ขอสารภาพสักนิดว่า บ่อยครั้งที่เดินดูผลงานศิลปะก็ไม่ค่อยเข้าใจความหมายที่ศิลปินจะสื่อสักเท่าไร ทว่าไม่ใช่กับบรรดางานศิลปะในนิทรรศการนี้ ด้วยความที่ผลงานศิลปะสอดคล้องกับบริบททางประวัติศาสตร์และช่วงเวลาของ ‘สงครามเย็น’ สงครามซึ่งไร้การต่อสู้อันรุนแรงที่แสนยืดเยื้อยาวนานระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียต ทำให้การเดินดูงานศิลปะในครั้งนี้ เราได้เสพทั้งศิลปะและเข้าใจเรื่องราวผ่านประวัติศาสตร์ในคราวเดียวกัน

นิทรรศการ ‘โลกร้าว: เรื่องเล่าขนาดย่อมจากเส้นทางโฮจิมินห์ถึงทุ่งหญ้าสเต็ปป์’ (The Shattered Worlds: Micro Narratives From The Ho Chi Minh Trail to The Great Steppe) จัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีของมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน ที่ก่อตั้งเพื่อเชิดชู จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) สถาปนิกและอดีตทหารสหรัฐฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในไทยและเอเชียช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสิ้นสงครามโลกจึงย้ายมาอยู่ไทย และเป็นที่รู้จักจากการฟื้นฟูอุตสาหกรรมผ้าไหมไทย ก่อนจะหายตัวไปอย่างลึกลับในปี 2510 

นิทรรศการนี้แสดงผลงานภายใต้บริบทของยุคสงครามเย็น (2490-2534) ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น สงครามเวียดนาม ขบวนการคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์และอวกาศ ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านผลงานของศิลปิน 13 คน ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพวาด ภาพถ่าย วิดีโอ และศิลปะจัดวาง

01 สองมุมผนัง

ณ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ห้องจัดแสดงที่มีผนังโค้งขนาดใหญ่มีงานภาพถ่าย 2 ภาพที่ติดอยู่คนละมุมของผนังโค้ง สมกับชื่อผลงาน ‘สองมุมผนัง’ ซึ่ง ส้ม ศุภปริญญา เจ้าของผลงานอธิบายว่า 2 ภาพนี้เป็นภาพถ่ายตึกในไทยและลาว ที่แม้ว่าจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน แต่ในช่วงสงครามเย็นทั้ง 2 ประเทศกลับยืนอยู่คนละฝั่งขั้วอุดมการณ์ จึงมีเส้นแบ่งทางมายาคติที่มองไม่เห็นขั้นกลางไว้ 

โค้งเผยให้เห็นความหมายลึกซึ้งของงาน เพราะหากเรายืนมองจากตรงกลางผนังเราจะเห็นแค่บางส่วนของทั้ง 2 ภาพ แต่เมื่อเรายืนอยู่ที่ริมมุมใดมุมหนึ่ง เพื่อดูภาพหนึ่งให้ชัดเจน ความคดโค้งของผนังจะบดบังให้เรามองไม่เห็นภาพที่อยู่อีกมุมหนึ่งเลย ในขณะที่ตรงกลางผนังจัดแสดงเหรียญเกียรติยศที่มอบให้ทหารไทยในสงครามเกาหลี ซึ่งเป็นหนึ่งในสงครามตัวแทนระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียตด้วย

02 อินทรีแดง แสงมรกต

ห้องจัดแสดงกั้นด้วยผ้าม่านสีแดงสดปักข้อความ ‘อินทรีแดง แสงมรกต’ ด้วยฟอนต์ไทยแบบที่ค่ายมวยมักใช้กัน ผลงานของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล เป็นวิดีโอจัดวาง 3 จอ เล่าเรื่องผ่านมวยไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ แต่ในความเป็นจริงมวยไทยเป็นหนึ่งในสัญญะต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสม์ในช่วงสงครามเย็น นักมวยกลายเป็นอาชีพที่สร้างภาพผู้ชายและความเป็นชายให้แข็งแรงพร้อมต่อต้านภัยร้ายอย่างคอมมิวนิสต์ที่รัฐไทยมองว่าจะเข้ามาคุกคาม

จุฬญาณนนท์ฝึกฝนมวยไทยอย่างจริงจัง เพื่อนำประสบการณ์มาพัฒนาเป็นผลงานชิ้นนี้ วิดีโอจัดวาง 3 จอของเขาเล่าเรื่องกีฬามวยไทยที่กลายเป็นอุตสาหกรรม แต่นักมวยกลับอยู่ในจุดต่ำสุด ฉายภาพเด็กชายตัวน้อยที่เข้าสู่วงการตั้งแต่เด็กและฝึกซ้อมอย่างจริงจัง ไปจนถึงพระที่สอนเด็กต่อยมวย ด้วยความหวังให้ห่างไกลจากยาเสพติดและเสริมสร้างความแข็งแรง รวมไปถึงฉายให้เห็นภาพความเป็นชาตินิยมที่ซุกซ่อนอยู่ในมวยไทย 

03 The Overview Perspective

สิ่งแรกที่ดึงดูดสายตาของผู้เข้าชมให้เดินเข้าไปถ่ายรูปคือ ‘เสากระจกปริศนา’ หรือ Monolith ที่เจ้าของผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้อย่าง จุน ยัง (Jun Yang) ศิลปินชาวจีน ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง 2001: A Space Odyssey ความตั้งใจของเขาคือ การตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น ทั้งชะตากรรมของผู้คนและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีว่า แท้จริงแล้วสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นเพราะใครหรือจริงๆ แล้วมีอะไรควบคุมอยู่ 

จุน ยังสนใจการแข่งขันในการครอบครองอวกาศช่วงสงครามเย็น เขาได้นำภาพถ่ายและเอกสารเก่าเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือบุคคล ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศมาจัดแสดง โดยหนึ่งนั้นคือภาพ Earthrise ที่เขาประมูลมา ถ่ายโดย วิลเลียม เอ. อันเดอร์ส (William A. Anders) นักบินอวกาศผู้บันทึกภาพโลกของเราจากอวกาศห่างไกล เป็นภาพถ่ายโลกจากอวกาศที่เผยให้เห็นว่า แท้จริงแล้วโลกของเรานั้นเล็กจ้อยเพียงใด และอำนาจหรือสิ่งยิ่งใหญ่บนโลกก็แทบไร้ความหมาย และหากใครเป็นเนิร์ดอวกาศก็น่าจะอินกับผลงานจัดวางของจุน ยัง มากทีเดียว 

04 Kurchatov 22

ส่วนของห้องจัดแสดงอีกฝั่งหนึ่งเป็นผลงานของ อัลมากุล เมนลิบาเยวา (Almagul Menlibayeva) ศิลปินชาวคาซัคสถาน มาพร้อมกับ ‘Kurchatov 22’ ผลงานวิดีโอจัดวาง 5 จอ เล่าเรื่องราวของเมืองเคอร์ชาตอฟที่เคยเป็นเมืองลับ และเป็นศูนย์กลางบริหารของโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของโซเวียต ก่อตั้งโดย โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) และคณะ ที่นี่มีการทดสอบนิวเคลียร์กว่า 450 ครั้งในช่วงสงครามเย็น ซึ่งทิ้งผลกระทบรุนแรงและยาวนานไว้ให้ประชากรรุ่นต่อๆ มา ทั้งความเสียหายทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงความเสียหายทางพันธุกรรม ต้นเหตุของโรคร้ายและความพิการ

ผลงานของเธอเล่าผ่านวิดีโอสัมภาษณ์ผู้คนที่เคยเห็นการทดสอบนิวเคลียร์ของโซเวียต คุณลุงคนหนึ่งเคยเห็นระเบิดกับตาตัวเองตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และตอนนี้ลูกชายของเขาก็กำลังรักษาโรคมะเร็งด้วยอายุยังน้อยเพราะทำงานในเหมือง เช่นเดียวกับคนงานเหมืองรายอื่นๆ ที่ต้องประสบกับโรคร้ายเช่นกัน ตัดไปที่วิดีโออีกชุดหนึ่ง หญิงสาวเดินไปตามถนนพร้อมกับมีแผ่นไม้กลมๆ ที่พิมพ์ลายระเบิดนิวเคลียร์กลิ้งตามเธอทุกย่างก้าว ตีความได้ทันทีว่า ทุกยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านของที่นี่ ตั้งแต่คนรุ่นเก่าจนถึงคนรุ่นใหม่ ร่องรอยของระเบิดนิวเคลียร์ก็ยังคงตามติดพวกเขาอยู่

ทั้งนี้ เมนลิบาเยวายังมีผลงานภาพถ่ายอีก 2 ชิ้น ที่หากมองเผินๆ อาจคิดว่า เป็นภาพถ่ายแฟชั่น แต่แท้จริงเธอพยายามขับเน้นความว่างเปล่าบนผืนดินกว้างใหญ่ ที่หลงเหลือจากการทดลองของโซเวียตนั่นเอง

05 Still Alive

ผลงานชิ้นสุดท้ายที่จัดแสดงที่หอศิลป์ฯ เป็นผลงานของ อู ซาว ยี (Au Sow Yee) ศิลปินชาวมาเลเซีย ภายใต้ชื่องานว่า ‘Still Alive’ เป็นวิดีโอ 3 จอจัดแสดงบริเวณ 3 ด้านผนังของห้องจัดแสดงสีน้ำเงิน วิดีโอเล่าเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่สูญหายและเสียชีวิตอย่างปริศนาในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ ล็อค (Loke) เจ้าพ่อวงการหนังชาวมลายูที่พัฒนาหนังอย่างจริงจัง แต่เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตกอย่างปริศนา, ทีวาย (TY) อดีตหน่วยข่าวกรองของญี่ปุ่น ที่ว่ากันว่าเสียชีวิตอย่างปริศนาในมาเลเซีย และจิม (Jim) นักธุรกิจชาวอเมริกันในไทยที่หายตัวไปอย่างลึกลับที่ป่าในมาเลเซีย 

ผลงานของซาว ยี หยิบฟุตเทจเก่า บทเพลง และเศษเสี้ยวประวัติศาสตร์มารวมกัน และชวนผู้ชมตั้งคำถามว่า ประวัติศาสตร์บางเรื่องนั้นถูกลืมหรือถูกทำให้เลือนหายไปกันแน่

06 ภาพถ่ายทางอากาศ

ผลงานอีกส่วนหนึ่งจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ที่เคยเป็นที่พำนักของจิม และเก็บรวบรวมของสะสมอายุหลายร้อยปีจากหลายพื้นที่ในเอเชียไว้ ซึ่งปัจจุบันปรับมาเป็นพิพิธภัณฑ์นั่นเอง

อีกหนึ่งบทบาทของจิมนอกจากนักธุรกิจและราชาผ้าไหมไทย ในอดีตเขาเคยเป็นทหารสายลับในหน่วยปฏิบัติการลับของสหรัฐฯ หรือที่รู้จักในชื่อ OSS (Office of Strategic Services) หน่วยงานในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เดิมทีนายทหารจิมต้องเข้ามาทำภารกิจในไทยพร้อมกับขบวนการเสรีไทยโดยลงที่สนามบินลับซึ่งใช้สำหรับคนส่งของจากฝั่งสหรัฐฯ อย่างลับๆ แต่สงครามดันจบลงเสียก่อน หน่วยปฏิบัติการลับได้ปิดตัวลง และอีกสักพักจิมจึงเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองไทย 

ผลงานภาพถ่ายทางอากาศครอบแก้วของ ประทีป สุธาทองไทย จัดวางกระจายตามบริเวณต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ประทีปนำเสนอภาพถ่ายทางอากาศเก่าของสนามบินลับในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเขาพิมพ์ภาพถ่ายลงบนกล่องไฟ แล้วครอบด้วยแก้วเป่าแบบโบราณทรงสูง ให้ความรู้สึกเหมือนผู้ชมได้มองสนามบินลับนี้จากมุมสูงคล้ายอยู่บนเครื่องบิน อีกทั้งครอบแก้วนี้ยังเป็นของเก่าเพื่อให้จัดวางได้อย่างกลมกลืนไปกับของสะสมในพิพิธภัณฑ์ชิ้นอื่นๆ อย่างแนบเนียน

งานเขียนชิ้นนี้หยิบยกผลงานบางส่วนมาพูดถึงเท่านั้น ยังมีงานอีกหลายชิ้นที่ชวนตื่นตาตื่นใจ และหากผู้อ่านอยากสัมผัสเรื่องเล่าขนาดย่อมของสงครามเย็นที่ถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะให้ครบทั้ง 13 ผลงาน สามารถเข้าชมได้ที่ นิทรรศการโลกร้าว: เรื่องเล่าขนาดย่อมจากเส้นทางโฮจิมินห์ถึงทุ่งหญ้าสเต็ปป์ ที่หอศิลป์ฯ และพิพิธภัณฑ์ใจกลางเมือง

Fact Box

นิทรรศการโลกร้าว: เรื่องเล่าขนาดย่อมจากเส้นทางโฮจิมินห์ถึงทุ่งหญ้าสเต็ปป์ จัดแสดงใน 4 สถานที่ ได้แก่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 8 (9 ผลงาน), หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (2 ผลงาน), ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน (1 ผลงาน) และพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน (1 ผลงาน) ตั้งแต่วันนี้- 6 กรกฎาคม 2568

Tags: ,