ในชื่อที่ติดหราอยู่ตรงทางเข้านิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ ๒: ไตร่ถามความหลากหลายในอุษาคเนย์ ต่อด้วยชื่อภาษาอังกฤษที่ยาวไม่แพ้กัน Spectrosynthesis (II) Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia เรารู้สึกสนใจในความซับซ้อนของสิ่งนี้ทันที โดยเฉพาะในตัวอักษรสุดท้ายของหมู่ตัวอักษรที่พูดถึงเพศสภาพ ที่ดูจะมีความยากมากกว่าเพื่อน เมื่อ เลสเบี้ยน (หญิงรักหญิง), เกย์ (ชายรักชาย), ไบฯ (รักทั้งชายและหญิง), หรือ ทรานส์ฯ (ข้ามเพศ) มีจำกัดความที่ชัดเจน แต่ Q สำหรับ ‘Queer’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘แปลก’ คำนี้ กลับไม่มีความหมายแน่ชัดเอาเสียเลย จะตีความได้ก็ต่อเมื่อมีต้นตอความ ‘ปกติ’ ให้เกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างออกมาเท่านั้น ชวนให้คิดว่าในฐานะผู้ชมของนิทรรศการนี้ เราจะเสพงานที่นิยามตัวเองด้วยความ ‘แปลก’ ไปเพื่ออะไร? นิทรรศการต้องการจะ ‘ไตร่-ถาม’ อะไรเรากันแน่?

ยิ่งตั้งคำถามกันไปมา รังแต่จะฟุ้งซ่านเข้าไปกันใหญ่ เราจึงจะขอพาทุกท่านเข้าไปสำรวจและถอดบทเรียนจากนิทรรศการนี้ด้วยกันเสียเลย  

ท่ามกลางผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัยใจกลางกรุง สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวเราคือความรู้สึกชื่นชมต่อความกล้าที่เลือกหยิบประเด็น ‘เพศสภาพ’ (gender) มาเป็นหัวข้อหลักในนิทรรศการใหญ่เบอร์นี้ 

โดยโชว์นี้ถูกจัดขึ้นครั้งแรก ในกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ช่วงวาระโอกาสที่ได้ผ่านกฏหมายสมรสของคนเพศเดียวกันเป็นประเทศแรกในเอเชีย อย่างไรก็ดี เราต้องพึงระลึกด้วยว่า ไม่ใช้ทุกประเทศที่จะสามารถจัดแสดงงานในธีมนี้ได้ —ด้วยทั้งกรอบของศาสนา จารีต และศีลธรรมอันดีงาม—การเลือกที่จะมาจัดนิทรรศการนี้เป็นครั้งที่สองในไทย ในพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่อย่างหอศิลปกรุงเทพฯ ขณะที่บ้านเรากำลังยื่นแก้ไขพรบ.คู่ชีวิต อีกทั้งเพิ่มจำนวนศิลปินจากเอเชียอุษาคเนย์ โดยเฉพาะประเทศมุสลิมอย่าง มาเลเซีย หรือ อินโดเนเซีย รวมถึง บรูไน จึงมีนัยยะที่สำคัญมากทีเดียว 

อีกหนึ่งแง่ของความ ‘กล้า’ ที่เราสนใจ คือ การใช้เรือนร่าง พูดถึงเพศสภาพที่หลากหลายอย่างตรงไปตรงมา (จะว่าไปแล้วมันก็น่าฉงน ทำไมเราถึงมองสิ่งนี้ว่าเป็นความกล้า ทั้งๆที่มันควรจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกคนเกิดมาจากการร่วมเพศ เกิดมาพร้อมเครื่องเพศ แถมมันกำหนดบทบาทชีวิตเรามาตลอดไม่ใช่หรือ?)

แน่นอนว่าในโชว์นี้มีรูป ‘จู๋’ และ ‘จิ๋ม’ (และสิ่งอื่นๆ) มากมาย  แต่หากมองข้ามนัยยะที่ยึดโยงอยู่กับความยั่วยวนไปซักครู่ เราจะเห็นว่ามีศิลปินไม่น้อยที่ใช้อวัยวะเพศ รวมถึงฟอร์มอื่นๆบนร่างกาย ในการสั่นคลอนมายาคติที่ผู้คนมีต่อเพศสภาพได้อย่างทรงพลัง อาทิ การใช้ดอกไม้—สัญลักษณ์ของความเปราะบางและอ่อนโยน—จัดวางอย่างย้อนแย้งกับเรืองร่างนู้ดผู้ชายในงานภาพถ่ายของ นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ หรือในงานลายเส้นของ จิมมี่ อ่อง ที่มีภาพเปลือยของผู้หญิงสองคนและเด็กหญิงอีกหนึ่งอุ้มโอบกันและกัน หลอกให้สมองเราพยายามจะยัดเหยียดความสัมพันธ์แบบ ‘พ่อ-แม่-ลูก’ ให้กับตัวละครในภาพโดยอัตโนมัติ เพียงเพื่อให้ตกใจว่า สำนึกของเราผูกความเป็นแม่ไว้กับเรือนร่างผู้หญิงมาตลอด เหมือนว่าทุกคนทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ บนโลกนี้ผ่านขั้วความเป็น ชาย และ หญิง เสมอ เราถูกฝังสมองว่า อวัยวะเพศของเรานั้นจะสร้างฮอร์โมนที่กำหนดลักษณะนิสัยและที่ทางของเขาบนโลกใบนี้ 

เราหมกมุ่นอยู่กับหน้าที่ของกายภาพ แต่งานศิลปะชิ้นนี้ ‘โยนีไหนกัน? ที่ให้กำเนิดเด็กหญิงคนนั้น’ กำลังบอกว่า เพศทางชีวภาพ อาจจะไม่ได้ตรงกับเพศสภาวะ ของคนแต่ละคนเสมอไป 

อย่างที่นัยย์ตาของคู่รักแต่ละคู่ ในซีรีส์ภาพถ่ายของ ปิยะรัศมิ์ ปิยะพงศ์วิวัฒน์ ตะโกนก้องบอกว่า พวกเขาทุกคู่ล้วนมีสิทธิ์ในความรัก เช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นๆทุกคน —ไม่ว่าคู่ที่พวกเขาเลือกมันจะตรงกับจริตหรือความเข้าใจของผู้ชมหรือไม่ก็ตาม 

เนื่องจากกลุ่มศิลปินถูกรวบรวมเข้าด้วยกันจากพื้นที่เอเชียอาคเนย์ ร่างกายในนิทรรศการนี้จึงแสดงถึงความย้อนแย้งของอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติโดยปริยาย 

ตามบริบทแล้ว แนวคิดของตัวอักษร LBGTQ แต่ละตัวล้วนมีรากมาจากการเคลื่อนไหวทางสังคม และยังคงยึดโยงอยู่ประวัติศาสตร์ของชาติตะวันตก ดังนั้นเมื่อถูกนำมาตีความโดยศิลปินแถบบ้านเรา เราจึงได้เห็นร่างกายสีผิวของเอเชียที่พยายามเข้าไปอยู่ในแม่แบบอัตลักษณ์ตะวันตกอยู่มากพอสมควร อาทิ ในภาพยนตร์ของ จุน เจี้ย หวัง (Jun-Jieh Wang) ที่เลือกหยิบองค์ประกอบของภาพยนตร์กึ่งอิโรติกเรื่อง Querelle (1982) โดยผู้กำกับชาวเยอรมัน ไรเนอร์ แวร์เนอร์ (Rainer Werner) มาตีความใหม่ หรือในห้องติดกันก็มีงานของ หมิง หว่อง (Ming Wong) ที่หยิบมาสเตอร์พีชอย่าง Death in Venice โดย ลูชิโน วิสคอนติ (Luchino Visconti) มานำแสดงใหม่ด้วยคนเอเชียเช่นกัน อีกทั้งหน้าห้องฉายหนังทั้งสองเรื่องนี้ ยังมีงานปักผ้าคลุมเตียง 3 ผืนของ จักกาย ศิริบุตร ที่เต็มไปด้วยใบหน้าของเกย์ไอคอนจากฝั่งตะวันตก ที่มีอิทธิพลต่อศิลปิน อาทิ เฟรดดี้ เมอร์คิวรี่ (Freddie Mercury), บรูส ลี (Bruce Lee) และ ฮาร์วี มิลค์ (Harvey Milk) คละไปกับสามเหลี่ยมสีชมพูที่ถูกใช้ตีตราชาวเกย์ในแคมป์นาซี  ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ สะท้อนความรู้สึกที่ประดักประเดิด ของอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่ศิลปินกอปรขึ้นจากประวัติศาสตร์อันไกลตัว อีกทั้งการกดทับของวัฒนธรรม (และค่าเงิน) จากประเทศเจ้าอาณานิคม แนวคิดนี้เห็นได้ชัดมากในงานที่อ้างอิงจากสถานที่เริงรมณ์ โดยศิลปินไทยสองท่าน คือ ไมตรี ศิริบูรณ์ ผู้นำเสนอเรือนร่างนู้ดของตน จำลองแบบมาจาก Eros หรือเทพแห่งความรักของกรีก กำลังศิโรราบในอ้อมแขนและสายตาของชายชาวตะวันตกวัยเกษียณสองคน และ ปริณต คุณากรวงศ์ ที่นำเสนอผลงานชุด Boy show (ฉายหนุ่ม) เล่าถึงความกระอักกระอ่วนของการถูก ‘ฟอกขาว’ ด้วยวิธีคิดและศีลธรรมตะวันตกผิวขาว โดยศิลปินใช้ทั้งร่างกายของตัวเองมาบิดเบือนด้วยปูนขาว, ย้อมปกหนังสือเรียนเป็นสีขาว, รวมถึงสร้างอนุเสาวรีย์สีนวลทรงสูงที่ดูเหมือนจะแข็งแรง แต่แท้จริงแล้วมีเปลือกไข่เป็นแกนกลางอันเปราะบาง เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ยังมีงานอีกส่วนที่ใช้ความเชื่อหรือบริบทพื้นถิ่นในการพูดถึงเพศสภาพที่ซับซ้อน อาทิ ประติมากรรมชื่อ Pahlawan ของ ดัว (Dua) ผู้พยายามเปลี่ยนทัศนคติเชิงอนุรักษ์นิยม ด้วยการสร้างงานแกะสลักอันพิสดาร ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชาวอะบอริจินในประเทศมาเลเซีย ที่นับถือเทพเจ้าทั้งชายหญิง ทำให้บนรูปปั้นเขามีอวัยวะเพศทั้งสองเพศ, หรือสีสันของ ลิงเด้า ในงานของ อดิศักด์ ภูผา ที่บอกเราว่าบทสนทนาเรื่องเพศนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในภาพยนตร์หรือสถานที่ท่องเที่ยวของฝรั่ง แต่ยังคงอยู่ในพื้นที่ประเพณีพื้นบ้านของเราด้วย  

อย่างไรก็ดี หากเราจะวางบริบทเรื่องโครงสร้างทางสังคมลงเสีย งานบางชิ้นก็ยังทรงพลังอยู่

อาทิ Visible Woman ของ เจส ฟาน (Jes Fan) ที่เอาอวัยวะและเครื่องในมาแยกส่วน นำเสนอในรูปแบบโมเดลพลาสติกใส ตั้งคำถามกับขีดจำกัดและค่านิยมที่เราถูกติดไว้กับร่างกายซึ่งกำลังถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยี 

หรืออีกงานที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของโชว์นี้ คือ Welcome To My World, ‘Tee’ ของคุณ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ประกอบด้วยจอฉายหนังขนาดใหญ่ 6 จอ รายล้อมผู้ชมในห้องมืด แต่ละจอฉายวิดิโอขาวดำ ของหญิงข้ามเพศนางหนึ่ง นอนนิ่งอยู่เงียบๆในทวงท่าคลาสสิคนู้ด ชวนให้คิดถึงภาพวาด Olympia ของ เอดัว มาแน (Édouard Manet) เป็นวิธีนำเสนอที่ทั้ง ‘แสดงให้เห็น’ กึ่ง ‘บังคับให้จ้อง’ โดยจอภาพเป็นเสมือนดวงตาของผู้ชมที่ค่อยเล้าโลมเรือนร่างเควียร์ที่กำลังจ้องเรากลับมาอย่างไม่ยี่หระ 

มันเป็นความรู้สึกที่ทรงพลังอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ภาพในจอค่อยๆ เลื่อนผ่านอวัยวะเพศชายของเธอ ที่ชั่วขณะแรกมันอาจดูแปลกและไม่เข้าที่เข้าทางกับสรีระของ ‘เธอ’ เท่าไร แต่เมื่อเราค่อยๆ เปิดใจดู จะรู้สึกว่า ‘ความแปลก’ นั้นเป็นเพียงสิ่งสร้าง ส่วน ‘ความงาม’ นั้นคือความจริงที่อยู่เหนือกรอบทุกสิ่ง ยิ่งพออ่านเรื่องราวที่ศิลปินทิ้งไว้ให้ในบทข้อเขียน เรายิ่งรู้สึกยกย่องคนข้ามเพศที่เด็ดขาด และเลือกทางของตัวเอง แม้คนอื่นจะไม่ยอมรับ ทั้งยังหันกลับมาตั้งคำถาม แล้วเราล่ะ ติดกรอบอะไรที่มากับเพศของเราอยู่รึเปล่า? ในทางกลับกัน เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่พยายามตีกรอบกับใครต่อใครหรือไม่?

ในโซนสุดท้ายของงาน จบด้วยกลิ่นอายของความเศร้า เริ่มตั้งแต่มวลความโดดเดี่ยวในภาพถ่ายของศิลปินที่จบชีวิตตัวเองอย่าง เยิ่น หาง (Ren Hang), ชุดภาพวาดที่เป็นเสมือนบันทึกชีวิตที่โลดโผนทั้งในและนอกคุกของ มาร์ติน หว่อง (Martin Wong) จวบจนชิ้นงานประติมากรรมขนาดใหญ่ของ เถกิง พัฒโนภาษ ทั้ง 2 ชิ้น ได้แก่ Relational Anesthetic #1 ที่เปรียบเสมือนการส่องกล้องจุลทัศน์เข้าไปในร่างกาย เห็นเป็นเส้นประสาทและเซลล์สีดำมืดและด้านชา สะท้อนกับอีกชิ้นที่ล้อกับ ภาชนะศักดิ์สิทธิ์ของชาวคริสต์ ที่บรรจุศีลมหาสนิท สิ่งแทนเรือนร่างอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า พระผู้ไถ่บาป แต่ในงานชิ้นนี้พื้นที่นั้นกลับเป็นสีดำสนิทเช่นกัน อดคิดไม่ได้ว่าทั้งหมดนี้กำลังแสดงภาพของการกดขี่และโดนลงทัณฑ์จากโทษของเพศสภาพ ไม่ว่าจะในระดับสังคมหรือภายในตัวเอง โดยเฉพาะงานภาพเพนท์แอบสแตร็กต์ตรงทางออกของ สุดาภรณ์ เตจา ซึ่งบางส่วนได้รับแรงบันดาลใจมากจากการเสียชีวิตของเพื่อนเกย์ของศิลปินเอง ยิ่งชวนให้สะท้อนใจเมื่อหลายครั้งสีสันทั้งหลายของสายรุ้ง จะต้องมีจุดจบเป็นสีดำ

แล้วเราจะแก้ไขหรือไปต่ออย่างไรได้บ้าง?

เราเดินออกจากนิทรรศการนี้พร้อมกับคำถามมากกว่าคำตอบ (ซึ่งก็อาจจะตรงกับจุดประสงค์ของภัณฑารักษ์?) แถมแต่ละคำถามก็ยากและซับซ้อนมากหลากหลายระดับ และอาจไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเสียทีเดียว อาจจะเป็นเพราะว่างานเหล่านี้เป็นกระจกสะท้อนความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อนและไร้คำตอบพอกันก็ได้  แต่สิ่งที่เราปลื้มมากในงานนี้คือ อย่างน้อยที่สุด นิทรรศการนี้ได้เปิดช่องทางให้เข้าถึงเรื่องของเพศสภาพ และสร้างบทสนทนา ไม่เพียงแค่ในวงของนักวิชาการ หรือเวทีของนักต่อสู้เพื่อสิทธิต่างๆ แต่ยังเป็นในพื้นที่สาธารณะที่ใครก็เข้าถึงได้

หากมีคนถามว่ามัน “เหมาะสมหรือไม่” เราขอตอบเสียงแข็งเลยว่า “เหมาะสมมาก” โดยเฉพาะในสังคมที่หมกหมุ่นอยู่กับความ ‘เป็น’ เพศอะไร มากกว่าสิทธิที่พึงได้ในฐานะความ ‘เป็นมนุษย์’ ของคนนั้นคน –  ฯลฯ

การใช้ศิลปะเพื่อเชื้อเชิญให้มองโลกในมุมที่ ‘แปลก’ สำหรับสังคมนี้ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น จนกว่าความ ‘แปลก’ นั้นจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา และถูกแทนที่ด้วยคำว่า ‘หลากหลาย’ ในที่สุด