มนุษยชาติเปราะบางต่อการถูกทำลายล้าง ทั้งจากชีวิตบนโลกซึ่งเต็มไปด้วยภัยคุกคามต่างๆ นานา และโลกของเราที่ลอยอยู่กลางอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาลและเต็มไปด้วยปริศนา ก็พร้อมจะถูกคุกคามโดยภัยจากนอกโลกที่มนุษย์อาจไม่สามารถควบคุมได้

Annihilation ผลงานล่าสุดของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ (ผู้กำกับฯ Ex Machina (2014)) ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายของ เจฟฟ์ แวนเดอร์เมียร์ เป็นภาพยนตร์ที่สำรวจภัยคุกคามอย่างหลัง เมื่ออุกกาบาตพุ่งเข้าชนประภาคารริมหาดแห่งหนึ่ง ก่อให้เกิดม่านสีรุ้งครอบคลุมไปทั่วอาณาบริเวณ นับวันยิ่งแผ่ขยายกินพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ว่าทางการจะส่งคนเข้าไปปฏิบัติภารกิจกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็ยังไม่มีใครสามารถกลับออกมาเล่าถึงสิ่งที่อยู่เบื้องหลังม่านรุ้งได้เสียที

หนังติดตาม ลีน่า (นาตาลี พอร์ตแมน) นักชีววิทยาที่รอคอย เคน (ออสการ์ ไอแซค) สามีผู้ไปปฏิบัติภารกิจลับทางทหารเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม แล้วอยู่ๆ ก็พบเขากลับมาถึงบ้านอย่างลึกลับ ก่อนที่เขาจะล้มป่วยลงอย่างรวดเร็ว ทั้งคู่ถูกนำตัวไปยังฐานสำรวจม่านรุ้งในทันที

ที่นั่นเองที่ลีน่าได้เรียนรู้เกี่ยวกับภารกิจลับของเคน และอาสาร่วมทีมสำรวจหญิงล้วนเข้าไปค้นหาคำตอบของม่านรุ้ง

แม้แรกเริ่มจะดูเหมือนว่าการทำลายล้างในหนังเรื่องนี้มีความหมายตรงไปตรงมา ไม่ต่างไปจากหนังไซไฟเอเลี่ยนบุกโลกเรื่องอื่นๆ นั่นคือภัยคุกคามต่างดาวที่ทำลายล้างมนุษยชาติ แต่หนังกลับค่อยๆ คลี่คลายและครุ่นคิดถึงการทำลายล้างในความหมายอื่น นั่นคือการทำลายล้างตัวเอง

***ต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง***

แรงขับดันทำลายล้าง

ตั้งแต่เริ่มเรื่อง ลีน่าพูดถึงการแบ่งตัวของเซลล์อันเป็นรากฐานของการก่อกำเนิดชีวิต จาก 1 เป็น 2, 2 เป็น 4, 4 เป็น 16 ทวีคูณเรื่อยไปเช่นนี้ เราแบ่งเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนให้กลุ่มเซลล์ก่อร่างเป็นเนื้อเยื่อ อวัยวะ และร่างกาย ในขั้นตอนของการเติบโต การสืบพันธุ์ และการสมานบาดแผล ล้วนอาศัยการแบ่งเซลล์ทั้งสิ้น จนอาจกล่าวได้ว่าการแบ่งเซลล์สะท้อนให้เห็นพลังของการมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อร่างกายเราเติบโตไปถึงช่วงวัยหนึ่ง การแบ่งเซลล์จะค่อยๆ เสื่อมประสิทธิภาพ จนกระทั่งหยุดชะงัก เสื่อมสลาย และตายดับไป

ในฉากหนึ่ง ลีน่าบอกกับเคนว่าหากไม่มีกลไกทำลายตัวเองของเซลล์ มนุษย์คงจะอยู่ได้ยืนยง เป็นอมตะ

ตรงนี้เองคือการทำลายล้างที่ Annihilation หยิบมาขยายใหญ่ (ในทำนองเดียวกับที่ Arrival (2016) ของ เดอนีส์ วีลล์เนิฟ ขยายเรื่องราวมาจากสมมติฐานทางภาษาศาสตร์ของ Sapir-Whorf) และนำมาเทียบเคียงกับแนวโน้มในการทำร้ายทำลายตัวเองของมนุษย์ เมื่อการทำลายล้างตนเองถูกลงรหัสเอาไว้ในระดับเซลล์ มนุษย์จึงไม่อาจหนีพ้นจากแรงกระตุ้นที่จะทำลายตัวเองในมิติอื่นๆ ของชีวิต

ตัวละครหญิงในทีมสำรวจซึ่งถูกส่งไปทำภารกิจที่ผู้ชายต่างล้มเหลวนั้น ล้วนแบกบาดแผลบางอย่างของตนเข้าไปด้วย ในขณะที่ผู้นำทีมอย่าง ด็อกเตอร์เวนเทรส (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) เป็นโรคมะเร็ง โจซี่นักฟิสิกส์ (เทสซา ธอมป์สัน) ก็มีแขนที่เต็มด้วยรอยกรีด ส่วนตัวลีน่าเองก็เคยเป็นชู้กับเพื่อนร่วมงาน ราวกับหนังได้ชี้ให้เห็นว่าการคบชู้ของลีน่านั้นก็ไม่ต่างอะไรกับพฤติกรรมอื่นๆ อย่างการกรีดแขนตัวเอง การดื่มเหล้าสูบบุหรี่ หรือการเสพยา ที่ต่างก็ล้วนมอบความสุขชั่วครั้งชั่วคราวจากการได้ทำร้ายตนเอง

การเข้าไปในแดนพิศวงเบื้องหลังม่านรุ้งจึงไม่ใช่เพียงเพื่อไขปริศนาของมัน แต่ยังเป็นการเดินทางเข้าไปไถ่ถอนความรู้สึกผิดบาปในใจไปด้วยกลายๆ

เมื่อพูดถึงแรงกระตุ้นที่แผ่ซ่านอยู่เบื้องใต้พฤติกรรมมนุษย์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์อย่าง ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ชี้ว่าเราอาจพอจะแบ่งแรงกระตุ้นเหล่านั้นออกได้เป็นสองแบบด้วยกัน หนึ่งคือ Life Instincts หรือ Eros อันเป็นแรงขับดันทางเพศและการมีชีวิตอยู่ ส่วนอึกหนึ่งที่มาควบคู่กันคือ Death Instincts หรือ Thanatos ซึ่งก็คือแรงขับดันของความก้าวร้าวรุนแรง การเสี่ยงตาย และการทำลายตนเอง

หากความตายคือจุดหมายที่มนุษย์ (รวมไปถึงเซลล์) จำต้องมุ่งไปถึง แรงกระตุ้นทำนองนี้ก็ดูเหมือนจะช่วยยืนยันว่าเราจะไปถึงฝั่ง

เราอาจพยายามอธิบายการมีอยู่ของ ‘แรงกระตุ้นที่จะตาย’ ของเราได้มากขึ้นด้วยว่า มันมีขึ้นมาเพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องอยู่ไปตลอดกาล แต่สามารถสืบทอดชีวิตรุ่นถัดต่อจากเราได้ ในการกำเนิดชีวิตใหม่ขึ้นมา เซลล์สืบพันธุ์ต่างเพศ-ที่ผ่านขั้นตอนของการแบ่งตัวมาแล้ว-ได้เข้ามาผสมกัน แลกเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมกันจนออกมาเป็นชีวิตใหม่ ที่จะว่าเป็นสำเนาของตัวแม่ก็ไม่ใช่ ของตัวพ่อก็ไม่เชิง แต่เป็นการผสมผสานลักษณะต่างๆ กัน ซึ่งในภายหลังก็จะไปผสมกับลักษณะอื่น ถูกส่งต่อและกลายต่อๆ ไปเรื่อยๆ โดยมีพลังของการคัดเลือกตามธรรมชาติและการกลายพันธุ์เข้ามามีส่วน

นั่นทำให้การทำลายล้างไม่ใช่จุดจบ หากเป็นการทำลายเพื่อสรรค์สร้างให้เกิดวิวัฒนาการกลายเป็นสิ่งใหม่ๆ

การผสานและการกลาย

การกลายพันธุ์จึงเป็นอีกสิ่งที่ Annihilation จับมาขยายใหญ่ เมื่อทีมสำรวจเข้าไปในม่านรุ้ง พวกเธอก็ต้องตื่นตะลึงไปกับระบบนิเวศที่กลายพันธุ์ได้พิสดารเกินกฎเกณฑ์ทางชีววิทยา ไม่ว่าจะจระเข้เผือกที่มีฟันเรียงเป็นวงซ้อนคล้ายฟันฉลาม ดอกไม้ต่างสปีชีส์ที่เติบโตขึ้นมาบนลำต้นเดียวกัน กวางที่มีดอกไม้งอกออกมาจากเขา ไปจนถึงพืชนานาพันธุ์ที่เบิกบานขึ้นมาจากศพมนุษย์

การกลายพันธุ์ในม่านรุ้งลุกลามรวดเร็วราวเซลล์มะเร็ง และแน่นอนว่าบรรดาสมาชิกในทีมสำรวจต่างก็เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในร่างกายตัวเองด้วย พื้นที่ภายใต้การครอบงำของม่านรุ้งจึงเป็นพื้นที่ที่เร่งความเร็วของวิวัฒนาการ และหักเหกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงกฎของการกลายพันธุ์เสียจนประหลาดโลก

จุดที่น่าสนใจของการกลายพันธุ์ใน Annihilation ยังอยู่ที่แนวโน้มของการผสมข้ามสปีชีส์ และข้ามอาณาจักรพืช-สัตว์ ซึ่งชวนให้นึกถึงการกลาย (becoming) ที่นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ฌีลส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) กับ เฟลิกซ์ กัตตารี (Félix Guattari) อธิบายผ่านกรอบมโนทัศน์ของการทลายอาณาเขต (deterritorialization) ในขั้นตอนของการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นมาเป็นหน่วยใหม่

กล่าวคือเมื่อเกิดการผสานเชื่อมโยงระหว่างสิ่งใดก็ตาม สิ่งหนึ่งจะกลายความเป็นตัวมันเข้าไปสู่อีกสิ่ง อาณาเขตที่ขีดแบ่ง ‘ความเป็นสิ่งสิ่งนั้น’ ได้ถูกทลายลงไปเพื่อที่จะผสานเข้าหาอีกสิ่ง (ที่ก็ได้ทลายอาณาเขตความเป็นมันลงไปด้วย) และในขั้นตอนนั้นเองที่มันก่อร่างสร้างอาณาเขตของสิ่งใหม่ (reterritorialization) ขึ้นมา

ลักษณะของการเชื่อมโยงในทำนองนี้ เดอเลิซและกัตตารีเรียกมันว่าไรโซม (Rhizome) ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อแผ่ขยายที่แตกแขนงไปทุกทิศทาง และต่อต้านการแบ่งแยกลำดับชั้น

เราอาจกล่าวได้ว่าหนังสะท้อนการกลายและการเชื่อมโยงดังกล่าว เมื่อสิ่งมีชีวิตจากอาณาจักรสัตว์กลายไปผสานเชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตจากอาณาจักรพืช เช่นเดียวกับมนุษย์เองที่ผสานตัวเข้ากับสิ่งอื่น ดังเช่นที่โจซี่ดูเหมือนจะกลายไปเป็นต้นไม้รูปร่างคล้ายมนุษย์ ไปจนถึงเสียงกรีดร้องของมนุษย์ที่ตกเป็นเหยื่อของหมี ซึ่งกลับกลายมาเป็นเสียงที่หมีเปล่งออกมาเองในภายหลัง

การกลายพันธุ์ในม่านรุ้งทำให้เส้นแบ่งที่กีดกั้นอาณาเขตของสิ่งต่างๆ ที่อยู่ต่างลำดับขั้นกัน เช่นที่ในความเข้าใจโดยทั่วไปว่า “มนุษย์อยู่เหนือกว่าพืชและสัตว์ชนิดอื่น” ถูกเบลอและมาผสานกันอย่างไร้กฎเกณฑ์ ความเป็นมนุษย์จึงผสานเข้าหาสิ่งอื่น กลายเป็นสิ่งอื่นโดยกลาย เช่นเดียวกับสิ่งอื่นที่ก้าวล้ำล่วงผ่านเข้ามาในอาณาเขตความเป็นมนุษย์ และกลายมาเป็นมนุษย์โดยกลาย

การสะท้อนเพิ่มจำนวน

หนังพยายามอธิบายว่าม่านรุ้งก็ไม่ต่างอะไรไปจากรุ้งซึ่งเกิดจากการหักเหของแสงที่วิ่งผ่านปริซึม กฎเกณฑ์ต่างๆ รวมทั้งกฎของวิวัฒนาการ เวลา และคลื่นความถี่ภายในม่านรุ้ง จึงหักเหและเบี่ยงเบนไปจากกฎในโลกปกติ

ในช่วงครึ่งชั่วโมงสุดท้ายอันน่าตื่นตะลึงของหนัง การหักเหของแสงยังถูกนำมาขมวดให้เข้ากับการแบ่งตัวของเซลล์และการกลายพันธุ์ เมื่อลีน่าไปถึงตัวประภาคารต้นกำเนิดของม่านรุ้ง ได้พบคลิปวิดีโอที่เฉลยให้รู้ว่าเคนนั้นอยู่ในม่านรุ้งนานจนเกิดวิวัฒนาการมีร่างแฝด (Doppelgänger) ขึ้นมา และตัวเธอเองก็ได้จดจ้องเข้าไปในการระเบิดตัวของเซลล์ จนกระทั่งมันแบ่งตัว แผ่ขยาย และกอปรขึ้นมาใหม่เป็นร่างแฝดของตัวเธอเองอย่างรวดเร็ว

การกลายพันธุ์ที่บังเกิดในม่านรุ้งจึงไม่ใช่เพียงการผิดเพี้ยนไปของรูปแบบชีวิต (deformation) เท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการทวีรูปลักษณ์ (duplication) อีกด้วย นั่นคือ หากการผิดเพี้ยนไปของรูปแบบชีวิตทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดความแปลกประหลาดหลากหลาย การทวีรูปลักษณ์ก็เป็นการทำสำเนาสิ่งชีวิตขึ้นมา จาก 1 เป็น 2 ไม่ต่างจากการแบ่งเซลล์ดังที่กล่าวไปข้างต้น และไม่ต่างไปจากภาพสะท้อนบนกระจกที่เพิ่มจำนวนแบบทวีคูณ ซึ่งการสะท้อนนั้นก็เกิดมาจากการหักเหกลับของแสงด้วยนั่นเอง

Annihilation จึงเผยให้เห็นการทำลายล้างที่เป็นพื้นฐานของชีวิต ที่มิใช่เพียงเพื่อจะได้ทำลายตัวเองเฉยๆ หากยังเป็นการทลายอาณาเขตหรือสลายความหมายเดิมเพื่อก่อกำเนิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่แปรผันหลากหลาย หรือเป็นสำเนาที่สะท้อนจากสิ่งเดิม

เฉกเช่นที่ภาพสะท้อนของตัวเราในกระจกนั้นไม่อาจเป็น ‘ตัวเรา’ ได้อย่างครบถ้วนในทุกมิติ ความแตกต่างของร่างแฝดเองก็อาจเป็นฐานของการวิวัฒน์ไปสู่สิ่งใหม่ได้ไม่ต่างกัน ในตอนจบ เราเห็นลีน่ากลับมาพบกับเคนอีกครั้ง แม้หนังดูเหมือนจะบอกว่าลีน่าที่รอดออกมาคือร่างต้นฉบับ ส่วนเคนที่รอดออกมาคือร่างแฝด แต่เราก็ไม่อาจแน่ใจได้อีกต่อไปว่าพวกเขาเป็นใคร (หรืออะไร)

พวกเขาอาจยังคงเป็นตัวเองโดยกลาย แต่ม่านรุ้งก็ได้ทำให้พวกเขากลายไปเป็นสิ่งอื่นไปแล้ว นั่นทำให้แม้ท้ายที่สุดประภาคารจะถูกเผาทำลาย แต่สิ่งถูกกลายไปแล้ว (ทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในม่านรุ้ง และตัวลีน่ากับเคน) ย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อไป

แม้ Annihilation จะหยิบเอาวิทยาศาสตร์มายำและขยายให้เกินจริง (ไปมาก) แต่มันก็ทำให้เราได้ส่องสำรวจมิติบางอย่างที่ดำรงอยู่ในตัวเราเอง ทั้งในระดับจิตวิทยาและชีววิทยา รวมถึงมอบภาพของระบบนิเวศอันแสนพิศวงที่สิ่งมีชีวิต (รวมถึงมนุษย์) วิวัฒนาการจนผสานข้ามพันธุ์กลายมาเป็นสิ่งเดียวกันได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ไม่น่าแปลกใจหากมันจะได้รับการยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งหนังไซไฟที่แปลกประหลาดและน่าจดจำที่สุดของทศวรรษนี้

Tags: , , , ,