เหนียวหนืด ทรงพลัง และหัวร่อต่อโลกได้เศร้าจับจิต

หนังสือเล่มบางความหนาไม่ถึง 200 หน้าเล่มนี้ สั่นสะเทือนอารมณ์ เผยเบื้องลึกของมนุษย์ และตั้งคำถามต่อเราทุกคนอย่างตรงไปตรงมาจนใจสะท้าน

นักโทษหนุ่มนิรนามผู้กำลังต้องโทษประหารภายในอีกไม่กี่วัน เขียนบันทึกเรื่องราวในคุก คร่ำครวญอย่างคนไร้ความหวัง หวนคิดถึงอดีตอย่างคนไร้อนาคต และฝันร้ายหลอกหลอนอย่างคนไร้ความสุข เขาบรรยายสภาพในคุกให้เห็นถึงรอยปริแยกของกำแพง กลิ่นเหม็นหืนของเสื้อผ้าขาดวิ่น และบทสนทนากับผู้คุมที่อยู่รายล้อมชวนให้สังเวชเวทนา เรื่องราวเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันขึ้นศาลจนถึงวันขึ้นตะแลงแกง

เขาใช้การบรรยายความรู้สึกนึกคิด ตัดสลับกับการบรรยายเหตุการณ์ในปัจจุบัน พูดถึงโทษประหารที่กำลังจะมาถึงในไม่กี่วัน บ้างก็ใส่จินตนาการสยองขวัญที่เกิดขึ้นในห้องขัง บ้างก็เล่าเรื่องความหลังเมื่อครั้งยังเด็กกับหญิงสาววัยแรกแย้ม บ้างก็เขียนถึงความรักที่มีต่อลูกสาวอย่างสุดหัวใจ ด้วยวิธีการแบบนี้ทำให้ผู้อ่านต้องปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเอง คาดเดาว่าเขาเป็นคนบุคลิกแบบใด ทำอาชญากรรมแบบไหน และมีความรู้สึกนึกคิดที่แท้อย่างไร

“ยามใดก็ตามที่ข้าพเจ้าใคร่เบือนหน้าไปทางอื่น มันก็จะเอาสองมือที่เย็นเยือกจับตัวเขย่าไปมา หรือไม่เวลาหลับตาลง มันก็จะยังคงแทรกตัวอยู่ในทุกรูปแบบ ในทุกที่ที่ใจข้าพเจ้าอยากหลีกเร้นไปเสียให้พ้น ผสมปนเปกับทุกถ้อยคำที่ใครเขาพูดด้วย เหมือนเป็นสร้อยคำอันโหดร้ายตามติดอยู่กับตัว ติดหนึบที่หน้าลูกกรงห้องขัง เข้าจู่โจมครอบครองในยามตื่น คอยเฝ้ามองในยามหลับกระสับกระส่าย แล้วปรากฏโฉมใหม่เป็นคมมีดในยามฝัน”

นี่คือหนึ่งในประโยคที่เขียนถึงความรู้สึกได้ลึกถึงขั้วกระดูก

เรื่องราวเหล่านี้จะค่อยๆ พาเราดำดิ่งสู่ความมืดมน แต่เมื่อกำลังจะลึกได้ที่ ผู้เขียนก็จะกระชากเราเข้าไปสู่ความขันขื่น หยอดมุขตลกในสถานการณ์ที่แสนตึงเครียด แล้วไม่นาน ก็จะโอบกอดเราเข้าไปสู่สวนดอกไม้แห่งความทรงจำแสนสวยงาม ยิ่งทำให้เห็นว่า วิกตอร์ อูโก สามารถเขียนเรื่องที่เหมือนจะไม่มีอะไร นอกจากความโศกาของนักโทษประหาร ให้กลายเป็นเรื่องที่มีฉากติดตรึงในหัวคนอ่าน ผสมปนเปทั้งอารมณ์รักชัง โหยหา และขำขันได้อย่างอัศจรรย์

ยิ่งอ่านยิ่งเห็นความเป็นมนุษย์ของนักโทษประหาร ยินเสียงลมหายใจที่กำลังจะขาดห้วง จนสะท้อนใจขึ้นว่านอกจากการเป็นอาชญากรแล้ว เขายังเป็นพ่อของลูก เป็นสามีของภรรยา หรืออาจเป็นเพื่อนที่ดีของใครสักคน แต่เขากำลังจะถูกหยิบยื่นความตายด้วยโทษประหารที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “อาชญากรรมสาธารณะ” ผู้คนต่างห้อมล้อมเข้ามาดูการประหารประหนึ่งดูการแสดงมหรสพ โห่ร้อง ตะโกนด่าทอ หรือบ้างมีรอยยิ้มพอใจกับความตายของหนึ่งชีวิต

มีตอนหนึ่ง วิกตอร์ อูโก เขียนเปรียบเปรยการทรมานนักโทษต่อหน้าสาธารณชนไว้อย่างเห็นภาพว่า

“นี่ถ้าข้าพเจ้ามองหาภาพงานชุมนุมฉลองของพ่อมดแม่มดละก็ ที่เห็นอยู่ตรงหน้านี่นับว่าใช้ได้ไม่มีเลวกว่านี้ไปอีกแล้ว”

สิ่งหนึ่งที่งานเขียนชิ้นนี้ทำให้รู้สึกอย่างแจ่มชัด คือการเข้าไปทำความรู้จักกับนักโทษประหารอย่างลึกซึ้ง ได้ฟังเสียงที่เราไม่เคยได้ฟัง ได้เห็นความอ่อนโยนและอ่อนแอของมนุษย์จากคนที่เรามองว่าเป็นอาชญากรเลวร้ายของสังคม แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า หนังสือเล่มนี้อาจไม่ใช่ความรื่นรมย์ที่เหมาะกับการอ่านในมื้อกาแฟยามเช้า แต่ก็ต้องยอมรับด้วยเช่นกันว่า สำนวนภาษาอันละเอียดลออของ วิกตอร์ อูโก จะเข้ามากุมหัวใจของเราให้ตามติดเข้าไปในเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติ รวมถึงสำนวนการแปลของ อาจารย์กรรณิกา จรรย์แสง ที่ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยได้อย่างไหลลื่นงดงาม ชวนให้ละเลียดอ่านไปได้โดยไม่ติดขัด

วิกตอร์ อูโก สามารถเขียนเรื่องที่เหมือนจะไม่มีอะไร ให้กลายเป็นเรื่องที่มีฉากติดตรึงในหัวคนอ่าน ผสมปนเปทั้งอารมณ์รักชัง โหยหา และขำขันได้อย่างอัศจรรย์

วิกตอร์ อูโก เขียนเรื่อง ‘วันสุดท้ายของนักโทษประหาร’ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 1828 หลังปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส 1789 มาหลายสิบปี ซึ่งฝรั่งเศสยังอยู่ในช่วงการต่อสู้ระหว่างระบอบสาธารณรัฐกับการพยายามฟื้นคืนของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เขามีอายุเพียง 27 ปีตอนที่เริ่มเขียนเรื่องนี้ โดยเริ่มเขียนทันทีหลังจากที่ผ่านไปทาง ปลาซ เดอ แกรฟ ลานประหารในยุคนั้น เห็นเพชฌฆาตกำลังซ้อมกับเครื่องกิโยติน

หนังสือตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี 1829 โดยไม่มีชื่อผู้แต่ง สะท้อนความตั้งใจของอูโก ที่อยากให้ตัวละครเขียนบันทึกโดยแทนตัวว่า ‘ข้าพเจ้า’ เพื่อให้เห็นถึงเนื้อแท้ความเศร้าโศก หวาดกลัว และสิ่งที่นักโทษต้องพบเจอเอง กล่าวได้ว่าตัวละครนี้เป็นตัวแทนนักโทษประหารที่ไม่ว่าจะก่ออาชญากรรมใดมา มีภูมิหลังแบบไหน ก็ไม่ควรมีใครถูกตัดสินประหารชีวิต

เขาแหวกขนบการเขียนแนวโรแมนติกที่เป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 19 เพื่อสร้างงานวรรณกรรมอันเป็นตัวแทนของความรู้สึกนึกคิดของนักโทษประหาร และหวังว่าจะช่วยหยุดหยดเลือดที่ต้องไหลรินใต้เครื่องกิโยตินของอีกไม่รู้กี่ชีวิต

จิลส์ การาชง (Gilles Garachon) เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เขียนถึงงานของอูโกไว้ในคำนำว่า “เขาไม่ได้กล่าวโทษใคร แต่ตั้งข้อกล่าวหาโดยมุ่งตรงไปที่ผู้รับผิดชอบทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้พิพากษา มือประหารหรือชาวบ้านที่ตัดสินลงโทษเชิญชวนคนเหล่านั้น ในลักษณะเดียวกัน เขาได้เรียกร้องลูกขุนในศาลให้หยั่งลึกเข้าไปในจิตใจของตนเองเพื่อค้นให้พบความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่มากพอที่จะปฏิเสธการลงทัณฑ์ในลักษณะนี้ เขาชี้ให้เห็นระบบที่กดขี่ในยุคเก่า ที่อนุมัติให้การเอาชีวิตเป็นเรื่องถูกกฎหมายและชี้ให้เห็นความโบราณคร่ำครึของการลงโทษประหาร”

ประเทศฝรั่งเศสยกเลิกโทษประหารชีวิตในปี 1981 หลังจากต่อสู้โต้แย้งกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นหนึ่งในประเทศอารยะร่วมกับหลายประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม นอร์เวย์ สหราชอาณาจักร ฯลฯ

ในประเทศไทยมีการประหารชีวิตครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2552 ด้วยคดียาเสพติด และในปี 2560 ยังคงมีการเรียกร้องโทษประหารกับคดีข่มขืนที่อุกฉกาจและสะเทือนหัวใจของคนในสังคม

ความโกรธแค้นต่อการกระทำอันต่ำช้านั้นพอเข้าใจได้ แต่ประวัติศาสตร์ก็สอนให้เรารู้ว่า ไม่เคยมีสังคมใดที่หยุดยั้งอาชญากรรมได้ด้วยการฆ่า แต่การศึกษาและสังคมคุณภาพต่างหากที่จะช่วยโอบอุ้มคนในสังคมให้อยู่ต่อไปอย่างยาวนานและสงบสุข

 

Fact Box

วันสุดท้ายของนักโทษประหาร (Le Dernier Jour d'un condamné) เขียนโดย วิกตอร์ อูโก ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1829 สำนวนไทยแปลโดย กรรณิกา จรรย์แสง ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน ปี 2560

Tags: , , , , ,