ฟ้า เขียว น้ำเงิน ขาว ส้ม และชมพู

คือสีของ ‘แท่งไฟ’ หรือ ‘บง’ (봉) อุปกรณ์คู่ใจแฟนคลับหลากด้อมในคอนเสิร์ตที่ปรากฏในการชุมนุมขับไล่ ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ผู้นำเกาหลีใต้ หลังสร้างแผ่นดินไหวทางการเมืองและทำให้คนทั่วโลกตื่นตระหนก ด้วยการประกาศ ‘กฎอัยการศึก’ ในรอบ 40 ปี โดยอ้างว่า เป็นมาตรการปราบปรามฝ่ายค้านที่ร่วมมือกับเกาหลีเหนือเพื่อโค่นล้มรัฐบาล 

นอกจากพลังของผู้คนที่ไม่ยอมจำนนต่อระบอบเผด็จการ หลังรัฐสภาและประชาชนร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวขับไล่ผู้นำเกาหลีใต้ ทั้งการเรียกร้องในรัฐสภาและการต่อสู้บนท้องถนน สิ่งที่เห็นได้ชัดในการชุมนุมครั้งนี้คือ ควันหลงของกระแสเคป็อป (K-Pop) ที่ผูกโยงกับการชุมนุม เมื่อวัฒนธรรมป็อปใช้เป็นแหล่งสร้างขวัญและกำลังใจให้การประท้วงดำเนินต่อไป โดยหนึ่งในนั้นคือการใช้ ‘แท่งไฟ’ สัญลักษณ์แห่งความสุขสำหรับแฟนคลับ เป็นอาวุธประท้วงความฉ้อฉลของรัฐบาล

“ถึงแฟนเคป็อปทั่วประเทศ​ โปรดนำแท่งไฟของคุณเข้าร่วมการชุมนุมด้วย เราจะจัดคอนเสิร์ตที่มีแสงเทียนเพื่อคุณ” คือเสียงจาก Candlelight Action กลุ่มประชาสังคมที่นำทัพถือ ‘แท่งไฟไล่เผด็จการ’ และเชื่อมการชุมนุมทางการเมืองกับโลกของ K-Pop เข้าด้วยกัน

จาก ‘แสงเทียน’ สู่ ‘แท่งไฟ’: เมื่อคนรุ่นใหม่รวมตัวเพื่อขับไล่เผด็จการ

‘แสงเทียน’ ถือเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่อยู่คู่กับการประท้วงครั้งสำคัญของเกาหลีใต้ แม้ใช้ในการประท้วงตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ทว่าพัฒนาการของอุปกรณ์นี้มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ คือปี 2002 หลังรถถังหุ้มเกราะของสหรัฐอเมริกาสังหารเด็กสาว 2 คนในระหว่างการฝึกซ้อม จนนำไปสู่กระแสปลุกเร้าในโลกอินเทอร์เน็ต และเกิดเป็นการชุมนุมหน้าจัตุรัสควังฮวามุน (Gwanghwamun Square) โดยผู้เข้าร่วม ‘จุดเทียน’ ร่วมกันรำลึกต่อการจากไปของเหยื่อ

นับตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา เทียนจึงถูกฉายภาพในฐานะสัญลักษณ์การต่อต้านความอยุติธรรมอย่างสันติ ถือเป็นภาพแทนการเมืองสมัยใหม่ว่า เกาหลีใต้เข้าสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ทั้งยังทำลายภาพจำการประท้วงด้วยความรุนแรงในอดีต เช่น การปะทะด้วยแก๊สน้ำตา หรือการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงจากรัฐ

นอกจากนี้เทียนยังถูกใช้ในการชุมนุมครั้งสำคัญหลายครั้ง เช่น การประท้วงถอดถอน โน มูฮยอน (Roh Moo-hyun) อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในปี 2004 , การประท้วงนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐอเมริกาในปี 2008 จนถึงการประท้วงครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่อย่าง การขับไล่ พัค กึนฮเย (Park Geun-hye) ประธานาธิบดีหญิง ออกจากตำแหน่งในปี 2016-2017 ในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จนเกิดเป็นคำศัพท์ ‘การปฏิวัติแสงเทียน’ (Candlelight Revolution) ขึ้นมาในแวดวงวิชาการ

ทว่าการชุมนุมปี 2024 แตกต่างกันออกไป หลังคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้หรือ ‘กลุ่ม MZ’ (Gen Millennials และ Gen Z) ริเริ่มใช้แสงสว่างอื่นแทนแสงเทียน นั่นก็คือ ‘แท่งไฟ’ โดยเหตุผลส่วนหนึ่งมีที่มาจากคำพูดของ คิม จินแท (Kim Jin-tae) นักการเมืองพรรคพลังประชาชน (People Power Party: PPP) อดีตสมาชิกพรรคแซนูรี (Saenuri: 새누리당) พรรคการเมืองเก่าของพัค กึนฮเย ที่เคยเยาะเย้ยการชุมนุมครั้งก่อนว่า “แสงเทียนย่อมดับไปตามลม”

“ตั้งแต่ตอนถอดถอนพัค กึนฮเย มีผู้แทนคนหนึ่งพูดว่า ‘แสงเทียนย่อมดับไปตามลม’ นั่นเป็นสาเหตุที่ฉันนำแท่งไฟออกมา เพราะมันไม่มีทางที่จะดับลง” 

โจ (Cho) NCTZen แฟนคลับของวง NCT วัย 24 ปี ให้สัมภาษณ์กับโคเรียไทม์ (KoreaTimes) โดยใส่ตัวอักษรคำว่า 탄핵 หรือแปลว่า ‘ถอดถอน’ ติดลงในแท่งไฟ ขณะที่ในโลกโซเชียลฯ บางส่วนยังแชร์ภาพ ‘ที่คาดผมไฟ’ จาก EXO-L กลุ่มแฟนคลับของ EXO โดยเปลี่ยนคำว่า ดีโอ (디오) ชื่อสมาชิกของวง เป็นคำว่า ถอดถอน (탄핵) แทน

นอกจากนี้สำนักข่าวโคเรียไทม์ยังรายงานว่า แท่งไฟทำให้บรรยากาศการชุมนุมเข้าถึงได้ โดยกลุ่มแฟนเคป็อปต่างบอกว่า บรรยากาศการประท้วงไม่ต่างจากการที่พวกเขาต้องไปดูคอนเสิร์ต ทั้งการยืนท่ามกลางอากาศเย็น และตะโกนโห่ร้องส่งเสียงเชียร์เพื่อสิ่งที่รัก นั่นก็คือ ‘ประชาธิปไตย’ และ ‘ศิลปิน’

“การประท้วงของพวกเราสนุกและเจ๋งมาก เหมือนคอนเสิร์ตเลย นี่คือเหตุผลที่เราจะกลับมาอีกในพรุ่งนี้ และเชิญชวนให้คนมาร่วมกับเรา” ฮอ (Heo) แฟนเพลงของวง SEVENTEEN วัย 24 ปีให้สัมภาษณ์ 

“มันน่าทึ่งมากที่ผู้คนออกมาโบกแท่งไฟ เป็นภาพที่เราไม่อาจเห็นได้ในยุคเก่า น่าประทับใจมากที่คนรุ่นใหม่สร้างวัฒนธรรมการประท้วงแบบใหม่” อี ซังจิน (Lee Sang-jin) ชายวัย 60 แสดงความรู้สึก

ขณะที่กลุ่ม Candlelight Action ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฮันคโยเร (Hankyoreh) ว่า การนำแท่งไฟมาประท้วง เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่นำเสนอไอเดียใหม่ๆ ทั้งในโลกโซเชียลและในโลกออฟไลน์ โดยคนรุ่นใหม่กลายเป็นผู้นำในการสร้างวัฒนธรรมการประท้วง ทั้งเลือกเพลง ป้ายประท้วงขับไล่ หรือแม้แต่แท่งไฟ อุปกรณ์คู่ใจแฟนด้อมที่กลายเป็น ‘อาวุธ’ ชั่วคราวเพื่อขับไล่รัฐบาล

เพราะ K-Pop กับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน

นอกจากเบื้องหลังความสว่างของแท่งไฟที่ไม่มีวันดับลง แฟนคลับบางคนยังออกมาประท้วงเพราะพวกเขาเชื่อว่า เคป็อปกับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน โดยเฉพาะการเกณฑ์ทหารในหมู่ไอดอลที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงการเมืองครั้งสำคัญ

“สมาชิกวงเรา 2 คนกำลังเข้ากรมอยู่ และอีกคนกำลังจะไป พวกเรากังวลมากที่กฎอัยการศึกถูกประกาศ และทหารกำลังระดมพล” มอนเบเบ (Monbebe) กลุ่มแฟนคลับของ Monsta X ให้สัมภาษณ์กับ Pressian สื่อเกาหลี ถึงเบื้องหลังการออกมาประท้วง

“ตอนแรกฉันกังวลนิดหน่อย แต่หลังจากมีการประกาศกฎอัยการศึก และอัน ควีรยอง (Ahn Gwi-ryeong) คว้าปืนจากทหาร มันทำให้ฉันกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

 ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งอธิบาย โดยอ้างถึงชื่อโฆษกหญิงแห่งพรรคประชาธิปไตยเกาหลี (Democratic People of Korea: 민주당) ผู้กล้าหาญในค่ำคืนแห่งความไม่แน่นอน เมื่อเธอตรงดิ่งเข้าขัดขืนกฎอัยการศึก ด้วยการจับด้ามปืนของทหารอย่างไม่เกรงกลัว พร้อมตะโกนด่าทอว่า “ไม่อายหรือไง” ซึ่งทำให้เกิดความคิดแวบหนึ่งขึ้นมาว่า ไอดอลที่เธอชื่นชอบอาจจะ ‘หัน’ ปลายกระบอกปืนมาทางประชาชนไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม กู จองอู (Koo Jeong-woo) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาซองคยุนกวาน (Sungkyunkwan University) อธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ โดยแท่งไฟในฐานะสัญลักษณ์เคป็อปคือ เครื่องมือที่สร้าง ‘ความเข้าใจร่วมกัน’ ทั่วโลก โดยเขาเปรียบเทียบว่า วัฒนธรรมดังกล่าวคือความแปลกใหม่ ที่เป็นคู่ตรงข้ามกับ ‘การส่งพวงหรีด’ เพื่อประท้วงบางสิ่ง เมื่อคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งกำลังริเริ่มวัฒนธรรมการพวงหรีด สัญลักษณ์การไว้อาลัยในงานศพ เพื่อต่อต้านสิ่งที่ไม่ถูกใจ

“ประชาชนจัดการชุมนุมอย่างสันติและมั่นใจในประชาธิปไตยของเกาหลี พวกเขาเชื่อว่า จะชนะกฎอัยการศึกได้ และคนรุ่นใหม่นำขบวนการประท้วง เปลี่ยนแปลงให้บรรยากาศสดใสและรื่นเริงกว่าที่เคยเป็น” กู จองอูอธิบาย 

ขณะที่ ซอ ชานซอก (Seo Chan-seok) ศาสตราจารย์ภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาจุงอัง (Chung-Ang University) อธิบายผ่านสำนักข่าวฮันคยอง (Hankyung) ว่า การใช้แท่งไฟที่นำไปสู่บรรยากาศรื่นเริง คือบทเรียนของชาวเกาหลีใต้ที่เรียนรู้จากการประท้วงถอดถอนพัค กึนฮเย เมื่อหลายปีก่อนว่า พวกเขาไม่สามารถ ‘เปลี่ยนแปลง’ ภายในวันเดียวได้ จึงพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรงและประท้วงอย่างมีวุฒิภาวะ

น่าสนใจว่า วัฒนธรรมเคป็อปไม่ได้แทรกซึมในการประท้วงครั้งนี้แค่แท่งไฟ แต่บทเพลงจากไอดอลชื่อดังยังถูกใช้สร้างขวัญและกำลังใจ เห็นได้ชัดจากการนำเพลง Into the New World (다시 만난 세계) โดย Girls’ Generation เกิร์ลกรุ๊ปแห่งชาติ มาปลุกใจผู้คน โดยเฉพาะท่วงทำนองและความหมายที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง อนาคต และการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยใช้ในการประท้วงในหมู่เฟมินิสต์ (Feminist) ในช่วงปี 2016 มาก่อน

“แม้ถนนที่ขรุขระและอนาคตที่ไม่รู้จะอยู่ข้างหน้า แต่ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลงและยอมแพ้ ฉันจะบอกลาความเศร้าโศกที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในโลกของเรา” คือเนื้อความบทเพลงส่วนหนึ่งที่ดูเรียบง่าย แต่สะท้อนเส้นทางที่ ‘ไม่ง่าย’ ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

 

อ้างอิง

https://www.chosun.com/national/national_general/2024/12/08/4VQCFRVOSFFB3EYASE7Z6LJWA4/

https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2024/12/281_387944.html

https://www.hankyung.com/article/2024120826911

https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20220414000732

https://www.pressian.com/pages/articles/2024120701354217135

https://www.koreaboo.com/news/south-korea-candlelight-protest-kpop-lightsticks-reason/

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/girls-generation-2007-song-resurfaces-as-protest-anthem

https://www.dissentmagazine.org/article/revolution-by-candlelight-how-south-koreans-toppled-a-government/

https://eastasiaforum.org/2017/02/07/south-koreas-candlelight-protests/

https://www.koreaboo.com/news/south-korea-candlelight-protest-kpop-lightsticks-reason/

https://x.com/hooovy33/status/1865644399889469606

https://www.hani.co.kr/arti/society/society_general/1171820.html

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,