สำหรับผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษแล้ว ระบบการสะกดคำในภาษาอังกฤษนับว่าเป็นเรื่องที่ชวนปวดหัวไม่น้อย นั่นก็เพราะรูปเขียนไม่ค่อยจะสอดคล้องกับวิธีออกเสียงจริง เขียนอย่างเดียวกันกลับออกเสียงหลายอย่างได้ (เช่น -ough ในคำว่า bough, dough, cough, rough, และ through) หรือเขียนคนละอย่างแต่กลับออกเสียงเหมือนกัน (เช่นส่วนที่เป็นตัวหนาในคำว่า share, nation, champagne, fuchsia, acacia กลับออกเสียง sh เหมือนกันหมด)
ยิ่งไปกว่านั้น ตัวอักษรบางตัวที่เราเห็นอยู่จะจะ ยังดันไม่ออกเสียงเสียดื้อๆ หรือที่เราเรียกว่า silent letter อีก เช่น palm หรือ honest ยังความปวดใจและทดท้อมาสู่คนเรียนภาษาอังกฤษมานักต่อนัก จนหลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ถ้าไม่ออกเสียงแล้วจะใส่มาทำไม!
สัปดาห์นี้ เราจะไปไขปริศนาและดูกันว่า silent letters พวกนี้มาจากไหน
1. แต่ก่อนก็ออกเสียงอยู่หรอก
Silent letter ในคำหลายๆ คำในภาษาอังกฤษไม่ใช่สิ่งที่คนโบราณจงใจใส่มาสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าหรือเพื่อให้ปุถุชนคนรุ่นหลังจัดแข่ง Spelling Bee ได้แต่อย่างใด แต่เป็นเพราะว่าตัวอักษรเหล่านี้เคยออกเสียงในสมัยก่อนด้วย
ตัวอย่างคำประเภทนี้ก็เช่นคำว่า knight ที่แปลว่า อัศวิน (ปัจจุบันพ้องเสียงกับคำว่า night) คำนี้ในสมัยอังกฤษเก่าเคยออกเสียงครบทุกตัวอักษร ถ่ายเสียงได้ประมาณว่า คนีฆทฺ (ฆ ตัวนี้แทนเสียงขากๆ คล้ายเสียงท้ายในคำว่า ich ในภาษาเยอรมัน หรือคำว่า loch เวลาชาวสก็อตแลนด์ออกเสียง) แต่ต่อมาภายหลังคนดันไม่นิยมออกเสียง k หน้า n แล้ว เสียง k จึงหายไป
แต่เมื่อเสียงหายไป แต่รูปเขียนเปลี่ยนตามไม่ทัน จึงหลงเหลือตัว k โด่เป็นซากอารยธรรมคล้ายตอม่อโครงการโฮปเวลล์ไว้ให้ดูต่างหน้านั่นเอง
คำที่มี silent letter เพราะสาเหตุเดียวกันนี้คำอื่นๆ ก็เช่น คำที่เขียนขึ้นต้นด้วย kn แต่ตัว k ไม่ออกเสียงเช่น know, knife, knee คำที่ขึ้นต้นด้วย wr แต่ออกเสียงแค่ r เช่น write, wreak, wring รวมไปถึงคำที่สะกดขึ้นต้นด้วย gn แต่ตัว g ไม่ออกเสียง เช่น gnat และ gnaw
2. ภาษาต้นทางไม่ได้ออกเสียงอยู่แล้ว
ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่เที่ยว “หยิบยืม” คำจากภาษาอื่นไปทั่วมากเป็นมือวางอันดับต้นๆ แถมเวลายืมบางครั้งยังไม่ได้เอามาแต่รูปเขียน แต่ยังพยายามออกเสียงเหมือนเขาอีกต่างหาก
หลายครั้งในกรณีที่ภาษาต้นทางไม่ได้ออกเสียงรูปสะกดครบทุกตัวอักษร บ่อยครั้ง ภาษาอังกฤษก็เห็นช้างขี้ขี้ตามช้างและไม่ออกเสียงเช่นกัน ตัวอย่างเช่นคำว่า heir ที่แปลว่า ทายาท คำนี้แม้โดยกำเนิดจะเป็นคำละติน แต่ภาษาอังกฤษรับผ่านทางภาษาฝรั่งเศส ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการละเสียง h ทำให้ตัว h ในคำว่า heir ไม่ออกเสียงเหมือนในภาษาฝรั่งเศสนั่นเอง
เรามักจะเจอ silent letter ลักษณะนี้จากคำที่ยืมมาจากภาษาฝรั่งเศสเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น coup d’état (รัฐประหาร), bourgeois (ชนชั้นกลาง), debris (ซากปรักหักพัง), rendezvous (ที่นัดพบ), หรือคำที่ไพเราะที่สุดในภาษาอังกฤษ นั่นก็คือ buffet นั่นเอง
3. ยืมมาแล้วออกเสียงไม่เข้าปาก
บางครั้ง คำที่ภาษาอังกฤษไปลักพาตัวมาเป็นของตัวเองก็ดันมีเสียงหรือเสียงควบกล้ำที่ไม่มีในภาษาอังกฤษ ผลก็คือคำเหล่านี้ออกเสียงไม่ตรงกับรูปเขียนซึ่งอาจยังสะท้อนวิธีการสะกดคำหรือออกเสียงคำนั้นในภาษาต้นทาง (คล้ายๆ กับที่คนไทยหลายคนออกคำว่า view ว่า วิว แต่เสียง v จะไม่ใช่เสียงเดียวกับ ว หรือออกเสียงเรียกแอปพลิเคชั่น Line ว่า “ลาย” แม้จะเขียนถ่ายเสียงว่า ไลน์ แบบ น ข้างท้ายก็ตาม)
การออกเสียงไม่ตรงรูปเขียนนี้บ่อยครั้งก็ออกมาในรูป silent letter เช่นคำว่า psychology (จิตวิทยา) แม้คำนี้ต้นกำเนิดเป็นคำกรีกและเขียนขึ้นต้นด้วยตัว ψ (psi) ที่ออกเสียง p และ s ควบกัน แต่ด้วยภาษาอังกฤษไม่มีเสียงควบ ps จึงไม่ออกเสียง p นั่นเอง
ตัวอย่างอื่นก็เช่น pneumonia (โรคปอดบวม) pterodactyl (เทโรแด็กทิล สัตว์เลื้อยคลานบินได้ในยุคไดโนเสาร์) mnemonics (เครื่องมือหรือคำท่องช่วยจำ) เป็นต้น
4. มีคนสู่รู้
แต่เดิมในสมัยที่หนังสือยังต้องอาศัยคนคัดลอก การสะกดคำในภาษาอังกฤษยังสะเปะสะปะมาก ไม่มีมาตรฐานกลาง ทำให้คำหนึ่งๆ มีวิธีสะกดหลายแบบมาก แม้แต่ในตัวบทเดียวกันยังอาจสะกดมากกว่าหนึ่งแบบ เช่น คำว่า pity มีรูปสะกดที่ปรากฏทั้ง pity, pitty และ pittye นักพิสูจน์อักษรมาเห็นแล้วคงความดันขึ้นจนเส้นเลือดในสมองแตกตาย
แต่หลังจากมีการผลิตแท่นพิมพ์แล้ว คนก็เริ่มหันมาพยายามปฏิรูปการสะกดให้มีมาตรฐาน ปัญหาก็คือจะเอามาตรฐานมาจากไหน
ด้วยความที่ยุคนั้น ภาษาละตินนับเป็นภาษาของผู้มีการศึกษาและใช้ในวงวิชาการ อีกทั้งยังมีกระแสหวนกลับไปนิยมยุคคลาสสิก นักคิดหลายคนจึงบอกว่า รูปที่จะเป็นมาตรฐานควรสะท้อนที่มาที่ไปของคำ ถ้าคำไหนยืมมาจากภาษาละติน รูปเขียนก็ควรสะท้อนให้เห็นคำต้นทางด้วย ส่งผลให้คำหลายคำถูกจับไปขึ้นเขียงผ่าตัดแปลงโฉมเสียใหม่
ตัวอย่างเช่นคำว่า debt (หนี้) อันที่จริงแล้วคนแต่ก่อนก็ออกเสียงคำนี้โดยไม่มีเสียงตัว b อยู่แล้ว แถมยังสะกดคำนี้ว่า det, dett, dette, หรือ deytt เสียด้วยซ้ำ แต่เหล่านักวิชาการหัวใสบอกว่า คำนี้แท้จริงแล้วมาจากคำว่า debitum ในภาษาละติน ดังนั้น เราควรจะเติมตัว b ใส่เข้าไปด้วยแม้จะไม่มีใครออกเสียงก็ตาม
ในทำนองเดียวกัน คำว่า salmon ที่หมายถึงปลาเนื้อส้มที่เรากินกันก็ไม่ออกเสียง l ตั้งแต่ไหนแต่ไหน แต่ก่อนสะกดว่า samoun ด้วยซ้ำ แต่นักวิชาการบอกว่าคำนี้มาจาก salmo ในภาษาละติน ดังนั้นจึงต้องเติมตัว l เข้ามา ทำให้ salmon สะกดแบบมีตัว l จนถึงทุกวันนี้
คำอื่นๆ ที่โดนปู้ยี่ปู้ยำในลักษณะเดียวกันก็อย่างเช่น receipt ที่แปลว่า ใบเสร็จ (เติมตัว p จากเดิมสะกดว่า receite เพราะมาจาก recepta) subtle ที่แปลว่า แยบคาย (เติมตัว b จากเดิมสะกดว่า sotil เพราะมาจาก subtilis) และ indict ที่หมายถึง ฟ้องร้อง (เติมตัว c จากเดิมสะกดว่า indite เพราะมาจาก in- รวมกับ dictare ในภาษาละติน)
ความสู่รู้ของนักวิชาการเหล่านี้ทำให้คำบางคำที่อันที่จริงแล้วไม่ได้มาจากภาษาละตินพลอยโดนหางเลขไปด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือคำว่า island ที่หมายถึง เกาะ คำนี้แท้จริงแล้วมาจาก ieg (เกาะ) มารวมถึง land (แผ่นดิน) ซึ่งเป็นคำภาษาตระกูล Germanic คู่ สมัยสะกดว่า yland แต่นักวิชาการมาเห็นเข้าใจว่าน่าจะต้องมาจากคำว่า insula ในภาษาละตินที่แปลว่า เกาะ (เจอในคำเช่น insulate และ peninsula) ก็เลยบรรจงเติมตัว s ใส่เข้าไป นำความปวดหัวมาสู่ผู้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างชาติจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง
5. สะดวกแบบนี้
บางครั้ง สิ่งที่กลายมาเป็นมาตรฐานก็เกิดจากความสะดวกหรือบรรทัดฐานของคนไม่กี่คน (ชวนให้นึกถึงคำว่า แซว/แซ็ว ที่ราชบัณฑิตเพิ่งออกมาชี้แจงแก้ไขเมื่อไม่นานมานี้)
สำหรับคำในภาษาอังกฤษหลายคำเขียนขึ้นต้นด้วย gh แม้ตัว h จะไม่ออกเสียง เช่น ghost (ผี), เรื่องราวมีอยู่ว่า ในปี 1486 วิลเลียม แค็กซ์ตัน (William Caxton) นำแท่นพิมพ์เข้ามายังประเทศอังกฤษ ขณะนั้นยังไม่มีช่างเรียงพิมพ์ที่เชี่ยวชาญในอังกฤษ จึงจำเป็นต้องจ้างลูกน้องชาวเฟลมิชมาช่วยทำหน้าที่นี้
ลูกน้องชาวเฟลมิชเหล่านี้ก็ไม่ได้รู้ภาษาอังกฤษมาก แถมสมัยนั้นคู่มือการสะกดก็ยังไม่มี พอเจอคำไหนที่เทียบเคียงกับคำในภาษาแม่ตัวเอง ก็เลยเลือกสะกดตามสะดวกไปแบบนั้น
ด้วยคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียง g หลายคำในภาษาเฟลมิชสะกดด้วย gh ช่างเรียงพิมพ์ก็เลยสะกดคำว่า gost เป็น ghost ลามไปจนถึงคำอย่าง goat, goose และ girl ก็สะกดเป็น ghoot, ghoos, และ gherle ด้วย
ในขณะที่ตัว h ในกลุ่มคำหลังไม่ได้รับความนิยมและอันตรธานไปในที่สุด แต่ตัว h ในว่า ghost กลายมาเป็นวิธีสะกดมาตรฐาน อีกทั้งยังเติมลงในคำอย่าง ghastly (น่าสะพรึง), ghoul (ปีศาจในตำนานของชาวอาหรับ), หรือ gherkin (แตงกวาดอง) อีกด้วย
บรรณานุกรม
- http://www.etymonline.com/
- Algeo, John, and Thomas Pyles. The Origins and Development of the English Language. 5th ed. Thomson Wadsworth: Massachusetts, 2005.
- Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
- Crystal, David. Spell It Out: The Singular Story of English Spelling. Profile Books: London, 2012.
- Crystal, David. The Stories of English. Penguin Books: London, 2005.
- Freeborn, Dennis. From Old English to Standard English: A Course Book in Language Variation across Time. Palgrave Macmillan: London, 2006.
- Hill, L. A., and J. M. Ure. English Sounds and Spellings. OUP: London, 1962.
- Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.
- Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.
- Miles, Elaine. English Words and Their Spelling: A History of Phonological Conflicts. Whurr Publishers: London, 2005.
- Seaton, Anne. Understanding Spelling: Making Sense of the Rules, Exceptions, and Word Formation. Learners Publishing: Singapore, 2004.
- Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.
- Stockwell, Robert, and Donka Minkova. English Words: History and Structure. Cambridge University Press: Cambridge, 2001.
Fact Box
ภาษาอังกฤษยังมีคำที่มี silent letter แปลกๆ อีกมาก ตัวอย่างเช่น bdelygmia (เด็ลลิกเมีย), chthonic (ธอนิก), phthalate (แธลิท), forecastle (โฟกเซิล), boatswain (โบซึน) และ halfpenny (เฮพนี)