ถ้าจะพูดว่าช่วงสัปดาห์นี้ สังคมเราแตกแยกและแบ่งสีกว่าที่เคย จนถึงขนาดที่หลายคนไม่ยอมนั่งรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับคนอีกกลุ่มก็คงไม่เกินจริงเท่าไร นั่นก็เพราะผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจกินเจหรือมีเพื่อนที่กินเจ ทำให้ต้องมองหาธงหรือป้ายพื้นสีเหลืองตัวอักษรสีแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่าอาหารที่เห็นมีแต่ผัก ไม่มีเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปะปน หลายคนที่เคร่งมากๆ อาจถึงขนาดไม่ยอมให้ผู้ที่ไม่กินเจ (หรือที่เรียกว่า กินชอ) นั่งร่วมโต๊ะ

แม้ผมจะปวารณาตนเป็นสัตว์กินเนื้อโดยสมบูรณ์และเลือกไม่บำเพ็ญทุกรกิริยา แต่วันนี้จะขอพาผู้อ่านทุกท่านไปพูดคุยเรื่องผักๆ และดูว่าการกินเจไปเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยแบบเจ้าชายนิทราและการนอนแอ้งแม้งอย่างไร

เทศกาลกินเจนี้ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Chinese Vegetarian Festival แปลตามตัวก็คือ เทศกาลมังสวิรัติของชาวจีน คำว่า vegetarian นี้ แปลว่า ผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติ มาจาก vegetable ที่แปลว่า ผัก มารวมกับส่วนเติมท้าย -arian ที่ใช้หมายถึง คนหรือผู้ทำ แบบที่พบในคำว่า authoritarian ที่หมายถึง ผู้สนับสนุนลัทธิอำนาจนิยม (authority + -arian) หรือ disciplinarian ที่หมายถึง ผู้ยึดถือระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด (discipline + -arian) รวมกันได้ความหมายว่า ผู้ที่รับประทานแต่พืชผัก ส่วนตัว ‘แนวความเชื่อ’ หรือ ‘แนวปฏิบัติ’ เราจะเรียกว่า vegetarianism

ฟังเสียง vegetarian >>>

แต่ในสังคมที่การกินเนื้อสัตว์เป็นบรรทัดฐาน มีผลิตภัณฑ์จากสัตว์แทรกซึมอยู่แทบทุกอณูในสังคม การดำรงชีวิตแบบกินแต่ผักผลไม้และไม่เบียดเบียนสัตว์อื่นเลยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ขนาดแค่จะกินส้มตำปกติที่ดูเผินๆ มีแต่ผักก็ยังไม่ได้ เพราะมีน้ำปลาแฝงอยู่ จะกินเส้นพาสตาก็ยังมีไข่เป็นส่วนประกอบ

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่หลายคนจะยอมผ่อนปรนกินผลิตภัณฑ์จากสัตว์บางชนิดที่ไม่ได้มาจากการฆ่าแกงสัตว์เพื่อให้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไป เช่น หลายคนยอมดื่มนม แบบนี้ภาษาอังกฤษก็จะเรียกว่า lacto-vegetarian มาจาก vegetarian มารวมกับ lacto- ที่เป็นส่วนเติมหน้า (prefix) ที่แปลว่า นม เช่นที่พบในคำว่า lactose ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบในนม (จริงๆ แล้วพบในคำว่า lettuce ที่แปลว่า ผักกาดด้วย มาจากน้ำสีขาวขุ่นคล้ายนมที่ไหลออกมาเมื่อหักโคนผักกาดดิบ) ส่วนผู้ที่ยอมกินไข่ ก็จะเรียกว่า ovo-vegetarian คือเติม ovo- ที่แปลว่า ไข่ เข้ามา อย่างที่พบในคำว่า ovary ที่แปลว่า รังไข่ หรือถ้ากินทั้งนมกินทั้งไข่ ก็จะเรียกว่า ovo-lacto vegetarian

ฟังเสียง lettuce >>>

คำว่า vegetarian ปรากฏใช้ในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เกือบ 200 ปีที่แล้ว มีการจัดตั้งสมาคมผู้รับประทานอาหารมังสวิรัติเพื่อส่งเสริมการละเว้นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ตั้งแต่ปี 1844 ขณะนั้นสมาชิกสมาคมเห็นว่าถ้าไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลยคงอยู่ร่วมสังคมกับคนอื่นลำบาก จึงมีจุดยืนสนับสนุนมังสวิรัติสายผ่อนปรน ยอมให้กินนมและไข่ได้ แน่นอนว่าสมาชิกบางคนก็ไม่เห็นด้วยเพราะตนเป็นสายเคร่งครัด ท้ายที่สุดสมาชิกชื่อ Donald Watson จึงแยกตัวออกมาและคิดคำว่า vegan ขึ้นเพื่อหมายถึง มังสวิรัติแบบที่ไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย ให้แตกต่างจากมังสวิรัติแบบที่หย่อนยาน ทำให้เกิดเป็น veganism ที่หลายคนเคยได้ยินนั่นเอง

คำว่า vegetarian นี้ยังเป็นต้นแบบให้แก่กระแสการรับประทานแบบอื่นๆ ด้วย เช่น หากเลือกกินแต่ผลไม้ ก็จะเรียกว่า fruitarian ส่วนถ้ามาแนวกินปลาแต่ไม่กินสัตว์อื่น ก็จะเรียก pescatarian (มาจาก pesce ในภาษาอิตาเลียน ที่แปลว่า ปลา (มาจาก piscis ในภาษาละตินอีกที ในภาษาอังกฤษเจอใน Pisces ที่แปลว่า ราศีมีน ที่มีสัญลักษณ์เป็นปลาด้วย) มารวมกับ –arian แต่ถ้าหากเป็นคนที่กินมังสวิรัติตามสะดวก มีก็กิน ไม่มีก็กินอย่างอื่นก็จะเรียกว่า flexitarian มาจาก flexible ที่แปลว่า ยืดหยุ่น หยวนๆ นั่นเอง

วกกลับมาที่ vegetable ใน vegetarian กันสักนิดหนึ่ง

ผักในภาษาอังกฤษเรียกว่า vegetable นับว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคนเรียนภาษาอังกฤษเพราะหน้าตาดูเหมือนจะออกเสียงสี่พยางค์ แต่เจ้าของภาษาออกเสียงแค่สามพยางค์เท่านั้น ถ้าอยากออกเสียงให้ฟังเข้าใจง่าย ก็อาจจะจำว่า เวลาออกเสียงคำว่า vegetable ต้องไม่มีเครื่องบินเจ็ต

ฟังเสียง vegetable >>>

คำนี้ชาวอเมริกันบางครั้งก็พูดย่นย่อเรียกเหลือแค่ veggie เมื่อใช้ในบริบทไม่เป็นทางการ เช่น พ่อที่เห็นลูกเขี่ยผักไว้ข้างจานก็อาจพูดกับลูกว่า Eat your veggies! คือ กินผักเข้าไปด้วย! คำนี้เวลาออกเสียงต้องระวังสักนิด เพราะถ้าออกเสียงตัว v ไม่ชัด เพี้ยนไปเป็น w ก็จะกลายเป็นคำว่า wedgie ที่หมายถึง การดึงกางเกงในให้รั้งก้นขึ้นแบบที่เด็กๆ เล่นแกล้งเพื่อนกัน

ฟังเสียง veggie >>>

ฟังเสียง wedgie >>>

คำว่า vegetable นี้ไม่ได้หมายถึงผักแต่เพียงอย่างเดียว ใครที่เคยได้อ่านกลอน To His Coy Mistress ของ Andrew Marvell ก็อาจจะสะดุดตรงท่อนที่ว่า My vegetable love should grow/ Vaster than empires and more slow เอ๊ะ เกี้ยวนางอยู่ดีๆ ทำไมอยู่ๆ ถึงพูดถึงผักขึ้นมา อันที่จริงแล้ว My vegetable love ตรงนี้ไม่ได้หมายถึงความรักผักแต่อย่างใด แต่หมายถึง ความรักที่ค่อยๆ งอกเงยที่ละน้อย เหมือนที่พืชค่อยๆ เติบโตทีละนิดนั่นเอง เล่นเอาผักโรแมนติกขึ้นมาเลยทีเดียว

และด้วยความที่พืชผักเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้ขยับตัวหรือตอบโต้กับเราได้อย่างสัตว์ คำว่า vegetable นี้จึงถูกนำมาใช้เรียกผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวหรือไม่มีอาการตอบสนอง ที่เรียกกันว่าเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทราด้วย (แต่ถือว่าเป็นคำที่ไม่สุภาพ) ในทางการแพทย์เรียกสภาพเช่นนี้ว่า vegetative state หรือสภาพผัก

ฟังเสียง vegetative >>>

ทั้งนี้ เราจะใช้คำว่า vegetable เรียกคนที่รู้สึกซังกะตาย วันๆ ไม่มีกระจิตกระใจจะขยับตัวหรือออกแรงทำอะไรก็ได้เช่นกัน เช่น After the breakup, he has been a vegetable. ก็จะหมายถึง ตั้งแต่เลิกกับแฟนเก่าเขาก็กลายเป็นคนใช้ชีวิตซังกะตายไปวันๆ

สภาพไร้การตอบสนองของผักแบบนี้ยังเป็นที่มาของความหมายของกริยา vegetate ด้วย กริยานี้หมายถึงนอนแอ้งแม้ง นั่งๆ นอนๆ เรื่อยเปื่อย ขยับตัวแต่น้อย ไม่ออกแรงทำอะไร แบบที่เราทำเวลานอนขี้เกียจดูทีวีอยู่บ้าน เช่น I’m going to just stay in and vegetate tonight. ก็จะหมายถึง คืนนี้จะนอนทอดหุ่ยอยู่บ้าน หรือจะพูดว่า veg out ก็ได้ เช่น Can we just veg out tomorrow? ก็จะหมายถึง พรุ่งนี้ขอนอนเปื่อยได้ไหม

ฟังเสียง vegetate >>>

ฟังเสียง veg >>>

การกินเจ ผู้ป่วยเจ้าชายนิทรา และการนอนแอ้งแม้ง จึงสัมพันธ์กันด้วยเหตุฉะนี้แล

 

บรรณานุกรม

https://www.merriam-webster.com/
https://www.poetryfoundation.org/poems/44688/to-his-coy-mistress
https://en.wikipedia.org/wiki/Veganism
American Heritage® Dictionary of the English Language
Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Tags: , ,