คืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ฉันเปิดประตู Tentacles Art Space อย่างเก้ๆ กังๆ มองไปรอบๆ เห็นกลุ่มนักเรียนที่มาก่อนแล้วกว่า 20 ชีวิต เพียงปราดเดียวก็รู้เลยว่า เป็นอีกครั้งที่ฉันแต่งตัวแรงเกินชาวบ้านไปหลายเบอร์ จะโทษใครดี? ในเมื่อทุกสิ่งที่ฉันเคยเรียนรู้เกี่ยวกับการเต้น ‘โว้ก’ (Vogue) นั้นล้วนมาจากการดูคลิปในยูทูบ ไม่ว่าจะเป็นมิวสิควิดีโอชื่อเดียวกันของมาดอนน่า ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการเต้นสไตล์นี้ หรือจะเป็นคลิปไวรัลแซ่บๆ จากในปาร์ตี้ รวมถึงคลิปจากรายการรูพอลส์ แดรก เรซ (Rupaul’s Drag Race) จนทำให้ฉันลืมไปว่าเมื่อ ‘โว้ก’ ถูกย้ายมาประเคนให้เราถึงซอยนราธิวาส 22 มันก็อาจจะต้องมีการปรับจริตให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของบ้านเราบ้างไม่มากก็น้อย

และเอาเข้าจริงๆ ตัวฉันเองก็หารู้ไม่ว่า นอกจากการแต่งตัวแรงๆ เต้นแรงๆ แอตติทูดแรงๆ แล้ว การเต้นรูปแบบนี้ยังมีเนื้อหาสาระที่ลึกซึ้งกว่านั้นมากนัก

(หมายเหตุ: ทั้งห้องมีคนใส่รองเท้าส้นสูงเพียงหนึ่งคนเท่านั้น!)

เมื่อถึงเวลาอันควร ทางทีมงานได้ออกมากล่าวต้อนรับทุกคนและเกริ่นว่า คลาสนี้เป็นกิจกรรมต่อยอดจากโปรแกรมศิลปินในพำนัก (Artist In Residency) ของ Tentacles Gallery ที่จะมีศิลปินรับเชิญในสาขาต่างๆ จากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาสร้างงานในกรุงเทพฯ เป็นช่วงเวลา 1-3 เดือน และศิลปินในพำนักคนปัจจุบันคือ ซัน-พิทยา แพเฟื่อง (เข้าใจว่ามีร่างสองเป็นดีว่า ชื่อ Sunya) ซึ่งก่อนหน้านี้บางคนอาจจะรู้จักเขาจากผลงานการเต้นร่วมสมัยและงาน modern dance อื่นๆ มาบ้าง ด้วยความที่เขาเคยทำงานกับศิลปินและนักออกแบบท่าเต้นชื่อดังหลายท่าน อย่าง Tang Fu Kuen, Daniel Kok, Cheng Ta Yu, Jereh Leung และ อ. พิเชษฐ์ กลั่นชื่น เป็นต้น

แต่วันนี้ซันตั้งใจจะมาเน้นสอนสไตล์ ‘โว้ก’ หรือ Voguing ซึ่งเป็นศิลปะการเต้นแขนงที่เขาสนใจโดยเฉพาะ สำหรับคนที่อาจจะไม่เคยคุ้นกับการเต้นชนิดนี้ คงต้องปูพื้นกันก่อนว่ามันเริ่มขึ้นในวัฒนธรรมบอลล์รูมของย่านฮาร์เลม (Harlem) ตั้งแต่ยุค ’60s โดยชาว LGBT อเมริกันผิวสีที่จะมารวมตัวกันในคลับใต้ดิน สร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มพวกเขาผ่านทางการเต้น โดยชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าพวกเขาได้แรงบันดาลใจจากนิตยสาร Vogue ท่าทางที่ออกมาจึงเป็นเหมือนการเดินและการโพสเลิศๆ เหมือนหลุดออกมาจากนิตยสารแฟชั่น ผสมกับการเต้นที่ช่วยปลดปล่อยอินเนอร์ซูเปอร์สตาร์ของพวกเขา เป็นอะไรก็ได้ที่เขาอยากจะเป็น แม้ว่านอกคลับนั้นพวกเขาจะเป็นเพียงกลุ่มคนชายขอบที่สังคมไม่ยอมรับก็ตาม

ว่าแล้วคุณครูของเราก็เปิดตัวด้วยการแหวกม่านออกมาเต้นเพลง ‘ขอใจเธอแลกเบอร์โทร’ ของหญิงลี ในชุดที่ฉันตั้งชื่อให้ว่า ‘กะโปก realness’ แต่ด้วยท่าเต้นที่ทั้งสตรองและเผ็ดสุดๆ ทั้งมือไม้ สเต็ปการเดินไขว้ขาบนส้นสูง รวมไปถึงการทิ้งตัวลงบนพื้น หรือที่เรียกว่า Dip (แรงขนาดที่ว่าอีกนิดก็จะเป็นกายกรรมหน้าเวทีวงหมอลำแล้ว!) เรียกเสียงกรี๊ดอละปรบมือจากนักเรียนกันรัวๆ

“เวลาที่ผมเต้น Vogue femme หลักๆ เลยมันคือการแสดงความมั่นใจในตัวเอง การแสดงออกแบบ feminine และการเล่าเรื่องของตัวเองบนแดนซ์ฟลอร์”

ซันบอกเราว่าในคลาสนี้เขาจะสอนห้าสิ่งเบสิกที่เป็นพื้นฐานของการโว้ก เริ่มด้วยอันดับแรกคือ catwalk หรือการเดิน เมื่อเราพร้อมแล้วซันจึงจัดการเปลี่ยนเพลงจากหญิงลีเป็นเพลงที่ใช้เต้นโว้กโดยเฉพาะ ซึ่งเพลงแนวนี้ก็มีความจำเพาะอยู่พอสมควร เช่นจะมีจังหวะที่เท่าๆ กันและมีการเน้นตบที่บีทสุดท้ายของทุกๆ สี่บีท เหมือนจะช่วยขับการเต้นให้ดูแรงขึ้นด้วย แล้วที่ขาดไม่ได้ก็คือเสียงคนพากย์ หรือเสียง MC ซึ่งมาจากวัฒนธรรมการเต้นประชันกันในคลับนั่นเอง

พวกเราถูกจัดให้อยู่ในแถวหน้ากระดานเรียงสาม แล้วเดินไปพร้อมๆ กัน  ซันเล่าให้เราฟังว่า จริงๆ แล้วจุดสูงสุดของการฝึกโว้ก คือการ Walk the Ball หรือการไปประชันกันในปาร์ตี้ใหญ่ที่บอลล์รูม ซึ่งจะมีการแบ่งประเภทการประกวด ผู้ที่จะชนะคือผู้ที่มีความเหมือน (realness) กับโจทย์ต่างๆ มากที่สุด อย่างเช่น เต้นแบบออกสาว (Vogue femme realness) เดินแบบแมนๆ (Butch queen realness) เดินแบบแฟชั่นอลังการ (High Fashion extravaganza realness) ฯลฯ รวมไปถึงการเต้นแบบเก่า (Old Way) ที่เน้นความสมมาตรของท่าทางและการเอาชนะคู่แข่งอีกฝ่ายบนฟลอร์ให้ได้ ซึ่งต่างกันกับการเต้นแบบใหม่ (New Way) ซึ่งจะประยุกต์เทคนิคการเต้นแบบอื่นๆ เข้าไปด้วย

สำหรับซันเอง เขาเกิดที่จังหวัดพิจิตร และโตมากับคุณแม่คนเดียวที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จากนั้นได้จับพลัดจับผลูไปใช้ชีวิตที่นอร์เวย์ตั้งแต่เด็ก เขาเคยเป็นนักกีฬาวิ่งแข่งของโรงเรียนมาก่อน จนกระทั่งได้เริ่มเต้นเขาจึงมุ่งมั่นที่จะศึกษาด้านนี้ จนได้เข้าเรียนที่ Oslo National Academy of the Arts และทำงานด้านการเต้นมาตลอด แต่หนึ่งในจุดเปลี่ยนของชีวิตเขาคือการได้ไปเรียนเต้นโว้กที่นิวยอร์ก

“มันเหมือนฝันที่จริงมากๆ จากที่ฉัน เด็กบ้านนอก ได้ไปเรียนเต้นกับไอคอนในวงการโว้ก อย่าง Leiomy Maldonado ที่นิวยอร์ก ซึ่งเป็นสถานเริ่มต้นของการเต้นสไตล์นี้ด้วย ที่โชคดีกว่านั้นคือ หลังจากที่ไปเรียนกับเขาแค่สองครั้ง เขาก็จดจำฉันได้ แล้วก็โทรมาชวนให้ไปจอยบ้านของเขา (House of Amazon) จำได้ว่าวันนั้นฉันกรี๊ดลั่นซับเวย์เลย”

คำว่า ‘บ้าน’ หรือ House ในที่นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีเฉพาะของกลุ่มนักเต้นโว้กมีที่มาตั้งแต่สมัยก่อน เมื่อกลุ่มคน LGBT มักจะถูกพ่อแม่แท้ๆ ไล่ออกจากบ้าน จนต้องเร่ร่อนมาเจอกันและสร้าง ‘บ้าน’ ใหม่ในสังคมการเต้นแทน ซึ่งแต่ละบ้านก็จะมีพ่อและแม่ ที่จะคอยคัดหานักเต้นเก่งๆ มาอยู่ในบ้านตัวเอง ดูแลกันและกัน ฝึกซ้อมเต้นด้วยกัน เพื่อวันหนึ่งพวกเขาจะถูกส่งเข้าแข่งขันบอลล์รูม

อย่างบ้านที่ซันอยู่ก็คือ House of Amazon มีสมาชิกประมาณร้อยกว่าคนทั่วโลก เขาบอกว่าเท่าที่รู้ เขาเป็นคนไทยคนเดียวที่เรียกตัวเองว่า โว้กเกอร์ และเต้นโว้กในเมืองไทยอย่างจริงจัง คุณซันแอบกระซิบกับเราว่าเขาแอบฝันจะก่อตั้งบ้านของตัวเองด้วยในสักวัน แต่ตอนนี้ต้องฝึกฝนและดูแววลูกๆ จากในคลาสนี้ก่อน

กลับมาที่คลาส—หลังจากเดินกันพอได้แล้ว ก็ต่อด้วยเบสิกที่สอง คือ การใช้มือ หรือ hands movement ซันแนะนำให้เราคิดว่าการเต้นโว้กคือ การเล่าเรื่อง และการใช้มือก็คือการสื่อสารแบบไม่ต้องพึ่งพาคำพูด อย่างการเอามือมาสร้างวงกลมรอบๆ หน้า ก็แปลได้ว่า “ดูหน้าฉันสิ ฉันสวย” การทำท่าเลียนิ้ว ก็แปลได้ว่า “ฉันแซ่บไหมละ” การสะบัดมือคือการไฟท์กับฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่การเอามือดันหน้าอก ก็อาจจะอ่านได้ว่าเรากำลังล้อเลียนความมั่นนมของอีกฝ่าย เป็นต้น

“การเต้นโว้กเหมือนกับการเปิดโอกาสให้เราแสดงความโกรธ หรืออารมณ์ของเราออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ต้องเอาปืนมายิงกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนจับเข้าคุกรึเปล่า…เราอาจจะคิดถึงเรื่องที่ทำให้เราเซ็งในแต่ละวัน เช่น นี่แน่ะ ฉันยังไม่ได้กฎหมายรับรองการแต่งงานเพศเดียวกันสักที ตบๆๆๆ” ซันหัวเราะร่า

เมื่อพวกเราเริ่มใช้มือได้แล้ว ซันก็ผสมการใช้มือกับการเดิน Catwalk เข้าด้วยกัน และยังแถมอีกหนึ่งเทคนิกที่เป็นเอกลักษณ์ของสไตล์นี้ นั่นก็คือ Duckwalk หรือการเดินแบบนั่งยองๆ ซึ่งท่านี้บอกเลยว่าหินสุดๆ เพราะน้ำหนักต้องไปลงที่จมูกเท้า แถมยังต้องเกร็งเขย่งเท้าอยู่ตลอด ถ้าใครใส่ส้นสูงมาก็อาจจะช่วยบ้างเพราะมีส้นรองเท้าช่วยดันเอาไว้ แต่ส่วนตัวหลังจากทำท่านี้ไปแค่ไม่กี่นาที ขาสองข้างของเราก็ทั้งสั่นทั้งปวดไปหมด จนสงสัยว่านักเต้นโว้กนั้นจะต้องมีร่างกายที่แข็งแรงเบอร์ไหนถึงจะเต้นท่าเหล่านี้ได้เป็นชั่วโมงๆ?! นี่ยังไม่ได้พูดถึงเบสิกอีกสองที่เหลือนั่นคือ Floorwork หรือการลงไปเต้นกับพื้น และ Spins and Dips หรือการหมุนและทิ้งตัวลงไปกับพื้น โอโห ใครที่เคยดูในคลิปแล้วคิดว่าคงไม่ยาก พอมาลองทำจริงๆ มันก็ไม่ง่ายนะจ๊ะ จะลงแต่ละทีนี่ต้องระวังพอสมควร แต่ถ้าทำได้เมื่อไรแล้วล่ะก็บอกเลยว่า ฟินมากกกก คุ้มแรงที่ฝึก (และข้อเข่าที่เสียไป) จริงๆ

ตลอดการสอน ซันบอกให้เราใส่จริตความแรง (หรือจะ แรด จะ ร่าน ก็แล้วแต่) เข้าไปเยอะๆ ในทุกๆ ท่าเต้น ซึ่งสำหรับเรา สิ่งนี้ยากพอกันหรืออาจจะมากกว่าการต้องจำท่าเต้นด้วยซ้ำ เพราะตลอดมาเราอยู่ในสังคมที่กดไม่ให้เราแสดงอัตลักษณ์ทางเพศบางอย่างออกมา แม้กระทั้งในหมู่เกย์ด้วยกันเอง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีค่านิยมการเชิดชูบุคลิก ‘แอ๊บแมน’ มากกว่าความตุ้งติ้ง หรือ ‘ออกสาว’ ดังนั้นในคลาสนี้ แค่การได้เห็นร่างกายที่กำยำของผู้สอน (นางถอดเสื้อโชว์กล้ามเสียครึ่งคลาส) ผสานกับท่าเต้นที่กรุยกราย เต็มไปด้วยจริตจะก้าน มันก็ช่วยเปิดนิยามใหม่ของความสวยงามที่นอกเหนือความ ‘แมน’ ซึ่งถูกโปรแกรมมากับเรื่องร่างของเพศชายในสมองของพวกเราได้มาก

นอกจากนั้นคือความ ‘มั่นหน้า’ ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่สำคัญมาก “มันโอเคที่คุณจะมั่นใจมากกว่าเพื่อนรอบข้าง” ประโยคนี้ของซันทำให้เรากระตุกข้างในลึกๆ เพราะมันทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า เราอยู่ในสังคมที่ห้ามเด่น ห้ามทำตัวเกินหน้ากันอยู่เสมอ

คงมีไม่กี่ที่ในเมืองไทยที่คุณได้รับการปรบมือและร้องเชียร์จากคนรอบข้าง เมื่อคุณแสดงออกอย่างมั่นอกมั่นใจ หรือเฉลิมฉลองร่างกายและเสน่ห์ทางเพศของคุณออกมาในทุกๆ ย่างก้าว คลาสเต้นโว้กคราวนี้จึงก่อให้เกิดความรู้สึกอิสระที่อธิบายไม่ถูกทีเดียว

“ฉันอยากให้มีผู้คนที่หลากหลายอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยไม่ดูถูกตัดสินกันและกัน ฉันอยากได้ free space พื้นที่ที่คุณเป็นอะไรก็ได้ที่คุณอยากจะเป็น พื้นที่ที่ไม่มีกำแพง พื้นที่ที่คุณสนุกกับมัน” ซันยังบอกกับเราอีกว่าประเทศไทยนั้นเหมาะกับการสร้างวงการโว้กกิ้งมากๆ เพราะบ้านเรามีประชากรเพศสภาพที่หลากหลายอยู่เยอะ แต่ยังจะต้องมีการต่อสู้เพื่อสิทธิที่เท่าเทียมมากกว่านี้ เขาคิดว่าการเต้นนี้จะช่วยให้คนในกลุ่ม LGBT ได้เล่าเรื่องของตัวเอง และให้คนหมู่มากเข้าใจถึงเพศสภาพ (gender) ได้มากขึ้น

และถึงแม้คลาสนี้จะเป็นคลาสเล็กๆ แต่ก็นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นความตั้งใจที่ได้รับการตอบรับอย่างดี ในอาทิตย์แรกของคลาสก็มี ออม ปัถวี เทพไกรวัล หรือ ‘Amadiva’ จากรายการ Drag Race Thailand มาเต้นด้วยกัน และสิ่งหนึ่งที่เราประทับใจไม่รู้ลืมจากคลาสนี้ คือตอนจบที่ซันอนุญาตให้เราล้อมวงกัน แล้วแต่ละคนออกมาเต้นประชันกันกลางวง ในวินาทีนั้นแต่ละคนล้วนออกมาเต้นในแบบที่เราอยากเต้น ผิดบ้างถูกบางไม่เป็นไร ทั้งหญิงแท้ ชายแท้ ตุ๊ด เกย์ และอื่นๆ เชือดเฉือนกันด้วยความสนุกท่ามกลางเสียงหัวเราะและเสียงปรบมือเชียร์จากคนรอบข้าง

ในวงล้อมนั้น เรารู้สึกมันเป็นที่ของเราจริงๆ

Fact Box

คลาสเต้น Vogue Dance กับซันยังมีทุกๆ เสาร์อาทิตย์ตลอดเดือนมีนาคม

สมัครเรียนได้ทาง Inbox message m.me/tentaclesn22

ข้อมูลเพิ่มเติมที่เพจ https://www.facebook.com/TentaclesInc/

Tags: , , , , ,