ถ้าเป็นไปได้ ใครๆ ก็คงอยากพูดทุกอย่างตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมหรือแต่งเติมคำพูดให้เปลืองแรง แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว หลายครั้งเราก็จำเป็นต้องเลี่ยงไม่พูดจาตรงไปตรงมาทั้งหมด เช่น อาจต้องเลือกคำพูดให้แรงน้อยลงเพื่อถนอมใจคนอื่น หรือเลือกวางมาดไม่ชมใครตรงๆ เพราะเดี๋ยวอีกฝ่ายจะเหลิงหรือได้ใจ
เทคนิคหนึ่งที่ใช้พลิกแพลงคำพูดไม่ให้ตรงจนเกินไปที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายโดยไม่ค่อยรู้ตัว ก็คือ litotes (ออกเสียงว่า ไลโททีซ) ราชบัณฑิตบัญญัติชื่อไทยไว้ว่า อุปนิเสธ หมายถึง การสื่อความบางอย่างด้วยการปฏิเสธสิ่งที่ตรงกับข้ามกับสิ่งที่เราต้องการสื่อและพูดให้เบากว่าที่ต้องการจะสื่อ (understatement หรือ อวพจน์) ตัวอย่างเช่น เวลาที่เราพูดว่า “ไม่เลว” สิ่งที่เราต้องการจะสื่อจริงๆ ก็คือ “ดี” หรือ “ใช้ได้” แต่แทนที่เราจะพูดว่า “ดี” ตรงๆ เรากลับสื่อความหมายนี้ด้วยการปฏิเสธสิ่งที่ตรงกันข้ามกันและพูดว่า “ไม่เลว” แทน เป็นต้น
ด้วยความที่เราต้องพูดอ้อมๆ บ่อย litotes จึงแทรกซึมอยู่ในภาษาต่างๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว (คำว่า ไม่น้อยเลยทีเดียว นี่ก็เป็น litotes)
สัปดาห์นี้ เราจะไปดูสำนวนและคำพูดในภาษาอังกฤษที่เราอาจได้ยินบ่อยๆ และไม่เคยคิดมาก่อนว่ามี litotes แฝงตัวอยู่
Not too shabby – ไม่เลว โอเคอยู่
ปกติแล้วถ้าเราบรรยายอะไรว่ามีลักษณะ shabby ก็จะไม่นับเป็นเรื่องดี เพราะคำนี้หมายถึง โทรม ดูเก่า ซอมซ่อ เช่น When will you get rid of those shabby old sneakers of yours? ก็จะหมายถึง เมื่อไหร่เธอจะเอารองเท้าโทรมๆ ของเธอไปทิ้งเสียที
คำว่า shabby นี้เราจะได้ยินบ่อยๆ ในสำนวน not too shabby ซึ่งเป็น litotes หากแปลตรงตัวก็จะหมายถึง ก็ไม่ได้แย่เสียจนเกินไป ถึงแม้ฟังดูเหมือนคนพูดกำลังจะบอกว่าสิ่งที่บรรยายอยู่ก็แย่แต่ยังพอทน แต่อันที่จริงแล้วสำนวนนี้มีลักษณะเป็น understatement คือพูดให้เบากว่าที่ต้องการสื่อจริงๆ เพราะความหมายจริงๆ ที่คนพูดต้องการจะสื่อเมื่อใช้สำนวนนี้ค่อนไปในทางบวกกว่านั้นมาก คือ ดีเลยทีเดียวนะ โอเคอยู่เลย ไม่เลวเลยนะ คล้ายๆ กับ not too bad หรือ not bad นั่นเอง เช่น หากเราถามเพื่อนว่าธุรกิจเป็นยังไง แล้วเพื่อนตอบว่า Not too shabby. สิ่งที่เพื่อนต้องการจะสื่อก็คือ ขายดีอยู่เลยทีเดียวนะ ไม่ได้แปลว่าที่ร้านทำมาค้าขายไม่ค่อยได้แต่อย่างใด
ทั้งนี้ สำนวนนี้เอาไว้ใช้ตอบเวลาที่ใครถาม How are you? ก็ได้เช่นกัน หมายถึง สบายดี
Can’t complain – ก็ดี
สำนวนนี้หากแปลตรงตัวหน่อยก็จะได้ความหมายทำนองว่า ไม่มีอะไรให้บ่นถึง แต่ด้วยความเป็น litotes ที่เป็น understatement สำนวนนี้จึงหมายถึง ก็ดีอยู่ ดีทีเดียว ทุกอย่างราบรื่นดี ประมาณว่าไม่ได้มีปัญหาหรือวิกฤตอะไรให้ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่เรามักใช้สำนวนนี้เวลามีคนถามว่าชีวิตการงานหรือเรื่องต่างๆ เป็นอย่างไร เช่น ถ้ามีคนทักทายไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ แล้วเรารู้สึกว่าชีวิตเราก็ไม่ได้หวือหวาอะไร แต่ก็ไม่ได้มีเหตุให้ต้องเก๊กซิมรายวัน ก็อาจจะตอบว่า Can’t complain. ทำนองว่า เรื่อยๆ นั่นเอง
I wouldn’t say no – ไม่ปฏิเสธ
เรามักได้ยินสำนวนนี้เป็นคำตอบเวลาที่มีใครเสนอ หยิบยื่น หรือเอ่ยปากชวนอีกฝ่าย เช่น เวลาเพื่อนที่กำลังจะไปเซเว่นถามว่าจะฝากซื้ออะไรไหม หรือ เวลาที่เพื่อนชวนไปดูหนัง นับเป็นคำตอบที่ฟังแล้วอาจชวนงงเล็กน้อยว่าสรุปแล้วจะเอายังไง ที่บอกว่า I wouldn’t say no. หรือ ไม่ปฏิเสธ นี่สรุปแล้วคือเอาไหม
สำนวนนี้เป็น litotes ที่เป็น understatement อีกเช่นเคย ดังนั้น ที่บอกว่า ไม่ปฏิเสธ ความหมายจริงๆ แล้วก็คือ I would like to. หรือ เอา นั่นเอง (เล่นตัวจริงๆ!) ตัวอย่างเช่น หากเราไปบ้านเพื่อนและเพื่อนถามว่าอยากดื่มอะไรไหม แล้วอยู่ๆ วิญญาณผู้ดีอังกฤษสิงร่างให้เราอยากดื่มน้ำชาขึ้นมา ก็อาจจะตอบไปว่า I wouldn’t say no to a cup of tea. หรือหากคนคุยของเราชวนเราไปดูหนังแล้วเราไม่อยากตอบให้ดูกระเหี้ยนกระหือรือเกินหน้าเกินตา ก็อาจข่มอารมณ์ ทำตาปรือ ขบริมฝีปากล่างเบาๆ ตอบด้วยเสียงเซ็กซี่ว่า I wouldn’t say no.
It wouldn’t hurt – ไม่เสียหาย ก็ดีนะ
สำนวนคุ้นหูนี้เป็น litotes เช่นกัน ใช้วิธีปฏิเสธว่าสิ่งที่จะทำไม่ก่อให้เกิดเสียหาย เพื่อสื่อความตรงกันข้าม ก็คือ ทำแล้วอาจจะดีหรือมีประโยชน์ คล้ายๆ กับที่คนไทยพูดว่า ลองดูไม่เสียหาย ส่วนใหญ่แล้วใช้เพื่อแนะนำให้ใครลองทำอะไรสักอย่างเพราะจะเกิดผลดี ตัวอย่างเช่น สมมติเราเป็นพวกนอนดึกเป็นประจำ หากเข็มนาฬิกาไม่เลยเที่ยงคืนก็ไม่ยอมหลับนอน เพื่อนที่เป็นห่วงสุขภาพเราก็อาจจะบอกว่า It wouldn’t hurt to go to bed early every once in a while. หมายถึง เข้านอนเร็วบ้างก็ดีนะแก
แต่บางครั้ง เราก็อาจใช้สำนวนนี้ในเชิงประชดประชันเบาๆ ก็ได้ เช่น หากเราไปร้านอาหารแห่งหนึ่งแล้วพนักงานหน้าตาบึ้งตึงเหมือนเราไปทำอะไรให้ไม่พอใจ เราก็อาจจะเขียนรีวิวร้านนั้นว่า It wouldn’t hurt to smile. ความหมายทำนองว่า ยิ้มหน่อยก็ดีนะ
No mean feat – ไม่ใช่เล่นๆ
คำว่า mean ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า ใจร้าย แบบ Mean Girls แต่หมายถึง ด้อยค่า ต่ำต้อย ไม่สลักสำคัญ เป็นความหมายโบราณที่ไม่ค่อยใช้กันในปัจจุบันแล้ว พบได้ในสำนวนเช่น a person of mean parentage หมายถึง คนที่มาจากครอบครัวยากจน ไม่ได้มาจากตระกูลร่ำรวยใหญ่โต
เมื่อมารวมกับคำว่า feat ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ทำได้ยาก เรื่องท้าทาย คล้ายคำว่า accomplishment ดังนั้น ในสำนวน no mean feat จึงได้ความหมายตรงตัวประมาณว่า ไม่ใช่ความสำเร็จเล็กน้อย แต่แน่นอนว่าสำนวนนี้เป็น litotes ดังนั้น ความหมายจริงๆ ที่ต้องการจะสื่อก็คือ เป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ ควรค่าแก่คำยกย่องชื่นชม ตัวอย่างเช่น We’ve been together for 25 years, and that’s no mean feat. ก็จะหมายถึง อยู่กินกันมา 25 ปีแล้ว ถือว่าเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่ ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ นะ ทั้งนี้ จะพูดว่า no small feat ก็ได้เช่นกัน
There’s no denying – ปฏิเสธไม่ได้ว่า
สำนวนนี้ก็เป็น litotes เช่นกัน คือพูดว่า ปฏิเสธไม่ได้ เพื่อจะบอกว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องที่พูดถึงเป็นเรื่องจริง ประมาณว่ามีหลักฐานเต็มตาจนปฏิเสธไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ไปไหนในเมืองกรุงก็เห็นหมอกควันจางๆ หันไปทางไหนก็มีแต่คนใส่หน้ากากปิดจมูก เราก็อาจพูดว่า There’s no denying that the smog is affecting all Bangkokians. ก็จะหมายถึง ปฏิเสธไม่ได้ว่าหมอกควันพิษส่งผลกระทบต่อชาวกรุงเทพฯ ทุกคน หรือหากเราเห็นดาราคู่จิ้นของเราแล้วรู้สึกว่าเขามีความกระหนุงกระหนิงปิ๊งปั๊งกันในระดับเคมี เห็นแล้วบอกได้ว่าเลยเรือลำนี้ไม่ใช่เรือผีแน่นอน ก็อาจจะพูดว่า There’s no denying the chemistry between them. หมายความทำนองว่า เคมีชัดเสียยิ่งกว่าชัด
No stranger to – เคยชิน เคยทำมาแล้ว
สำนวนนี้เป็นอีกสำนวนที่เราได้ยินกันบ่อยๆ นับเป็น litotes ตรงที่ใช้การบอกว่า ไม่ใช่คนที่ไม่ชินกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อสื่อว่า คนคนนั้นเคยผ่านเรื่องทำนองนั้นมาแล้วหรือพบเจอเรื่องทำนองนั้นอยู่เนืองๆ จนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ตัวอย่างเช่น สมมติว่าดาราคนหนึ่งมีเรื่องอื้อฉาวให้คนเม้าธ์คนลือบ่อยมาก หากวันหนึ่งดาราคนนี้มีเรื่องทำนองนี้ขึ้นมาอีก เราก็อาจจะพูดว่า He’s no stranger to controversy. ก็คือ อีคนนี้มีเรื่องแบบนี้บ่อย หรือหากเพื่อนเราแสดงความเป็นห่วงเป็นใยว่าเราจะทำงานโต้รุ่งอีกแล้ว เราอาจจะแสดงความเป็นโปรการเผางานส่งด้วยการพูดว่า Hey, don’t worry. I’m no stranger to pulling an all-nighter. หมายถึง ไม่ต้องห่วงหรอก นี่โต้รุ่งครั้งแรกเสียเมื่อไร
บรรณานุกรม
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย. ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2545.
- American Heritage Dictionary of the English Language
- Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
- Fahnestock, Jeanne. Rhetorical Style: The Uses of Language in Persuasion. OUP: New York, 2011.
- Forsyth, Mark. The Elements of Eloquence: How to Turn the Perfect English Phrase. Icon Books: London, 2013.
- Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
- Harris, Robert A. Writing with Clarity and Style: A Guide to Rhetorical Devices for Contemporary Writers. Routledge, New York, 2018.
- Longman Dictionary of Contemporary English
-
Merriam-Webster Dictionary
-
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
-
Shorter Oxford English Dictionary