“ทุกครั้งที่ผู้หญิงลุกขึ้นยืนเพื่อตัวเอง โดยไม่รู้ตัวว่าเป็นไปได้ โดยไม่ได้อ้างสิทธิ์ เธอยืนหยัดเพื่อผู้หญิงทุกคน”
คำพูดของนักเขียน มายา แองเจโล ถูกแปะไว้เห็นชัดเป็นสง่าบนผนังสีขาวของ ATT 19 เป็นส่วนหนึ่งของงาน A Room Full Of Women นิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองแด่ ‘ผู้หญิง’ และเปิดพื้นที่ให้เกิดการแลกเปลี่ยนบทสนทนาว่าด้วยความเป็นผู้หญิงและที่ทางของพวกเธอในสังคมชายเป็นใหญ่ มันจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราจะชวนผู้อ่านทุกท่านมาสำรวจเยี่ยมชมงานนี้ด้วยกันในวาระโอกาสวันสตรีสากลนี้ (8 มีนาคม) แถมเรายังได้รับเกียรติจาก มุก—พรทิพย์ อรรถกาวงศ์ ภัณฑารักษ์สาวมากความสามารถประจำแกลเลอรี่แห่งนี้ มาพูดคุยและนำเสนอผลงานที่เธอคัดสรรกับเราด้วย
“จะเห็นได้ว่า งานนี้เราพยายามนำเสนอมุมมองของผู้หญิงที่หลากหลาย จากแบ็คกราวน์ที่ต่างกัน” คุณมุกบอกเราว่าในตอนนี้เธอจัดแสดงงานของนักสร้างสรรค์หญิง 12 คน ที่หลายๆ คนบอกว่าครั้งนี้เป็นครั้งแรกของพวกเธอที่มาแสดงงานในบริบทของ ‘งานศิลปะ’ เราเริ่มกันที่งานของ แพรว—พรรณระพี พุกกะเจียม เจ้าของเพจ ‘ทำ-มา-หา-กิน’ ที่ในโชว์นี้นำเสนองานที่สร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ของโรงงานผ้า ชวนขบคิดถึงเรื่องเบื้องหลังของอุตสาหกรรมและการบริโภคแฟชั่นที่ไม่เพียงจะต้องสวยงาม ยังต้องมีความรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อมด้วย ต่อด้วยอีกคนที่ปกติแล้วทำแบรนด์สิ่งทอ แต่งานนี้มาในรูปแบบคอนเซปท์ชวล คือ มุก—เพลินจันทร์ วิญญรัตน์ ดีไซน์เนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ ‘MookV.Lifestyle’ โดยเธอเลือกที่จะพูดถึงความเป็นแม่ ผ่านการใช้รูปทรงของคลื่นอัลตาร์ซาวด์ตอนเธอตั้งท้องลูกชาย มาดัดแปลงสร้างแบบทักทอที่วิจิตรน่าชม
ในขณะเดียวกัน นิทรรศการนี้ก็มีงานของศิลปินหญิงชื่อดังหลายคนเช่นกัน อาทิ Tiri Kananuruk ศิลปินไทยในนิวยอร์ก นำเสนองานจัดวาง “## TK1971:PCBs” เป็นโค้ดดิ้ง ตั้งแผงวงจรโปรแกรมสมองกลยืนอยู่ตรงมุมห้อง โชว์ให้เห็นว่าจากมุมของดิจิตัลนั้น ไม่มีสมการของเพศที่เหนือหรือต่ำกว่าแต่อย่างใด
ตรงกลางงานก็มีพู่กันขนาดยักษ์ชื่อ ‘Symbiosis’ ของ นท พนายางกูร ที่เคลื่อนขยับในบ่อจอกแหนตามคลื่นเสียง สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ (และเทคโนโลยี) ได้อย่างน่าสนใจ
อีกชื่อที่วงการศิลปะบ้านเราต้องคุ้นชินเช่นกัน นั่นคือ กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์ที่มีผลงานแสดงมาแล้วทั่วโลก ในงานนี้เธอเลือกนำเสนอวิดีโอชื่อ ‘The Scale III’ ฉายร่างกายของเธอที่ถูกใช้ประหนึ่งเครื่องชั่ง ขณะที่มีการทิ้งน้ำแข็งลงมาทับถมเป็นระยะๆ ตัดกันกับฉากหลังสีน้ำเงินสด โดยกวิตาบอกว่า เธอต้องการจะสร้างความตระหนักและวิพากษ์การใช้แรงงานที่หนักหน่วงและไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมประมงของไทยผ่านวิดิโอชิ้นนี้เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี เรามองว่าไฮไลต์ของงานนี้นั้นอยู่ที่ชุดผลงานภาพถ่ายสุดปังสามชุด เริ่มจาก ‘พระ·พุทธะ·เจ้าค่ะ’ โดย เอด้า—พันเลิศ ศรีพรหม ศิลปินหญิงข้ามเพศคนเดียวในงานนี้ ชุดภาพของเธอเป็นงานกึ่งสารคดีที่ติดตามเธอขณะพยายามจะขอบวชในวัดป่าแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน
“การเข้าถึงพุทธศาสนาโดยเฉพาะการบวชเป็นไปได้ยากสำหรับพุทธศาสนิกชนที่ไม่มีเพศวิถีเป็นผู้ชาย” เธอบรรยายว่าเธอใช้ชุดที่สร้างจากผ้าเช็ดหน้าสีขาว (แสดงถึงนัยยะการ ‘เช็ด’ หรือล้างอัตลักษณ์ออก) มานุ่งหุ่มประหนึ่งจีวรเคียงทาบกับพระสงฆ์ เพื่อเป็นเครื่องมือทางทัศนศิลป์ที่ตั้งคำถามกับความขัดแย้งของวิถีปฏิบัติและอัตลักษณ์ที่มีความหมายหลายในปัจจุบัน นอกจากนี้เรือนร่างเปลือยของเธอที่มีความ androgynous ก็ยังตั้งคำถามกับข้อจำกัดต่างๆ อย่าง สิ่งใดคือชาย? สิ่งใดคือหญิง? เหตุใดกฏเกณฑ์จึงพยายามจะสร้างกรอบให้สภาวะที่ลื่นไหล? กฏเกณฑ์เหล่านั้นยังมีที่ทางในสังคมสมัยใหม่หรือไม่? (ขอให้คะแนนเพิ่มกับ JOHNTODS ผู้บันทึกภาพเอด้าออกมาอย่างดงามไม่มีที่ติไว้ ณ ที่นี้ด้วย)
งานอีกชุดที่เราประทับใจคือภาพชุด ‘Nannies’ โดย บีม—ดวงตะวัน ศิริคูณ ซึ่งปกติแล้วเราจะรู้จักเธอในฐานะผู้กำกับสาวสวยแฟชั่นนิสต้าของวงการโฆษณา แต่ในงานนี้เธอเลือกที่จะนำเสนอภาพถ่ายจากฟิล์มของเธอ เป็นงานกึ่งสารคดีที่เธอไปสัมภาษณ์ และถ่ายภาพ พี่เลี้ยง/แม่บ้าน ผู้มีความผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับครอบครัวผู้ว่าจ้างผ่านเวลาหลายปี จนหลายคนเปลี่ยนแปลงจาก ‘ลูกจ้าง’ ไปเป็น สมาชิกกิตติมาศักดิ์ของครอบครัว ในชุดภาพของเธอนั้นเราจะเห็นผู้หญิงอยู่ในสภาพแวดล้อมของบ้าน แต่หากพินิจพิเคราะห์ดูรายละเอียดต่างๆ ดีๆ ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน จวบจนเครื่องแต่งกายหรือทวงท่าและอริยาบทของพวกเธอ เราอาจจะเริ่มตั้งคำถามถึงบทบาทของเธอในบ้านนั้นๆ แม้ว่าทุกภาพเราจะรู้สึกได้ถึง ‘ความเป็นเจ้าของ’ ที่พวกเธอมีต่อพื้นที่ในภาพ แต่ก็ชวนให้คิดถึง ‘บ้าน’ ที่พวกเธอจากมาเช่นกัน
สุดท้ายคือชุดภาพฟิลม์ของช่างภาพแนวสตรีทชื่อดังอีกท่าน ส้ม นุรารักษ์ หรือในโลกไอจีจะรู้จักเธอในนาม @somroxy และ #somfilmsnap ในงานนี้เราได้ชมผลงานภาพกลิ่นอายแฟชั่นเช่นเดิม ที่เพิ่มเติมคือแนวคิดว่าด้วย ความต่างของ ‘Male gaze’ และ ‘Female gaze’ ในงานถ่ายแบบ โดยคุณส้มบอกว่า ภาพผู้หญิงในสื่อที่เราเห็นกันปัจจุบันนี้ มักจะถูกถ่ายทอดจากสายตาและมุมมองของผู้ชาย ทำให้เรือนร่างของผู้หญิงมักถูกผูกไว้กับเซ็กซ์ ความเป็นวัตถุทางเพศ รวมถึงค่านิยมที่ผู้ชายต้องการให้ผู้หญิงเป็น แต่ในชุดภาพของเธอนั้นต้องการสื่อถึงอารมณ์ที่ต่างไป และด้วยเหตุผลนี้ ทำให้นางแบบทั้งสองคนวางใจเธอให้ถ่ายนู้ด และส่งผลให้อารมณ์บทภาพนั้นมีความนุ่มละมุนและเป็นธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมาในเวลาเดียวกัน
“มุกอยากให้เด็กผู้หญิงที่ได้มาดูงานนี้ รู้สึกว่าพวกเขามีพลังที่จะสามารถเป็นอะไรก็ได้อย่างที่เขาต้องการ” ภัณฑารักษ์ของเรากล่าวทิ้งท้าย “สำหรับผู้ชายก็เช่นกัน เราจะไม่สามารถเปลี่ยนโลกของเราให้สมดุลขึ้นได้หากเราไม่ทำงานร่วมกัน อยากให้งานนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน”
ขอบคุณภาพโดย เพจ ทำ-มา-หา-กิน
Fact Box
นิทรรศการ A Room Full Of Women จัดแสดงที่ ATT 19, ซอบกัปตันบุช แขวงบางรัก, กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ ถึง 4 เมษายน โดยจะมีการจัดเสวนาหัวข้อต่างๆที่เกี่ยวกับ Feminist โดยศิลปินในโชว์และแขกรับเชิญจากสาขาอื่นๆ ทุกวันเสาร์ ตลอดทั้งเดือน ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ATT19.BKK/