ในช่วงการเข้าสู่ปีใหม่ 2020 ต่างมีไอเท็มมากมายที่ต้องซื้อให้กัน ทั้งคุกกี้กล่องแดง กระเช้าของขวัญ หรือการ์ดอวยพร แต่ยังมีไอเท็มชิ้นหนึ่งที่ไม่ว่าจะผ่านปีใหม่ไปกี่สิบกี่ร้อยครั้ง แต่ของมันต้องมีทุกปี นั่นคือปฏิทิน’ 

ปฏิทินน่าจะเป็นของขวัญปีใหม่ชิ้นแรกๆ ที่ต้องอยู่ในลิสต์ของที่จะต้องมีก่อนปีใหม่ในบ้านแทบจะทุกหลัง แต่ในปัจจุบันเราต่างมีตัวเลือกมากมายในการเลือกซื้อปฏิทิน ไม่ว่าจะแบบตั้งโต๊ะ ติดผนัง หรือบางทีก็ได้มาฟรี จากการแจกของห้างร้าน ธนาคาร หรือองค์กรต่างๆ แต่ในปัจจุบัน เราก็มักดูวัน เดือน ปี จากนาฬิกา (ที่บอกวันด้วย) หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน มากกว่าการดูจากปฏิทินที่ติดในบ้านหรือตั้งไว้บนโต๊ะทำงาน 

ที่มาของปฏิทิน

ปฏิทิน หรือในภาษาอังกฤษ Calendar มีรากศัทพ์มาจากภาษาละตินคำว่า ‘calends’ และ ‘kalends’ ซึ่งมีที่มาจากวันแรกของทุกเดือนในปฏิทินโรมัน calends มีความหมายว่าการเริ่มต้นแห่งวิถีใหม่นักโบราณคดีค้นพบว่าชนชาติแรกที่คิดค้นระบบการนับวันแบบปฏิทินคือ ชาวบาบิโลเนียน โดยการกำหนดวัน เดือน ปี จากการสังเกตระยะของดวงจันทร์ หรือข้างขึ้นข้างแรม เมื่อเกิดข้างขึ้นข้างแรมครบ 1 รอบถือเป็น 1 เดือน ปฏิทินนี้ถูกเรียกว่า ปฏิทินจันทรคติ นอกจากนี้ชาวบาบิโลเนียนยังกำหนดให้ 1 ปีมี 12 เดือนด้วย เนื่องจากสังเกตว่า เมื่อข้างขึ้นข้างแรมครบ 12 รอบฤดูกาลจะเวียนกลับมาอีกครั้ง อาณาจักรข้างเคียง เช่น ชาวอียิปต์โบราณ ชาวกรีก และชาวเซเมติก ได้นำระบบปฏิทินแบบจันทรคติมาพัฒนา ให้มีความแม่นยำมากขึ้น 

ภาพปฏิทินบาบิโลน

ปฏิทินที่มีการกล่าวถึงและเป็นต้นแบบของปฏิทินในแบบปัจจุบันก็คือ ปฏิทินที่ออกแบบโดยชาวอียิปต์ในช่วงแรก ชาวอียิปต์นำเอาระบบจันทรคติมาใช้ในการกำหนดสัญญาการยืมข้าว โดยใช้ข้างขึ้นเป็นคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวงที่สุดเป็นคืนแรกไปจนถึงคืนที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งถัดไปถือเป็นการครบหนึ่งรอบ หรือหนึ่งเดือน และใช้หลักการนี้เป็นการทำสัญญาการยืมข้าวของชาวนาที่ยืมข้าวมากิน 

แต่การนับเวลาแบบจันทรคติ ในเดือนหนึ่งพระจันทร์เต็มดวงมีไม่เท่ากันทำให้บางเดือนมีวันที่ไม่เท่ากัน บางเดือนมี 29 วันบ้าง 30 วันบ้าง ซึ่งทำให้จำนวนวันในหนึ่งปีมีไม่เท่ากัน ชาวอียิปต์โบราณจึงทำการปรับเปลี่ยนปฏิทิน โดยยึดหลักแบบสุริยคติ คือ 1 ปีมี 12 เดือนเดือนมี 30 วัน แล้วมีวันพิเศษอีก 5 วันเพื่อเป็นวันเฉลิมฉลอง การสร้างระบบเดือนแบบสุริยคติยังเป็นการกำหนดฤดูเพาะปลูกอีกด้วย ฤดูกาลเพาะปลูกกำหนดจากความเป็นไปของธรรมชาติและการเพาะปลูก โดย 1 ปีมี 3 ฤดู ฤดูละ 4 เดือน 

กระทั่งช่วง 46 ปีก่อนคริสตศักราช จูเลียส ซีซาร์ แห่งกรุงโรม เข้ายึดอียิปต์ ในสมัยพระนางคลีโอพัตรา และได้นำความรู้ทางดาราศาสตร์และนำปฏิทินของชาวอียิปต์มาปรับเปลี่ยนปฏิทินโรมันให้มีความแม่นยำมากขึ้น ในปฏิทินจูเลียน 1 รอบมี 12 เดือน มีจำนวนวันรวม 365 วัน นอกจากนี้เดือนกุมภาพันธ์ยังเพิ่ม อธิกวาร ทุกๆ สี่ปี เฉลี่ยต่อปีของปฏิทินจูเลียนเท่ากับ 365.25 วัน นอกจากนี้ จูเลียส ซีซาร์ ยังได้ใส่ชื่อของตนเป็นชื่อเดือน July ในปีที่ 44 ก่อนคริสตศักราชอีกด้วย

ภาพปฏิทินจูเลียน

ปฏิทินจูเลียนถูกใช้ในยุโรปอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมันถึงปี 1582 เมื่อพระสันตะปาปาเกรเกอรี่ที่ 13 ได้ปฏิรูปปฏิทินใหม่เนื่องจาก ในปฏิทินจูเลียน ซึ่งยาวนานกว่าความเป็นจริง 365.24225 วัน ทำให้วันวสันตวิษุวัตของแต่ละปีขยับเร็วขึ้นในทุกๆ ปี และเพื่อให้วันอีสเตอร์ตรงกับวันวสันตวิษุวัต พระสันตะปาปาเกรเกอรี่ที่ 13 จึงได้ทำการปฏิรูปปฏิทินโดยให้วันที่ 4 ตุลาคม .. 1582 เป็นวันสุดท้ายของปฏิทินจูเลียน และนับวันที่ 5 เป็นวันที่ 15 ตุลาคม .. 1582 แทน และถือว่าวันที่ 15 ตุลาคม 1582 เป็นวันเริ่มต้นการใช้ปฏิทินแบบเกรโกรเลียนและปฎิทินเกรโกรเลียนได้ถูกใช้ครั้งแรกใน ประเทศที่นับถือคาทอลิก เช่น อังกฤษ และกรีก ปฏิทินเกรโกรเลียนกลายเป็นปฏิทินสากล ที่ทุกประเทศใช้กันจนถึงทุกวันนี้

ภาพพระสันตะปาปาเกรเกอรี่ที่ 13 ปฏิรูปปฏิทิน

จากดินสู่กระดาษ จากกระดาษสู่ดิจิทัล 

ปฏิทินมีการพัฒนารูปแบบของตัวมันเอง โดยมนุษย์ต่างหาวัสดุต่างๆ มาทำปฏิทิน ซึ่งขึ้นอยู่กับวิธีการใช้เป็นหลัก ร่องรอยของปฏิทินแบบแรกๆ ที่ปรากฏคือ Wurdi Youang ปฏิทินสมัยยุคหินเก่า ตั้งอยู่ที่ Mount Rothwell ในออสเตรเลีย โดยรูปร่างของตัวปฏิทินเป็นการวางเรียงก้อนหินบนพื้นและอาศัยดวงอาทิตย์ในการอ่านปฏิทิน หินเหล่านี้มีอายุมากกว่า 20,000 ปี ต่อมาเริ่มมีการออกแบบปฏิทินโดยเขียนลงแผ่นเซรามิก ซึ่งพบในเตาเผา Slatino ในบัลแกเรีย และในกลุ่มอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไทกรีสยูเฟรตีส ก็มีแผ่นดินเหนียวที่เขียนเป็นปฏิทินด้วยอักษรลิ่ม 

นอกจากแผ่นดินเหนียวแล้ว ยังพบว่ามีการแกะสลักหินเป็นปฏิทินซึ่งพบในกลุ่มอารยธรรมอียิปต์ และชาวมายาในทวีปอเมริกากลาง รวมทั้งระบบปฏิทินที่ถูกใช้อย่างเป็นทางการอย่างปฏิทินจูเลียน ของจูเลียส ซีซาร์ แห่งจักรวรรดิโรมัน ก็แกะสลักไว้บนกำแพงหิน 

การค้นพบปฏิทินที่ใช้กระดาษเป็นวัสดุ พบในปี .. 354 มีชื่อว่าปฏิทินโครโนกราฟ (Chronograph) จัดทำขึ้นโดย Furius Dionysius Folocalus ในสมัยของวาเลนตินุส (Valentinus) แห่งจักรวรรดิโรมัน ต่อมาในศตวรรษที่ 15 โยฮันเนส เรจีโอมอนตานัส (Johannes Regiomontanus) นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ชาวออสเตรีย ได้จัดทำปฏิทินที่สร้างขึ้นด้วยวิธีการพิมพ์ครั้งแรก (ในไทยมีการพิมพ์ปฏิทินในปีค..1842 สมัยรัชกาลที่ 3 โดยหมอบรัดเลย์) นอกจากนี้แบบของการแบ่งตารางเวลาในปฏิทินยังถูกจัดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 โดย ซามูเอล มอร์แลนด์ (Samuel Morland) และวิลเลียม พาร์สัน (William Parson)

ภาพปฏิทินของโยฮันเนส

ในปีค.. 1773 ได้มีการนำปฏิทินมาใช้สำหรับการวางแผนในแต่ละวัน โดย โรเบิร์ต ไอต์เคน (Robert Aitken) นักวางแผนชาวอเมริกัน ได้จัดพิมพ์สมุดบันทึกที่มีระบบวันเวลาตามปฏิทิน นอกจากนี้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ยังเริ่มมีการตกแต่งปฏิทินมากขึ้น รวมถึงการใส่โฆษณาสินค้า ซึ่งมีผลต่อผลประกอบการเป็นอย่างมาก ทำให้หลายบริษัทมีการทำปฏิทินมากขึ้น

รูปแบบของปฏิทินมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับการใช้งานและเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย เช่น มีปฏิทินออนไลน์ การเพิ่มระบบปฏิทินที่เป็นหนึ่งในโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน 

ภาพปฏิทินของโรเบิร์ต ไอต์เคน 

จำนวนปฏิทินแบบต่างๆ มีขายอยู่มากมายในท้องตลาด แต่เมื่อมีการพัฒนาแพลตฟอร์มของปฏิทินที่ไม่ได้จำกัดว่าเป็นสินค้าชิ้นเดียวแบบเมื่อก่อน มีการทำเป็นระบบการทำงานที่มีมาให้ในสินค้าชนิดอื่นๆ ทั้งสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือนาฬิการุ่นต่างๆ แล้วปฏิทินที่เป็นแบบตั้งโต๊ะ หรือแขวนผนังยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ในชีวิตประจำวันของผู้คน เพราะไม่เพียงแต่จะต้องซื้อในทุกๆปี แต่ยังสร้างขยะและก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์อีกด้วยในช่วงกระบวนการผลิตสินค้า

อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ปฏิทินยังคงเป็นตัวช่วยชั้นดีของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการใช้ชีวิต การวางแผนการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกันศาสนาและวัฒนธรรมที่ยังคงมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคน ทำให้ปฏิทินที่มีรูปแบบเฉพาะเช่น ปฏิทินศาสนา หรือปฏิทินท้องถิ่น ยังคงมีความสำคัญต่อความเชื่อของผู้คนจำนวนมาก

นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างปฏิทินที่มีอย่างไม่สิ้นสุด ยังคงมีการออกแบบตัวเลือกการใช้งานที่น่าสนใจ และเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิต ทั้งปฏิทินที่สามารถใช้ได้ถึง 10 ปี ปฏิทินเก๋ๆ สำหรับตกแต่งบ้าน หรือแอปพลิเคชั่นปฏิทินที่สะดวกและตอบโจทย์ในการวางแผนการใช้ชีวิต ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าความจำเป็นของแต่ละคนเป็นเช่นไร บ้างก็มีแค่สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็พอ บ้างก็มีปฏิทินสำหรับดูวันสำคัญทางศาสนา หรือสำหรับดูฤกษ์งามยามดีหรือใบ้หวย แต่ท้ายที่สุดแล้ว ปฏิทินยังคงจำเป็นสำหรับมนุษย์แทบทุกคนที่ยังคงต้องการวางแผนการใช้ชีวิตในอนาคต เพราะเราทุกคนยังคงให้ความสำคัญกับเวลาอยู่เหมือนเดิม

รวมปฏิทินสร้างแรงบันดาลใจในการจัดระเบียบชีวิตประจำปี 2020

Oliver Bonas 2020 Calendar 

Oliver Bonas 2020 Calendar ปฏิทินติดผนังงานศิลปะของ Zingy ในปฏิทินนี้มีความพิเศษนอกจากการระบุวันหยุดพิเศษของสหราชอาณาจักรแล้ว ยังมีระบุกิจกรรมพิเศษในปี 2020 อีกด้วย เช่น กิจกรรมวิ่งมาราธอนในลอนดอน เทศกาลภาพยนตร์เบอร์ลิน เป็นต้น

Jade Fisher anthology inspirational women 2020 wall calendar 

Jade Fisher anthology inspirational women 2020 wall calendar สร้างขึ้นโดย Jade Fisher ปฏิทินสร้างแรงบันดาลในให้กับผู้หญิง ในแต่ละเดือนมีภาพที่เกี่ยวกับผู้หญิงที่มีความหมาย สวยงามและเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ

2020 Stendig Calendar 

2020 Stendig Calendar สร้างโดย Massimo Vignelli นักออกแบบชาวอิตาเลียนสำหรับปฏิทิน  Stendig เป็นปฏิทินแบบเดียวกับที่แขวนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ชื่อดังของนิวยอร์ก ซึ่งผลิตออกมาในจำนวนจำกัด

Royal Ballet Wall Calendar 2020

สำหรับแฟนๆ บัลเลต์ ปฏิทิน Royal Ballet wall calendar 2020 เป็นของที่ต้องมี เพราะประกอบไปด้วยภาพถ่ายสี 12 รูปแบบของการแสดงบัลเลต์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลกที่ Royal Opera House โดยนักเต้นบัลเลต์อย่าง Yasmine Naghdi,  James Hay,  Marianela Nunez และในแต่ละภาพมีรายละเอียดของการแสดงอีกด้วย

Sarah Raven garden and cookery year 2020

สำหรับคนที่ชอบทำอาหารและสวนดอกไม้อาจจะชื่นชอบปฏิทินของ Sarah Raven เพราะในปฏิทินนี้ได้รวมสูตรอาหารในแต่ละฤดูกาลและภาพสวนดอกไม้ที่สวยงาม

kikki.K 2020 wall calendar blush: she shines

ปฎิทินลายบลัชออนสีชมพูจาก kikki.K แบรนด์เครื่องเขียนจากสวีเดน ที่มีภาพที่สวยงาม ประกอบกับคำคมสร้างแรงบันดาลใจ 

The Gruffalo 2020 family planner

ปฏิทินที่ได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูน The Gruffalo  ของ Julia Donaldson and Axel Scheffler ที่เหมาะจะเป็นปฏิทินครอบครัว

Martha Brook desk calendar

Anything is possible คำคมสร้างแรงบันดาลใจของปฏิทินตั้งโต๊ะจาก Martha Brook แบรนด์เครื่องเขียนจากอังกฤษ 

Emma Bridgewater family organiser 2020

ปฏิทินจากลวดลายเครื่องปั้นดินเผาของ Emma Bridgewater ที่มีเอกลักษณ์ และทำจากวัสดุที่มีความทนทานสูง

London Transport Museum 2020 calendar

ปฏิทินลายรถบัสของอังกฤษจากพิพิธภัณฑ์ London Transport Museum ที่ย้อนไปตั้งแต่ปี 1910 ถึงปัจจุบัน โดยรายได้จากการขายปฏิทินนำไปสนับสนุนพิพิธภัณฑ์ London Transport Museum

Nakrob Moonmanus 2020 Calendar

ศิลปินไทยหลายคนก็มักจะทำปฏิทินประจำปีมอบเป็นของขวัญให้พันธมิตร เช่น นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจรุ่นใหม่ ที่ปีนี้ทำผลิตปฏิทินตั้งโต๊ะขนาดกะทัดรัด บอกวันสำคัญรวมถึงข้างขึ้นข้างแรมอย่างเรียบง่าย น่าสนใจที่ภาพประกอบในแต่ละเดือนซึ่งเป็นการตีความสัญลักษณ์ของทั้ง 12 ราศีอย่างร่วมสมัย มีความหมายต่างไปจากตำนานฉบับเดิม

อ้างอิง

http://www.historyworld.net/wrldhis/PlainTextHistories.asp?ParagraphID=bvt

https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_calendars

https://www.calendar.com/history-of-the-calendar/

https://uxdesign.cc/a-brief-history-of-calendar-design-c3f876689fed

https://lineshjose.com/blog/the-history-of-the-printed-calendar/

https://www.amazon.com/Best-Sellers-Books-Calendars/zgbs/books/3248857011

https://www.independent.co.uk/extras/indybest/books/stationery/best-2020-calendar-desk-wall-bank-holidays-family-notes-a9248961.html

Tags: