ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกลุ่มครูได้ออกมาประกาศกร้าวว่าจะไม่จ่ายหนี้ที่ค้างชำระธนาคารออมสินในโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ โครงการ ช.พ.ค. โดยอ้างว่าดอกเบี้ยมหาโหด แถมจ่ายเท่าไรเงินต้นก็ไม่ลด

ชาวเน็ตจำนวนมากที่เห็นข่าวนี้ต่างแซ่ซ้องว่า นี่มันชักดาบชัดๆ คนเบี้ยวหนี้อย่างนี้หรือที่เราจะปล่อยให้สอนลูกหลานของเรา

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า ติดหนี้เรียกว่าอะไร และเบี้ยวหนี้พูดอย่างไรในภาษาอังกฤษ

หนี้นี้ท่านได้แต่ใดมา

คำพื้นฐานที่ใช้เรียก หนี้ ในภาษาอังกฤษคือ debt (ตัว b ไม่ออกเสียง เป็น silent letter) คำนี้มาจากภาษาละติน debitum แปลว่า สิ่งที่ติดค้าง มักใช้ในความหมายที่เจาะจงกับเรื่องเงิน หลายคนเห็นคำละตินคำนี้อาจนึกถึงคำว่า debit นั่นก็เพราะว่า debitum ก็เป็นที่มาของคำว่า debit ด้วยเช่นกัน เพียงแต่หมายถึง ฝั่งลูกหนี้ ในการทำบัญชีนั่นเอง

คำว่า debt นี้จะใช้ในเชิงเปรียบเปรยเป็นหนี้บุญคุณก็ได้เช่นกัน ดังนั้น หากเราอยากสื่อว่า ครูเป็นผู้ที่มีพระคุณที่ช่วยอบรมชี้แนะเรา เราก็อาจพูดว่า I owe a debt of gratitude to my teachers for their guidance.

นอกจากคำว่า debt แล้ว เรายังเรียกหนี้สินว่า liabilities ได้อีกด้วย เพียงแต่เป็นศัพท์กฎหมายและไม่ค่อยใช้ในชีวิตประจำวัน และอาจกินความเกินเพียงแค่เงิน คำนี้มาจากกริยา ligare ที่แปลว่า ผูกมัด ในภาษาละติน ดังนั้นตามรากแล้ว liabilities จึงหมายถึง สิ่งที่เป็นพันธะผูกพันทางกฎหมาย นั่นเอง

 

ชักดาบโลด!

Default

คำเป็นทางการของคำว่า ไม่ชำระหนี้ ในภาษาอังกฤษ คือ default ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า de- ที่หมายถึง ออก และกริยา fallere ในภาษาละติน หมายถึง ลวงให้เข้าใจผิด บกพร่อง (เป็นที่มาของคำว่า fail ด้วย) รวมแล้วได้ความหมายทำนองว่า ล้มเหลว เดิมทีสื่อถึงความบกพร่องทางศีลธรรม จึงหมายถึง อาชญากรรม หรือ บาป ต่อมาภายหลังจึงใช้ในความหมายว่า บกพร่องในการชำระหนี้

คำว่า default นี้ใช้เป็นคำนามก็ได้ เช่น a default in payment (ไม่ชำระหนี้ตรงเวลา) หรือ The company is in default on its loan. หมายถึง บริษัทจ่ายหนี้ไม่ตรงเวลา หรือจะใช้เป็นคำกริยาก็ได้เช่นกัน เช่น This group of teachers planned to default on their loans. ก็จะหมายถึง ครูกลุ่มนี้ตั้งใจเบี้ยวหนี้ นั่นเอง ส่วนคนที่ไม่ยอมชำระหนี้ตรงตามเวลา ก็จะเรียกว่า defaulter นั่นเอง

หลายคนที่ใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อาจคุ้นกับคำนี้เวลาตั้งค่าต่างๆ ในเครื่อง นั่นก็เพราะ default ใช้หมายถึง ค่าตั้งต้น ได้ด้วย อธิบายอีกอย่างก็คือ เป็นค่าที่เครื่องเลือกใช้เมื่อผู้ใช้ไม่ได้เลือกหรือล้มเหลวที่จะเลือกตั้งค่าเป็นแบบอื่นนั่นเอง

Renege

อีกคำที่ใช้กับการเบี้ยวหนี้ได้คือกริยา renege มาจากกริยา negare ในภาษาที่แปลว่า ปฏิเสธ (เช่นที่เจอในคำว่า negate และ negative) รวมร่างกับส่วนเติมหน้า re- ที่เสริมความหมายให้แรงยิ่งขึ้น ได้ความหมายว่า ปฏิเสธ สละ

ปกติแล้วคำว่า renege จะมากับบุพบท on ใช้หมายถึง ผิดสัญญา ผิดข้อตกลง หรือเบี้ยวหนี้ก็ได้ เช่น Only people with no moral scruples renege on their debts. ก็จะหมายถึง คนไม่มีหิริโอตตัปปะเท่านั้นแหละที่จะเบี้ยวหนี้

คำว่า default เดิมทีสื่อถึงความบกพร่องทางศีลธรรม จึงหมายถึง อาชญากรรม หรือ บาป ต่อมาภายหลังจึงใช้ในความหมายว่า บกพร่องในการชำระหนี้

Welsh

ภาษาอังกฤษมีคำว่า welsh (สะกดว่า welch ก็มี) เป็นสแลงแปลว่า เบี้ยวหนี้ ส่วนใหญ่ใช้กับหนี้พนัน แต่จะใช้หมายถึงเบี้ยวหนี้ทั่วๆ ไป หรือ ผิดสัญญาอย่างอื่นก็ได้ เช่น If you plan to welsh on the debt, you should know there’ll be consequences. ก็จะหมายความว่า ถ้าวางแผนจะเบี้ยวหนี้ รู้ไว้ด้วยนะว่าจะมีผลพวงตามมา

ส่วนใหญ่บอกว่าคำนี้มีที่มาไม่แน่ชัด แต่บางแหล่งบอกว่า มาจากคำว่า Welsh ที่ใช้เรียกชนชาติและภาษาเวลส์นี่แหละ

คำว่า Welsh พอสืบสาวไปแล้ว พบว่ามาจากคำว่า wealh หรือ walh ในภาษาอังกฤษเก่า หมายถึง ชาวต่างชาติ คือไม่ใช่ชาวแองโกล-แซกซอน

ที่น่าสนใจคือคำว่า wealh ที่แปลว่า ต่างชาติ นี้ ไปโผล่ในชื่อถั่ว walnut ด้วย มาจาก wealh รวมร่างกับ hnutu ที่แปลว่า ถั่ว (รากเดียวกับ nux ในภาษาละตินที่แปลว่า ถั่ว แบบที่เจอในคำว่า nuclear) ดังนั้น ถั่วนี้ถ้าจะเรียกแบบไทยๆ ว่า ถั่วเทศ ก็คงไม่ผิดนัก

ที่เรียกแบบนี้ คุณลุง Tolkien บอกไว้ว่าเป็นเพราะถั่วนี้น่าจะได้มาจากดินแดนของชาวโรมัน ไม่ใช่ถั่วที่มีในท้องถิ่นอย่าง hazelnut นั่นเอง

Deadbeat

คำนี้ใช้กันในฝั่งอเมริกา นับเป็นคำสแลงที่แรงพอสมควร ว่ากันว่ามีที่มาจากสมัยสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา แรกเริ่มเดิมทีหมายถึง เหนื่อยเจียนตาย หมดแรงข้าวต้ม จะให้ไปทำอะไรต่อก็ไม่ไหวแล้ว ต่อมาจึงค่อยนำมาใช้หมายถึง คนที่ใช้การไม่ได้ ไม่ได้ความ ไร้น้ำยา ไปๆ มาๆ จึงกลายมาหมายถึง คนขี้เกียจสันหลังยาว เอาดีอะไรไม่ได้สักอย่าง อย่างในปัจจุบัน

นอกจากจะหมายถึงพวกอยู่ซังกะตายไปวันๆ แล้ว คำว่า deadbeat ยังใช้หมายถึง พวกเบี้ยวหนี้ ได้อีกด้วย เช่น We’ve been patient for too long. It’s time to light a fire under that deadbeat’s ass and make him pay up. ก็จะหมายถึง ใจเย็นรอมานาน ถึงเวลาต้องจี้ให้ไอ้เวรนั่นจ่ายเงินได้แล้ว

ที่น่าสนใจคือ deadbeat ยังใช้หมายถึง พ่อแม่ที่ไม่เหลียวแลลูก โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อแม่ไม่ได้เป็นคนเลี้ยงแล้วยังไม่ยอมจ่ายค่าเลี้ยงดูด้วย ที่น่าสนใจคือ พจนานุกรมส่วนใหญ่จะบอกว่าคำนี้มักใช้กับฝ่ายพ่อ หรือ deadbeat dad นั่นเอง เช่น What breaks my heart is the daughter of that deadbeat absolutely adores him. หมายถึง ที่เห็นแล้วใจสลายคือแม้พ่อแสนจะเฮงซวย แต่ลูกสาวก็ยังรักเสียไม่รู้จะรักยังไง

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary

Fact Box

อีกสำนวนที่เกี่ยวกับการชักดาบคือ dine and dash แปลตรงตัวคือ กินแล้วชิ่ง นั่นคือ กินอาหารแล้วออกจากร้านอาหารโดยไม่จ่ายเงินนั่นเอง

Tags: , , ,