ผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ตำนานวงการกีฬาพาราลิมปิกไทย เป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งคนธรรมดา คนพิการ และเป็นผู้พิสูจน์ว่า ‘คนพิการ’ ก็มีศักยภาพไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร และสามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนทั้งประเทศได้

หากขึ้นต้นด้วยคำอธิบายเหล่านี้ เชื่อว่าชื่อของ แวว-สายสุนีย์ จ๊ะนะ จะผุดขึ้นมาในหัวของใครหลายคน เพราะเธอคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นนักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคนแรกของโลกที่คว้าเหรียญทองพาราลิมปิกครบทั้ง 3 ประเภท คือฟอยล์ เซเบอร์ และเอเป้ ในการแข่งขันพาราลิมปิก 2024 ครั้งเดียว

ปีนี้จึงเป็นปีแห่งความสำเร็จ และเป็นปีที่สายสุนีย์ยืนยันว่า ไม่ว่าโชคชะตาจะพลิกผันเปลี่ยนชีวิตของเธอไปมากขนาดไหน ก็ไม่สามารถดึงความเป็นนักสู้ของเธอออกไปได้

The Momentum ชวนสายสุนีย์มาบอกเล่าถึง ‘ปีแห่งความสำเร็จ’ บนเส้นทางของนักสู้ว่ากว่าจะเดินทางมาถึง ‘จุดนี้’ เธอต้องผ่านและพยายามอย่างไรบ้าง รวมไปถึงคำถามในแวดวงกีฬาว่า หลังจากขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพแล้ว หลังจากนี้เธอจะเข้า ‘จุดพัก’ แล้วหรือยัง

เคยคิดไหมว่าจะเหมา 3 เหรียญทองในหนึ่งพาราลิมปิกได้

จริงๆ ไม่เคยคิดเลยว่า ตัวเองจะได้เหรียญทองมาถึง 3 เหรียญ เป้าหมายในตอนแรกขอแค่เหรียญเดียวในประเภทเอเป้ เพราะเป็นดาบที่ถนัดเพราะแต่ละประเทศจะมีดาบที่ตัวเองถนัดอยู่แล้ว เช่น จีนถนัดดาบเซเบอร์ ส่วนอิตาลีถนัดดาบฟอยล์ เป็นเรื่องยากที่เหรียญทองจากดาบทั้ง 3 ประเภทจะโคจรมาอยู่ที่คนคนเดียว ผลการแข่งขันรอบนี้เลยเกินความคาดหมายไปมาก ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในชีวิตเลย

วันที่ได้ 3 เหรียญทอง จึงเป็นจุดที่เรามีความสุขที่สุด เหมือนได้กำไรชีวิต จากความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจฝึกซ้อมมา 26 ปีจนประสบความสำเร็จ สำหรับเรามันคือจุดสูงสุดของการเป็นนักกีฬาแล้ว

กว่าจะมาเป็นคนแรกของโลก ผ่านการฝึกหนักแค่ไหน

ส่วนตัวเคยคิดว่า วีลแชร์ฟันดาบน่าจะซ้อมไม่หนักเท่ากับวีลแชร์บาสเกตบอล แต่เอาเข้าจริงๆ ก็หนักอยู่ คนฝึกสอนจะให้แทงเป้ารอบละประมาณ 1,000 ครั้ง ใน 1 วันซ้อมแทงเป้าไปไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 ครั้ง ในช่วงซ้อมเราจะมีการบาดเจ็บที่มือกับแขน เพราะต้องใช้แรงจับดาบแทงเป้าและดึงกลับเข้าหาตัวเอง บางครั้งมือแตกจนมีเลือดไหล บวกกับที่เราจะต้องเอาชนะตัวเองและคู่แข่งเลยต้องซ้อมหนักขึ้นเท่าตัว อาการบาดเจ็บมันเลยมีมาอยู่เรื่อยๆ แต่ก็อดทนนะ

หรืออย่างการฝึกซ้อมบางท่า ร่างกายของเรามันมีขีดจำกัด ไม่สามารถซิตอัปได้เพราะความพิการ เลยต้องนำวิธีเทรนนิงแบบอื่นมาทดแทน ยอมรับเลยว่าฝึกหนัก แต่ส่วนหนึ่งก็หนักเพราะตัวของเราที่พยายามซ้อมเกินขีดจำกัดที่ครูฝึกสอนกำหนด แต่ผลลัพธ์ก็คือความสำเร็จในแต่ละการแข่งขันนั่นแหละ

ฝึกหนักจนบาดเจ็บ ทำไมถึงยังอยากเป็นนักกีฬา

เราเคยคิดว่า ตัวเองเป็นคนพิการหนึ่งเดียวในโลก จนมีโอกาสได้เข้าไปอยู่กับคนพิการคนอื่นๆ บางคนพิการหนักกว่าเราอีก เช่น บางคนตาบอด บางคนแขนขาขาด 2 ข้าง แต่เขายังมีความสุขและทำในสิ่งที่อยากทำได้ 

ตอนนั้นมีรุ่นพี่คนพิการมาเล่าปัญหาที่เขาเจอให้เราฟัง บอกว่าเขาเคยเกือบตายมาแล้ว แต่ก็ลุกขึ้นสู้จนในที่สุดก็ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ คำพูดของเขาตอนนั้นแหละที่จุดประกายเรา เราจึงอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ อยากจะได้เหรียญรางวัลเหมือนกับเขา อย่างน้อยๆ คือการได้นำเงินรางวัลจากการแข่งกลับมาดูแลครอบครัวตัวเอง 

แรงบันดาลใจในการเป็นนักกีฬาทีมชาติมาจากสังคมคนพิการ แล้วจุดเริ่มต้นในการเป็นนักกีฬาเริ่มจากตรงไหน

เรามีโอกาสได้เข้าไปอบรมกีฬาคนพิการ แต่ตอนนั้นวีลแชร์ฟันดาบยังไม่เข้ามาในไทย เราเลยเริ่มเล่นบาสเกตบอลเป็นกีฬาแรก แต่พอเล่นมาได้ 2 ปี มีการอบรมกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ เราเลยเข้าไปอบรม จำได้ว่าพอเข้าไปก็ติดทีมชาติเลย เพราะไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันพอดี แต่เงินรางวัลอาจจะไม่ได้เยอะมาก

ยากไหมกับการเป็นนักกีฬาทีมชาติ

สมัยนี้ง่ายกว่ามาก แค่เสิร์ชกูเกิลว่าเป็นคนพิการอยากเล่นกีฬาก็จะมีคนเข้ามาสนับสนุน มีที่เก็บตัว มีอาหารให้กิน แต่สมัยของเรามันยากมากๆ กับการจะเป็นนักกีฬาคนพิการ ต้องย้ายจากเชียงใหม่มาอยู่กรุงเทพฯ มีเงินติดตัวแค่ 2,000 บาท ต้องขายล็อตเตอรีหารายได้เพิ่มทั้งที่ขายไม่เป็น พอขายไม่ไหวก็ไปสมัครเป็น Operator แล้วแบ่งเวลามาทำดอกไม้ประดิษฐ์อยู่ 4 ปีเต็ม รายได้ที่เหลือจากการเลี้ยงตัวเองกับจ่ายค่าหอพักก็ต้องส่งกลับบ้าน เอาไว้ให้น้องได้เรียนหนังสือ กับข้าวบางมื้อกินไข่กับมาม่าหรือไปขอวัดกิน จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก ตัวเราเจอมาหมดทุกอย่างแล้ว

กว่าจะดันตัวเองผ่านรอบคัดตัวนักกีฬา เราก็ต้องใช้ชีวิตไปแบบนี้เพื่อรอผล มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แล้วนอกจากดูแลตัวเอง ก็ต้องดูแลครอบครัวของเราด้วย บางคนอาจจะมองว่า ทำไมเราเก่งจังที่ประสบความสำเร็จ แต่ระหว่างกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้มันหนักหนามากๆ 

คุณเดินทางจากเชียงใหม่ เข้ามาดิ้นรนใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ คนเดียวเหรอ

ใช่ เรามากรุงเทพฯ ตัวคนเดียว ซ้อมฟันดาบก็ซ้อมคนเดียว เพราะเพื่อนกระจายไปเล่นกีฬาอื่นกัน อยู่ห้องพักคนเดียว ใช้ชีวิตคนเดียว บางครั้งไปโรงพยาบาลก็ไปคนเดียว ทำทุกๆ อย่างคนเดียวเพื่อครอบครัว เราไม่อยากเป็นภาระเขา ตอนนั้นต้องเป็นเสาหลักให้กับน้องสาวที่กำลังเรียน เคยคิดเหมือนกันนะว่า เราผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร บางครั้งก็นึกชมตัวเองที่ผ่านมาได้ ทั้งที่ต้องตื่นเช้าแต่หลับดึก ประหยัดเงินเจียดให้คนที่บ้านทั้งที่ตัวเองเป็นคนพิการ 

ชัยชนะพาราลิมปิก 2024 ครั้งนี้ต่างกับชัยชนะครั้งก่อนๆ ไหม 

ยอมรับว่า รางวัลที่ได้มาครั้งนี้ มันเปลี่ยนชีวิตเราไปมากจริงๆ เงินรางวัลก็มากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว แต่เวลาในการอยู่กับครอบครัวหรือแม้แต่เวลาส่วนตัวแทบจะไม่มีเลย เราไม่มีเวลาที่จะอยู่บ้าน ต้องตื่นเช้าทุกวันและมีอีเวนต์ให้ไปตลอด

อีกเรื่องที่เรามองว่า มันเปลี่ยนและเรารู้สึกดีใจคือ สังคมเปิดกว้างกับกีฬาพาราลิมปิกมากขึ้น เราเคยใส่ชุดธรรมดาไปเดินห้างฯ แต่ก็ยังมีคนที่จำเราได้และเป็นเด็กวัยรุ่นเข้ามาขอถ่ายรูป บอกเราว่า ทำไมกีฬาของพี่มันจังเลย มันทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งมันเป็นนิมิตหมายใหม่ที่ดี ไม่ใช่แค่กับเราแต่กับวงการกีฬาคนพิการในภาพรวมด้วย 

คิดว่าวงการกีฬาของคุณผ่าน ‘จุดพีก’ เข้าใกล้ ‘จุดพัก’ แล้วหรือยัง

สำหรับเรา พาราลิมปิก 2024 เป็นอะไรที่พีกที่สุดแล้ว และก็เป็นที่สุดของการเป็นนักกีฬาเลยด้วย เราไม่ได้คาดหวังว่า ต่อไปในอนาคตเราจะต้องได้อีก 3 เหรียญทอง ไม่ได้เล่นเพราะอยากจะเป็นที่สุดอีกเหมือนกับครั้งนี้ แต่เล่นเพราะร่างกายของเรายังไหว อย่างแมตช์ต่อไปที่จะได้เล่นอีกสมัยหนึ่งคือ ที่ลอสแอนเจลิส 2028 ก็น่าจะเป็นแมตช์สุดท้ายของเรา ถึงแม้ว่าวัยของเราจะยังไหว แต่สำหรับเราคิดว่ามันน่าจะพอแล้ว

หมายความว่าคุณจะออกจากวงการอย่างนั้นหรือ

ถึงจะเลิกเล่นแต่ตัวเรายังคงอยู่ในแวดวงเหมือนเดิมนะ อาจจะมาช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับน้องๆ นักกีฬารุ่นต่อไป หรือถ้ามีการแข่งขันในแมตช์ไหนเราก็จะเข้าไปช่วยสอน ไปแนะแนว ช่วยคนฝึกสอน หรือไม่ก็อาจจะอยู่ในทีมบริหารในการจัดการแข่งขัน อย่างไรแล้วก็คงจะไม่ทิ้งกีฬามันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วสำหรับเรา เพราะฟันดาบเป็นผู้ให้ชีวิตเรา ทำให้เรามีทุกวันนี้ได้ 

แปลว่า ด้วยวัยย่าง 51 ปี อาจจะเริ่มเป็นอุปสรรคกับการเล่นกีฬามากขึ้น

ถ้าจะบอกว่าอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเล่นกีฬาก็คงไม่ใช่แล้วละ (หัวเราะ) เพราะมวลกระดูกกับเส้นเอ็นของเราเริ่มเสื่อมลง ทำให้กระทบกับการฝึกซ้อมกีฬา เกิดอาการบาดเจ็บ หลังซ้อมเสร็จในช่วงเย็นเราจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ สะดุ้งตื่นตอนหลับ เพราะไม่สามารถนอนท่าเดียวไป 1-2 ชั่วโมงติดกัน ตอนนี้ก็พยายามปรับและเรียนรู้สภาพร่างกายของตัวเอง ถ้าการซ้อมกีฬาในท่าไหนที่หนักไป เราก็จะหาวิธีการอื่นๆ มาทดแทน

แต่การเล่นกีฬาก็ยังให้สุขภาวะที่ดีกับเราอยู่ ก่อนหน้านี้ทำอะไรก็รู้สึกเหนื่อย แต่พอมาเล่นกีฬาแล้วอาการเหนื่อยก็หายไป ส่วนอาการปวดเจ็บกล้ามเนื้อก็หาวิตามินเข้ามาเสริม สุขภาพของเรายังดีอยู่ ไม่มีอาการอิดโรย ไม่เหนื่อยง่ายเหมือนคนอายุ 50 ปีทั่วๆ ไป

นอกจากการรอคอยการแข่งขันอีก 4 ปี ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งที่ลอสแอนเจลิส ในปีหน้ามีอะไรที่คุณกำลังรอคอยอยู่ไหม

น่าจะเป็นในส่วนของลูกสาวเรา เพราะเขาเริ่มออกเดินทางตามความฝันของเขาแล้ว ตัวเรามีหน้าที่สนับสนุนให้มันเป็นจริง ในฐานะแม่เรากำลังรอความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ รอดูว่ามันจะเป็นไปในทิศทางไหน ตอนนี้เราไม่ต้องเสียค่าเทอมเองแล้ว และมีงานละครให้ลูกของเราได้ไปแสดง เลยทำให้เรารู้สึกว่า ภายในปีหน้ามันเปลี่ยนแปลงแน่ๆ ไม่ใช่ชีวิตของเราที่เปลี่ยนแต่เป็นชีวิตของลูก 

ทำเพื่อครอบครัวมามาก มีอะไรที่อยากทำให้ตัวเอง แต่ยังไม่ได้ทำในปีนี้ไหม

กลับเชียงใหม่ค่ะ (หัวเราะ) กลับแบบเต็มสตรีมเลย เพราะไม่ได้กลับมา 4 ปีแล้ว ก่อนหน้านี้เราต้องเก็บตัว ไม่มีเวลาได้กลับบ้าน แต่วันที่ 25 ธันวาคมนี้น่าจะได้กลับแต่กลับแบบสั้นๆ แค่สัปดาห์เดียวก็ต้องกลับมากรุงเทพฯ ก่อน เพราะต้องมาส่งลูกเรียน จริงๆ การไม่ได้กลับบ้านมันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกเสียดายจริงๆ เราอยากจะทำทุกอย่างให้เสร็จแล้วกลับไปอยู่เชียงใหม่สักเดือน แต่จนถึงตอนนี้ยังทำไม่ได้เลย 

นอกจากกลับบ้านที่เชียงใหม่แล้ว ก็คงเป็นการพักผ่อนกับครอบครัว เราไม่ได้อยู่กับคนที่บ้านมาหลายปี ปกติหลังแข่งกีฬาก็จะมาอยู่กับลูกสาว แต่ตอนนี้แทบไม่มีเวลา เพราะต้องไปออกรายการต่างๆ บางรายการไม่เคยไปก็ได้ไปคราวนี้ ช่วงเวลาหลังแข่งที่มีอยู่นิดหน่อย เลยเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวความอบอุ่นจากคนที่เรารักให้มากๆ ก่อนที่เราจะไปซ้อมต่อ

นอกจากบ้านแล้ว มีอะไรในจังหวัดเชียงใหม่ที่ทำให้คุณคิดถึงอีกไหม

เราคิดถึงน้ำพริกอ่อง (หัวเราะ) จิ้มกินกับผัก เป็นอะไรที่ชอบมากๆ

พูดเรื่องบทบาทนักกีฬามาพอสมควร ช่วยเล่าบทบาทแม่ของสายสุนีย์ปีนี้ให้ฟังหน่อย

เป็นปีที่มีความสุขและผูกพันกันมาก ลูกเราฝันอยากทำงานในวงการบันเทิง อยากเป็นศิลปินนักร้องกับนักแสดง ความเป็นนักกีฬาทีมชาติของเรามันก็ส่งเสริมความฝันของลูกนะ เขามีคนรู้จักมากขึ้น ตอนนี้ก็เริ่มเดินตามรอยความใฝ่ฝันแล้ว มีงานละครเข้ามา เวลาไปโรงเรียนก็จะมีเพื่อนๆ เข้ามาหาลูกสาวขอให้เขามาเอาลายเซ็นเรา เขาก็จะดีใจ ตัวเราก็รู้สึกอุ่นใจที่ลูกมีความสุข 

ในฐานะการเป็นแม่ตอนนี้ เราพยายามให้ความอบอุ่นกับเขาเท่าที่เราจะทำได้ พูดคุยกับเขา ทำให้เขารู้สึกมีเราเป็นเพื่อนที่จะอยู่เคียงข้างเขาตลอดเวลามีปัญหาอะไร ที่สำคัญเวลาเขาต้องการอะไร อยากเรียนหรือชอบอะไร เราจะสนับสนุนเขาทุกๆ ทาง เพราะทุกอย่างของเราคือของลูกสาว ขออย่างเดียวคือให้เขาเป็นเด็กดีก็พอ

แม้ว่าการแข่งขันจะจบลงแล้ว แต่เชื่อว่าคุณน่าจะได้เดินสายออกงานค่อนข้างบ่อย คุณจัดสรรเวลาอยู่กับครอบครัวอย่างไร

ปกติน้องสาวเราจะช่วยดูแลลูกสาวให้ แล้วเขาก็จะเป็นคนจัดตารางชีวิตให้เรา ถ้าน้องสาวต้องเดินทางไปกับเรา ก็จะให้น้องเขยหรือคุณยายมาช่วยดูแลแทน เราจะมีการเขียนตารางเพื่อจัดสรรเวลากันในครอบครัว เหมือนเรามีผู้จัดการส่วนตัวเลย (หัวเราะ) เพราะตัวเราคนเดียวจำไม่ได้เลยว่า วันนี้ต้องไปออกงานอะไรบ้าง เคยรับงานชนกันไป 2 งาน เราก็ต้องไปขอโทษเขา 

เคยคิดไหมว่า คุณจะมีวันนี้ วันที่มีแต่ความลงตัวทั้งในฐานะนักกีฬาและในฐานะของการเป็นแม่ 

ก็เคยนอนคิดเหมือนกันว่า ทำไมเราถึงทำได้นะ เราผ่านมันมาได้อย่างไร ทำไมถึงเก่งจัง นึกภาพไม่ออกเลยว่า เราจะผ่านทุกอุปสรรคต่างๆ จนมาเป็นสายสุนีย์ในวันนี้ได้ อาจจะด้วยความแข็งแกร่งของตัวเอง และด้วยความรักที่มีให้ครอบครัวเป็นแรงผลักดันเรามาโดยตลอด เราเคยตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องส่งเงินกลับไปที่บ้าน เพราะแค่ดูแลตัวเองก็เหนื่อยแล้ว แต่พอมาคิดกลับกัน ถ้าเราไม่เป็นเสาหลักของครอบครัว แล้วน้องของเราจะเรียนจบปริญญาตรีไหม แล้วพ่อกับแม่ของเราจะทำอย่างไร แค่ช่วงที่เราพิการใหม่ๆ เขาก็ลำบากกันอยู่แล้ว เลยเป็นแรงผลักดันว่า ถึงจะท้ออย่างไรก็ต้องสู้ เหนื่อยหน่อยก็ไม่เป็นไร มันก็เลยทำให้เรามีวันนี้

มีอะไรจะบอกกับผู้พิการที่ได้มาอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณไหม

เราอยากบอกกับทุกคนว่า เราสามารถทำได้ทุกอย่างได้ ที่ผ่านมาทุกครั้งที่เรารู้สึกท้อแท้หรือรู้สึกแย่ เราจะบอกกับตัวเองเสมอว่าเราทำได้ ให้เชื่อมั่นในตัวเอง และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ส่งกำลังใจให้ตัวเองแล้วอย่าลืมหันมองครอบครัวหรือมิตรภาพของเรา 

มีคำพูดอะไรที่อยากจะบอกตัวเองในปีนี้หรือเปล่า

อยากขอบคุณตัวเอง และทุกวันนี้ก็ยังคงขอบคุณตัวเองอยู่ตลอด ขอบคุณร่างกาย ขอบคุณจิตใจที่พาฝ่าฟันอุปสรรคในชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้ และมอบสิ่งที่ตั้งใจคาดหวังทำให้พ่อกับแม่ได้อยู่สุขสบาย ให้น้องสาวได้มีชีวิตที่ดี และมีลูกสาวที่น่ารัก เราภาคภูมิใจตัวของเราในวันนั้นที่ก้าวข้ามผ่านทุกอย่างจนกลายมาเป็นเราในวันนี้

 

Fact Box

  • แวว-สายสุนีย์ จ๊ะนะ เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันเธออายุ 50 ปี ย่างเข้า 51 ปี และใช้ชีวิตส่วนใหญ่หลังจากเป็นนักกีฬาที่กรุงเทพฯ 
  • ในการแข่งขันพาราลิมปิก ณ กรุงปารีส 2024 เธอคว้าเหรียญทองในการแข่งขันวีลแชร์ฟันดาบ กวาดเหรียญทองไปได้ถึง 3 เหรียญทองในดาบ 3 ประเภทคือ ดาบฟอยล์ ดาบเอเป้ และดาบเซเบอร์ และถูกจารึกว่าเป็นผู้หญิงคนแรกที่ชนะการแข่งขันวีลแชร์ฟันดาบทั้ง 3 ประเภท 
  • ย้อนกลับไปเมื่อสายสุนีย์อายุได้เพียง 17 ปี เธอประสบอุบัติเหตุชนแล้วหนี ส่งผลให้สายสุนีย์ไม่สามารถเดินและทรงตัวได้มาจนถึงปัจจุบัน 
  • สถานที่สำหรับการสัมภาษณ์ Plantnery Green Café ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 
Tags: , , , , ,