เช้าวันศุกร์ เราได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนสาวซึ่งทำงานอยู่ที่หอศิลป์ Courtauld Gallery ใจกลางลอนดอน เธอบอกเราว่าต้องการขอความช่วยเหลือในการสร้างกิจกรรมนำร่องสำหรับวันพิเศษที่จะเชิญครอบครัวในชุมชนรอบข้างมาเยือนหอศิลป์
และที่สำคัญ งานนี้จะเกิดขึ้นในอีกสามวันข้างหน้านี้แล้ว ปฏิบัติการสร้างความสนุกอย่างเร่งด่วนจึงเกิดขึ้น!
(หมายเหตุ: ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านมาซักพักแล้ว แต่ด้วยความสนุกบวกกับความน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่อยากรู้กระบวนการสร้างกิจกรรมสำหรับหอศิลป์ตั้งแต่ต้นจนจบ เราเลยอยากหยิบยกมาปัดฝุ่นและเล่าให้ฟังกัน ณ บัด นาว)
ขั้นตอนที่ 1 ประเมินลักษณะของหอศิลป์ จุดด้อยและจุดแข็ง
เราเริ่มจากการดูจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมว่า ทางหอศิลป์ต้องการอะไร? ซึ่งอันนี้ต้องสาธยายก่อนว่า The Courtauld Gallery มีประวัติอันยาวนานมากว่า 80 ปี ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1932 โดยมีที่มาจากพลังภายในของนักสะสมซามูเอล คอร์ทัลด์ (Samuel Courtauld) คอลเล็คชั่นของท่านส่วนใหญ่นั้นเป็นงานศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ และโพสอิมเพรสชั่นนิสม์จากฝรั่งเศส โดยมีงานชิ้นเด็ดจากศิลปินชื่อดังในกลุ่มนั้นค่อนข้างครบ ไม่ว่าจะเป็น รูปเด็กสาวเต้นบัลเลต์โดยเอ็ดการ์ เดกาส (Edgar Degas) ภาพวิวทิวทัศน์โดยโกลด โมเนต์ (Claude Monet) รูปจากเฮติของ Paul Gauguin (พอล โกแก็ง) งานของตูลูซ โลแทร็ค (Toulouse-Lautrec) และโมดิลยานี (Modigliani) รวมไปถึงภาพที่เรียกได้ว่าเป็นมาสเตอร์พีซแห่งยุคอิมเพรสชั่นนิสอย่าง A Bar at the Folies-Bergère ของมาเนต์ (Manet) และ Self-Portrait with Bandaged Ear ของฟาน ก็อก หรือที่คุ้นหูกันว่า แวนโก๊ะ (Vincent van Gogh) อีกด้วย
คอลเล็คชั่นชุดนี้เคยถูกจัดแสดงในโถงใหญ่ของหอศิลป์แห่งชาติอังกฤษ (The National Gallery) ที่ซึ่งมีสโลแกนภาษากรีกถูกสลักไว้อย่างถมึงทึงเหนือทางเข้า “ΟΥΔΕΙΣ ΑΜΟΥΣΟΣ ΕΙΣΙΤΩ” แปลคร่าวๆได้ว่า “ห้ามผู้ใดที่ไม่เป็นมิตรของทวยเทพศิลปศาสตร์ เยื้องย่างเข้ามาเป็นอันขาด”
และถึงแม้คอลเล็คชั่นนี้จะถูกย้ายมาจัดแสดงอยู่ในอาคารใหม่ของสถาบัน Courtuald Institute ในปี 1989 แต่สโลแกนความเป็นคอลเล็คชั่นเฉพาะกลุ่มก็ยังตามมาด้วย ทำให้บรรยากาศของหอศิลป์นี้ยังคงความ ‘เลอค่า’ ที่จับต้องไม่ได้สำหรับคนทั่วไปอยู่มาก ตั้งแต่การจัดแสดงใส่กรอบทองและแขวนแบบซาลง (Salon) ความห้ามวิ่งเล่น หรือ ส่งเสียงดัง (นึกภาพตามว่า จะมีเจ้าหน้าที่รปภ.ใส่สูทหน้าตาน่ากลัวมาทำเสียง “จุ๊ จุ๊ จุ๊” ใส่คุณ) ควรนั่งดูงานอย่างเงียบๆ และมีสมาธิประหนึ่งปฏิบัติธรรม ฯลฯ
บรรยากาศนี้อาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ The Courtauld Gallery ไม่ค่อยมีผู้เข้าชมที่เป็นกลุ่มครอบครัว กิจกรรมนำร่องจึงต้องการทดลองดูว่าทางแกลเลอรี่จะต้องปรับตัวเพื่อทำให้พื้นที่ของตัวเองดึงดูดผู้ใช้กลุ่มนี้ได้ไหม และอย่างไรบ้าง
ขั้นตอนที่ 2 ค้นคว้าหาเรื่องมาเล่า
เมื่อพอเข้าใจพื้นเพกันแล้ว เราเลยต้องหาเรื่องมาเป็น ‘ธีม’ สำหรับกิจกรรมที่จะต้องทั้งสนุกและน่าสนใจสำหรับคนทั้งครอบครัว ค้นไปค้นมาเราก็ไปสะดุดตากับชุดข้อมูลอันน่าพิศวงเข้าจนได้!
กล่าวคือ เราไปพบว่า หนึ่งในอดีตผู้บริหารหอศิลป์แห่งนี้ถูกจับในข้อหาสายลับผู้คายความลับประเทศอังกฤษให้กับโซเวียต! เขามีนามว่าเซอร์ แอนโทนี บลันท์ (Sir Anthony Blunt) เป็นผู้อำนวยการของหอศิลป์ Courtauld ตั้งแต่ปีค.ศ. 1947-1973
และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม Cambridge Five ซึ่งรับสารภาพว่าทำงานให้กับสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามเย็น คำสารภาพของเขานั้นถูกเก็บไว้เป็นความลับของทางราชการตลอดช่วงเวลาการทำงาน จนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1979 เรื่องนี้จึงถูกเปิดโปงต่อสาธารณะโดยรัฐมนตรีหญิงเหล็กของอังกฤษมาร์กาเร็ต แท็ทเชอร์ (Margaret Thatcher) ส่งผลให้เขาถูกปลดเครื่องอิสริยยศทันที
ถึงกระนั้นแอนโทนี บลันท์ยังคงมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะอย่างมาก เนื่องด้วยเขามีวิสัยทัศน์ที่หลักแหลม และตลอดช่วงเวลาที่ทำงานเขาอุทิศตนให้กับการเป็นอาจารย์ผู้ปั้นดาว ไม่ว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ ภัณฑารักษ์ และผู้ทำงานในวงการศิลปะอังกฤษตำแหน่งใหญ่ๆ ล้วนผ่านการพิจารณาและถูกผลักดันโดยบลันท์มาแล้วทั้งสิ้น
พอได้อ่านเกียรติประวัติ รวมถึงคดีความของอดีตผอ.ท่านนี้แล้ว เราจึงตัดสินใจจะหยิบความเป็น ‘สายลับศิลปะ’ มาเป็นแนวทางหลักในกิจกรรมของเราทันที โดยกะกันว่าจะให้เด็กๆ ได้ลองสวมบทบาทเป็นสายลับจิ๋ว ลองไขปริศนาตามร่องรอยในภาพเขียนต่างๆ คงสนุกกันไม่น้อย
ขั้นตอนที่ 3 เลือกวิธีการเรียนรู้ และสร้างสื่อ
อย่างไรก็ดี ความสนุกอย่างเดียวคงไม่พอ การออกแบบกิจกรรมนั้นต้องคิดด้วยว่า จะวัดผลการเรียนรู้จากกิจกรรมนี้อย่างไร? ทางหอศิลป์เองให้โจทย์มาว่าเด็กที่มา จะต้องจำข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ได้ระดับหนึ่ง แปลว่า อย่างไรก็ต้องมีการสอนแบบบรรยาย (Didactic Learning) บวกกับการตั้งคำถามที่เน้นการจำคำตอบ (Fact based) พอสมควร ดังนั้นสื่อที่จะใช้คงหนีไม่พ้นใบงาน
อย่างไรก็ดี เรายังคงเลือกที่จะหยิบวิธีการเรียนแบบขั้นบันได (Scaffolding Learning) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันสำหรับกลุ่มครอบครัว ประกอบไปด้วยการวางกลไกการเรียนรู้ที่จะต้องดึงผู้ปกครองมามีส่วนร่วมกับลูกหลาน เช่น โจทย์ที่เราให้อาจจะจงใจให้ยากเกินกว่าความสามารถของเด็กไปบ้าง เพื่อกระตุ้นให้เด็กถามคำถามนั้นกับผู้ปกครอง อีกทั้งในใบงานจะต้องมีการสื่อสารสองระดับ ระดับแรกคือการสื่อสารกับเด็กโดยตรง ต้องใช้ภาษาที่ง่ายและไม่เน้นเนื้อหามากเกินไปจนน่าเบื่อ ส่วนระดับที่สองคือสื่อสารกับผู้ปกครอง ซึ่งอาจใช้ภาษาที่ยากกว่า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปกครองให้ไปสอนเด็กได้อีกทีหนึ่ง
เมื่อได้ไอเดียคร่าวๆ แล้วเราจึงเริ่มวางแผนกันโดยการไปดูสถานที่จริง เราเลือกภาพเขียนที่จะมาเป็นเบาะแสในการไขคดีปริศนาของเด็กๆ แน่นอนว่าทางหอศิลป์ต้องการให้เราใช้ภาพชิ้นเอกของเขาทุกๆ ชิ้น แต่เมื่อคำนวณเวลาแล้วเราคิดว่าไม่น่าจะพอ เราจึงเลือกที่จะหยิบภาพมาประมาณห้าชิ้นเท่านั้น แต่ละชิ้นจะต้องอยู่ในพื้นที่จัดแสดงที่โปร่งโล่ง เพื่อให้เด็กๆ สามารถจะกรูกันมาเพ่งเล็งมันได้พร้อมกันหลายๆ คน คำถามทุกข้อนั้นยังคงอยู่ในธีมของสายลับ เช่น เราเอารูปวาดของแวนโก๊ะมาลบออก ให้เด็กๆ ต่อจุดเพื่อวาดเขาขึ้นมาใหม่ ใต้พาดหัวข่าวว่า “ศิลปินชื่อดังหายตัวไป!” หรือในรูปบาร์ของมาเนต์ เราให้เด็กๆ สังเกตและอธิบายความผิดปกติของรูปสะท้อนในกระจก ด้านหลังหญิงสาวปริศนา เป็นต้น
สุดท้ายใบงานถูกพิมพ์ออกมาเป็นลักษณะของหนังสือพิมพ์ขนาด A2 ใส่เข้าไปในซองสีน้ำตาล รวมกับของเล่นอื่นๆ เช่น แว่นขยาย หนวดปลอมสำหรับพรางตัว ฯลฯ เมื่อทากาวปิด และประทับตราปั๊ม TOP SECRET ถือเป็นอันเสร็จ
ขั้นตอนที่ 4 ทดลองใช้
หลังจากที่ไม่ได้หลับไม่ได้นอนกันหลายคืน วันกิจกรรมก็มาถึง!
บ่ายวันอาทิตย์นั้นมีครอบครัวตอบรับคำเชิญของหอศิลป์มาเกือบ 10 ครัวเรือน แต่ละบ้านพาเจ้าตัวเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 ขวบ ไปจนถึง 10 ขวบ ทีมงานตัดสินใจแบ่งกิจกรรมเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการบรรยายโดยภัณฑารักษ์ โดยทั้งครอบครัวจะได้รับการแนะนำข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับหอศิลป์ และได้รับการนำชมภาพสำคัญๆ จนครบ หลังจากนั้นจึงเป็นส่วนของการเล่มเกม ใบงานของเราถูกแจกให้กับแต่ละครอบครัว
แน่นอนว่าทันทีที่เด็กๆ แกะซองสีน้ำตาลออก สีหน้าของเขาตื่นเต้นขึ้นทันที บางคนจูงมือคุณพ่อคุณแม่ รีบออกวิ่งไปหาคำตอบของคำถามแต่ละข้ออย่างรวดเร็ว บ้างก็นอนลงกับพื้นเพื่อเขียนคำตอบด้านหน้าภาพเขียน เป็นภาพความเจี๊ยวจ๊าวที่ไม่คุ้นตาของเหล่าทีมงานในหอศิลป์เท่าไร นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้ปัญหาหน้างานอีกสองสามอย่างเมื่อใบงานถูกนำมาใช้จริง อาทิ พ่อแม่บางคนไม่สามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ (กลายเป็นลูกต้องอธิบายใบงานให้พ่อแม่แทน) หรือบางครอบครัวนั้นใช้เวลาน้อยกว่าที่เราคิดมาก ทำให้เราต้องเอาใบงานอื่นๆ ที่พอมีมาแจกต่อเพื่อฆ่าเวลาไปอีก
ขั้นตอนที่ 5 ประเมิน
หลังจากที่วิ่งเล่นกันเสร็จแล้ว ทางทีมงานก็ไม่ลืมที่จะจัดโต๊ะขนม ของว่างและเครื่องดื่มให้ผู้เข้าร่วมทุกๆคน แถมถือโอกาสสัมภาษณ์ ขอความคิดเห็นเพื่อจัดงานในครั้งต่อๆไป ซึ่งเท่าที่ได้ยินมา ส่วนมากประทับใจกับประสบการณ์ในวันนั้นมาก โดยมีคุณแม่ชาวสเปนคนหนึ่งบอกว่าเขาไม่เคยมา และไม่เคยรู้ว่าสามารถวิ่งเล่นอย่างสนุกในหอศิลป์ได้ด้วย ถ้าจัดอีกเขายินดีมาอีกแน่นอน ส่วนครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่เคยมาอยู่แล้วบ่อยๆ บอกว่ามันช่วยเธอมากในการสอนลูก เพราะหลายครั้ง พ่อแม่ก็อธิบายประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลป์ไม่ถูกเหมือนกัน ส่วนเด็กๆ นั้นบอกว่าใบงานของเราง่ายเกินไปบ้าง บางคนขอขนมเพิ่ม บางคนบอกว่าควรมีดินสอสีเพิ่มมากกว่านี้นะ! แต่ทุกคนๆคนบอกเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า “ประวัติศาสตร์ศิลปะสนุกจัง”
โดยรวมแล้วถามว่าประสบความสำเร็จไหม? เราคิดว่ามันโอเคเลยล่ะ
เพราะหลังจากนั้นก็ได้รับข่าวว่าทีมงานของ The Courtauld Gallery ได้มีโครงการจัดวันพิเศษสำหรับครอบครัวขึ้นอีกเรื่อยๆ เป็นประจำทุกเดือน
แถมรปภ.ของเขาก็ไม่ทำเสียง “จุ๊ จุ๊ จุ๊” ใส่ผู้คนอีกต่อไป
Tags: family, หอศิลป์, The Courtauld Gallery, ประวัติศาสตร์ศิลปะ