คำถามเกี่ยวกับ AI ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่เสมอ เมื่อมีใครสักคนหยิบยกประเด็นขึ้นมา มันจะส่งผลดีหรือผลร้ายสำหรับมนุษย์มากกว่ากัน เป็นไปได้ไหมที่ AI จะยึดอำนาจจากมนุษย์ หรือเราจะเข้าสู่ยุคแห่งเอกภาวะหรือไม่ (Singularity —ยุคแห่งอนาคตที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว จนปัญญาประดิษฐ์ มีศักยภาพเหนือกว่ามนุษย์ในทุกๆ ด้าน) จริงๆ มนุษย์อย่างเราคาดหวังสิ่งใดจาก AI บ้างกันแน่? แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้เทคโนโลยีคือสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถขาดได้ไปเสียแล้ว ลำพังแค่การล่มของเซิร์ฟเวอร์บางระบบ เราก็แทบจะเป็นอัมพาตกันในทางใดทางหนึ่ง โลกอนาคตในจินตนาการนั้นใกล้เข้ามาทุกที มีแต่คนที่ปรับตัวได้ทันเท่านั้นที่จะอยู่รอด

Ex Machina (2014)

ผลงานการเขียนบทและกำกับเองเรื่องแรกของอเล็กซ์ การ์แลนด์ ที่ได้ทุนสร้างจากบริษัท DNA Films ด้วยงบประมาณทั้งหมด 15 ล้านเหรียญ แต่ก็ยังสามารถคว้ารางวัลออสการ์ สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม มาครองได้

ชื่อภาพยนตร์มาจากวลีภาษาละติน “Deus Ex-Machina” ซึ่งหมายถึง “God from the machine” ในภาษาอังกฤษ และชื่อตัวละครหลักทั้งสามในเรื่องก็ล้วนแล้วมาจากชื่อในพระคัมภีร์ไบเบิล

Ex Machina เป็นภาพยนตร์ไซไฟ เขย่าขวัญ โดยเรื่องราวเริ่มจาก ‘เคเลบ’ โปรแกรมเมอร์หนุ่มที่ชนะรางวัลอย่างไม่ทันตั้งตัว เขาได้เดินทางไปยังสถานที่หนึ่ง ท่ามกลางขุนเขาอันห่างไกล แต่มีบางอย่างซุกซ่อนอยู่ และเขาก็พบกับซีอีโอบริษัทอย่างนาธาน แล้วนาธานก็เผยถึงจุดประสงค์แท้จริงของรางวัลนี้ว่า เขาต้องการหาบุคคลที่จะมาทดสอบในโครงการลับของเขา นั่นคือ การปฏิสัมพันธ์กับปัญญาประดิษฐ์นามว่า เอวา แบบทดสอบทัวริง (Turing test) จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า เอวามีความรู้สึกนึกคิดใกล้เคียงกับมนุษย์แล้วจริงๆ

แต่เบื้องลึกเบื้องหลังของการทดสอบครั้งนี้แฝงไปด้วยอะไรบ้างนั้น เคเลบไม่มีทางรู้ได้ และตนก็ต้องเดินไปตามเกมที่นาธานวางไว้ การใกล้ชิดกับเอวาที่ทั้งสวยและฉลาดอาจทำให้บางอย่างในตัวเขาและเธอเปลี่ยนไป และทั้งหมดนั้นก็ถูกเฝ้ามองโดยนาธาน ผู้ที่ควบคุมทุกอย่างไว้ในกำมือ

แม้ว่าพล็อตเรื่องจะไม่ได้ดูน่าตื่นเต้นเท่าไรนัก แต่บทภาพยนตร์ถูกวางไว้อย่างแยบยล ทำให้มองไปถึงเรื่องรอบๆ ที่ไม่ได้พูดออกมาตรงๆ อย่างพระเจ้าและปรัชญาได้อย่างเฉียบแหลม รวมถึงยังมีมุมมองเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแฝงอยู่ด้วย

Transcendence (2014)

Transcendence ภาพยนตร์แอ็คชั่นไซไฟ ผลงานการกำกับครั้งแรกของวอลลี่ ฟิสเตอร์ ที่ได้ผู้อำนวยการสร้างอย่างคริสโตเฟอร์ โนแลน มาช่วย หลังจากที่ฟิสเตอร์เป็นช่างภาพคู่ใจของโนแลนมานาน

แม้ว่าภาพยนตร์จะได้นักแสดงมากฝีมือหลายคนมาร่วมด้วย แต่ผลวิจารณ์โดยรวมก็ยังไม่ค่อยสู้ดีเท่าไร ในแง่ของโครงสร้าง บทสนทนา และตัวละคร เรื่องนี้ใช้ทุนสร้างไปถึง 100-150 ล้านเหรียญ แต่กลับทำรายได้แค่ 103 ล้านเหรียญเท่านั้น

ภาพยนตร์เล่าเรื่องของด๊อกเตอร์วิล แคสเตอร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่อง และกำลังวิจัยเรื่องปัญญาประดิษฐ์ ที่อาจส่งผลกับอนาคตของโลกใบนี้อย่างมหาศาล เป้าหมายของเขาคือการทำให้เครื่องจักรมีความรู้สึกนึกคิดแบบมนุษย์ รวมถึงความอัจฉริยะแบบไร้ขีดจำกัด แนวคิดของวิลได้รับการยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์ด้วยกันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘ริฟท์’ กลับไม่คิดแบบนั้น พวกเขาพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะยับยั้งวิล แล้วมันก็สำเร็จจริงๆ เพราะวิลกำลังจะตาย อีฟว์ลีน แคสเตอร์ ภรรยาของเขาจึงตัดสินใจเชื่อมต่อสมองของวิลเข้ากับคอมพิวเตอร์ และมันก็นำไปสู่วิวัฒนาการระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ที่น่าทึ่งที่สุด ระบบประมวลผลอันชาญฉลาดทำให้วิลก้าวล้ำกว่ามนุษย์ไปมากมาย และเมื่อเขากระทำการบางอย่างนั้นก็ยากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าใจ วิลจึงกลายเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัดลง

เทคโนโลยีก็เหมือนทุกๆ อย่างที่เปรียบได้กับเหรียญสองด้าน มันมีทั้งด้านดีและด้านร้าย หากเราใช้มันอย่างไม่ระมัดระวัง เภทภัยบางอย่างก็อาจเข้ามาถึงตัวได้ ความไม่รู้ทำให้มนุษย์ไขว่คว้าหาทุกอย่างมาตั้งแต่อดีต และตอนนี้เราก็กำลังอยากจะไขว่คว้าอนาคตมาไว้ตรงหน้า

Chappie (2015)

ภาพยนตร์ไซไฟอีกเรื่องจากผู้กำกับนีลล์ บลอมแคมป์ ที่ก่อนหน้านี้เคยฝากผลงานไว้ใน District 9 (2009) และ Elysium (2013) ภาพจำส่วนใหญ่ในผลงานของเขานั้นมักจะเกิดขึ้นโดยมีแหล่งเสื่อมโทรมเป็นศูนย์กลางของเรื่องราว และเรื่องนี้ก็ยังเป็นเช่นกัน

Chappie รวบรวมนักแสดงไว้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นฮิวจ์ แจ็คแมน, เดฟ พาเทล, ซิกัวร์นีย์ วีเวอร์ และคู่หูวงดนตรี Die Antwoord

ในอนาคตอันใกล้ ตัวเลขอาชญากรจะพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าหวาดหวั่น การจะรับมือกับเหตุร้ายโดยไม่เสียเลือดเสียเนื้อเลยคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น บริษัทไอทียักษ์ใหญ่เทตราวาล จึงผลิตหุ่นยนต์ตำรวจที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาเพื่อช่วยในการทำงานของตำรวจ และมันก็ได้ผลจริงๆ ความดีความชอบครั้งนี้ตกเป็นของดิออน หนุ่มเนิร์ดผู้ให้กำเนิดหุ่นยนต์ แต่ความสำเร็จเพียงแค่นี้ยังไม่ใช่เป้าหมายใหญ่ของเขา เพราะสิ่งที่ดิออนอยากจะพัฒนาไปให้ถึงก็คือ หุ่นยนต์ที่สามารถรู้สึกและคิดได้อย่างมนุษย์ เขาเกือบจะทำมันได้แล้วจริงๆ ถ้า! มันได้รับการอนุมัติ ดิออนจึงลักลอบทดลองมันกับหุ่นยนต์ที่กำลังจะถูกทำลาย มันตื่นมามีชีวิตในชื่อ แชปปี้

ความสำเร็จมักมาพร้อมความอิจฉา วินเซนต์ นายทหารเก่าเองก็ทุ่มเทในการสร้างหุ่นยนต์เช่นกัน แต่ผลงานของเขากลับไม่ได้เป็นที่ยอมรับเท่าไรนัก ด้วยความริษยาวินเซนต์เลยวางแผนให้หุ่นยนต์ตำรวจใช้การไม่ได้ เมืองทั้งเมืองจำต้องตกอยู่ในความโกลาหล ดิออนและแชปปี้ต้องแก้ไขสถานการณ์นี้ไปให้ได้ ไม่เช่นนั้นความพยายามที่ผ่านมาทั้งหมดก็จะสูญเปล่า

แชปปี้เองอาจไม่ต่างจากทารกมากนัก เขาเติบโตมาอย่างที่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อไปอยู่ในสังคมแบบไหน เขาก็มีลักษณะนิสัยเป็นคนแบบนั้น หากได้รับการฟูมฟักเอาใจใส่ เขาก็จะรู้ว่าสิ่งใดที่ควรทำหรือไม่ควรทำ สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโต แต่บ่อยครั้งบางคนก็ไม่อาจเลือกสภาพแวดล้อมเองได้ เพราะความเหลื่อมล้ำในสังคมที่กว้างจนเกินไป

Ghost in the Shell (2017)

Ghost in The Shell จากมังหงะชื่อดัง สู่อนิเมะขึ้นหิ้ง และภาพยนตร์ไซไฟที่ทุ่มทุนสร้างกว่า 110 ล้านเหรียญ เดิมทีชื่อมังงะเรื่องนี้นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ The Ghost in the Machine ของอาร์เธอร์ โคสเลอร์ ซึ่งอาร์เธอร์ก็ได้รับมันมาจากประโยคของนักปรัชญาอีกคนหนึ่ง เนื้อหาของมังหงะเกิดในโลกอนาคตอันเต็มไปด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ก็เคลือบไปด้วยเรื่องของปรัชญาอยู่ทุกอณู

แม้ว่าภาพยนตร์จะไม่ขาดทุนทางรายได้ แต่ก็ไม่ได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีนัก แถมยังโดนโจมตีตั้งแต่การเลือกนักแสดงนำ เพราะถึงจะเป็นสาวสวยอย่างสการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน หลายคนก็มองว่าเธอไม่เหมาะสมกับบทบาท แต่มาโมรุ โอชิอิ ผู้กำกับอนิเมะ Ghost In The Shell ก็ได้ออกมาให้กำลังใจว่า สการ์เลตต์จะสามารถแสดงเป็นโมโตโกะ (เมเจอร์) ได้ดีที่สุด

ในอนาคตอันใกล้ มนุษย์จะยิ่งพัฒนาศาสตร์แห่งการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน สัตว์ และเครื่องจักร ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิสัยทัศน์ หรือปัญญา เทคโนโลยีจะก้าวล้ำจนสามารถสร้างปัญญาประดิษฐ์ที่พูดคิดจนมีจิตวิญญาณได้ ความแตกต่างระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรจะมีแค่เส้นบางๆ กั้น

เมเจอร์ เป็นไซบอร์กครึ่งมนุษย์คนแรกของโลก เธอถูกช่วยชีวิตเอาไว้จากอุบัติเหตุร้ายแรง ร่างกายทุกส่วนของเธอจึงเป็นจักรกลทั้งหมด ยกเว้นแต่สมองเท่านั้นที่ยังเป็นของเธออยู่ เมเจอร์กลายเป็นทหารฝีมือดี เธอประจำอยู่ในหน่วยพิเศษและคอยยับยั้งอาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ แต่เหตุการณ์เลวร้ายในครั้งนี้ไม่ง่ายดายนัก เมื่อคู่ปรับเป็นอาชญากรฝีมือดี และแฮคข้อมูลที่สามารถทำให้จิตใจของเมเจอร์สั่นคลอนได้ เพราะลึกๆ แล้วเธอก็มีความสับสนภายในตัวเองตลอดเวลาว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นใครหรือเป็นอะไรกันแน่ เธอถูกช่วยชีวิตเอาไว้ หรือถูกใครบางคนขโมยชีวิตไป

งานด้านภาพทำได้ดี เก็บรายละเอียดหมดจด ทั้งการดีไซน์เสื้อผ้า บ้านเมือง สถาปัตยกรรม แนวคิดปรัชญาที่ใส่เข้ามาสามารถทำให้ผู้ชมย่อยสารเข้าไปได้ง่าย และมันก็มากด้วยคำถามที่รอให้เราไปค้นพบ

Alita: Battle Angel (2019)

ภาพยนตร์ไซไฟแนวไซเบอร์พังก์ ที่ดัดแปลงมาจากมังหงะชื่อดังเรื่อง เพชฌฆาตไซบอร์ก ผลงานของยูกิโตะ คิชิโระ ตีพิมพ์ในช่วง 1990-1995 ถูกหยิบมากำกับโดยโรเบิร์ต รอดริเกซ โดยมีเจมส์ คาเมรอน เป็นหนึ่งในผู้เขียนบท รวมถึงเป็นผู้อำนวยการสร้าง โปรเจกต์ภาพยนตร์เรื่องนี้ล่าช้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื่องจากงานอันรัดตัวของเจมส์ คาเมรอน จนมาเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในปี 2016 และออกฉายในปีนี้

ภาพแรกที่ออกมาของอลิตานั้นค่อนข้างถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในแง่ลบ จนทีมงานต้องปรับเปลี่ยนดวงตาของเธอ โดยเพิ่มขนาดรูม่านตาให้ใหญ่ขึ้นอีก 30% เพื่อสร้างความสมจริง และให้สัดส่วนที่คล้ายมกับดวงตามนุษย์มากขึ้น

ในศตวรรษที่ 26 โลกได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากสงครามอวกาศที่รู้จักกันในนาม ‘The Fall’ หรือ ‘The Great War’ จนเวลาผ่านไปกว่า 300 ปี ดร.ไดสัน อิโดะ บังเอิญพบไซบอร์กสาวจากซากกองขยะ เขาซ่อมแซมจนเธอลืมตาตื่นอีกครั้ง แต่เธอกลับไร้ความทรงจำใดๆ ยกเว้นพันเซอร์ คุณซ์ สัญชาตญาณการต่อสู้จากดาวอังคารที่สาบสูญไปเท่าๆ กับอายุของเธอ ดร.ไดสัน ตั้งชื่อเธอว่า อลิตา

อลิตามีชีวิตใหม่ และประสบการณ์ใหม่ๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือมิตรภาพจากฮิวโก้ เด็กหนุ่มที่มีความฝันอยากไปอยู่บนซาเล็ม และความฝันจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อชนะการแข่งขันมอเตอร์บอลซึ่งจัดการโดยเวคเตอร์ ผู้ที่เป็นศัตรูของพวกเขาในเวลาต่อมา อลิตามีความคิดความรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อตกหลุมรักฮิวโก้ เธอก็ยิ่งเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ อยากปกป้องคนที่เธอรัก อยากเสียสละในสิ่งที่เธอให้ได้ ทุกเส้นทางของเธอนำไปสู่การต่อสู้ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง พร้อมกันนั้นมันก็เป็นการเปิดเผยอดีตและส่วนเสี้ยวความทรงจำของอลิตาด้วย ชะตากรรมของทุกคนจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยการกระทำของเธอ

มันเป็นการค้นพบพลังของหนุ่มสาว ที่มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง เต็มไปด้วยประเด็นเรื่องความแตกต่างทางชนชั้น ซึ่งก็ไม่ใช่ประเด็นที่ใหม่อะไร ทำให้เนื้อเรื่องไม่ได้หวือหวานัก แต่อลิตาก็โดดเด่นในด้านงานภาพ ฉากต่อสู้ และลีลาการต่อสู่แบบพันเซอร์ คุณซ์ ที่ออกแบบมาอย่างสวยงาม รวมทั้งการเนรมิตโลกอนาคตให้ตระการตราและใส่ใจในทุกรายละเอียดของชีวิตผู้คน

Tags: , ,