส่วนของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหนึ่งเขตการเลือกตั้ง (Constituency Delineation) ที่ฝ่ายค้านแย้งว่า ถูกออกแบบให้บีเอ็นได้ที่นั่งในสภาง่ายกว่าพรรคฝ่ายค้าน

และในวันนี้ มหาเธร์ต้องมาต่อสู้กับระบบเลือกตั้งนี้ซะเอง

แต่เมื่อดูผลการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา บีเอ็นชนะแบบหืดขึ้นคอมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ชนะแบบนอนมาอีกต่อไป แรงต้านพรรครัฐบาลที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ทำให้กลยุทธ์การกำหนดเขตเลือกตั้งถูกมองว่า เป็นอีกวิธีที่พรรครัฐบาลจะปกป้องชัยชนะตัวเองไว้ได้

ในเขตนอกเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อชาติมาเลย์ และเป็นฐานเสียงสำคัญของ บีเอ็น กลับถูกกำหนดให้มีเขตเลือกตั้งมากกว่า แม้จะมีจำนวนประชากรน้อยกว่า กลยุทธ์นี้ของบีเอ็นเห็นชัดที่สุดจากผลการเลือกตั้งปี 2013 ที่ Pakatan Rakyat แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านชนะป็อบปูลาโหวตที่ 50.98 เปอร์เซ็นต์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่ได้ที่นั่งเพียง 89 ที่นั่ง ขณะที่ บีเอ็น กวาดไป 133 ที่นั่ง จาก 222 ที่นั่ง

นั่นคือ โดยเฉลี่ยแล้วฝ่ายค้านต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าบีเอ็นประมาณ 1.6 เท่า ถึงจะได้หนึ่งที่นั่ง เหตุการณ์ชนะป็อปปูลาร์โหวตแต่ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ อาจซ้ำรอยประวัติศาสตร์

การเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายค้านจึงยังต้องหาเสียงหนักในพื้นที่นอกเมืองเหมือนเดิม โดยเฉพาะการเข้าไปรุกพื้นที่ฐานเสียงเหนียวแน่นของบีเอ็น โดยเฉพาะในเวลาที่ นาจิบ ราซัค พยายามรักษาฐานเสียงไว้ ด้วยการเน้นปกป้องผลประโยชน์ของมาเลย์มุสลิม นโยบายลดแลกแจกแถมและการอัดฉีดเงิน แม้นาจิบ ราซัค จะมีแผลจากคดีฉ้อโกง แต่มันไม่ได้ส่งผลต่อคะแนนนิยมในบางพื้นที่เท่าไรนัก ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นตัวแปรที่สำคัญ เพราะเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การกลับมาของผู้นำทรงอิทธิพลอย่าง มหาเธร์ โมฮัมหมัด นั้นท้าทาย บีเอ็น อย่างมาก เพราะเขาคือผู้นำที่เชื้อชาติมาเลย์เคยสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้นำทรงอิทธิพลที่ชาวมาเลเซียไม่เคยลืม

มหาเธร์ โมฮัมหมัด คือผู้นำที่ชาวมาเลเซียหากไม่รักมากก็ต่อต้านอย่างสุดขั้ว มหาเธร์มีบทบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในช่วง 1990 เขาพลิกประเทศเล็กๆ อย่างมาเลเซียให้ขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในภูมิภาค

นโยบายและวิสัยทัศน์ของเขาอย่าง Look East ที่เริ่มขึ้นในปี 1981 เน้นให้มาเลเซียกลับมามองประเทศตะวันออกเป็นตัวอย่างในด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการรักชาติ การขยันทำมาหากิน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในตลาดเสรี นโยบายนี้ยังเป็นจุดกำเนิดให้มาเลเซียหันมาผลิตรถยนต์เป็นของตัวเองอย่าง ‘โปรตอน’ (Proton) แม้นโยบาย Look East จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่ก็ปลุกกระแสชาตินิยมซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวมาเลเซียอาจโหยหาในเวลาที่เพิ่งได้รับเอกราชจากอังกฤษมาได้ 24 ปี

มหาเธร์ โมฮัมหมัด (14 ตุลาคม 2017 โดย REUTERS/Lai Seng Sin)

ชาตินิยมของ มหาเธร์ ในยุคนั้นมักเชื่อมโยงกับเชื้อชาติมาเลย์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ นโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยเหลือคนเชื้อชาติมาเลย์ ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษา การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เขามองว่าคนเชื้อชาติมาเลย์พึ่งพาเชื้อชาติจีนด้านเศรษฐกิจมากเกินไป

เขาจึงได้รับความนิยมจากเชื้อชาติมาเลย์อย่างกว้างขวาง แต่ก็ตามมาด้วยคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่า นโยบายต่างๆ ให้สิทธิพิเศษกับแค่บางเชื้อชาติ และยังใช้เรื่องเชื้อชาติทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาออกตัวสนับสนุนคุณค่าแบบเอเชีย หรือ Asian Values เช่นเดียวกับ ลี กวน ยู ( Lee Kuan Yew) อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ที่มองว่า หลักการสิทธิมนุษยชนแบบตะวันตกอาจนำไปสู่ความวุ่นวาย โดยเฉพาะสภาพสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาอย่างมาเลเซีย แต่คุณค่าแบบเอเชียก็มักจะถูกผู้นำในเอเชียหลายคนใช้เป็นข้ออ้างมาลิดรอนสิทธิมนุษยชน ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งจึงมีการจับกุมผู้เห็นต่างมากมาย

ประเด็นเชื้อชาติที่ฝังรากลึกในสังคมมาเลเซีย

นาจิบ ราซัค ผู้นำคนปัจจุบัน พยายามโน้มน้าวเชื้อชาติมาเลย์ไม่ให้หันไปเทคะแนนให้ มหาเธร์ โมฮัมหมัด ด้วยการบอกว่า เขาทำให้เสียงของเชื้อชาติมาเลย์แตก สะท้อนว่า เรื่องเชื้อชาติยังเป็นประเด็นที่ฝังรากลึกในสังคมและการเมืองของมาเลเซีย

ร่องรอยการปกครองของอังกฤษที่แบ่งบทบาทหน้าที่ของชาวมาเลเซียตามเชื้อชาติ อย่างให้เชื้อชาติจีนคุมเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศ ขณะที่เชื้อชาติมาเลย์มีบทบาทในข้าราชการและเศรษฐกิจนอกเมือง ส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละเชื้อชาติมาจนถึงทุกวันนี้

Divide and Rule หรือการปกครองด้วยการพยายามกระจายคนออกเป็นกลุ่มๆ เพราะเมื่อแต่ละกลุ่มแยกกันอยู่จะมีอำนาจน้อยลง ถูกมองว่าเป็นกลยุทธ์ที่ บีเอ็น ใช้เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่อดีต ในขณะที่เชื้อชาติมาเลย์ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากกว่าเชื้อชาติอื่น รัฐบาลก็เปิดช่องทางให้เชื้อชาติจีนบางกลุ่มยังมีอำนาจทางเศรษฐกิจ รวบอำนาจของชนชั้นนำ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พรรครัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนจากเชื้อชาติมาเลย์ ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งประเทศ และไม่ถูกแรงต้านจากเชื้อชาติจีนรุนแรงเกินไป ไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่เมื่อมีกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะเชื้อชาติจีน หรือแม้กระทั่งบางกลุ่มจากเชื้อชาติมาเลย์เอง พวกเขาก็ขาดแรงสนับสนุนที่แข็งแรงพอที่จะต่อต้านรัฐบาลได้แบบหักดิบ

เข็มกลัดรณรงค์เลือกตั้ง มีภาพของมหาเธร์ โมฮัมหมัด (ซ้าย) และ อันวาร์ อิบราฮิม (ขวา) (28 เมษายน 2018 โดย REUTERS/Lai Seng Sin)

ความเห็นทางการเมืองที่แตกออกชัดเจน สะท้อนออกมาในผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา พื้นที่ในเมืองซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากกว่า จะสนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ขณะที่พื้นที่นอกเมืองยังคงเป็นฐานเสียงที่เหนียวแน่นของบีเอ็น เชื้อชาติจีนเกือบทั้งหมดเทคะแนนให้ฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว แม้ปัจจุบันความขัดแย้งทางเชื้อชาติจะไม่รุนแรงเท่าในอดีต แต่โครงสร้างการปกครองเช่นนี้ก็ส่งผลให้สภาพสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติก็ไม่ได้กลมกลืนเท่าไรนัก แต่ละเชื้อชาติยังคลุกคลีกับเชื้อชาติตัวเองเป็นส่วนใหญ่ และบางส่วนยังไม่ไว้ใจกัน สิ่งนี้อาจสะท้อนออกมาได้ดีผ่านคำขวัญกรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า ‘City of Contrasts and Diversity’

การหันไปร่วมกับฝ่ายค้านของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด จึงทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ซับซ้อนขึ้นและคาดเดาผลได้ยาก เพราะแม้เชื้อชาติมาเลย์บางกลุ่มจะยังมอง มหาเธร์ เป็นผู้นำของพวกเขา แต่นโยบายลดแลกแจกแถมของ บีเอ็น ก็อาจยังทำให้พวกเขาสนับสนุนบีเอ็น อย่างเหนียวแน่น ขณะที่กลุ่มสนับสนุนฝ่ายค้านบางส่วนอาจรู้สึกไม่เต็มใจที่จะเลือก มหาเธร์ โมฮัมหมัด  จากการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จของเขาในอดีต

นั่นทำให้ชาวมาเลเซียจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มองว่าพวกเขาไม่มีตัวเลือกที่ดีพอ และกรณีที่วุ่นวายที่สุดคือ ไม่มีพรรคไหนได้เสียงมากพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ด้วยตนเอง

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีฉ้อโกงกองทุน 1MDB ของ นาจิบ ราซัค เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบีเอ็น และจะสั่นคลอนอำนาจของ นาจิบ ราซัคเอง แม้ว่าบีเอ็นจะชนะการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตามการที่ฝ่ายค้านจะชนะการเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยังอาศัยหลายอย่าง แต่ถ้าหากฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งได้จริง อาจสะท้อนว่าชาวมาเลเซียบางส่วนยอมหลับตาหนึ่งข้างเลือก มหาเธร์ โมฮัมหมัด เพราะต้องการหลุดออกจากรัฐบาลเดิมที่ปกครองประเทศของพวกเขามาร่วม 60 ปี และเขายังได้ใจคนเชื้อชาติมาเลย์อยู่

และถ้าหากการกระโดดลงเรือลำใหม่ของมหาเธร์ครั้งนี้ไม่สำเร็จ เราจะเห็นเขาเป็นผู้นำแนวร่วมฝ่ายค้านในวัย 90 กว่าหรือไม่

 

ภาพเปิดบทความ: มหาเธร์ โมฮัมหมัด กล่าวปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งในกัวลาลัมเปอร์ (6 พฤษภาคม 2018 โดย REUTERS/Athit Perawongmetha)

Tags: , , ,