ต้องมีสมาธิสูงขนาดไหนกัน

รูปนกฟีนิกซ์สองตัวที่กำลังโผบินตรงหน้าดึงดูดสายตาให้เคลื่อนไปตามเส้นหมึกต่างน้ำหนัก เข้ม-จาง หนา-เรียว บางจังหวะดูเนิบ บางจังหวะตวัดรวดเร็ว เส้นแต่ละเส้นเหมือนกำลังโผบินไปพร้อมกับนกฟีนิกซ์บนผืนกระดาษญี่ปุ่นสีนวลตา

ผู้ที่วาดลายเส้นนี้ไม่ใช่แค่จิตรกร แต่เป็น ‘นักบวช’ ในลัทธิชินโตจากเมืองโยโกฮามา ชื่อ ทากาฟูมิ อาซากุระ (Takafumi Asakura) ผู้ที่วงการศิลปะญี่ปุ่นและระดับสากลพากันจับตามอง งานของเขาเคยจัดแสดงที่ Nitten Japan Fine Arts Exhibition เป็นประจำ และข้ามน้ำข้ามทะเลไปแสดงที่ปารีส รวมทั้งพิพิธภัณฑ์สเปนเซอร์ในสหรัฐฯ ก็ซื้อผลงานของเขาไปเก็บสะสม

และตอนนี้ชุดผลงาน Of Legends and Lore ภาพเขียนหมึกดำร่วมสมัยแบบญี่ปุ่นของอาซากุระกำลังจัดแสดงอยู่ที่ Serindia Gallery Annex เซ็นทรัลเอ็มบาสซี

งานของอาซากุระไม่เพียงแต่ใช้พู่กันและหมึกในแบบเดียวกับศิลปะภาพเขียนหมึกของญี่ปุ่นในสมัยโบราณ แต่เขาได้สร้างสรรค์ลายเส้นในลีลาใหม่ อาจคล้ายการสร้างงานของศิลปินมังงะ วาดมังกรให้กระโดดออกมาจากตำนาน แล้วกลายเป็นมังกรในเวอร์ชันของเขาเอง

แม้จะเกิดในทศวรรษ 1980 แต่อาซากุระคุ้นเคยกับการเขียนด้วยพู่กันมาแต่เด็ก

“ในญี่ปุ่นทุกวันนี้ มีไม่กี่คนที่จะใช้พู่กันเขียนจดหมายหรืออักษรลายเส้นในชีวิตประจำวัน ตอนอยู่ชั้นประถม ผมจดทุกอย่างในสมุดด้วยพู่กันล้วนๆ ขณะที่เพื่อนๆ เขาใช้ดินสอหรือปากกากันแล้ว ผมจึงคุ้นเคยกับพู่กันมากกว่าอย่างอื่น ใช้แล้วรู้สึกเป็นธรรมชาติกว่า แต่ก็โดนคุณครูดุ (หัวเราะ) บอกให้ใช้ดินสอสิ แต่ไม่ล่ะ ผมยืนยันจะใช้พู่กัน” อาซากุระเล่าด้วยรอยยิ้ม และทำท่าทางประกอบ

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงพัฒนาฝีมือจนกลายเป็นปรมาจารย์ด้านอักษรวิจิตร (calligraphy) สามารถเขียนอักษรแบบที่ใช้กันในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ลอกกลอนจีนได้เหมือนต้นแบบ ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นนายเหนือเส้นสายและลายอักษร นอกจากฝึกฝนด้วยตัวเองแล้ว อาซากุระยังเรียนต่อปริญญาโทสาขาจิตรกรรมจากมหาวิทยาลัยทามะ และวิวัฒน์ผลงานมาสู่การสร้างงานศิลปะที่สอดแทรกอักษรวิจิตรไว้ระหว่างรูปวาด ทั้งที่เป็นรูปวาดนามธรรมและรูปธรรม

ศิลปะหมึกดำและสีดำทั้งห้าเฉด

เมื่อนึกถึงภาพวาดแบบญี่ปุ่น เรานึกถึงภาพแบบไหน เป็นไปได้ว่าอาจนึกถึงภาพวาดที่เล่าประวัติศาสตร์ด้วยสีสันฉูดฉาดบนกระดาษขาวอมเหลือง แต่งานของอาซากุระกลับใช้สีดำเพียงสีเดียว

“ในญี่ปุ่นสมัยโบราณ เราวาดภาพด้วยสีดำล้วนๆ การเติมสีสันนั้นมาทีหลัง เพราะฉะนั้นภาพวาดญี่ปุ่นดั้งเดิมแล้วเป็นสีดำ มันตั้งต้นจากตรงนั้น สีต่างๆ เพิ่มเข้ามาเมื่อมีการสกัดสีจากแร่ธาตุต่างๆ แล้วเอามาใช้ระบาย ซึ่งอาจจะเพิ่งผ่านมาได้เพียงพันปีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำจึงเป็นการกลับไปสู่การวาดแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น กลับไปที่แก่นของมัน” อาซากุระเล่าความเป็นมาเพื่อปูพื้นแก่เรา

“ผมคิดว่าหมึกดำเป็นสีที่สวยที่สุดเมื่อปรากฏอยู่บนกระดาษวาชิ ผมจึงเลือกใช้หมึกดำ (wash-ink) ในการวาดรูป และถ้าคุณเก็บรักษามันอย่างถูกวิธี ภาพวาดหมึกดำจะสามารถอยู่ได้นานมากกว่าพันปี และวาชิก็เป็นวัสดุที่อยู่ยงคงกระพันมาก แม้รูปลักษณ์จะดูบอบบาง ผมไม่แน่ใจเหมือนกันนะว่างานผมจะอยู่ได้นานถึงพันปีหรือเปล่า แต่ก็หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น”

อาซากุระซังเล่าต่อว่า อันที่จริงแล้ว สีดำเพียงสีเดียวสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 เฉด เพียงใช้หมึกชนิดเดียวและพู่กันแบบเดียว เขาก็สามารถสร้างเฉดได้มากกว่าที่คิด

“เมื่อสีดำมีห้าเฉดในตัวเอง ขณะที่ศิลปินวาดรูป เขาก็สามารถใส่รายละเอียดที่ต่างไปในแต่ละเส้นสาย หรือแม้แต่ตัวผู้ดูภาพนั้นเอง เฉดโทนภาพตรงหน้าก็อาจแปรเปลี่ยนไปขณะมอง สีดำทั้งห้าเฉดจึงแตกต่างไปตามผู้วาดและผู้ชม นับเป็นการสร้างสรรค์ที่เคลื่อนไหลไม่หยุดนิ่ง แม้จะเขียนวาดขึ้นด้วยสีสีเดียวคือสีดำ”

และข้อจำกัดของสีสันไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเล่าเรื่องสำหรับอาซากุระ

“ภาพที่ยอดเยี่ยมนั้น แม้จะวาดเพียงสายฝนซึ่งเป็นเพียงเส้นตรงลงมา คุณจะไม่ได้เห็นเพียงแค่เส้น แต่คุณจะเห็นอะไรที่ไปไกลกว่านั้น สัมผัสได้กระทั่งความชื้นของฝน ภาพที่ดีต้องแสดงสิ่งเหล่านั้นออกมาได้ด้วย”

จิตรกรผู้ทำงานด้วยการเจริญสติ

ทุกวันนี้อาซากุระซังทำงานศิลปะภายใต้การดูแลของแกลเลอรี Yufuku ซึ่งดูแลตั้งแต่ความเป็นอยู่ พื้นที่ในการทำงาน ไปจนถึงการผลักดันให้ผลงานของเขาได้ออกแสดงในวงกว้าง เป็นการเกื้อหนุนให้ศิลปินได้ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ และอยู่รอดได้ในทางการเงิน

วาเฮ อาโอยามา (Wahei Aoyama) เจ้าของแกลเลอรี Yufuku เล่าว่า “ในฐานะเจ้าของแกลเลอรี ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้อาซากุระซังโดดเด่น ก็คือการเลือกใช้วัสดุพื้นถิ่น การใช้หมึกดำและกระดาษวาชิมาสร้างสรรค์ด้วยวิธีการที่ดูร่วมสมัย หากย้อนมองงานศิลปะญี่ปุ่นทุกวันนี้ คุณจะแยกความแตกต่างระหว่างรูปเขียนสีน้ำมันไม่ได้เลย อาซากุระซังแตกต่างไปจากศิลปินอื่นๆ ตรงที่เขาใช้วิธีการที่คลาสสิกมาสร้างสรรค์สิ่งที่ร่วมสมัย เขาวาดภาพบนกระดาษม้วน (scroll) ซึ่งไม่มีใครทำแบบนั้นแล้วในญี่ปุ่น เขาใช้วัสดุและวิธีการที่โบราณก็จริง แต่นั่นก็เป็นเพียง ‘วิธีการ’ ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ล้ำสมัย เป็นเหตุผลให้พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีต่างๆ สนใจผลงานของเขา”

แต่กว่าจะอยู่ได้อย่างตั้งมั่นในแวดวงศิลปะ เส้นสายชีวิตของอาซากุระซังก็เคยซวนเซ

ผมรู้แล้วว่าจะต้องไม่หมกมุ่นกับการวาดภาพให้เป็นที่นิยมชมชอบ
แต่ต้องวาดสิ่งที่ตัวเองอยากวาดจริงๆ ตั้งแต่ยังเยาว์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดบนเส้นทางนี้

“ก่อนที่ได้พบกับยูฟุกุ ผมวาดอะไรไม่ออกมากว่าสามปี ผมเครียดมาก ไม่รู้ว่าจะวาดอะไร และไม่รู้ว่าควรขยับอย่างไรจึงจะสร้างสรรค์ภาพออกมาได้ดี แต่เมื่อได้พบกับทีมของวาเฮ ผมพบว่าต้องหาทางหวนกลับไปสู่แก่นของศิลปะที่ทำอยู่ ตระหนักว่าตัวเองทำอะไรได้ดีที่สุด แล้วมุ่งมั่นตั้งใจกับสิ่งนั้น ผมรู้แล้วว่าจะต้องไม่หมกมุ่นกับการวาดภาพให้เป็นที่นิยมชมชอบ แต่ต้องวาดสิ่งที่ตัวเองอยากวาดจริงๆ ตั้งแต่ยังเยาว์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดบนเส้นทางนี้ นั่นเป็นช่วงชีวิตที่ยากลำบาก แต่ที่สุดผมก็ค่อยๆ คลี่คลาย และเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองได้เดินมาถูกทางแล้ว”

จากการซวนเซสู่ความแน่วแน่ ทุกเส้นสายกลายเป็นสมาธิและสติที่ทำให้ภาพวาดออกมาสมบูรณ์แบบ

“แม้แต่หยดหมึกหยดเดียวก็อาจกลายเป็นความผิดพลาด หากจุ่มหมึกในพู่กันมากเกินไป มันก็จะหยดออกมา งานวาดของผมนั้นเป็นงานประณีต มีรายละเอียดมาก หากทำงานมาทั้งชิ้นแล้วสร้างความผิดพลาดด้วยหยดหมึกเพียงหยดเดียว ก็อาจทำลายภาพนั้นทั้งภาพได้เลย ผมจึงต้องระมัดระวังตั้งแต่เริ่มวาดจนกระทั่งทำงานชิ้นนั้นเสร็จ”

“แต่นั่นก็เป็นเรื่องของเทคนิค ขณะสร้างงาน สิ่งสำคัญสำหรับผมคือการฟังเสียงหัวใจตัวเอง ฟังให้ชัดว่าตัวเองต้องการสื่อสารอะไรออกมา เมื่อคุณเริ่มฟังอย่างตั้งใจ และได้ยินเสียงเหล่านั้นจริงๆ จากข้างในจนกระทั่งไม่ได้ยินเสียงอื่นใดเลย ตอนนั้นเองที่คุณรู้ว่ารูปที่ออกมาจะเป็นรูปที่ดี”

อาซากุระหยิบสมุดโน้ตออกมาเปิดกางบนโต๊ะ แสดงให้เห็นภาพร่างลายเส้นขยุกขยิก มีรายละเอียดเพียงคร่าวๆ แล้วเล่าว่า ก่อนใช้พู่กันวาดรูปจริงออกมา เขาจะจดร่างความคิดลงในสมุดเล่มนี้

“ผลงานที่ออกมาจริงนั้นแตกต่างไปจากภาพร่างมากทีเดียว ผมร่างใส่สมุดบันทึกเพื่อบันทึกไอเดีย แต่ไม่เคยร่างภาพบนกระดาษจริงก่อนวาด รายละเอียดทั้งหมดนั้นตามมาทีหลังเมื่อเริ่มสร้างงาน” เมื่อได้ยินเสียงชัตเตอร์รัวแทรกเสียงพลิกหน้ากระดาษ เขาบอกด้วยความขวยเขินและถ่อมตัว “อย่าถ่ายไปเยอะนะ ผมไม่เคยโชว์ที่ไหนเลย”

มองเข้าไปในดวงตาอ่อนโยนนั้น เรานึกถึงความนึกคิดของเขาขณะจรดปลายพู่กันลากไปตามพื้นผิวกระดาษ

“ขณะที่ผมวาดรูป สิ่งที่อยู่ในใจมักจะเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่าความคิด มันไม่ใช่การคิด แต่เพียงแค่การผุดออกมา”

แต่แม้จะมีแนวทางในการสร้างงานที่เด่นชัด แต่สิ่งที่ผุดออกมากลับไม่ซ้ำเดิม อาซากุระชอบที่จะลองอะไรใหม่ๆ

“หากจะให้ระบุสิ่งที่เป็นอุปสรรคมากที่สุด ผมคิดว่า ในฐานะศิลปิน ผมมีความต้องการจะวาดรูปให้ดีกว่าเดิมเสมอ ต้องการพัฒนาไปข้างหน้า แต่ก็ยากที่จะทำให้ทุกคนพอใจผลงานใหม่ที่ออกมา เพราะคนที่สนับสนุนชื่นชม เขาก็อาจจะอยากเห็นผลงานที่ไม่ต่างไปจากงานก่อนๆ เพราะฉะนั้นการคิดอะไรขึ้นมาใหม่ ทำอะไรใหม่ ก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับได้ง่ายนัก”

ปลุกสัตว์ในตำนานชินโต

ในชุดภาพวาด Of Legends and Lore ที่จัดแสดงอยู่นั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ในตำนานและเรื่องเล่าพื้นบ้านของญี่ปุ่น ซึ่งนี่ก็มีฐานมาจากการที่อาซากุระเป็นนักบวชชินโต และเริ่มวาดรูปจากเรื่องราวปกรณัมตามความเชื่อในลัทธิชินโต “ชีวิตของผมรายล้อมไปด้วยเรื่องราวเหล่านี้มาตั้งแต่วัยเด็ก เป็นธรรมดาที่ผมจะวาดสิ่งเหล่านี้ออกมา”

แต่เขาไม่ใช่คนหลงยุคที่มุ่งทำซ้ำตามขนบเก่า เขาบอกว่าอันที่จริงสิ่งเหล่านี้อยู่ในวิถีคิดของชาวญี่ปุ่นทุกคน

“เราต่างโตมากับตำนานของชินโต มีคนมากมายที่ซึมซับตำนานเหล่านี้ผ่านวัฒนธรรมป๊อปอย่างมังงะ”

อาโอยามาเสริมเพื่อให้เห็นภาพว่า “ในลัทธิชินโต เราบูชาธรรมชาติ เราเชื่อว่าสถานที่ในธรรมชาติทั้งหลายล้วนมีเทพารักษ์ปกปักอยู่ ทั้งบนภูเขา ในอากาศ และในน้ำ นี่คือการนับถือธรรมชาติ เป็นเหตุผลว่าเราทุกคนต่างสัมผัสสิ่งนี้ในทุกๆ วัน ในไทยเอง คุณก็น่าจะมีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติในแบบที่คล้ายกันนี้”

แม้จะผูกพันกับเรื่องราวในตำนาน แต่อาซากุระไม่ได้ยึดถือว่าจะต้องเรียนรู้และลอกเลียนรูปเหล่านั้นจากต้นแบบใด

“ผมมองเห็นมัน นกฟีนิกซ์ที่ผมวาดกำเนิดขึ้นจากใจของผมเอง ไม่ใช่นกฟีนิกซ์ตามขนบที่ผมต้องไปดูว่าศิลปินในอดีตเคยวาดไว้อย่างไร คุณอาจจะคิดว่าผมแปลก แต่เมื่อใดที่เห็นเฟรมว่าง ผมเห็นเส้นสายต่างๆ รออยู่บนนั้นแล้ว ผมก็แค่เติมเส้นเหล่านั้นให้ออกมาเป็นภาพจริง นี่คือวิธีการทำงานของผม มันง่าย เพราะผมเห็นทุกอย่างก่อนลงมือแล้ว แค่ต้องใช้เวลาในการเติมเส้นสายให้ภาพนั้นปรากฏ ซึ่งมันเป็นเรื่องสัญชาตญาณมากกว่าประสบการณ์นะ

“ไม่ว่าจะเป็นภาพนามธรรมหรือภาพเล่าเรื่อง ผมก็ใช้พลังงานรูปแบบเดียวกัน หากภาพวาดนั้นมีรูปแบบที่ธรรมดากว่า พลังงานก็จะรวมศูนย์เกิดเป็นรูปร่างของวัตถุมากกว่า แต่หากเป็นนามธรรม พลังงานก็จะออกมาในรูปแบบที่เป็นอิสระ มันเป็นพลังแบบเดียวกัน แต่อยู่ที่การควบคุมพลังงานนั้นๆ ว่าจะให้ออกมาเป็นภาพชัดเจนหรือคลุมเครือ”

 

จากโบราณสู่ความร่วมสมัย

อักษรวิจิตรซึ่งถ่ายทอดบทกลอนภาษาจีนโบราณ วาดลงบนแผ่นอลูมิเนียมเปลว หากต้องแสงในมุมที่ถูกต้อง มันจะกลายเป็นวัตถุสีขาว

อาซากุระซังเป็นศิลปินญี่ปุ่นคนแรกที่ทดลองวาดหมึกดำบนวัสดุอย่างอลูมิเนียม ก่อนหน้านี้เขาเคยทดลองกับแผ่นเงินเปลว แต่พบว่าสีจะหม่นไปตามกาลเวลา ในขณะที่อลูมิเนียมไม่แสดงปฏิกิริยาดังกล่าว นี่เป็นการพบกันระหว่างศิลปะการวาดภาพแบบโบราณและวัสดุร่วมสมัย เสมือนบทสนทนาต่างกาละบนพื้นที่ทางศิลปะ

“สำหรับตัวผมซึ่งทำหน้าที่เป็นศิลปิน ผมไม่เคยมองในมุมว่าอะไรที่ทำให้ตัวผมมีเอกลักษณ์แตกต่างไปจากศิลปินคนอื่นๆ นั่นน่าจะเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ นักสะสม หรือภัณฑารักษ์ที่จะตัดสินใจว่าอะไรที่ทำให้ผมมีเอกลักษณ์”

เราอาจคิดไปว่างานอาซากุระนั้นช่างสงวนรักษาความโบราณเอาไว้ จนอาจเข้าไม่ถึงคนรุ่นใหม่ แต่อาโอยามาซังคิดต่างออกไป

“คุณคงเคยได้ยินศิลปินชื่อยาโยอิ คุซามะ หรือศิลปินหลายๆ คนของญี่ปุ่น คนเหล่านั้นไม่ได้มีชื่อเสียงในญี่ปุ่นมาก่อน เรียกว่าไม่มีใครรู้จัก แต่พวกเขากลับมีชื่อเสียงมากๆ เมื่อนำงานออกไปแสดงในต่างประเทศ และกลายเป็นที่นิยมชมชอบ ก็เช่นเดียวกับอาซากุระซัง เขาได้ออกไปแสดงงานนอกประเทศถึงสามครั้งแล้ว และมีโอกาสที่เขาจะได้รับการแนะนำกลับเข้าไปในญี่ปุ่นใหม่ ในฐานะศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก และรูป 8 รูปที่จัดแสดงนี้ ก็เป็นผลงานเท่าที่เหลืออยู่หลังจากที่มีสถาบันต่างๆ ซื้อไปสะสมไว้”

แล้วการชมผลงานข้ามวัฒนธรรมเป็นอุปสรรคในการสื่อสารหรือไม่ อาซากุระซังตอบว่า

“แนวคิดการวาดภาพญี่ปุ่น (นิฮงกะ) นั้นจริงๆ แล้วค่อนข้างจะสมัยใหม่ ลองดูภาพภูเขารูปร่างแปลกประหลาดเหล่านี้สิ คงไม่มีภูเขาหน้าตาแบบนี้ที่ไหนจริงๆ หรอก แต่สิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อนั้น คือการแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดที่เขาเห็นว่ามันสวยงาม ความสวยงามเป็นอย่างไร และนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องการความรู้พื้นฐานใดๆ มาก่อนจะชมภาพ ผมคิดว่าภาพทั้งหมดไม่ว่าจะมาจากวัฒนธรรมใดๆ หรือยุคใดๆ กระทั่งรูปของผมเหล่านี้เอง เป็นเพียงการตีความความจริงออกมาในรูปแบบภาพวาด มันจึงไม่เกี่ยวกับความรู้ที่มีมาก่อน แต่การข้ามผ่านเส้นแบ่งทางวัฒนธรรมนั้นต้องอาศัยสุนทรีย์จากการมองมากกว่า”

 

ทั้งเรื่องสัตว์ในตำนาน และวิธีการทำงานที่ใช้น้ำจากในวัดมาผสมกับหมึกก่อนวาด จะพูดได้ไหมว่า งานศิลปะของเขาทำขึ้นมาเพื่อความเชื่อทางศาสนา

“ไม่ครับ มีไม่กี่คนหรอกที่มองภาพเหล่านี้แล้วคิดว่ามันเกี่ยวโยงกับศาสนา จริงๆ แล้วมีนักสะสมคนหนึ่ง ทำโยคะอยู่ด้านหน้าภาพวาดของผมทุกๆ วัน คล้ายกับว่าเป็นการเจริญสติอยู่เบื้องหน้าภาพวาดนั้น แต่คนทั่วไปอาจจะมองว่าภาพเหล่านี้เป็นสิ่งมงคลมากกว่า เพราะงานเกือบทั้งหมดนั้นเกี่ยวกับสัญลักษณ์แห่งความโชคดี ที่จะนำโชคชะตาที่ดีมาให้ เช่น นกฟีนิกซ์ มังกร แต่นั่นก็เป็นเรื่องของโชคลางมากกว่าศาสนา”

อย่างไรก็ตาม การทำงานและเจตจำนงของอาซากุระในการสร้างสรรค์ศิลปะก็ดูศักดิ์สิทธิ์สำหรับเรา แม้ไม่ต้องเอาคำว่า ‘ชินโต’ มาใส่กรอบให้รูปภาพเหล่านั้น

“ทุกการจรดปลายพู่กันลงบนผืนกระดาษ คือคำสวดมนต์ของผม สวดเพื่อสร้างความสุขของผู้ที่ได้ชมงานศิลปะชิ้นนั้น เพราะฉะนั้นการทำงานศิลปะก็คือการสวดอวยพรเพื่อสร้างความสุขให้กับทุกๆ คนที่ได้มาอยู่ตรงหน้าผลงานของผม ผมแค่หวังให้ผู้คนได้มีความสุขกับการชมภาพที่ผมวาด และรู้สึกโชคดีจากการได้ชมภาพนั้นก็พอแล้ว” อาซากุระซังหยีตา

“ศิลปะควรทำให้ผู้คนมีความสุข”

 

ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

FACT BOX:

นิทรรศการ Of Legends and Lore: Japanese Ink Paintings (‘ตำนาน’ ภาพเขียนหมึกดำร่วมสมัย) โดย ทากาฟูมิ อาซากุระ จัดแสดงอยู่ที่ Serindia Gallery Annex Open House Art Tower เซ็นทรัลเอ็มบาสซี ชั้น 6 ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2560

Tags: , , , , , , ,