ราวกับจะยั่วล้อกับการจากลาของนิทรรศการ ‘ศิลปินพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’ เมื่อทาง 100 ต้นสนแกลเลอรี่เลือกเปิดตัวหนังสือ ‘ผุดเกิดมาลาร่ำ’ ของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ในวันอำลานิทรรศการ

“นิยายของศิลปะ เมื่อศิลปะถมเติมนิยาย เมื่อความตายถมเติมชีวิต”

ประโยคข้างต้นคือคำแนะนำตัวสั้นๆ ที่อยู่บนปกหลังของหนังสือเล่มสวย คำแนะนำตัวชวนค้นหาเมื่อทวนคำเพื่อค้นความ

ผุดเกิดมาลาร่ำ เป็นนวนิยายของหญิงสามตน ชื่อ ‘ไลลียา’ โดยตนที่กล่าวถึงนั้นคือตัวตนของสามวัยในชีวิต วัยเด็ก วัยสาว และวัยชรา

จากเด็กหญิงคนหนึ่งที่ขาดอ้อมอกอันอบอุ่นเมื่อแม่จากไปก่อนวัยอันควร ชีวิตที่ดำเนินไปถูกโอบอุ้มทดแทนด้วยความรักความห่วงใยของยาย จนกระทั่งต้องจากอกยายไปเมื่อพ่อต้องย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอื่น ไลลียาใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างมีบาดแผลเมื่อส่วนที่ขาดไปของครอบครัวถูกเติมเต็มด้วยคนรักใหม่ของพ่อ และการเติมเต็มส่วนที่ขาดไปนี้ก็ได้เบียดเธอไปเป็นส่วนเกิน

“ราวสามสี่ครั้งพ่อจะพูดประโยคเดิมในวงอาหารเย็นต่อหน้าแขกเหรื่อที่เกรงใจทั้งสถานการณ์ปนสถานภาพจนไม่มีถ้อยสนทนา เป็นประโยคสั้นๆ จากพ่อที่มักจบลงด้วยความเงียบ ขณะสายตาผู้ฟังมองมาที่ฉันแบบไม่รู้ว่าควรจะรู้สึกอย่างไรกันดี ‘ลูกคนนี้รักมาก’ พ่อลูบหัวน้องซึ่งนั่งชิดเคียงข้าง ‘ลูกคนนั้นรักน้อยหน่อย’ พ่อหมายถึงเด็กหญิงตัวผอมมากยืนอิงเสาร้านอาหารอยู่ห่างๆ โต๊ะแบบไร้ที่ทาง”

เมื่อถึงวัยรุ่น เด็กสาวออกจากบ้านมาใช้ชีวิตวัยรุ่นในมหาวิทยาลัยศิลปะ เรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่ชีวิตศิลปิน เรียนรู้ในการใช้ชีวิตเตรียมผู้ใหญ่ ได้ชื่น ได้ช้ำ และได้ไปสู่โลกกว้างอีกฟากฟ้า

“การดำรงอยู่จะต้องการอะไรมากไปกว่าความเข้าใจตัวเองกับบริบทและการลงมือโดยหักล้าง ตัด เสริม ความตระหนักรู้ไปเรื่อยๆ จนกว่า… วันหนึ่ง กุหลาบจะเป็นดอกกุหลาบเอง หลุดจากเงื่อนกำกับความรับรู้ของใคร ของบริบทใด ของเด็กอนุบาล หรือของค่านิยมจากเมืองหลวงศิวิไลซ์”

หลังกลับจากการศึกษาที่ต่างประเทศ ไลลียาได้กลับมาใช้ชีวิตศิลปินที่ทำงานท้าทายขนบธรรมเนียมเดิมของเส้นศิลปะที่ขีดไว้แต่เก่าก่อน เธอท้าทายทุกขีดจำกัดของความรับรู้เพื่อแสวงหาคำตอบให้กับความสงสัย ความสงสัยที่มีอยู่ในเรื่องของตัวตน ไม่ว่าจะเป็นของเธอ ของคนอื่น หรืออะไรก็ตามที่เธอคิดว่าต้องมีคำตอบหรือความหมายใหม่ ไม่เว้นแม้แต่ความตาย

เรื่องเล่ากระชับข้างต้นคือเส้นทางชีวิตที่มีค่าน้ำหนักต่างไปตามวัยของไลลียา เรื่องเล่าที่ปราศจากความเบาหวิวของชีวิต เรื่องเล่าที่เขียนขึ้นด้วยเลือดเนื้อเพื่อพยายามสื่อถึงการต่อสู้รับมือกับโลกภายนอกและโลกภายในที่ผันผวน ผันผวนเสียจนบางครั้งชวนให้คิดว่า หรือการปลิดปลิวไปจะเป็นสิ่งที่ีดีที่สุด

ภาพปกหนังสือผุดเกิดมาลาร่ำ
(เอื้อเฟื้อภาพโดย Aroon Permpoonsophon และ 100 Tonson Gallery)

 

หลังจากรับรู้เรื่องราวแล้ว เราควรจะเริ่มต้นตรงไหนกันดี เริ่มต้นแสดงความเห็น ควรจะเริ่มที่ความเป็นศิลปิน หรือควรจะเริ่มที่ความเป็นนักเขียน เริ่มตรงไหนดี เริ่มตรงนี้ละกัน ตรงที่ภาพกับคำทำงานไปด้วยกัน ตรงที่รับรู้ของจินตนาการระหว่างภาพกับคำ

ในบทความชื่อ ‘ภาพกับคำ’ ซึ่งภายหลังมารวมเล่มในหนังสือชื่อ ‘(ผม) เป็นศิลปิน’ ของอารยาได้กล่าวถึงบทบาทของภาพกับคำในมุมมองของคนทำงานศิลปะไว้ดังนี้

“ปัญหาสำหรับวงการศิลปะบ้านเราคือคำที่สัมพันธ์กับภาพ หรือภาษาที่เกี่ยวเนื่องกับงานศิลปะ ภาษาคิด-ภาษาเขียนในหลากหลายวิธีไม่ได้รับการพัฒนาให้ทันความเป็นไปและเปลี่ยนแปลงของงานศิลปะซึ่งรุดหน้าไปเร็วๆ เช่น ภาษาอธิบายของศิลปิน ภาษาวิพากษ์ของนักวิจารณ์ ภาษาแสดงความรู้ของนักวิชาการ ไม่เทียบทันสรรพรสในงานศิลปะ”

จากข้อความที่ยกมา เราจะเห็นว่าคำเหล่านั้นมีจังหวะที่ต่างไปจากคำปกติ จังหวะที่ต่างให้รสที่ต่างไปในการอ่าน นั่นคือรสของภาพที่มาจากการปรุงคำของศิลปิน คำที่เขียนจึงประหนึ่งเขียนภาพและแต้มสีของทัศนียภาพลงในจินตนาการ ดูเหมือนว่าอารยาจะไม่ลืมข้อสังเกตที่เคยตั้งไว้ และเมื่อกลับมาเป็นนักเขียนอีกครั้ง จึงสำแดงให้เห็นถึงการเลือกใช้คำอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ผู้อ่านถึงรสวรรณศิลป์

เรื่องเล่าของไลลียาเริ่มต้นที่ความทรงจำ ก่อนจะลัดเลาะลดเลี้ยวไปตามคุ้งโค้งของชีวิตมาจนถึงวัยปลาย เราอ่านเห็นอะไรในร่องรอยเหล่านี้ ถึงแม้ว่าหนังสือจะเรียกตัวเองว่านิยาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องที่อ่านอยู่คืออัตชีวประวัติ เพราะมันมีเรื่องราวส่วนใหญ่ทับซ้อนไปกับชีวิตอารยา ทาบทับลงไปทั้งในช่วงเวลาและเหตุการณ์ จนราวกับว่าแท้จริงแล้วนี่คือคำสารภาพของศิลปิน

และภายใต้ความคลุมเครือของคำจำกัดความนี้เองเสน่ห์ของตัวบทจึงเปล่งประกายอย่างถึงที่สุด เพราะรอยต่อของนิยายกับอัตชีวประวัติมีลักษณะของการเลื่อนไหล การไปมาหาสู่กันของรูปแบบได้นำพาเราไปสู่การอ่านได้หลายแบบ ทั้งการอ่านเพื่อเอาเรื่อง อ่านเพื่อเอารส หรือแม้กระทั่งอ่านเพื่อชะโงกหน้าเข้าไปสอดรู้ชีวิตใครสักคน ดังนั้นในการกลับไปกลายมาแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่านวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ

โดยทั่วไป คนเราเรียนรู้ตัวเองจากการมองเข้าไปข้างในตัวตน และเรียนรู้คนอื่นด้วยการมองจากข้างนอก การอ่านหนังสือที่เปิดเผยตัวตนอย่างบันทึกความทรงจำหรืองานเขียนเชิงอัตชีวประวัติจึงเป็นโอกาสพิเศษที่เราได้ล่วงเข้าสู่ภายในของจิตใจผู้อื่น โอกาสพิเศษในการสำรวจภูมิทัศน์ที่ต่างไปจากการที่เราเขียนคนอื่นไว้ในใจของเรา และขณะเดียวกันนั้น ในระหว่างการสำรวจ โดยแทบจะไม่รู้ตัว เราเองก็กำลังเรียนรู้ตัวเองจากการมองสำรวจคนอื่นอยู่ด้วยเช่นกัน

สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนเงาตามตัวของการเล่าเรื่องของชีวิต คือการวิเคราะห์จิตใจ เพราะการขึ้นรูปของชีวิตนั้นพัฒนามาจากกลไกด้านจิตใจ ศิลปินเองดูเหมือนว่าจะตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของเงา จึงนำเสนอบางบทที่ตัวตนได้คาบเกี่ยวกับการค้นใจของตัวเองกับจิตแพทย์ ไลลียาพาเราเข้าไปขั้นตอนของการปรึกษา รักษา และศึกษาสภาพของจิตใจว่าอะไรที่เป็นปัญหา และจะหาคำตอบอย่างไรให้เหมาะสมต่อการมีอยู่และดำเนินไปของตัวเธอ ซึ่งการวางส่วนนี้ลงในเรื่องเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่า ในเมื่อตัวละครได้รับการศึกษาวิเคราะห์จากจิตแพทย์แล้ว การวิจารณ์วรรณกรรมด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์จะตีความไปในรูปแบบใด ในเมื่ออารยารื้อสร้างตัวไลลียาไปแล้ว แล้วนักรื้อสร้างตัวบทด้วยจิตวิเคราะห์ จะรื้อสร้างอะไรต่อไปในนึกคิดของไลลียา

อาจไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่า การพยายามกลับมาเป็นนักเขียนของศิลปินครั้งนี้ เป็นการเปิดเผยตัวตนที่สุดของสำนึกอารยา การกลืนตัวเข้าหากันของทัศนศิลป์และวรรณศิลป์ ที่แสดงถึงมโนทัศน์แห่งการท้าทายวิบากกรรมเดิมที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความทรงจำ เป็นการเปิดเผยตัวตนเพื่อเข้าหาพื้นที่ใหม่ให้ชีวิตศิลปิน พื้นที่ที่ภาพกลับเป็นคำ และคำกลายเป็นความท้าทายต่อทั้งตัวศิลปินและผู้อ่าน

Fact Box

ผุดเกิดมาลาร่ำ เป็นนวนิยายเล่มแรกของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข โดยก่อนหน้านั้นเธอมีงานเขียนเรื่องสั้นและข้อเขียนเกี่ยวกับศิลปะที่ได้รับการรวมเล่มดังนี้

 

  • บันทึก ‘ผู้หญิงตะวันออก โดยสำนักพิมพ์สามัญชน พ.ศ. 2536
  • คืนสิ้นกลิ่นกามรส โดยสำนักพิมพ์สามสี พ.ศ. 2543
  • (ผม) เป็นศิลปิน โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2548
  • ศิลปะกับถ้อยความ โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2549
  • วันใบไม้ร่วงของคนไกลบ้าน โดยสำนักฟรีฟอร์ม พ.ศ. 2551 (เล่มนี้ นำบันทึก ‘ผู้หญิงตะวันออก มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งโดยการเรียงลำดับเรื่องสั้นใหม่ให้ต่างจากเดิม และเพิ่มเติมบทสัมภาษณ์ของผู้เขียนท้ายเล่ม)
  • รู้ หลับ กับศิลป์ โดยสำนักพิมพ์คำสมัย พ.ศ. 2552

 

ผุดเกิดมาลาร่ำ เป็นผลลัพธ์ของนิทรรศการ ศิลปินพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’ ที่ตัวผลงานศิลปะจัดแสดงที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ ในระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2561 และเปิดตัวหนังสือในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2561

ผุดเกิดมาลาร่ำ ตีพิมพ์จำนวนจำกัด 400 เล่ม โดยมีปกให้เลือกสองสี คือ สีเขียวอมฟ้าและสีขาวอย่างละ 200 เล่ม ทุกเล่มมีลำดับหมายเลขพร้อมลายเซ็นของศิลปิน หนังสือไม่ได้วางจำหน่ายโดยทั่วไป ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ ในราคาเล่มละ 1,000 บาท

Tags: