การเสวนาในหัวข้อ ‘ทวาทศมาส: กวีนิพนธ์แห่งความหลงใหลสมัยอยุธยาตอนต้น’ ของศาสตราจารย์คริส เบเกอร์ (Chris Baker) ในงานสนทนาสัปตสนธิ 2 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จบลงด้วยการเปรียบเทียบกวีนิพนธ์โบราณของไทยดังกล่าวกับวรรณกรรมประเภทบทร้อยกรองกำสรด (elegy) ของตะวันตกเช่นบทกวี In Memoriam ของกวีชาวอังกฤษ อัลเฟรด ลอร์ด เทนนิสสัน (Alfred Lord Tennyson) ซึ่งอุทิศแด่ความรักอันดูดดื่มของผู้เขียนต่อเพื่อน (ชาย) ผู้วายชนม์ไปอย่างกะทันหัน 

ความน่าสนใจของการเปรียบเทียบนี้ไม่ได้อยู่ที่ ‘ความเหมือนกันโดยบังเอิญ’ ของวรรณกรรมตะวันตกกับตะวันออกเท่านั้น แต่ยังชวนให้นึกต่อไปได้ว่า กวีนิพนธ์ที่พูดถึงเนื้อหนังมังสา กิจกรรมทางเพศ และกามารมณ์อย่างโจ่งแจ้งอย่าง ทวาทศมาส นั้น แท้จริงแล้วเป็นกวีนิพนธ์แห่งความตายและการสูญเสีย ศาสตราจารย์เบเกอร์ผู้กำลังแปล ทวาทศมาส เป็นภาษาอังกฤษ (หลังจากได้แปลวรรณคดีไทยอย่างเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน และ โคลงยวนพ่าย มาแล้ว) ยังได้สันนิษฐานด้วยว่าการพลัดพรากจากหญิงคนรักใน ทวาทศมาส เป็นการจากลาแบบไปแล้วไปลับ ทั้งนี้ เนื่องจากหลักฐานเกี่ยวกับประวัติการแต่งเรื่องนี้มีอยู่จำกัดมาก ประเด็นดังกล่าวจึงยังมีข้อที่ต้องถกเถียงกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เราอาจกล่าวได้ว่าความสูญเสียเป็นประเด็นสำคัญที่กวีผู้แต่ง ทวาทศมาส นำมาใช้ถ่ายทอดอารมณ์ปรารถนาอันเข้มข้น 

ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างความรัก (Eros) กับความตาย (Thanatos) ได้รับการถกเถียงมายาวนานในเชิงปรัชญาและจิตวิเคราะห์ แต่บทความนี้จะขอพูดถึงประเด็นดังกล่าวในบริบทของพุทธศาสนา เพื่อตั้งคำถามว่าในบริบททางศาสนาที่ความปรารถนาทางเพศถูกมองว่าเป็นกิเลส และความพลัดพรากสูญเสียควรนำไปสู่การตระหนักถึงความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งนั้น กวีหรือมีวิธีการตอบโต้หรือท้าทายกรอบแนวคิดเชิงศีลธรรมและปรัชญาเหล่านี้อย่างไร หรือกล่าวให้ง่ายที่สุดได้ว่า เราจะพูดถึงความปรารถนาทางเพศได้อย่างไรในบริบทที่ความปรารถนาถูกมองว่าเป็นความผิดบาป 

ในหนังสือ Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema อานีคา ฟูร์มันน์ (Arnika Fuhrmann) อาจารย์ประจำภาควิชาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์เนล เรียกปรากฏการณ์ที่ความสูญเสียถูกนำมาใช้เพื่อถ่ายทอดความปรารถนาทางเพศว่า ‘โศกาดูรแบบพุทธ’ (Buddhist melancholia) ตัวอย่างเช่นในคัมภีร์พุทธศาสนาที่การพิจารณาสังขารของสตรีหรือการเจริญอสุภกรรมฐานมักนำไปสู่การตระหนักในมายาภาพของเนื้อหนังมังสาและการดับความปรารถนาทางเพศในที่สุด ขณะเดียวกันกระบวนการดังกล่าวก็มักเป็นช่วงเวลาที่ความปรารถนาเผยตัวอย่างเข้มข้นด้วย ฟูร์มันน์เสนอว่าในภาพยนตร์และศิลปะไทยร่วมสมัย เช่นภาพยนตร์เรื่องสัตว์ประหลาด ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หรือผลงานของอารยา ราษฎร์จําเริญสุขที่ว่าด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นกับคนตาย ไม่ได้มีนัยแห่งการสั่งสอนศีลธรรมหรือแนวคิดเรื่องความหลุดพ้น หากแต่นำไปสู่การใคร่ครวญเกี่ยวกับความปรารถนา โดยเฉพาะความปรารถนาที่ขัดกับกรอบศีลธรรมทางสังคมและศาสนา

ย้อนกลับมาที่ทวาทศมาส กวีนิพนธ์สมัยอยุธยาที่ถ่ายทอดอารมณ์โศกเศร้าจากการพลัดพรากสูญเสียคนรักตามเวลาที่เคลื่อนผ่านไปแต่ละเดือน (อันเป็นที่มาของชื่อ “ทวาทศมาส” ซึ่งหมายถึงเดือนทั้งสิบสอง) เมื่อครวญมาจนถึงเดือนห้า กวีพรรณนาความร้อนตามฤดูกาลโดยเชื่อมโยงกับไฟบรรลัยกัลป์ที่เผาไหม้สรรพสิ่งเป็นจุณ แต่ก็สรุปในตอนท้ายว่าความร้อนใดๆ ก็ไม่อาจเทียบกับความทุกข์ร้อนของกวีเมื่อต้องพลัดพรากจากหญิงคนรัก

๏ สหัสสุริเยศเรื้องรังสี
ผลาญแผ่นไตรภพสรรพ์เษกไหม้
กำเดากำดาลตรีภพนาศ
ร้อนไป่ปานน้องไท้จากจร ฯ

๏ ไตรยุคทั้งสี่ร้อนรนอก
โลกประชารากรหล่อหล้ม
ร้อนเรียมราศพันพกแสนส่วน
ไตรกำเดาดาลต้มแตกทรวง ฯ

                                              (ทวาทศมาส) 

การตีความว่าการอ้างถึงเหตุการณ์สิ้นโลกตามจักรวาลวิทยาแบบพุทธมีจุดมุ่งหมายเพื่อสอนแนวคิดเรื่อง “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” คงไม่เป็นธรรมนัก เพราะวรรณคดีเรื่องนี้ไม่ได้มีน้ำเสียงแห่งการสั่งสอนศีลธรรมแต่อย่างใด หากแต่เน้นให้เห็นความเข้มข้นรุนแรงแห่งอารมณ์รักที่อาจทำให้เผาทำลายจักรวาลให้มอดไหม้ไป หากอ้างอิงตาม ไตรภูมิกถา ที่อธิบายว่าการแตกดับของจักรวาลมีสาเหตุมาจากความเสื่อมทางศีลธรรมจนนำสู่ยุคมิคสัญญีดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อว่าไฟไหม้กัลป์ แลไหม้ฝูงคนทั้งหลายฝูงกระทำบาปด้วยกาย ผู้กระทำบาปด้วยปาก ผู้กระทำบาปด้วยใจ แลมิรู้บุญธรรมสักอันเลย แลบมิรู้จักบิดาแลมารดา แลมิรู้จักสมณพราหมณ์ แลมิรู้จักท่านผู้ทรงธรรม แลมิรู้จักว่าพี่น้องแลญาติมิตรสหาย แลเห็นกันดั่งกวางแลทราย ดั่งเป็ดแลไก่ ดั่งหมูแลหมา ดั่งช้างแลม้า ย่อมไล่ฆ่าไล่ฟันกัน” (ไตรภูมิกถา) ก็จะเห็นได้ว่าการล่มสลายของจักรวาลใน ทวาทศมาส มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงพลังอำนาจของความปรารถนาอันเป็นทั้งพลังแห่งการก่อกำเนิดและทำลายล้าง

หรือหากเทียบกับ นิราศเดือน ของหมื่นพรหมสมพัตสรที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยใช้กลวิธีพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกต่อหญิงคนรักตามเวลาที่เคลื่อนไปในลักษณะเดียวกับ ทวาทศมาส เราจะเห็นว่านิราศเดือนมีน้ำเสียงสั่งสอนศีลธรรมโดยกล่าวสรุปในตอนท้ายเรื่องว่าต้องการชี้ให้เห็นโทษของความตัณหาราคะและตระหนักในความเป็นอนิจจังของชีวิต

ว่าด้วยเรื่องตัณหาแล้วน่าเกลียด
ฉันขี้เกียจอธิบายน้ำลายไหล
สําหรับโลภโศกศัลย์ทุกวันไป
กว่าจะได้พระนิพพานสําราญครัน
จะเวียนตายเวียนเกิดกําเนิดนับ
สักกี่กัปป์จึ่งจะสิ้นที่โศกศัลย์
กิเลสเล่าเมามัวเข้าพัวพัน
มัดกระสันฝูงสัตว์อยู่รัดรึง
ทํากระไรจะได้รอดตลอดล่วง
ให้พ้นห่วงตัณหาราคาขึง
ฉันก็นึกเหนื่อยหน่ายหายคะนึง
ให้คิดถึงชีวิตอนิจจัง
                                 (นิราศเดือน)

อาจกล่าวได้ว่าขณะที่ความปรารถนาทางเพศใน นิราศเดือน ทำหน้าที่ ‘รับใช้’ แนวคิดเชิงศีลธรรมในพุทธศาสนา กวีผู้แต่ง ทวาทศมาส ได้กระทำสิ่งที่ตรงกันข้าม นั่นคือการหยิบยืมแนวคิดและจินตภาพในพุทธศาสนามาเป็น ‘เครื่องมือ’ ถ่ายทอดความปรารถนาอันเข้มข้น กวีพูดถึงความปรารถนาทางเพศด้วยศัพท์ทางพุทธศาสนาแต่ไม่ได้ใช้ในเชิงตัดสินคุณค่าทางศีลธรรม เช่น การพูดถึงกามในฐานะสิ่งที่ให้ความรื่นรมย์ยินดี (“กามารดีรัตน  รมเยศ”) หรือการพูดถึงกามคุณทั้งห้า (บางแห่งเรียก ‘หื่นห้า’) คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสในฐานะเครื่องปลุกเร้าความปรารถนาที่มีต่อนางแม้ในยามพลัดพราก (“เบญจฤดีดัษกาม เกลศกลั้ว”) และเมื่อได้อ่านเนื้อหาของ ทวาทศมาส ผู้อ่านก็พบบทพรรณนากิจกรรมทางเพศอันหวือหวาที่เน้นให้เห็นผัสสะทั้งห้า ตัวอย่างเช่นบทที่พรรณนาว่ากวีคิดถึงลิ้นที่อ่อนช้อยเป็นพิเศษ กลิ่นหอมอันเป็นทิพย์ เสียงอันไพเราะ และเรือนร่างที่เคยแนบชิดดุจร่างเดียวกันของนางอันเป็นที่รัก

๏ เรียมคิดพิเศษช้อยชิวหา
รนฤดีดัษกามก่อเกื้อ
ถวิลทิพยสุนาสาเสาวณิศ
เนื้อแนบนวลนุชเนื้อแนบใน

                                           (ทวาทศมาส)

การใช้คำว่า ‘คิด’ และ ‘ถวิล’ ในโคลงบทนี้และโคลงอีกหลายบทใน ทวาทศมาส ชี้ให้เห็นว่าความรื่นรมย์แห่งกามคุณอยู่ในบริบทของการพลัดพรากสูญเสีย อันเป็นลักษณะของโศกาดูรแบบพุทธ หรือ Buddhist melancholia ดังได้กล่าวถึงในตอนต้น ความสูญเสียในวรรณคดีเรื่องนี้ไม่ได้นำไปสู่การสอนหลักธรรมเรื่องการหักเสน่หาอาลัยเพื่อไปสู่ความหลุดพ้น หากแต่กลับยิ่งเน้นย้ำความยึดติดในกามารมณ์อันเป็นสรณะของชีวิต ถึงตรงนี้ เราอาจกลับไปตอบคำถามในตอนต้นของบทความได้ว่า ในบริบททางศาสนาที่ความปรารถนาทางเพศถูกมองว่าเป็นบาปหรือกิเลส หนทางเดียวที่เราจะท้าทายกรอบความคิดดังกล่าวก็คือการนำวาทกรรมทางศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือถ่ายทอดความปรารถนาทางเพศเสียเอง 

การนำโศกาดูรแบบพุทธมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อท้าทายกรอบความคิดเรื่องเพศยังพบได้ในภาพยนตร์ร่วมสมัยอย่างเรื่อง มะลิลา ของผู้กำกับอนุชา บุญยวรรธนะ ที่นำแนวคิดเรื่องความเป็นอนิจจังมาถ่ายทอดความปรารถนาแบบเควียร์ การเน้นย้ำแนวคิดเรื่องความไม่จีรังยั่งยืนปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนตั้งแต่การอ้างถึงบทกลอนจากเรื่องรำพันพิลาป ของสุนทรภู่ในตอนเปิดเรื่องที่ว่า 

เหมือนบายศรีมีงานท่านถนอม
เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา
พอเสร็จงานท่านเอาลงทิ้งคงคา
ต้องลอยมาลอยไปเหมือนใบตอง’

                                   (รำพันพิลาป) 

ตลอดจนการสร้างให้ตัวละครเอกอย่างพิช (อนุชิต สพันธุ์พงษ์) มีความหลงใหลเรื่องการร้อยมาลัยและทำบายศรี อันเชื่อมโยงไปถึงการใคร่ครวญเกี่ยวกับสังขารที่ไม่เที่ยงแท้ของตนเองและคนใกล้ชิด ขณะที่อดีตคนรักของเขาคือเชน (ศุกลวัฒน์ คณารศ) ก็กำลังแบกรับความโศกเศร้าจากการเสียลูกสาวอย่างกะทันหัน กล่าวได้ว่าความรักความปรารถนาของทั้งสองคนได้กลับมาประสานกันอีกครั้งในห้วงเวลาของความโศกเศร้าอาลัย ในบริบทดังกล่าว ความปรารถนาแบบเควียร์ถูกถ่ายทอดในแง่มุมของการโอบรับความเปราะบางของชีวิตและการประคับประคองวิกฤตทางอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นเงื่อนไขของการดำรงอยู่ 

ความตายของพิชและการออกบวชของเชนทำให้โศกาดูรแบบพุทธในภาพยนตร์เรื่องนี้ทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเชนได้เลือกเส้นทางธุดงควัตรและได้ลองปฏิบัติอสุภกรรมฐานตามคำแนะนำของพระพี่เลี้ยง ฉากที่ถือได้ว่าเป็นฉากไคลแมกซ์ในภาพยนตร์ที่ดำเนินเรื่องอย่างเรื่อยเอื่อยเรื่องนี้คือฉากที่พระเชนได้เห็นว่าพระพี่เลี้ยงของตนกำลังยืนร้องไห้อยู่ต่อหน้าศพที่พวกเขาใช้เจริญอสุภกรรมฐาน และเมื่อเชนได้เดินเข้าไปเพ่งพิจารณาศพดังกล่าวด้วยตนเอง ซากศพอันเน่าเฟะดังกล่าวได้กลายร่างเป็นพิชคนรักของเขา ก่อนจะกลับกลายเป็นศพเช่นเดิมเมื่อการโอบกอดและขอโทษครั้งสุดท้ายระหว่างเชนกับพิชสิ้นสุดลง โดยนัยนี้ การเจริญอสุภกรรมฐานในเรื่องนี้จึงไม่ได้นำไปสู่การสละซึ่งความยึดติด (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตีความฉากเปลื้องสบงสรงน้ำของพระเชนในตอนจบ) หากแต่เปิดโอกาสให้ตัวละคร (และผู้ชม) ได้ใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความสูญเสียและความสัมพันธ์ที่เรามีต่อสิ่งที่สูญเสียไปแล้ว เพราะในท้ายที่สุดศพนิรนามได้กลายเป็นใครหรือสิ่งใดก็ได้สำหรับพระธุดงค์ทั้งสอง และ ‘ซาก’ ที่ว่านั้นก็คืออีกนามหนึ่งของความสูญเสียที่พวกเขาไม่อาจสลัดได้พ้น 

หากกล่าวด้วยภาษาจิตวิเคราะห์แบบซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) สิ่งที่เชนและพระพี่เลี้ยงกำลังเผชิญคือภาวะโศกเศร้าตรอมใจ (melancholia) อันเกิดจากการผนวกสิ่งที่สูญเสียไปแล้วให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอีโก้ เพราะไม่สามารถจะสลัดวัตถุแห่งความสูญเสียดังกล่าวให้หลุดออกไปในกระบวนการคร่ำครวญได้ อย่างไรก็ตาม ขณะที่ฟรอยด์มองว่าความโศกเศร้าตรอมใจเป็นความเจ็บป่วยทางจิตเรื้อรังแบบหนึ่ง โศกาดูรแบบพุทธในวรรณคดีและภาพยนตร์ร่วมสมัยได้ทำให้เห็นกระบวนการที่ความสูญเสียถูกทำให้กลายเป็นความอีโรติก (eroticization) หรือกลายเป็นเวทีที่นาฏกรรมแห่งความปรารถนาทางเนื้อหนังมังสาเผยแสดงตัว ฉากกอดอันแนบชิดระหว่างพระเชนกับพิชอาจทำให้ชาวพุทธบางคนกระอักกระอ่วนใจ แต่นั่นไม่ใช่เพราะความกำกวมทางศีลธรรมของการสัมผัสจับต้องระหว่างพระกับฆราวาสเท่านั้น หากแต่เป็นเพราะในท้ายที่สุด แนวคิดทางพุทธศาสนาเช่นความเป็นอนิจจังได้กลายเป็น ‘พาหะ’ ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ถ่ายทอดความปรารถนาของเควียร์ —ความปรารถนาที่ไม่เคยได้อยู่ในนาฏกรรมแห่งการหลุดพ้นในเรื่องเล่าทางศาสนาใดๆ

 

Tags: , ,