ศิลปินแตกต่างอย่างไรกับนักเขียน? เมื่อทั้งสองสถานะต่างเป็นผู้เล่าเรื่องราวบางอย่างให้กับผู้ชม/ผู้อ่าน บ้างมีเค้าโครงของเรื่องจริง บ้างก็เป็นเรื่องแต่ง
ในความรับรู้ทั่วไป ‘ศิลปะ’ หมายถึงการขีดเขียนเส้นและสีให้เกิดเป็นภาพบนระนาบสองมิติของผืนผ้าใบ ต่างกับบทบาทของ ‘นักเขียน’ ผู้คัดสรรถ้อยคำนานาเพื่อถักทอออกมาเป็นข้อเขียนผลงาน วรรณกรรมจัดเป็นผลงานทางศิลปะประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับงานทัศนศิลป์ ขณะที่ความหมายของชิ้นงานศิลปะไม่อาจเกิดได้หากไร้ถ้อยคำภาษาที่เข้ามากำกับ สถานะของศิลปะกับวรรณกรรมจึงคาบเกี่ยวกันอยู่ จะแตกต่างก็เพียงรูปธรรมของตัวชิ้นงาน
ในนิทรรศการ ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน ของอารยา ราษฎร์จำเริญสุข จัดวางประติมากรรมสองชิ้นและวิดีโอสามชุด เล่นกับสภาวะก้ำกึ่งระหว่างบทบาทคนทำงานศิลปะควบคู่ไปกับการเป็นนักเขียนของเธอ
อารยามีงานเขียนรวมเล่มหลายชิ้น ทั้งเรื่องสั้นและบทความ อาทิ บันทึกผู้หญิงตะวันออก (1993) คืนสิ้นกลิ่นกามรส (2000) ศิลปะกับถ้อยความ (2006) และ วันใบไม้ร่วง (ของคนไกลบ้าน) (2013) นอกจากนี้ยังเคยมีนิทรรศการศิลปะชุด ทำไมจึงมีรสกวีแทนความรู้ทัน? (2005) ที่เธอขับขานบทประพันธ์แก่ร่างผู้ฟังไร้วิญญาณ นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่งานศิลปะของอารยาไปคาบเกี่ยวกับวรรณกรรมและบทบาทของนักเขียน
ภายในนิทรรศการ ผู้ชมจะปะทะกับชิ้นงานวิดีโอ ‘ฉันเพิ่งฟังคำบอกว่า งานของเธอเศร้าเกินไปสำหรับคริสต์มาส’ ตั้งแต่ประตูทางเข้า ผลงานชิ้นนี้แบ่งจอภาพออกเป็นสองฝั่ง แสดงภาพศิลปินสวมบทบาทเป็นบุคคลสองวัยแตกต่าง ด้านหนึ่งแลดูสาว อีกด้านเป็นวัยชรา ฟากหนึ่งเป็นพื้นที่ปิดอย่างห้องหนังสือ อีกฝั่งเป็นพื้นที่เปิดคล้ายสวนหลังบ้าน
โลกคู่ขนานทั้งสองนี้ดำเนินไปพร้อมๆ กัน ต่างฝ่ายต่างนำเสนอคำถามแย้งกันไปมา ทั้งสองฉากตัดสลับกับผลงานวิดีโอในอดีตของศิลปิน เนื้อหาของบทสนทนาเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานศิลปะ ราวกับเป็นความคิดหมกมุ่นที่ขัดแย้งอยู่ภายในของตัวอารยาเอง
ใจความหนึ่งจากวิดีโอชิ้นนี้กล่าวถึงคำว่า ‘ซื่อสัตย์’ ซึ่งเป็นคำที่ให้ความหมายในแง่ดี แต่ไม่สามารถไปด้วยกันได้กับคำว่า ‘สร้างสรรค์’ ในแง่นี้ ความซื่อสัตย์จึงมีนัยส่อเค้าถึงความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งสกัดกั้นให้ผลงานสร้างสรรค์ดำเนินไปด้วยรูปแบบที่แม้จะใหม่แต่ก็ซ้ำเดิม
สำหรับอารยาแล้ว ดูเหมือนว่าการทำงานศิลปะจำต้องแหวกออกจากกฎเกณฑ์บางอย่าง หลุดไปจากวาทกรรมจำเจ หลบลี้จากขนบธรรมเนียมเดิมที่เป็นกรอบกำหนดคุณค่าของงานศิลปะอย่างที่พึงเป็น
ข้อคิดเห็นนี้คล้ายการสะท้อนตอบกลับไปยัง ‘อำมหิต’ ผลงานวิดีโออีกชิ้นที่จัดแสดงอยู่ลึกเข้าไปด้านใน แสดงภาพกลุ่มชายหนุ่มผู้สวมบทบาทเป็นศิลปินแห่งชาติที่วิพากษ์วิจารณ์ผลงานวิดีโอชิ้นต่างๆ ของอารยาด้วยท่าทีขึงขัง พร้อมด้วยกลุ่มผู้ฟังชาวบ้านชายหญิงและภิกษุสงฆ์ที่กำลังฉันเพล
เนื้อหาของวิดีโอชิ้นนี้พาดพิงถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งผลงานของอารยาถูกปฏิเสธจากบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะในการขอตำแหน่งทางวิชาการ [1] เล่นล้อกับข้อวิจารณ์ที่ตัดสินว่าผลงานของเธอไม่เป็นศิลปะ ไร้ซึ่งคุณค่าเชิงวิชาการไร้จริยธรรม และมีลักษณะเป็นงานวรรณกรรมเสียมากกว่า
อารยาจำลองสถานการณ์ด้วยการนำผลงานวิดีโอชิ้นต่างๆ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาติดตั้งไว้ในพิพิธภัณฑ์ พร้อมกำกับให้นักแสดงสวมบทบาทศิลปินใหญ่และเป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องราว บทบาทของกลุ่มชาวบ้านในผลงานชิ้นนี้เปลี่ยนจากบทของนักวิจารณ์จำเป็นที่แสดงความเห็นต่อรูปจิตรกรรมตะวันตกบนขาหยั่งในผลงานเก่าของอารยาชุด The Two Planets (2007-2008) มาเป็นเพียงผู้รับสาร
เมื่อบทวิพากษ์ดำเนินไป ฝ่ายชาวบ้านและภิกษุสงฆ์ยังไร้ซึ่งการโต้ตอบจุดนี้ราวกับเป็นการหลอกซ้ำยังล่อให้ผู้ชมจำต้องคิดและตัดสินกลุ่มชาวบ้านภิกษุว่ามีสถานะเป็นแค่ ‘ผู้ฟัง’ กระทั่งเรียกได้ว่าเป็นเพียง ‘คนนอก’ ซึ่งอาจเพราะกระบวนการสั่งสมค่านิยมชุดหนึ่งของสังคมที่กลุ่มชาวบ้านจำต้องรับบทบาทต่ำต้อยเป็นทั้งผู้ไม่มีประสบการณ์ทางศิลปะ (จึงไม่ตอบโต้เพราะไม่เข้าใจ) กระทั่งเป็นคนนอกคอกนอกสายตาสำหรับผู้ชม
กลับกัน ปฏิกิริยานิ่งเฉยของกลุ่มชาวบ้านก็จัดฉากให้เห็นว่าคนสามัญทั่วไปไม่ได้เอออวยไปกับความรุ่มรวยทางภาษาศิลปะของกลุ่มคนอีกฟากฝั่ง
วิดีโอชิ้นนี้กล่าวถึงคำว่า ‘ซื่อสัตย์’ ซึ่งเป็นคำที่ให้ความหมายในแง่ดี แต่ไม่สามารถไปด้วยกันได้กับคำว่า ‘สร้างสรรค์’
ตอนหนึ่งของข้อวิจารณ์กลุ่มศิลปินแห่งชาติต่างอวดอ้างรูปแบบการทำงานของตน พร้อมโจมตีผลงานของอารยาว่าไปทำลายคุณค่าของงานศิลปะที่พวกเขายึดถือ แม้เข้าใจได้ว่าเมื่อผลงานหลุดจากมือของศิลปินออกสู่สาธารณะแล้ว ศิลปินย่อมไม่สามารถครอบครองความหมายที่มีอยู่ในตัวงานได้ เพราะการให้ความหมายจะกลายเป็นของผู้ชมโดยทันที หากแต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ย่อมพึงมีหน้าที่ ‘เพิ่ม’ มากกว่าเพียงแค่ ‘กัดเซาะ’ ชิ้นงาน ข้อติติงนานัปการจึงไม่ได้ช่วยเติมเต็มอะไรให้แก่ผลงานของอารยาในเชิงสร้างสรรค์
เกณฑ์การประเมินคุณค่าอันสัตย์ซื่อของเหล่านักแสดงฝีปากกล้าอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากการประเมินรูปแบบเนื้องาน แต่เป็นเพราะหัวข้อชิ้นงานที่คัดง้างกับขนบความเชื่อความเคยชินของสังคม ภาพปฏิกิริยาระหว่างศิลปินหญิงกับซากศพ ภาพชาวบ้านวิจารณ์ศิลปะตะวันตกชิ้นเอก กระทั่งภาพการแกล้งทำเป็นคนท้องคนไส้ที่ดูไร้ศีลธรรม เนื้อหาเช่นนี้ในงานศิลปะของอารยาไม่สามารถไปกันได้กับงานศิลปะของเหล่าศิลปินแห่งชาติ เมื่อมีคำว่า ‘แห่งชาติ’ ห้อยท้ายอยู่ รูปแบบการทำงานของศิลปินกลุ่มนี้จึงมักเกี่ยวข้องกับเรื่องชาตินิยมที่ต้องตอบรับอุดมการณ์แห่งชาติ
เห็นได้ชัดว่าผลงานของอารยาไม่ตอบรับกับอุดมการณ์ที่กล่าวมา ซ้ำยังแข็งข้อ ตั้งคำถาม และคัดง้างกับประวัติศาสตร์ศิลป์ จึงไม่แปลกใจที่การขอตำแหน่งทางวิชาการของเธอถึงได้รับการบอกปัดอย่างไม่ใยดี ซ้ำร้าย การประเมินคุณค่าศิลปินของวงการศิลปะไทย ยังคงเลี่ยงเรื่องเพศสภาพไปไม่พ้น ดังข้อความในส่วนท้ายของวิดีโอ
“เธอเกิดมาพร้อมอวัยวะเพศรูปกลีบดอกไม้แย้ม โคนกลีบบางหนึ่งมีปูดนูนคล้ายหนอนตัวผู้หันหัวซุกฝังในซอกกลีบ สันนิษฐานว่า เด็กน้อยอาจเสียความบริสุทธิ์มาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ นาน….. ก่อนจะเสียชาติเกิดในฐานะคนทำงานศิลปะ”
ข้อความข้างต้นแสดงปมความไม่ทัดเทียมทางเพศของคนทำงานศิลปะไว้เด่นชัด ล้อกันกับนักแสดงชายล้วนที่สวมบทศิลปินใหญ่ ตั้งคำถามต่อชิ้นงานหญิงไม่สมปรกติ ท้องแก่เก้าเดือนใกล้คลอด ผลงานของอารยาล้วนเป็นโจทย์เชิงสตรีนิยม เมื่อเพศผู้ไม่อาจประเมินตอบคำถามความเป็นหญิงได้ จึงเฉไฉไปเน้นหนักเรื่ององค์ประกอบศิลป์ที่ตัวเองหมกมุ่นวุ่นทำตาม
วิดีโอจบลงพร้อมเพลง ‘ศิลปากรนิยม’ อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานของศิลปิน เหล่าศิลปิน(แห่งชาติ)ต่างยึดถือดังเป็นจรรยาบรรณ อารมณ์ขันของอารยาที่เลือกใส่เพลงนี้ในวิดีโออาจแลดูเจือด้วยน้ำเสียงพาดพิงหมิ่นเหม่สถาบันใด
อย่างไรก็ดี อาจต้องย้อนกลับไปดูในช่วงต้นของวิดีโอที่ปรากฏภาพเขียนอันลือชื่อ ‘Cecin’est pas une pipe’ ของ เรอเน มากริต (René Magritte) ศิลปินชาวเบลเยียม ซึ่งเป็นภาพที่บ่งชี้ตัวตนอันแท้จริงว่าตนเองไม่ใช่ของจริง แต่เป็นเพียงภาพแทน (representation) กล่าวคือ “นี่ไม่ใช่ไปป์” (เป็นภาพของไปป์) = “นี่ไม่ใช่เหตุการณ์หรือบุคคลจริง” เป็นเพียงเหตุการณ์และบุคคลจำลองเท่านั้น คล้ายจำลองให้ผู้ชมเชื่อ แต่ก็บอกเป็นนัยตั้งแต่ต้นว่าอย่าหลงเชื่อ
ถัดเข้าไปด้านในของห้องนิทรรศการ ศิลปินวางประติมากรรมสองชิ้นนอนเคียงกัน ชิ้นหนึ่งเป็นหญิงสาวขาวโพลนไร้ซึ่งการแต่งแต้มสี นอนคุดคู้คู่อีกชิ้นหนึ่งเป็นรูปสุนัข อารยาตั้งชื่อผลงานว่า ‘เพลงกล่อมเด็กของรังไข่ที่ตายไปแล้ว’
งานชิ้นนี้จัดวางไว้บนแท่นอย่างที่ศิลปะวัตถุพึงเป็น แผ่นที่รองรับชิ้นงานเอาไว้มีลักษณะเรียวแบนพอให้อนุมานได้ว่าคือรูปทรงของรังไข่ บริเวณพื้นผิวแม้ขรุขระกลับดูแข็งแรง ราวกับห่อหุ้มสิ่งเปราะบางไว้ภายใน เหนือขึ้นไปคล้ายชิ้นส่วนหนึ่งของรังไข่ฉายแสงไฟสาดลงมา ช่วยจับตัวงานให้โดดเด่นปรากฏแก่สายตาของผู้ชมท่ามกลางความมืดมิดของพื้นที่จัดแสดง
จากคำโปรยของนิทรรศการแนะให้เข้าใจได้ว่า ประติมากรรมชิ้นนี้สัมพันธ์กับวิดีโอไร้เสียง ‘นิรนาม ยัมมายูชิ’ ที่ติดตั้งไว้บริเวณใกล้เคียงกัน ซึ่งแสดงภาพกระบวนการทำงานประติมากรรมชิ้นดังกล่าวที่ซ้อนทับด้วยภาพคลื่นทะเล กลุ่มสุนัข และภาพการผ่าตัด อันเป็นส่วนหนึ่งจากผลงานวิดีโอใน นิรนาม (2015) นิทรรศการเดี่ยวของเธอที่นำเสนอภาวะคู่ตรงข้ามระหว่างคนกับสัตว์
ภาพที่เคลื่อนไหวไปในวิดีโอเผยให้เห็นถึงกระบวนการก่อรูปร่างสุนัขขึ้นมาในสถานะใหม่คือ ‘ภาพแทน’ ทับซ้อนไปกับการสลายรูปตัวตนจริงของมัน ในผลงานวิดีโออีกชิ้นหนึ่ง ประสบการณ์ส่วนตนของอารยาชักพาให้ผู้ชมเข้าใจได้ว่าเธอผูกพันกับสุนัขอย่างแนบแน่น ครั้นแล้วเพราะอะไรประติมากรรมของทั้งคู่จึงหันหลังให้กัน? หรือเพราะฟากหนึ่งยังเป็น อีกฝั่งกลับตาย สิ่งที่แนบชิดกันระหว่างทั้งสองสายพันธุ์เห็นจะเป็นอวัยวะที่อีกฝั่งไม่มี ซึ่งก็คือ ‘หาง’ แม้มนุษย์ไม่อาจเข้าใจภาษาของสุนัข แต่ก็รับรู้ได้ทางภาษากายผ่านหางที่กระดิกว่าเป็นมิตรหรือศัตรู หากรังไข่ตายไปแล้วตามชื่อที่ศิลปินกำกับ หญิงสาวเนื้อขาวคงแค่กำลังนอนหลับฝัน แล้วหนังสือที่ตั้งอยู่ข้างมือซึ่งทำจากสิ่งแข็งกร้าวแต่แลดูบอบบางของหญิงสาว คือความว่างเปล่าหรือรอการเขียน?
คิดได้จึงพินิจถึงผลงานชิ้นสุดท้าย ประติมากรรมชื่อเดียวกับนิทรรศการ ‘ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’ เป็นรูปหญิงสาวสองอากัปกิริยาที่ผูก-ตั้งกับท่อนไม้รูปตัว F
ไม่ต้องใช้ความเพียรใดก็รู้ได้ว่าทั้งสองคือรูปเหมือนของศิลปิน เบื้องหน้าเป็นอารยาถูกมัดขาหัวพุ่งดิ่งตามแรงโน้มถ่วงของพื้นดิน ร่างเปลือยเปล่าไร้สิ่งใดคลุมกาย ถัดไปเป็นอารยาในชุดคลุมยาวยืนแสดงท่าทางเริงระบำอย่างเฉิดฉาย แสงไฟที่ติดตั้งในการจัดแสดงทำให้ผู้ชมมองเห็นชิ้นงานประติมากรรมได้ชัดเจนในห้องมืด ซ้ำยังทำให้เกิดเงากระทบกับผนังห้องนิทรรศการด้วย
ผลงานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นเด่นชัดถึงสองสภาวะที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นการตั้งอยู่และเงาที่ตกกระทบ ความเฉิดฉายและความสลด กระทั่งความเป็นและความตาย
ทางด้านซ้ายของชิ้นงาน ผู้ชมจะเห็นกรอบภาพติดอยู่กับแผ่นผนัง ในกรอบภาพ ประติมากรรมทั้งสองต่างซ้อนทับกัน ด้วยความอัศจรรย์อันใดก็ตามแต่ ขาที่ยกขึ้นของหญิงเริงระบำนั้นยื่นออกมาทะลุผ่านจุดสำคัญของหญิงผู้ห้อยหัวอย่างพอดิบพอดี การตาย-การเกิดในผลงานของอารยาจึงแลดูเป็นเรื่องเชิงนามธรรม อันมีรสที่เทียบเคียงได้กับการเสพสุขทางเพศ หรือในแง่หนึ่ง ความตายอาจเป็นการรอคอยการกำเนิด ไม่ใช่จุดสิ้นสุด หากแต่เป็นวัฏจักร
ภาพรวมในนิทรรศการของอารยา เราอาจไม่พบกับข้อเขียนใดๆ ของศิลปิน พบพานเพียงแต่การนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับคู่ตรงข้ามที่ถูกถักทอร้อยเรียง และเล่าผ่านเรื่องราวที่แลดูเป็นประสบการณ์ส่วนตนของเธอเอง รูปกับเงา ภาพแทนกับภาพซ้ำ กรอบเกณฑ์ทางศิลปะกับความคิดหมกมุ่น ต่างร่วมกันส่งความหมายในชิ้นงาน ข้อเขียนใดๆ อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป ตราบที่งานศิลปะของอารยายังคงโวหารให้ผู้เข้าชมสามารถขีดเขียนเรื่องราวตามแต่ใจตนได้อยู่ คล้ายกับเรื่องราวระหว่างบรรทัดที่เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างบทสนทนาระหว่างผู้ชมและผลงาน พลางนึกถึงข้อความหนึ่งในจดหมายจากผู้หญิงแวดวงวรรณกรรมที่เคยส่งหาเธอ ความว่า “ศิลปะกับงานเขียนของคุณเกี่ยวร้อยกันอยู่ หากฝั่งหนึ่งหยุดเกรงว่าอีกฝั่งจะมีอันเป็นไปด้วย” [2]
ไม่ช้าก็เร็ว คาดว่าเธอจะเขียน….
อ้างอิง
[1] ดูเพิ่มเติมได้ใน สายัณห์ แดงกลม, Outline of the Genesis (2) (Serie III: “Prof.” Araya Rasdjamrernsook), อ่าน-อาลัย, (กรุงเทพฯ: ตุลาคม 2559). หน้าที่ 276 – 290.
[2] อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, In this circumstance, the sole object of attention should be the treachery of the moon.(ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งพึงควรใส่ใจคือการทรยศของดวงจันทร์), (กรุงเทพ: ARDEL Modern Gallery of Art, 2552) 17.
ขอบคุณภาพประกอบ cover จากเว็บไซต์ 100 ต้นสน แกลเลอรี
FACT BOX:
นิทรรศการ ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน โดยอารยา ราษฎร์จำเริญสุข จัดแสดงที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี ระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 – 14 มกราคม 2561
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาของนิทรรศการจะมีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับผลงานเขียน และงานศิลปะของอารยา ราษฏร์จำเริญสุข ในสถานการณ์ ‘ศิลปินกำลังพยายามกลับไปเป็นนักเขียน’ อีกด้วย