รวมเรื่องสั้นชุด The Paper Menagerie and other storie ของ Ken Liu ถูกแปลและตีพิมพ์ออกมาในภาคภาษาไทยโดยแบ่งเป็น 2 เล่ม

เล่มแรกคือ สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่นๆ (เรื่องสั้นจำนวน 8 เรื่อง) ที่เคยเขียนถึงไปเมื่อครั้งก่อน และเล่มที่สองคือ ในระลอกกาลและเรื่องสั้นอื่นๆ (เรื่องสั้นจำนวน 7 เรื่อง) ที่ผมกำลังจะเขียนถึงในบทความนี้ 

ด้วยเงื่อนไขของการตีพิมพ์ซึ่งส่งผลต่อของการอ่านและการตีความอยู่บ้างพอสมควร ในบทความนี้ผมจะกล่าวถึงทั้งประเด็นที่ตกผลึกเพิ่มเติมหลังทิ้งช่วงจากการอ่านเล่มแรก และประเด็นอื่นๆ ที่คมชัดขึ้นมาหลังจากอ่านเล่มที่สองนี้ ประเด็นเหล่านี้อาจมีทั้งสนับสนุน คัดง้าง ส่องขยาย และส่องสำรวจกันเอง ความ ‘หลากรส’ ทั้งหลายนี้ช่วยเพิ่มความ ‘ลึกล้ำ’ ให้กับเรื่องสั้นเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

มนุษย์สามัญผู้ทำสิ่งอันเกินสามัญ

“โลกนี้หาได้มีวีรบุรุษไม่… เราทั้งหลายเป็นเพียงมนุษย์สามัญที่ต้องตัดสินใจในเรื่องอันเกินสามัญ และในโมงยามเช่นนั้น บางคราวอุดมการณ์เยี่ยงวีรบุรุษก็เรียกร้องให้เราเป็นร่างประทับ”

—จากเรื่องสั้น ชายเจ้าปัญญากับพญาวานร (The Litigation Master and The Monkey King) ในเล่ม สวนสัตว์กระดาษและเรื่องสั้นอื่น ๆ

 “ผมถอยห่างจากกระดานออกไปเรื่อย ๆ จนเม็ดหมากรวมกันเป็นกระแสแห่งชีวิตที่ขยับไหวและผ่อนลมหายใจเข้าออก ‘หมากแต่ละเม็ดไม่อาจเป็นฮีโร่ ไม่อาจเรียกว่าวีรชน แต่เมื่อทั้งหมดรวมพลังกัน วีรกรรมก็เกิดขึ้นได้’”

—จากเรื่องสั้น โมโน โนะ อาวาเระ (Mono No Aware) ในเล่ม ในระลอกกาลและเรื่องสั้นอื่น ๆ

 ‘มนุษย์สามัญผู้ทำสิ่งอันเกินสามัญ’ คือประเด็นหนึ่งที่ถูกขับเน้นอยู่บ่อยครั้งในเรื่องสั้นหลายเรื่องของ Ken Liu บางครั้งมาในรูปของเรื่องเล่าปรัมปราอันไกลโพ้น บางครั้งมาในรูปของเรื่องเล่าอิงเค้าโครงประวัติศาสตร์ และบางครั้งก็เกิดขึ้นกลางห้วงอวกาศในยามที่ตัวละครต้องเผชิญกับการตัดสินใจบนทางสองแพร่งแห่งชะตากรรม 

ในเรื่อง โมโน โนะ อาวาเระ เรื่องราวเกิดขึ้นบนยานอวกาศที่กำลังพามวลมนุษยชาติอพยพไปอยู่ดาวดวงใหม่ แต่ระหว่างที่กำลังเดินทางอยู่บนห้วงอวกาศนั้น เกิดรอยรั่วบนชิ้นส่วนหนึ่งของยาน ตัวเอกของเรื่องจึงต้องรับหน้าที่เสี่ยงอันตรายออกไปปะรอยรั่วนั้น เขาเลือกทำแบบนั้นทั้งที่รู้ดีว่าหลังจากปะรอยรั่วนั้นแล้ว โอกาสที่เขาจะมีชีวิตรอดกลับมาแทบจะเป็นศูนย์

ในเรื่อง หลากรสลึกล้ำ เรื่องราวของชายชื่อ ‘เหล่ากวน’ และกลุ่มชาวจีนที่อพยพเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาในเมืองไอดาโฮชิตี้ สหรัฐอเมริกาในยุคตื่นทอง ถูกเล่าคู่ขนานไปกับตำนานของเทพเจ้ากวนอู ผู้กำเนิดจากสามัญชน ผ่านชะตากรรมและสงครามสามก๊กจนเป็นที่มาของกิตติศัพท์และคุณธรรมเรื่องความกล้าหาญ ท้ายที่สุดถูกสถาปนาเป็นเทพเจ้าผู้เป็นศูนย์รวมความนับถือของชาวจีน 

ผู้เขียนจงใจวางคาแรกเตอร์ของ ‘เหล่ากวน’ ให้ล้อไปกับ ‘กวนอู’ ทั้งความคล้ายคลึงในแง่ของรูปลักษณ์หน้าตา อุปนิสัยเรื่องความกล้าหาญ การลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมต่างๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากคลาสสิกในตำนานของกวนอู ฉากที่ให้หมอเทวดาผ่าตัดขูดกระดูกเอาเอาพิษออก และในขณะที่ถูกผ่าตัดอยู่นั้นเขาก็ร่ำสุราและเล่นหมากล้อมไปด้วยโดยไม่แยแสหรือกริ่งเกรงต่อความเจ็บปวดบนท่อนแขนที่กำลังถูกผ่าตัดขูดกระดูกเลยแม้แต่น้อย และในเรื่องนี้เหล่ากวนก็ประสบกับชะตากรรมและมีฉากที่คล้ายคลึงกัน

ทั้ง โมโน โนะ อาวาเระ และ หลากรสลึกล้ำ มีประเด็นร่วมกันที่น่าสนใจหลายประการ ประการแรกคือการใช้เกม ‘หมากล้อม’ ในฐานะอุปมาที่สื่อถึงทั้ง ‘กลยุทธ์’ และ ‘ปรัชญา’ ในการต่อสู้ของตัวละคร 

‘ฮิโรโตะ’ ตัวเอกในเรื่อง โมโน โนะ อาวาเระ รับมือกับภารกิจเสี่ยงอันตรายด้วยการประยุกต์แนวคิดในเกมหมากล้อมเข้ากับการปะรอยรั่วบนยานอวกาศ พร้อมๆ กันนั้นผู้เขียนก็แสดงให้เห็นว่ามโนทัศน์เรื่อง ‘โมโน โนะ อาวาเระ (Mono No Aware)’ ซึ่งว่าด้วยความรู้สึกเชิงสุนทรียะยามเพ่งพินิจในความไม่จีรังยั่งยืนของสรรพสิ่งนั้น สามารถกลายเป็นมาเป็นพลังปลุกเร้าให้ตัวละครกล้าเผชิญกับภารกิจเสี่ยงตายนั้นด้วยความทรนงองอาจได้อย่างไร

เหล่ากวน ในเรื่อง หลากรสลึกล้ำ ก็ใช้เกมหมากล้อมในการอธิบายเรื่องการบุกเบิกและตั้งรกรากของชาวจีนอพยพที่ค่อยๆ ล้อม ‘พื้นที่’ ของตัวเองเอาไว้ หมากล้อมจึงกลายเป็นทั้งกลยุทธ์ในการวางแผนต่อสู้ กลยุทธ์ในการทำธุรกิจ และเป็นทั้งปรัชญาในการใช้ชีวิตที่หล่อหลอมความคิดความเชื่อของตัวละคร

ประเด็นเรื่อง ‘มนุษย์สามัญผู้ทำสิ่งอันเกินสามัญ’ ในเรื่องสั้นทั้งสองเรื่องนี้ วางอยู่บนพื้นฐานความรู้สึกของตัวละครที่ดื่มด่ำหรือ ‘อิน’ กับอะไรบางอย่างเหมือนกัน ฮิโรโตะดื่มด่ำกับมโนทัศน์เรื่อง โมโน โนะ อาวาเระ และปรัชญาที่ซ่อนอยู่ในหมากล้อม ส่วน เหล่ากวนก็อินอยู่กับตำนานและวีรกรรมความกล้าหาญของเทพเจ้ากวนอู ตัวละครทั้งสองต่างเสพรับความหมายเหล่านั้นเป็นพลังในการทำสิ่งอันเกินสามัญ ใช้ความหมายเหล่านั้นเป็นหยาดน้ำทิพย์ประโลมใจเพื่อผลักตัวเองให้พ้นจากขีดจำกัดอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมล็ดพันธุ์ของความคิดความรู้สึกแบบนี้ก็มีความล่อแหลมอยู่ไม่น้อย มันอาจลื่นไถลเข้าไปติดกับดักของประวัติศาสตร์แบบ ‘วีรบุรุษนิยม’ ก็ได้ เมื่อความรู้สึกยิ่งใหญ่ในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ถูกผนวกเข้ากับความคิดแบบบูชาตัวบุคคล กระนั้นก็ตาม แม้ผู้เขียนจะยังไม่ได้ให้คำตอบต่อความรู้สึกชวนเคลือบแคลงนี้โดยตรง แต่ประโยคที่ว่า “สิ่งที่ทำให้เราเป็นเราคือตำแหน่งแห่งที่ของตัวเราในตาข่ายแห่งสายสัมพันธ์ที่ร้อยรัดกับชีวิตของผู้อื่น”  (หน้า 104) ก็ทำให้เราอุ่นใจได้ว่าเมล็ดพันธุ์ความคิดแบบวีรบุรุษนิยมคงไม่งอกเงยขึ้นง่ายนักบนพื้นความคิดดังกล่าวนี้ 

หรือในทางกลับกัน มันคงไม่มีประวัติศาสตร์แบบใดที่พ้นไปจากเงื้อมเงาของความคิดแบบวีรบุรุษนิยมได้โดยสิ้นเชิง ตราบเท่าที่เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ยังอยู่ในกรอบของการยึดเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง ประเด็นจึงอาจอยู่ที่ว่าในเมื่อเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ยังเป็นแบบนี้ เราจะรักษาและสกัดเอา ‘สปิริต’ หรือ ‘มรดกทางความคิด’ ของวีรชนและวีรกรรมเหล่านั้นมาเชื่อมโยงเข้ากับการต่อสู้ของเราได้อย่างไร

กระนั้นก็ตาม จะสังเกตได้ว่าในบรรดาเรื่องสั้นที่มนุษยนิยม (Humanism) มาก ๆ อย่าง โมโน โนะ อาวาเระ และ หลากรสลึกล้ำ ยังมีเรื่องสั้นในกลุ่ม ‘หลังมนุษยนิยม’ (Posthumanism) อย่าง ในระลอกกาล และ สมุดภาพปริชานเปรียบเทียบสำหรับนักอ่านขั้นสูง เข้ามาเกลี่ยน้ำหนักและเพิ่มมิติความหมายให้กับรวมเรื่องสั้นชุดนี้ 

นิยามอย่างกระชับที่สุด แนวคิด หลังมนุษยนิยม คือแนวคิดที่ปฏิเสธการยึดถือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลางหรือองค์ประธาน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ เรื่อยไปจนถึงการที่มนุษย์กับเทคโนโลยีหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ท้าทายให้เกิดการตั้งคำถามถึงสภาวะความเป็นมนุษย์ 

ประเด็นดังกล่าวนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในเรื่อง สมุดภาพปริชานเปรียบเทียบสำหรับนักอ่านขั้นสูง ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการรู้คิด วิธีถ่ายทอดและเก็บรักษาความทรงจำของสิ่งมีชีวิตต่างดาวหลายเผ่าพันธุ์ และตัวละครที่ตัดสินใจเดินทางไปในยานอวกาศเพื่อบุกเบิกอาณานิคมบนดาวดวงใหม่ 

เช่นเดียวกับในเรื่องสั้น ในระลอกกาล ที่กล่าวถึงมนุษย์กลุ่มหนึ่งซึ่งออกเดินทางไปสำรวจดาวดวงใหม่เช่นกัน โดยในเรื่องนี้ผู้เขียนทิ้งประเด็นชวนขบคิดว่า มนุษย์จะปรับตัวอย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับโจทย์อันท้าทายอย่างการค่อย  ทิ้งความเป็นมนุษย์ (ในทางกายภาพ) ของตัวเองไปทีละน้อยเพื่อแลกกับชีวิตอมตะ แล้วกลายสภาพเป็นมนุษย์ประดิษฐ์ (cyborg) กับโจทย์ที่ว่า “เราจะตายเพื่อเปิดทางให้ลูกๆ ของเราเติบโต หรือจะมีชีวิตนิรันดร์และให้พวกเป็นเด็กไปตลอดกาล” (หน้า 53) คุณค่าและความหมายของความเป็นมนุษย์จะดำรงอยู่ในสภาพใดเมื่อมนุษย์กลายเป็นเพียงสิ่งประกอบสร้างจากปฏิกิริยาทางเคมี ความเป็นมนุษย์ในแบบดั้งเดิมกลายเป็นสิ่งแปลกแยก อ่อนแอ และน่าขัน เมื่อเผชิญกับมนุษย์ประดิษฐ์ที่ข้ามพ้นจากขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์ในแบบดั้งเดิมไปแล้ว

จะเห็นได้ว่าการตั้งคำถามถึงขีดจำกัดและความหมายของความเป็นมนุษย์นั้น ถูกสำรวจผ่านทั้งกรอบคิดแบบมนุษยนิยมและหลังมนุษยนิยม และเป็นความจริงว่าเรื่องสั้นในกลุ่มหลังมนุษยนิยมเองก็ยังไม่ได้ข้ามพ้นกรอบคิดแบบมนุษยนิยมไปโดยสิ้นเชิง (ข้ามยังไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าไม่พยายามข้าม) ทว่าความจริงข้อนี้ก็ไม่ได้เป็นจุดอ่อนในการวิพากษ์ถึงความเป็นมนุษย์ แต่กลับทำให้เรามองเห็นแง่มุมต่างๆ อย่างรอบด้านมากขึ้นไปอีก การที่มันอยู่กึ่งกลางและไม่สามารถเป็นแบบใดแบบหนึ่งได้โดยสิ้นเชิง ใช่หรือไม่ว่านี่ก็คือหนึ่งในขีดจำกัดของความเป็นมนุษย์ และมนุษย์ก็ยังคงเป็นมนุษย์ตราบเท่าที่มนุษย์ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้

ความทรงจำและการเขียนประวัติศาสตร์

ในเรื่องสั้น ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของอุโมงค์ลอดมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้เขียนสร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่โดยจินตนาการถึงการสร้างอุโมงค์ลอดใต้มหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อเชื่อมระหว่างทวีปเอเชียกับทวีปอเมริกาเหนือ (ผ่าน 3 เมืองคือ เซี่ยงไฮ้ โตเกียว และซีแอตเติล) โดยความร่วมมือระหว่างจักรวรรดิญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา บริบทของเรื่องคือประวัติศาสตร์ช่วงสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นบนดินแดนแมนจูเรีย

ผู้เขียนใช้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยการตัดสลับระหว่างความทรงจำส่วนบุคคล คู่ขนานไปกับประวัติศาสตร์ฉบับทางการ โดยที่ตัวละครเอกของเรื่อง อดีตนายช่างผู้กุมความลับเรื่องการสร้างอุโมงค์จะค่อยๆ เผยให้เราเห็นว่าประวัติศาสตร์ฉบับทางการที่ถูกเขียนขึ้นใหม่นั้นขัดแย้งกันอย่างไรกับข้อเท็จจริงในความทรงจำของเขา ข้อเท็จจริงที่ว่านั้นก็คือการปกปิดและบิดเบือนเรื่องการตายของแรงงานทาสจำนวนมาก แรงงานทาสเหล่านี้คือนักโทษคอมมิวนิสต์ที่ถูกญี่ปุ่นเกณฑ์มาเพื่อสร้างอุโมงค์

อาจกล่าวได้ว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้คือการใช้กลวิธีของเรื่องแต่งเข้าไปชำระประวัติศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความยอกย้อนในกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์อาจเป็นเพียงเรื่องแต่งเพื่อปิดบังข้อเท็จจริง ส่วนข้อเท็จจริงที่ถูกประวัติศาสตร์ปิดบังไว้นั้นกลับถูกนำเสนอผ่านเรื่องแต่ง กระนั้นก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเรื่องแต่ง เมื่อผ่านกลวิธีทางวรรณกรรมแล้ว อาจเป็นได้ทั้งสัญญะที่แหลมคม เปี่ยมพลังและความหมาย ได้เท่าๆ กับที่เป็นแค่เครื่องหมายนิรนามที่ไม่มีใครเข้าใจ ความจริงที่มันประกอบสร้างขึ้นอาจไม่ใช่ความจริงที่มันต้องการนำเสนอมากเท่ากับเป็นการประกอบสร้างความจริงของตัวมันเอง 

ดังที่ตัวละครเอกในเรื่องเลือก ‘แก้ไข’ ประวัติศาสตร์บนป้ายจารึกด้วยการลบชื่อตัวเองออก แล้วสลักรูปวงรีสามรูปคล้องเป็นโซ่ลงไปแทน เพื่อสื่อถึงโซ่ตรวนแห่งประวัติศาสตร์ที่คล้องผู้คนและโศกนาฏกรรมเอาไว้ สัญลักษณ์รูปโซ่ดังกล่าวนี้อาจไม่ใช่การปลดปล่อยความจริง แต่คือการปลดปล่อยตัวเองออกจากความจริงที่ร้อยรัดเขาไว้ เขาไม่ได้ชำระประวัติศาสตร์มากเท่ากับที่ชำระความทรงจำของตัวเอง

ประเด็นเรื่องการจัดการกับความทรงจำถูกสำรวจอีกครั้งผ่านเรื่องสั้น จำลอง-จองจำ และ ชายผู้ยุติประวัติศาสตร์: สารคดี แต่เป็นการจัดการกับความทรงจำผ่านการ disrupted ของเทคโนโลยี

ในเรื่อง จำลอง-จองจำ เล่าถึงความไม่ลงรอยกันในความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาว พอล แลริมอร์ เป็นนักประดิษฐ์ชื่อดัง เขาประดิษฐ์อุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘กล้องถ่ายรูปเสมือน’ เป็นกล้องที่สามารถบันทึกตัวตนของคนเราได้ทุกมิติ ทั้งรูปลักษณ์ อากัปกิริยา นิสัยใจคอ สิ่งทั้งหลายที่ประกอบขึ้นเป็นตัวตนของคนๆ หนึ่ง กล้องดังกล่าวนี้สามารถบันทึกไว้ได้ทั้งหมด เป็นกล้องที่สามารถฉีกเอาตัวตนของมนุษย์ออกจากกระแสของกาลเวลามาแช่แข็งไว้ในรูปเสมือน แต่มันก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่แอนนา แลริมอร์ ลูกสาวของเขาเกลียดชังอย่างยิ่ง ความไม่ลงรอยดังกล่าวนี้ถูกขับเน้นผ่านวิธีที่แต่ละฝ่ายใช้จัดการกับความทรงจำกับตัวเอง 

พอลใช้สิ่งประดิษฐ์ของเขาบันทึกรูปเสมือนตัวตนของแอนนาสมัยที่เธอยังลูกสาวตัวน้อยน่ารักของเขาไว้ดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเป็นตัวตนที่แอนนาในวัยผู้ใหญ่เกลียดเป็นที่สุด ส่วนเธอเองก็เลือกจดจำเขาด้วยภาพความทรงจำในบ่ายวันหนึ่งที่ทำให้เธอเกลียดเขาไปตลอดกาล จึงกลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างจดจำอีกฝ่ายในแบบที่อีกฝ่ายไม่อยากให้จดจำ แล้วใช้ความทรงจำนั้นบีบอัดตัวตนของอีกฝ่ายให้เหลือแค่เพียงตัวตนในแบบที่ตัวเองอยากจดจำ ต่างกันแค่เพียงเครื่องมือที่ใช้เท่านั้น อำนาจของความทรงจำดังกล่าวนี้ขีดเส้นแบ่งลงไปในความสัมพันธ์ ในขณะที่เราควบคุมความทรงจำ และความทรงจำก็ควบคุมเราด้วย

หากเรื่อง จำลอง-จองจำ คือการที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกำหนดความทรงจำส่วนบุคคล ในเรื่อง ชายผู้ยุติประวัติศาสตร์: สารคดี ก็คือการที่เทคโนโลยีสามารถแผ่ขยายอำนาจเข้ามาได้ถึงระดับการจัดการกับความทรงจำและประวัติศาสตร์ของชาติ และยิ่งไปกว่านั้นคือการสั่นสะเทือนองค์ความรู้ของวิชารัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างขนานใหญ่ด้วย เพราะในเรื่องนี้มีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘เครื่องย้อนเวลา’

ชายผู้ยุติประวัติศาสตร์: สารคดี ถูกเล่าด้วยกลวิธีแบบสารคดี เป็นสารคดีว่าด้วยเรื่องวิวาทะระดับชาติเกี่ยวกับเครื่องย้อนเวลาที่ถูกคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นโดยคู่สามีภรรยา เอเวน เหว่ย นักประวัติศาสตร์ และอาเคมิ คิริโนะ นักฟิสิกส์ เครื่องย้อนเวลานี้สามารถย้อนไปในช่วงเวลาไหนก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าย้อนไปช่วงเวลาไหนแล้ว ช่วงเวลานั้นก็จะถูกลบเลือนไปตลอดกาล 

จุดศูนย์กลางของเรื่องคือการใช้เครื่องย้อนเวลานี้ย้อนเวลากลับไปยังค่ายเชลยศึกของญี่ปุ่นในแมนจูเรียที่จับเอาเชลยศึกชาวจีนมาทำการทดลองในมนุษย์ (การทดลองอันแสนโหดเหี้ยมนี้ถูกจดจำในนามของหน่วยทหารที่เรียกว่า Unit 731) ทั้งเอเวน เหว่ย และอาเคมิ คิริโนะ ต้องการเปิดโปงประวัติศาสตร์อันดำมืดนี้ด้วยการให้ลูกหลานของเหยื่อเข้ามาเป็นอาสาสมัคร โดยผู้ที่เป็นอาสาสมัครมาเข้าเครื่องย้อนเวลาจะสามารถเดินทางผ่านความคิดของตน (ด้วยกลไกทางฟิสิกส์) กลับไปโผล่ ณ วันเวลาและสถานที่จริงที่บรรพบุรุษของพวกเขาถูกจับมาทำการทดลอง

การย้อนเวลาดังกล่าวนี้มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน กลายเป็นวิวาทะร้อนแรงระดับชาติและสั่นสะเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะในแง่หนึ่งนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ข้อตกลงผลประโยชน์และระเบียบกติกาต่างๆ ที่มีร่วมกัน) คือสิ่งที่วางอยู่บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์ที่ถูกชำระและจบสิ้นไปแล้ว การย้อนเวลากลับไปฟื้นฝอยหาตะเข็บจึงกระทบกับประเทศที่เกี่ยวข้องนั้นโดยตรง

 ความน่าตื่นตาไม่ใช่แค่การย้อนเวลาและประวัติศาสตร์ดำมืดดังกล่าวนี้เท่านั้น แต่คือการที่ผู้เขียนโยนคำถามไล่ไปตั้งแต่ว่ารัฐไหนที่เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์กันแน่ ในเมื่อสงครามจบ ก็เกิดระเบียบโลกใหม่ อาณาเขตและดินแดนในครอบครองของรัฐหนึ่งกลายไปเป็นของอีกรัฐหนึ่ง เครื่องย้อนเวลาที่ตอนแรกประเทศหนึ่งคิดว่าจะใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองกับอีกประเทศหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นว่าไม่ว่าประเทศไหนก็ต้องการปกปิดอดีตอันดำมืดของตัวเองเอาไว้ 

ส่วนคำถามที่ท้าทายองค์ความรู้ของวิชาประวัติศาสตร์นั้นก็มีตั้งแต่ว่า การทดลองโดยให้ลูกหลานของเหยื่อมาเป็นอาสาสมัครย้อนเวลากลับไปดูความเลวร้ายที่บรรพบุรุษตัวเองถูกกระทำและกระทำต่อคนอื่นในฐานะประจักษ์พยานนั้นคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเพียงใด ข้อมูลและคำบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ได้มานี้จะถูกจัดหมวดหมู่อย่างไร วิวาทะว่าด้วยกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์และวิธีการทางประวัติศาสตร์ที่คลับคล้ายจะถูก disrupted ด้วยเทคโนโลยีการย้อนเวลาไปสืบเสาะความจริงที่เหนือชั้นกว่า กรอบการมองด้วยสายตาของปัจจุบันที่ย้อนกลับไปสวมทับและตัดสินอดีต ฯลฯ

เรื่องสั้นเรื่องนี้บอกกับเราอย่างชัดเจนว่า การย้อนเวลานั้นมี ‘ราคา’ ที่ต้องจ่าย ส่วนผู้คนจะยอมจ่ายหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าราคาของการเปิดเผยความจริงกับราคาของการปกปิดความจริงนั้นสิ่งไหนถูกหรือแพงและคุ้มค่ากว่ากัน 

Fact Box

ในระลอกกาลและเรื่องสั้นอื่น ๆ

Ken Liu เขียน

ลมตะวัน แปล

สำนักพิมพ์ Salt

Tags: ,