“ความผิดปกติของผม ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเป็นหมอ ผมมีความรู้และความสามารถในการรักษาผู้ป่วยตามความรู้ได้ ดังนั้น ผมอยากใช้โอกาสที่ได้มา ให้โอกาสชีวิตที่กำลังจะตายได้มีชีวิตรอดต่อไป”
คำพูดของ ‘โฌน’ (แสดงโดย เน๋ง-ศรัณย์ นราประเสริฐกุล) แพทย์หนุ่มออทิสติกที่มีความสามารถสูง (High Functioning Autism) ในซีรีส์ทางการแพทย์ Good Doctor หมอใจพิเศษ โดยมีต้นฉบับมาจากประเทศเกาหลีใต้และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปดัดแปลงหลายฉบับทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ตุรกี จีน รวมทั้งไทยที่กำลังออนแอร์อยู่ในขณะนี้
เมื่อเป็นการดัดแปลงผลงานของต่างประเทศ จึงต้องมีการปรับเนื้อหาและบริบทให้เข้ากับบริบทท้องถิ่นและยุคสมัยในแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน ทว่าในทุกเวอร์ชันยังคงดำเนินเรื่องโดยมีตัวเอกเป็นหมอที่เป็นออทิสติก High Function โดยมีความสามารถพิเศษอย่างอัศจรรย์ สามารถจดจำและจินตนาการตำแหน่งของอวัยวะภายในร่างกายมนุษย์ได้เหมือนตาเห็น
เราจะเห็นความเป็นอัจฉริยะของออทิสติกที่มีความสามารถสูงเหล่านั้น ผ่านบทบาทอาชีพที่หลากหลายมากขึ้นในภาพยนตร์หรือซีรีส์ ทั้งทนายความในซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo (2022) หรือแม้กระทั่งอาชีพหมอในซีรีส์ Good Doctor จนเกิดข้อสงสัยว่า ออทิสติกซาวองต์ (Autistic Savant) ในชีวิตจริงนั้น แตกต่างจากในซีรีส์อย่างไรและทำงานอะไรได้บ้าง
The Momentum ชวนทุกคนทำความรู้จักกับออทิสติกที่มีความสามารถสูง ผ่านตัวละครหมอโฌนใน Good Doctor หมอใจพิเศษ ก่อนปิดฉากส่งท้ายตัวละครแพทย์หนุ่มออทิสติก และทีมแพทย์อื่นๆ ที่เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายของซีรีส์ในวันที่ 20 ธันวาคมที่จะถึงนี้
ทำความรู้จักโลกของ High Functioning Autism
ออทิสติกในกลุ่มนี้มักมีระดับความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ที่ปกติหรือสูงกว่าปกติ และสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับบุคคลทั่วไป คนกลุ่มนี้มีความฉลาด มีจินตนาการ มีความจำที่ดี อาจมีความสามารถบางอย่างแฝงอยู่หรือเป็นอัจฉริยะได้ด้วยพฤติกรรมที่หมกมุ่นและทำอะไรซ้ำๆ กับสิ่งที่ชอบ จนทำให้เกิดความถนัดในด้านนั้น
ส่วนใหญ่พบว่า มี ‘ความจำแบบพิเศษ (Memory Ability)’ ที่สามารถจดจำข้อมูล ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ และตัวเลข ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งความจำแบบพิเศษนี้มักเป็นฐานของความสามารถด้านอื่นด้วย โดยส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องที่ยากๆ ซ้บซ้อนที่คนทั่วไปไม่ค่อยสนใจ
ไม่ใช่เด็กออทิสติกทุกคนที่จะเป็นอัจฉริยะ
ใน Good Doctor หมอใจพิเศษ แสดงให้เห็นว่าหมอโฌนคือ หนุ่มออทิสติกที่มีความสามารถสูง อยู่ในกลุ่มออทิสติกซาวองต์หรือ ‘อัจฉริยะออทิสติก’ ด้วยความที่มี IQ ดีจึงทำให้มีสติปัญญาและความจำดี เราจะเห็นกราฟิกภาพอวัยวะแสดงขึ้นมาทุกครั้งที่ประเมินอาการ แสดงมุมมองของหมอโฌนที่สามารถจินตนาการเห็นภาพอวัยวะคนไข้เวลาบาดเจ็บ รวมทั้งสามารถจดจำศัพท์เฉพาะทางการแพทย์ได้อย่างแม่นยำ
ภาพยนตร์และซีรีส์ต่างๆ อาจสร้างภาพจำหรือความเข้าใจผิดว่า ออทิสติกจะต้องเป็นอัจฉริยะ แต่ในความเป็นจริงเราพบความเป็นอัจฉริยะและความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน ได้เพียงร้อยละ 10 ของกลุ่มออทิสติก ในขณะที่อีกเกือบครึ่งพบว่า มีความบกพร่องทางสติปัญญา (IQ ต่ำกว่า 70) อย่างไรก็ตามค่าที่ได้จากการทดสอบระดับเชาวน์ปัญญาในกลุ่มออทิสติก อาจมีความคลาดเคลื่อนต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านภาษา ด้านพฤติกรรม และความร่วมมือในการทดสอบ รวมทั้งไม่สามารถวัดมิติด้านอื่นๆ ของปัญญาหรือความสามารถในด้านดนตรีและศิลปะได้
ในประเทศไทยคาดว่า มีผู้ที่อยู่ในกลุ่มออทิสติกประมาณ 3 แสนคน โดยกลุ่มที่จัดว่าเป็น ‘ออทิสติก High Function’ หรือบุคคลที่มีอาการออทิสติกระดับสูงและสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ค่อนข้างดี เป็นกลุ่มที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมีความสามารถพิเศษเฉพาะด้าน เช่น ศิลปะ ดนตรี หรือคณิตศาสตร์ และต้องการการสนับสนุนมากขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ
การทำงานของออทิสติก High Function ในชีวิตจริง
The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ นายแพทย์ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กรมสุขภาพจิต เกี่ยวกับการทำงานของออทิสติกที่มีความสามารถสูงในชีวิตจริง โดยระบุว่า ออทิสติก High Function ในปัจจุบันที่สามารถทำงานได้มีหลากหลายอาชีพ ทั้งวิศวกร ช่างฝีมือ นักวิชาการ นักวิจัย นักบัญชี และนักดนตรี แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ทำงานในวิชาชีพที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะแบบนี้ ส่วนมากทำงานด้านธุรการ ประสานงานและงานทั่วไป รวมถึงงานบริการตามร้านอาหารและร้านกาแฟ ที่ไม่ต้องอาศัยทักษะและความชำนาญที่เฉพาะมากนัก
“ถ้าดูตามสถิติของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ตัวเลขของการจ้างงานคนพิการประเภทออทิสติกจะอยู่ที่ประมาณ 400 คน แต่ยังมีกลุ่มออทิสติกที่ไม่ได้จดทะเบียนคนพิการที่จบและทำงานประมาณ 100-200 คน ถ้าคิดเป็นสัดส่วนของออทิสติกจริงๆ ถือว่ามีน้อยมาก น่าจะไม่ถึง 1% ที่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้”
ทว่าแพทย์ออทิสติกในประเทศไทยที่มีความสามารถสูงเหมือนหมอโฌน ในชีวิตจริงสามารถนับคนได้ โดยมีเพียง ‘หลักหน่วย’ เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่สามารถเรียนจบได้ด้วยตัวเองและไม่ได้รับการช่วยเหลือมากนัก นายแพทย์ทวีศักดิ์กล่าวว่า ในแง่ความรู้ความสามารถ ถ้าสามารถเรียนจบและประกอบใบวิชาชีพได้ ก็มั่นใจได้ว่าพวกเขาสามารถเข้าใจตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ แต่อาจจะมีข้อจำกัดอื่นๆ อย่างทักษะการเข้าสังคม การปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่น หรือทักษะการสื่อสารที่อาจจะเข้าใจไม่ตรงกันบ้าง หากได้รับความช่วยเหลือที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน เขาก็จะสามารถทำงานได้ดีและเต็มที่เหมือนกัน
High Function Autism คนที่ไม่สมบูรณ์ในสายตาของสังคม
“เป็นเรื่องแล้ว เป็นเรื่องแล้ว ต้องผ่าตัด ต้องผ่าตัดเดี๋ยวนี้”
หมอโฌนในซีรีส์บางฉากมีพฤติกรรมที่ไม่ยืดหยุ่น มีพฤติกรรมทำอะไรซ้ำๆ ยึดติดอะไรอยู่แค่บางอย่าง ถ้าชอบอะไรจะสนใจหมกมุ่นอยู่แต่กับสิ่งนั้น รอคอยไม่เป็น เข้าใจแต่อะไรที่เป็นเส้นตรง และมองว่าทุกอย่างเป็นความจริง (Fact) เพราะไม่ยืดหยุ่น ชอบคิดแบบหุ่นยนต์คือ จะมองโลกเป็นแค่ขาวดำ ถูกผิด ชอบคิด เข้าใจ และทำอะไรเป็นคำสั่ง
ส่วนมากออทิสติกในกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถเรียนหนังสือได้ แต่ปัญหาใหญ่คือ ยังขาดทักษะการเข้าสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทั้งมารยาท กาลเทศะ การอ่าน การตีความ และการเข้าใจคนอื่น ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้จากคนอื่น ถ้าหากว่าเจอเหตุการณ์ใหม่ที่ยังไม่รู้จักก็จะต้องสอนเพิ่มเติมไปตลอด
“ผมว่าเรื่องบางอย่างก็ปล่อยให้เป็นฟิกชันก็ดีอยู่แล้ว”
ประโยคจากฉากในห้องประชุมที่แพทย์ทุกคนต้องร่วมโหวต แสดงความคิดเห็นในการเข้ารับโฌนเป็นแพทย์ประจำบ้าน ซึ่งผลโหวตจากแพทย์หลายสาขาที่ร่วมประชุมไม่เห็นด้วย ที่จะให้หมอออทิสติกเข้ามารับผิดชอบชีวิตคนไข้ ปัญหาที่พบมักไม่ใช่เรื่องของความสามารถในงานที่ทำ แต่เป็นเรื่องทักษะทางสังคมและการยอมรับจากคนรอบข้างมากกว่า
โฌนต้องฝ่าฟันกับอคติของเพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่ และอาจารย์หมอหลายคน โดยเฉพาะ หมออาชวินทร์ (แสดงโดย โทนี่ รากแก่น) ที่กีดกันและไม่เชื่อมั่นในความสามารถของเขา ทั้งยังต้องฝ่าด่านความไว้ใจจากคนไข้ที่ยินยอมให้เขารักษา
“ที่อาจารย์ไม่ชอบผม เพราะผมไม่เหมือนคนอื่นเหรอครับ”
ซีรีส์เรื่องนี้นำเสนอแง่คิดที่สำคัญเกี่ยวกับการยอมรับความแตกต่างในสังคม สะท้อนถึงการให้โอกาสและการสนับสนุนผู้ที่มีความสามารถพิเศษในการทำงาน และตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนคติและความคาดหวังของคนในสังคมที่มีต่อบุคคลที่แตกต่าง เราจะได้เห็นความเป็นมนุษย์และความหลากหลายทางความคิดที่สะท้อนออกมา แม้ว่าในการเป็นศัลยแพทย์ของโฌนจะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่การให้โอกาสเท่านั้นที่จะสามารถทำลายกำแพงของโฌนต่อโลกภายนอกได้
เช่นเดียวกับออทิสติกคนอื่นๆ ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคม พวกเขาต่างควรได้รับ ‘โอกาส’ ในการใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียม เพราะพวกเขาเหล่านั้นก็คือมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน
เรานิยามเพราะอยากจะเข้าใจในสิ่งต่างๆ
แต่ในขณะเดียวกันเราก็กำลังขีดเส้นนั้นให้แตกต่าง
อ้างอิง
https://www.happyhomeclinic.com/au14-autism-type.html
https://www.happyhomeclinic.com/savant03-autisticsavant.html
https://www.happyhomeclinic.com/au02-autism-prognosis.html
https://entertainment.trueid.net/synopsis/P9M5MxbLpMV9#ตอนที่1
Tags: ออทิสติก, Good Doctor หมอใจพิเศษ, Good Doctor, High Function, ออทิสติก High Function, ออทิสติกซาวองต์