ในภาษาต่างๆ เรามักพบสุภาษิตสอนใจหรือคำพูดให้ข้อคิดที่นำไปปรับใช้กับชีวิตด้านต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ความรัก หรือการครองเรือน

เอ๊ะ แล้วถ้าเป็นเรื่องการกินบุฟเฟ่ต์ล่ะ

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า ในภาษาอังกฤษมีสุภาษิตอะไรบ้างที่เรานำไปปรับใช้กับการกินบุฟเฟ่ต์ได้

1. อย่าท้อเวลารอคิวนานๆ อยากกินของอร่อยต้องยอมอดใจรอ

All things in life come to those who wait.

ทุกสิ่งในชีวิตย่อมมาถึงผู้ที่รู้จักรอ

สำนวนนี้เหมาะสำหรับคนใจร้อนหรือความอดทนต่ำ อดรนทนรออะไรไม่ค่อยได้ อยากได้อะไรต้องได้รับการสนองทันที เพราะใจความของสำนวนนี้ คือ ให้รู้จักใจเย็นและอดทนรอถ้าอยากได้สิ่งดีๆ ในชีวิต

ดังนั้น ถ้าอยากจะได้กินอาหารรสเลิศปริมาณมาก ก็ต้องรู้จักรอ ถ้าทนไม่ไหวแล้วลุกไปก่อน ก็จะอดกินนั่นเอง

2. ก่อนลงมือกิน ล้างไม้ล้างมือสักนิด อย่าซกมก

Cleanliness is next to godliness.

รองจากศรัทธาในพระเจ้าคือความผ่องแผ้วบริสุทธิ์

สำนวนนี้มีที่มาจากความเชื่อศาสนา หลายคนเชื่อในทำนองที่ว่า กายสะอาดเป็นเครื่องสะท้อนความบริสุทธิ์ทางศีลธรรม จึงควรชำระล้างและดูแลร่างกายให้สะอาดหมดจด ปัจจุบันบางครั้งนำมาใช้พูดเพื่อบอกให้รู้จักรักษาความสะอาดของร่างกายหรือบ้านช่อง

ดังนั้น ถ้ากำลังเดินเข้าร้านแล้วเห็นเพื่อนไม่ล้างมือให้สะอาด ก็อาจนำสำนวนนี้ไปใช้ได้

3. เมื่อเห็นอาหารดีให้รีบตัก

Time and tide wait for no man.

เวลาและวารีไม่คอยใคร

ด้วยความที่เวลาเดินหน้าไปและไม่ถอยหลังกลับ ส่วนสายน้ำไหลไปแล้วก็ไม่หวนคืน ทั้งสองสิ่งนี้จึงถูกนำมาใช้สอนใจว่ามีอะไรให้รีบทำเสีย อย่ารอช้าจนโอกาสผ่านไป เพราะโอกาสนั้นอาจไม่เวียนกลับมาอีกเลย

ทั้งนี้ แต่ก่อน time and tide นับเป็นหน่วยเดียวกันและถือเป็นเอกพจน์ (คล้ายๆ bread and butter ที่หมายถึง แหล่งรายได้) ดังนั้น ถ้าไปอ่านหนังสือโบราณแล้วเจอเขาเขียนว่า Time and tide waits for no man. ก็ไม่ได้แปลว่าเขาผันกริยาผิดแต่อย่างใด

สรุปก็คือ เมื่อเห็นอาหารดีๆ ก็อย่ารอช้า เดี๋ยวจะโดนคนอื่นฟาดไปกินหมด

4. อย่าสั่งของอย่างเดียวปริมาณมากเกินไป

Don’t put all your eggs in one basket.

อย่าใส่ไข่ทั้งหมดในตะกร้าใบเดียว

ถ้าเราใส่ไข่ทั้งหมดที่เรามีลงในตะกร้าใบเดียวแล้วเกิดทำตะกร้าใบนั้นหายหรือตกขึ้นมา เราก็อาจเสียไข่ของเราทั้งหมดในคราวเดียว ดังนั้น สำนวนนี้จึงเป็นการสอนให้เรารู้จักกระจายความเสี่ยง อย่าทุ่มหมดหน้าตักกับสิ่งๆ เดียว

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราเลือกสั่งอาหารอย่างเดียวปริมาณมากแล้วเกิดไม่อร่อยขึ้นมา เราก็จะเสียพื้นที่ท้องเปล่าๆ จึงควรกระจายความเสี่ยงด้วยการกินให้หลากหลาย

5. ถ้าร้านพยายามโปรโมทอะไรให้ดูยั่วยวนน่าหลงใหลเกินเหตุ อย่ากิน

All that glitters is not gold.

ไม่ใช่ทุกสิ่งที่แวววาวจะเป็นทองไปเสียหมด

สำนวนนี้หมายถึงว่า เราไม่ควรไว้ใจรูปลักษณ์ภายนอก เพราะแม้อาจดูแวววาวเหมือนทอง แต่อาจเป็นทองปลอมก็ได้ คล้ายๆ ว่าข้างนอกสุกใสข้างในเป็นโพรง

ดังนั้น เวลาที่เจออาหารหรือโปรโมชั่นบางอย่างที่ร้านโปรโมทจนดูดี อาจต้องฉุกคิดและไตร่ตรองสักนิด เพราะบางครั้งอาจสวยแต่รูปจูบไม่หอม เช่น อาจไม่ได้อร่อยเท่าที่เห็นในรูป หรือเป็นแค่กลเม็ดของร้านให้เรากินของถูกหรือกินแล้วอิ่มเร็วก็เป็นได้

6. จ้องไปของย่างก็ไม่สุกเร็วขึ้นหรอก ใจเย็น

A watched pot never boils.

หม้อที่เราจ้อง ให้ตายยังไงก็ไม่เดือด

ปกติถ้าเราทิ้งหม้อต้มน้ำไว้แล้วไปทำอย่างอื่น เราก็จะรู้สึกว่าแป๊บเดียวก็เดือดแล้ว แต่ถ้าเราเอาแต่จ้องรอให้น้ำในหม้อเดือด เราก็อาจรู้สึกหงุดหงิดว่าทำไมไม่เดือดเสียที เหตุการณ์แบบนี้นี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจของสำนวนนี้ ซึ่งสอนให้เรารู้จักอดทนรอ

ในทำนองเดียวกับ เวลาเรากินบุฟเฟ่ต์ ถ้ารอน้ำซุปเดือดอยู่ก็ไม่ต้องไปจับจ้อง เพราะยิ่งทำให้รู้สึกว่าเดือดช้า หรือเวลาเราปิ้งเนื้อไก่ หัวหอม ฟักทอง หรือของชิ้นใหญ่ๆ ก็ให้เวลามักสักหน่อย เพราะคอยจ้องก็ไม่สุกเร็วขึ้นกว่าเดิม แถมยังทำให้เราร้อนใจยิ่งขึ้นเสียอีก

7. พยายามเรียกพนักงานแต่พนักงานไม่หัน ก็ต้องเล่นใหญ่

The squeaky wheel gets the grease.

ล้อส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด คนถึงหยอดจาระบี

สำนวนนี้หมายความว่า ปัญหาที่มีคนรู้คนเห็น ถึงจะได้รับการแก้ไข (คล้ายๆ กับที่คนเดี๋ยวนี้ต้องโพสต์กระทู้พันทิปร้องเรียนถึงจะได้รับความสนใจจากบริษัทร้านรวงต่างๆ) ได้ภาพเปรียบเปรยมาจากล้อรถที่ฝืดที่ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าด ทำนองว่าถ้าล้อใกล้เสียแต่ไม่มีอาการใดๆ ให้คนรับรู้ ก็คงไม่มีใครมาซ่อมนั่นเอง

ดังนั้น เวลาเราพยายามส่งสัญญาณเรียกพนักงานในร้านแต่ไม่มีใครเห็นเงาหัว ก็อาจต้องเล่นใหญ่ โบกไม้โบกมือ หรือเดินไปเรียกเลยถึงจะได้รับบริการ ไม่งั้นก็นั่งรอไป

8. ไม่ไหวก็หยุดกิน

Discretion is the greater part of valor.

ส่วนสำคัญของความกล้าหาญคือวิจารณญาณ

สำนวนนี้เตือนใจให้รู้จักพิจารณาก่อนแสดงความห้าวเป้ง นัยว่าบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่เสี่ยงต่อตัวเราเอง ให้รู้จักยั้งคิดและเก็บความกล้าไปใช้ในเวลาและสถานที่ที่เหมาะที่ควรจะดีกว่า พูดอีกอย่างคือความกล้าควรมีวิจารณญาณเป็นเครื่องกำกับด้วย

เมื่อนำมาใช้กับการกินบุฟเฟ่ต์ ก็อาจจะหมายถึง ถ้าอิ่มจนแน่นท้องแล้ว ก็ไม่ต้องโชว์เหนือยัดทะนานแล้วไปอ้วกในห้องน้ำ สู้วางตะเกียบเสียจะดีกว่า

9. รู้สึกว่ากินได้น้อย ก็ต้องหมั่นฝึกฝน

Practice makes perfect.

ต้องฝึกฝนจึงจะเก่ง

ใจความของสำนวนนี้ก็คือ อยากทำอะไรให้ได้สมบูรณ์แบบ ก็ต้องหมั่นฝึกฝน นัยว่าความเชี่ยวชาญอาจไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด ต้องอาศัยน้ำพักน้ำแรงในการฝึกปรือพัฒนา

ดังนั้น หากใครรู้สึกว่ายังกินบุฟเฟ่ต์ได้ไม่คุ้ม ก็ควรนัดวันฝึกกับเพื่อนรอบถัดไปเลย

10. อย่ากินร้านโปรดซ้ำๆ เดี๋ยวจะไม่อร่อยแล้ว

Familiarity breeds contempt.

ความเคยชินก่อให้เกิดความเหยียดหยาม

บางครั้งเรารู้จักหรือคุ้นชินกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะจะทำให้เราเห็นข้อด้อยของสิ่งนั้น จนไม่รู้สึกชื่นชมหรือเห็นคุณค่าสิ่งนั้นอีกต่อไป คล้ายๆ กับคนคบกันไปนานๆ จนรู้นอกออกในกันหมดทุกสิ่ง ก็อาจเริ่มมองแต่จุดบกพร่องจนไม่เห็นคุณค่าของอีกฝ่าย

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรากินแต่ร้านเดิมซ้ำๆ แม้จะอร่อยสักเพียงไหนเราก็คงเบื่อเข้าสักวัน อาหารที่เคยถูกปากก็อาจเริ่มรู้สึกธรรมดา ดีไม่ดีเริ่มเกลียดจนไม่อยากกระเดือกลงคอเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นก็ควรสำส่อนทางโภชนาการและเปลี่ยนไปกินร้านอื่นบ้าง

แถม: ร้านที่ชอบเก็บไว้กินโอกาสพิเศษ

Absence makes the heart grow fonder.

ยิ่งห่างไกล หัวใจยิ่งผูกพัน

สำนวนนี้ถือได้ว่าเป็นเหรียญอีกด้านกับสำนวนก่อนหน้า คือ ถ้าเราเว้นช่องว่างกับคนหรือสิ่งที่เรารักบ้าง ก็จะทำให้จิตใจได้โหยหาคิดคำนึงถึงกันมากขึ้น

ดังนั้น เราก็ไม่ควรกินร้านโปรดบ่อยๆ แต่ควรจะเก็บไว้กินในโอกาสพิเศษต่างๆ เวลาได้กินทีจะได้รู้สึกพิเศษจริงๆ

 

 

บรรณานุกรม

  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.
  • Taggart, Caroline. An Apple a Day: Old-fashioned Proverbs and Why They Still Work. Michael O’ Mara Books: London, 2009.
Tags: , , , , ,