When Philo Met Sophia 10
Non-Memory: เมื่อลืมไม่เท่ากับลบ
“Man is a mystery. It needs to be unravelled, and if you spend your whole life unravelling it,
don’t say that you’ve wasted time. I am studying that mystery because
I want to be a human being.”1
ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky)
1
ข้อคิดเห็นหนึ่งที่นักปรัชญามักใช้วิจารณ์นักปรัชญาด้วยกันก็คือ ความคิด/งานเขียน ‘ไม่เป็นระบบ’ แน่นอนว่านี่เป็นข้อวิจารณ์ที่วางอยู่บนระบบคิดแบบตะวันตกสมัยใหม่ที่ต้องการจัดแบ่งหมวดหมู่ความคิดให้ชัดเจน แนวคิดทางปรัชญาต้องมีข้อเสนอเป็นลำดับขั้นตอน มีความสอดคล้องทางตรรกะ และคำอธิบายที่กระจ่างชัดคงเส้นคงวา นักปรัชญาที่ไม่ได้ ‘สร้าง’ หรือผลิตผลงานบนมาตรฐานเหล่านี้ก็อาจถูกมองว่าเป็น ‘นักคิดไร้ระบบ’ หรือถึงที่สุดก็อาจไม่ใช่นักปรัชญาจริงๆ ด้วยซ้ำ
ในขณะที่ปรัชญาในยุคกรีกและโรมันโบราณสามารถ ‘บรรจุไว้ในข้อความที่กระชับและสั้นที่สุด’ ดังที่เพลโต (Plato) กล่าวไว้ใน Seventh Letter ซึ่งหมายรวมไปถึงว่า ‘สัจจะ’ จะคงอยู่ได้เพราะเป็น ‘สิ่งเข้าใจได้’ สอดคล้องกับคำกล่าวของ อ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) นักปรัชญาฝรั่งเศสจากต้นศตวรรษที่ 20 ที่ว่า “แก่นของปรัชญาอยู่ในจิตวิญญาณแห่งความเรียบง่าย (…) ที่มีอยู่สม่ำเสมอและในทุกหนแห่ง ความซับซ้อนเป็นเพียงเปลือกหุ้ม การประกอบสร้างเป็นเพียงเครื่องมือ การสังเคราะห์ เป็นเพียงภาพปรากฏกระบวนการทางปรัชญาคือการกระทำที่เรียบง่าย”
แล้วอะไรกันเล่าที่ทำให้นักปรัชญามากมายพยายามจำกัดตัวเองไว้ใต้ระบบ หรือกรอบคิดที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน ซึ่งอาจถูกต้องตามระเบียบวิธีที่เป็นจริงเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น? คำตอบหนึ่งที่ผมค่อนข้างคล้อยตามคือสิ่งที่ อแล็ง บาดิยู (Alain Badiou) นิยามไว้ว่า ปรัชญาคือการขบถทางตรรกะ (Logical Revolt)2
‘ปรัชญา’ ในความหมายนี้คือการสร้าง ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ผ่านการต่อต้านท้าทายทางตรรกะ หรืออย่างน้อยก็เป็นความพยายามที่จะเป็นอิสระจากกรอบเกณฑ์ความคิดที่มีมาก่อนหน้า จนบางระดับการขบถนี้ลุกลามไปสู่การต่อต้านปรัชญา (Anti-Philosophy) ซึ่งกลายเป็น ‘ภัยความมั่นคง’ ของระบบ หรือการมีอยู่ของ ‘ความจริง’ เช่นที่นักปรัชญาร่วมสมัยอย่าง ฌิลส์ เดอเลอซ (Gilles Deleuze) เห็นว่า ลุดวิก วิตต์เกินชไตน์ (Ludwig Wittgenstein) ถือเป็น ‘หายนะภัย’ สำหรับโลกปรัชญา
ดังนั้น การคัดแยกนักปรัชญาที่ไม่เข้าพวก หรือเป็นปฏิปักษ์กับปรัชญาออกไป จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแทบจะทุกช่วงประวัติศาสตร์ความคิด
2
วาสิลี โรซานอฟ (Vasily Rozanov) นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวรัสเซีย น่าจะเรียกได้ว่าเป็นนักปรัชญาอีกคนที่ไม่ถูกนับรวมด้วยความคิดอันพิสดารและยากจะจัดประเภทได้ โรซานอฟมีชีวิตอยู่ช่วงในรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 19-20 ด้วยความสนใจในประวัติศาสตร์ ศาสนา ความเชื่อ และเพศวิถี (Sexuality) ทำให้เขาถูกเรียกว่าเป็น ‘รัสปูตินแห่งโลกปัญญาชน’ เขาน่าจะเป็นนักเขียนรัสเซียคนแรกๆ ที่ออกมาแก้ต่างให้กับกลุ่มสตรีนิยม (Feminism) กลุ่มรักร่วมเพศ (Homosexual) และการพยายามจะทำความเข้าใจโครงสร้างการเมืองในครอบครัวนับว่าล้ำยุคและนำสมัยมากๆ
ข้อเสนอที่สร้างความอื้อฉาวให้กับโรซานอฟเรื่องหนึ่งที่ยังคงสร้างความกังขาและน่าฉงนใจมาจนถึงปัจจุบันนั่นก็คือการมองว่า อาชีพนักประพันธ์และปัญญาชนที่ทำหน้าที่ในโลกที่โรซานอฟเรียกว่า ลิขิตธิปไตย (Grammatocracy) ต่างก็เป็น ‘โสเภณี’
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นมากกว่าการประชดประชัน เพราะเน้นย้ำถึงความจำเป็นในแง่ที่นักประพันธ์และปัญญาชนต่างก็ต้องสนองความพึงพอใจของผู้อ่านด้วยกันทั้งสิ้น ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ข้อเสนอนี้เป็นการ ‘กลับลำ’ หรือเปลี่ยนการด้อยค่าวิชาชีพโสเภณีของโรซานอฟในยุคก่อนหน้า ให้กลายเป็นสิ่งที่เขาและเพื่อนร่วมวิชาชีพทั้งหลายสมควรจะภาคภูมิใจ3
อย่างไรก็ตาม โรซานอฟ (ซึ่งมิได้เป็นคนโปรดของราชวงศ์โรมานอฟ) ก็มักถูกฝ่ายก้าวหน้ามองว่าเป็นฝ่ายปฏิกิริยา-อนุรักษนิยม4 หรือยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อเขาวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำการปฏิวัติอย่าง เลนิน (Lenin) ส่งผลให้ผลงานเกือบทั้งหมดของโรซานอฟถูกห้ามตีพิมพ์เผยแพร่เป็นเวลาหลายสิบปี สืบเนื่องจาก ‘ความคิด’ ของเขาเป็นภัยต่ออุดมการณ์การปฏิวัติ ซึ่งแน่นอนว่ามีส่วนถูก เพราะในบั้นปลายชีวิตของโรซานอฟต้องเรียกว่า เขาต่อต้านการเมืองและมองว่าการเมืองเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ อุดมการณ์สูงสุดของเขาคือการเป็นสังคมที่ไร้การเมือง
3
โรซานอฟเกิดที่เมืองเวตลูกา (Vetluga) ในปี 1856 เติบโตในครอบครัวที่มีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างยากลำบาก พ่อที่เป็นผู้ดูแลป่าไม้เสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุได้เพียง 5 ขวบ แม้จะได้เงินบำนาญ แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกมากมาย โรซานอฟมีหน้าที่รับผิดชอบทั้งงานบ้านและที่ไร่ เขามักตัดพ้อว่าไม่ได้รับความรักความอบอุ่นใดๆ จากครอบครัว เป็นเพียงแค่แรงงานที่มีหน้าที่ทำงานตามคำสั่งของแม่และพี่ๆ หากกระนั้นโรซานอฟก็ยังได้รับการส่งเสียโดยพี่ชายคนโตทำให้เรียนจนถึงมหาวิทยาลัย ด้วยความเป็นคนแปลกและค่อนข้างขวางโลก โรซานอฟมักจะเข้าไปนั่งหลับในห้องบรรยาย และใช้เวลาเรียนรู้ส่วนใหญ่ในห้องสมุด
ก่อนสำเร็จปริญญาด้านประวัติศาสตร์และนิรุกติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมอสโกในปี 1881 โรซานอฟแต่งงานกับ โพลีนา ซูสโลวา (Polina Suslova) นักเขียนเรื่องสั้น โดยฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่าเขาถึง 16 ปี เธอเคยเป็นอดีตหญิงคนรักของ ดอสโตเยฟสกี (Dostoyevsky) นักประพันธ์ที่โรซานอฟชื่นชมยกย่องตลอดทั้งชีวิต
ดอสโตเยฟสกีเรียกโพลีนาว่า ‘โพลินาแห่งขุมนรก’ เพราะไม่เพียงแต่ชอบด่าทอ แต่ยังทำร้ายร่างกายดอสโตเยฟสกีอีกด้วย โรซานอฟพบกับเธอในช่วงก่อนดอสโตเยฟสกีเสียชีวิต 1 ปี เขาตกหลุมรักเธอ และต้องการแต่งงานกับเธอ อาจเพียงเพราะโพลีนาเป็นคนรักของนักเขียนที่เขาเทิดทูน
ต่อมาโรซานอฟให้ฉายาเธอว่า ‘คัทกาแห่งเมดิซิ’ ซึ่งมาจากชื่อ คาเทอรีน เดอ เมดิซีส์ (Catharine de Médicis) ที่สั่งการให้กำจัดฝ่ายอุกโนต์ (Huguenots) หรือชาวฝรั่งเศสที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์อย่างเลือดเย็น เป็นเวลากว่า 6 ปีที่โรซานอฟต้องอยู่ในชีวิตแต่งงานที่เปรียบดั่งขุมนรก
ผลงานที่ชื่อ O ponimanii หรือความเข้าใจ เกิดขึ้นในเวลาดังกล่าว โรซานอฟใช้เวลาว่างหลังจากการสอนนักเรียนชั้นมัธยมเขียนต้นฉบับ ที่เมื่อตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือแล้วมีความยาวร่วม 830 หน้า เป็นข้อเขียนทางปรัชญาที่ปัญญาชนอ่านแล้วไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นว่ามีคุณค่าความสำคัญใดๆ เพราะความไม่เป็นระบบ หรือไม่เป็นวิชาการอย่างเพียงพอ บ้างถึงขั้นวิจารณ์ว่า โรซานอฟไม่มีปัญญาลึกซึ้งเพียงพอ จึงจับเอาทั้งปรัชญา วรรณกรรม การเมือง ศาสนา และสังคมนำไปผสมรวมกัน
กว่าโรซานอฟจะได้รับการยอมในฐานะนักเขียน-ปัญญาชน ก็ภายหลังจากเขาย้ายไปทำงานเป็นข้าราชการที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (Saint Petersburg) และตีพิมพ์ผลงาน Mesto Khristianstvo v istorii หรือตำแหน่งแห่งที่ของคริสต์ศาสนาในประวัติศาสตร์ ที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงอย่างกว้างขวาง
หลังชีวิตแต่งงานล่มสลาย โพลีนาและโรซานอฟก็แยกกันอยู่ โดยที่ฝ่ายหญิงไม่ยอมเซ็นใบหย่าตลอดทั้งชีวิต อย่างไรก็ตาม โรซานอฟพบรักและทำพิธีแต่งงานลับๆ กับ วาร์วารา บูเทียจินา (Varvara Butiagina) ในปี 1889 และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับเธอจวบจนสิ้นลมหายใจ
โรซานอฟกับเพื่อนนักเขียน ดิมิทรี เมเรจคอฟสกี (Dmitry Merezhkovsky) และนิโคไล มินสกี (Nikolai Minsky) ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมทางปรัชญาขึ้นมา หนึ่งในทฤษฎีความรู้ที่โด่งดังมากที่สุดของโรซานอฟคือ ข้อเสนอที่ว่าจะต้องมีอย่างน้อย 1,000 มุมมอง จึงจะปรากฏความสอดคล้องของความเป็นจริง หรือเราจะเริ่มจับภาพความจริงได้ก็เมื่อหลังจากมุมมองที่ 1,000 ไปแล้ว ทำให้โรซานอฟขณะทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาสร้างตัวตนและนามปากกาขึ้นมามากมาย เพื่อนำเสนอภาพของมุมความคิดที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ฝ่ายกษัตริย์นิยม อนุรักษนิยม ไปจนถึงปีกซ้ายฝ่ายก้าวหน้า ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงระหว่างปี 1905-1907
ปี 1910 ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญสำหรับโรซานอฟ เมื่อวาร์วารา บูเทียจินาผู้เป็นภรรยาของเขาล้มป่วยกระทันหัน และร่างกายบางส่วนกลายเป็นอัมพาต เป็นวิกฤตชีวิตที่ส่งผลต่อตัวของโรซานอฟ แม้แต่กระบวนการทำงาน
จากการเขียนหนังสือ หรือบทความขนาดยาว เขาเริ่มหันไปจดสมุดบันทึก ซึ่งต่อมากลายเป็นผลงานชิ้นสำคัญในบั้นปลายชีวิต 3 ชิ้น ได้แก่ Uyedinyonnoye (1912) หรือวิเวกคติ, Opavshiye listya (1913–15) หรือใบไม้ร่วงโรย และ Apokalipsis nashego vremeni (1917–18) หรือวิวรณ์สมัย ผลงานทั้ง 3 ชิ้นมีรูปแบบการเขียนเป็นเสี้ยวส่วน (Fragmented) แต่มีการจัดวางธีมความคิดภายในเป็นอย่างดี
สำหรับ วิกเทอร์ ไชคลอฟสกี (Viktor Shklovsky) นักภาษาศาสตร์และนักทฤษฎีวรรณกรรมกลับเห็นว่า ผลงานทั้ง 3 ชิ้นของโรซานอฟเป็นวรรณกรรมไร้โครงเรื่อง (Literature Without Plot) หรือหากมีก็ ‘เบาบาง’ ที่สุด และในมุมมองของไชคลอฟสกีแล้ว ผลงานทั้งสามคือการพยายามจะหลบหนีไปจากสิ่งที่เรียกว่า ‘วรรณกรรม’ กระทั่งไชคลอฟสกีเชื่อด้วยซ้ำไปว่า ผลงานทั้งสามเป็นการสร้างแนวการเขียน (Genre) ในรูปแบบใหม่ขึ้นมา ผ่านการพิจารณาหรือนำเสนอภาพชีวิตประจำวัน
ดังเช่นในบทตอนหนึ่งของ Uyedinyonnoye เกิดขึ้นระหว่างที่โรซานอฟเดินทางไปร่วมงานวันเกิดมิตรสหาย เขาเขียนเอาไว้ว่า
เพราะการตีพิมพ์ความรักออกมานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ความรักอะไรเล่าที่จะอยู่ ‘ในหนังสือ’?
(ระหว่างเดินทางไปร่วมงานวันเกิด)
หรือ
ใช่ ความตาย-นั่นก็เป็นศาสนาด้วยเช่นกัน เป็นอีกศาสนาหนึ่ง ซึ่งฉันไม่เคยตระหนักถึงมาก่อน
. . . .
ขั้วโลก ม่านหิมะ ไม่มีสิ่งใด จะเทียบได้กับความตาย
. . . .
ความตายคือจุดจบ จุดที่เส้นขนานพบกัน หรือว่าต่างมาปะทะกัน-และไม่มีทางให้ไปต่อ กระทั่ง ‘กฎพื้นฐานของเรขาคณิต’
ก็ไม่อาจยึดถือได้อีกต่อไป
ใช่ ‘ความตาย’ เอาชนะแม้กระทั่งคณิตศาสตร์ ‘สองคูณสอง = ศูนย์’
(มองขึ้นไปบนฟ้า, ขณะยืนอยู่ในสวน)
หรือในงาน Opavshiye listya ภาคแรก
ชีวิตมาจากดุลยภาพอันไม่คงที่ (Unstable Equilibria) หากดุลยภาพในทุกหนแห่งคงที่เสียแล้ว ก็จะไร้ซึ่งชีวิต
เพียงแต่ดุลยภาพอันไม่คงที่นั้นนำมาซึ่งความหวาดวิตกในภัยอันตราย “ฉันรู้สึกไม่ค่อยดีเลย”
โลกเราจึงเต็มไปด้วยความหวาดวิตก และชีวิตก็ดำเนินต่อไปเช่นนั้น
และในงาน Apokalipsis nashego vremeni ชิ้นสุดท้ายที่โรซานอฟเขียนระหว่างหลบหนีจากการปฏิวัติ
วันหนึ่งชาติหรือประเทศก็จะสาบสูญไป
(ขณะมวนบุหรี่)
การครุ่นคิดที่ปรากฏในผลงานทั้ง 3 ชิ้นของโรซานอฟจึงอาจเรียกได้ว่า เป็นการ ‘ทำ’ ปรัชญาในชีวิตประจำวัน (Philosophy of Everyday Life) แม้ว่าโดยลึกๆ แล้วโรซานอฟเองจะต่อต้านปรัชญา หรือกระบวนการทางปรัชญาสถาปนาขึ้น ณ เวลานั้น
ผลงาน Uyedinyonnoye และ Opavshiye listya ทั้ง 2 ภาคสร้างชื่อเสียงและเงินทองให้เขาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็เป็นดังที่เราทุกคนทราบกันว่า โรซานอฟจบชีวิตในบั้นปลายด้วยความยากจน เขาต้องหนีเอาตัวรอด ทรัพย์สินที่เขาเคยมีถูกริบหรือถูกขโมยไปหมดสิ้น จึงไม่แปลกที่เขาจะมองการปฏิวัติเป็นเหมือน ‘บทวิวรณ์’ หรือ ‘วันสิ้นสุดโลก’
บรรณานุกรม
1“มนุษย์คือปริศนาที่ต้องการหาคำตอบ และหากคุณต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อหาคำตอบ ก็อย่าพูดเลยว่ามันเสียเวลา ผมกำลังศึกษาในปริศนาข้อนี้ เพราะผมต้องการที่จะเป็นมนุษย์” นี่เป็นข้อความที่เชื่อกันว่ากล่าวโดยฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี นักประพันธ์เอกชาวรัสเซียผู้ยิ่งใหญ่จากศตวรรษที่ 19 ซึ่งยังคงเป็นปริศนาเช่นกันว่า เขาพูดไว้ที่ไหนหรือเมื่อไร
2เป็นคำที่คิดขึ้นโดยอาร์ตูร์ แร็งโบด์ (Arthur Rimbaud) กวีชาวฝรั่งเศส ซึ่งต่อมาได้กลายไปเป็นชื่อกลุ่มเคลื่อนไหวและวารสารทางปรัชญาที่ก่อตั้งโดย ฌาคส์ ร็องซิแยร์ (Jacques Rancière)
3Klioutchkine, Konstantine. (2010). Turning tricks, baring devices: Vasily Rozanov as prostitute. The Slavic and East European Journal. 54. 415-433. 10.2307/23345083.
4โรซานอฟเคยอื้อฉาว จากการพยายามนำเสนอข้อสมมติฐานสุดพิสดารที่ว่า พระเยซูถูกสังหาร เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมความเชื่อที่ชาวยิวรับทอดมาจากอียิปต์ แม้ในช่วงวาระสุดท้าย เขาจะกลับลำและชื่นชมว่า ชาวยิวเป็นชนชาติที่เป็นเลิศที่สุด
Tags: ปรัชญาในชีวิตประจำวัน, Fyodor Dostoyevsky, Vasily Rozanov, Polina Suslova