วันนี้ (19 สิงหาคม 2567) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ปี 2567 ขยายตัว 2.3% ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การอุปโภคภาครัฐบาล และการส่งออกบริการ ขณะเดียวกัน แม้เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่โต 1.5% อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยก็ยังถือว่า เติบโตน้อยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เศรษฐกิจไทยประจำไตรมาส 2/2567 มีแรงส่ง ‘ด้านค่าใช้จ่าย’ จากการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ขณะที่การอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวอยู่ในแดนบวกที่ร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อนหน้าติดลบที่ร้อยละ 2.1 เป็นผลจากรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงิน สำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และค่าตอบแทนแรงงาน (เงินเดือน ค่าบำเหน็จบำนาญ) ขยายตัวร้อยละ 0.8
สำหรับการส่งออกของไทยในไตรมาส 2/2567 มีมูลค่า 7.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 โดยมีปริมาณการส่งออกและราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และ 1.7 ตามลำดับ อีกทั้งการส่งออกของไทยยังเกินดุลการค้า 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.03 แสนล้านบาท)
อีกทั้งเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาส 2/2567 มีแรงส่ง ‘ด้านการผลิต’ ที่สาขาสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.2 จากที่ไตรมาสก่อนหน้าลดลงร้อยละ 2.9 ตามการเพิ่มขึ้นของกลุ่มการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศ
ขณะที่ ‘ภาคการท่องเที่ยว’ (ที่พักและบริการด้านอาหาร) ขยายตัวร้อยละ 7.8 โดยในไตรมาส 2/2567 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาเป็นจำนวน 8.13 ล้านราย ส่งผลให้มีมูลค่าอยู่ที่ 3.32 แสนล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 12
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยประจำไตรมาส 2/2567 มีแรงฉุดจากปัจจัย ‘ด้านค่าใช้จ่าย’ ที่การลงทุนรวมลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ 6.2 โดย ‘ภาคเอกชน’ ลดลงร้อยละ 6.8 ตามการปรับตัวลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือ ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะ ขณะที่ ‘ภาครัฐ’ ลดลงร้อยละ 4.3 สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 24 ซึ่งถือว่า สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.7 และร้อยละ 19 ตามลำดับ
ทั้งนี้แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 สภาพัฒน์คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 2.3-2.8 โดยมีปัจจัยจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การปรับตัวดีขึ้นของการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามกลไกตลาดโลก
นอกจากนั้น สภาพัฒน์ระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังคงมีความท้าทายจากการลงทุนที่ต่ำของเอกชน โดยได้แนะแนวทางการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงครึ่งปีหลังว่า ควรให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างประเทศ พัฒนาระบบนิเวศของประเทศให้เหมาะสม เพื่อดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลดขั้นตอนกระบวนการ ข้อบังคับกฎหมาย และการพัฒนาศักยภาพแรงงานให้พร้อมกับอุตสาหกรรมใหม่ รวมไปถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มผลผลิตจากการใช้นวัตกรรมชั้นสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพและมูลค่าการผลิตของไทย
เมื่อมองไปที่ประเทศเพื่อนบ้านภายในภูมิภาค ข้อมูลจากสภาพัฒน์แสดงให้เห็นว่า ไตรมาส 2/2567 ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่น้อยกว่าประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียที่เติบโตร้อยละ 5 มาเลเซียร้อยละ 5.9 และเวียดนามร้อยละ 6.9
สำหรับประเทศอินโดนีเซียในไตรมาส 2/2567 การขยายตัวของ GDP ที่ร้อยละ 5 ที่การบริโภคปรับตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.3 สะท้อนกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการกลับมาเร่งตัวที่ร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดมาอยู่ที่ 2.13%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังรักษาระดับการเติบโตได้เทียบเท่าครึ่งปีแรก จากมาตรการภาครัฐทั้งการลดหย่อนภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนในพื้นที่นูซันตารา เมืองหลวงแห่งใหม่ รวมไปถึงอาจมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง
ด้านมาเลเซียในไตรมาส 2/2567 มีอัตราการขยายตัว GDP ที่ร้อยละ 5.9 ซึ่งเป็นผลบวกจากตลาดแรงงาน และการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแรง รวมถึงการกลับมาฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุน
ขณะที่เวียดนามมีอัตราการเติบโตของ GDP ในไตรมาส 2/2567 สูงที่สุดในภูมิภาคที่ร้อยละ 6.9 โดยได้รับอานิสงส์จากภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกภาค ทั้งการเกษตร การประมง ป่าไม้ ภาคอุตสาหกรรม การส่งสร้าง และภาคบริการที่ทยอยปรับตัวแข็งแกร่งขึ้น
อ้างอิง
https://en.vietnamplus.vn/malaysias-economy-grows-beyond-expectations-in-q2-post292047.vnp
https://vietnamnet.vn/en/robust-growth-in-q2-2024-vietnam-s-gdp-rises-by-6-93-2296597.html