When Philo met Sophia (01)

ปัญหาหัวใจ: the heart isn’t heart-shaped

“One of the troubles is this: the heart isn’t heart-shaped.”- Julian Barnes

1.

สำหรับใครที่เคยอ่าน A History of the World in 10½ Chapters (1989) ของจูเลียน บาร์นส์ (Julian Barnes) เชื่อว่าไม่มากก็น้อยต้องประทับใจกับบท 8½ ที่ชื่อ Parenthesis เพราะในบทนี้ บาร์นส์ได้นำพาเราไปรู้จักกับโฉมหน้าของ ‘ความรัก’ ผ่านการทำความเข้าความแตกต่างระหว่างหัวใจ (Heart) กับรูปหัวใจ (Heart-Shape) และกลายเป็นถ้อยคำที่ถูกอ้างอิงถึงกันต่อมาว่า “หนึ่งในปัญหาคือเรื่องนี้ หัวใจไม่ใช่รูปหัวใจ” ซึ่งเป็นนัยถึงความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ความรักไม่เคยเรียบง่ายเหมือนรูปหัวใจที่เราวาด หรือสัญลักษณ์หัวใจ (Heart Symbol) ทั้งในรูปแบบอีโมติคอนหรือสติกเกอร์ที่เราส่งให้แก่กัน ด้วยเพราะรูปร่างหัวใจของคนเราจริงๆ นั้นมีลักษณะจำเพาะที่ต่างกันไป และไม่สามารถกำหนด (Encoding) หรือสร้างขึ้นจากสมการ (x2 + y2 – 1)3 – x2y3 = 0 ได้

แน่นอนล่ะว่า มันคือการลดทอนที่ชาญฉลาดของนักออกแบบและจิตรกรนับจากปลายของยุคกลางเป็นต้นมา แต่ขณะเดียวกัน มันเป็นปัญหาที่เราควรจะระลึก หรือจดจำไว้ให้จงดีว่า ปัญหาหัวใจนั้นไม่ได้เรียบง่ายเหมือนรูปหัวใจ (ซึ่งเซียนไพ่ไทยๆ อาจเรียกมันว่า ใบโพธิ์คว่ำ) 

(x2 + y2 − 1)3 − x2y3 = 0 สมการรูปหัวใจ แบบ Implicit heart curve

คำกล่าวสั้นๆ ของบาร์นส์ดูจะส่งผลสะเทือนใจให้ใครต่อใครมากมาย และกระทั่งกลายเป็นบทสรุปรวบยอดความคิดเกี่ยวกับความรักในบทที่ 8½ ที่เขาแสดงให้เราเห็นว่า ‘ความรัก’ อาจเหมือนก้อนเนื้อหนักๆ ที่เรียกว่า ‘หัวใจ’ อวัยวะแรกสุดที่สร้างขึ้นนับจากการปฏิสนธิ ที่กลายเป็นอวัยวะเดียวที่ไม่เคยหยุดทำงานตั้งแต่ถูกสร้างขึ้นมา มันแปรเปลี่ยนขนาด รูปร่าง และแม้แต่ตำแหน่งที่ตั้งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ครั้นเมื่อถึงคราวที่เราสิ้นลม รูปทรงสุดท้ายของหัวใจจะแลดูคล้ายกับ ‘พีระมิด’

บทพรรณนาถึง ‘หัวใจ’ ที่แลดูน่าประหวั่นพรั่นพรึง (แน่ล่ะ ในบทนี้บาร์นส์ได้ชำแหละหัวใจวัวในราคา 4.2 ปอนด์ ร่วมกับเพื่อนที่เป็นนักรังสีวิทยา และทำให้เห็นว่าอวัยวะส่วนนี้มีส่วนประกอบภายในอย่างไรบ้าง) ก็เหมือนเช่น ‘ความรัก’ ที่บาร์นส์ได้ค้นพบในวันหนึ่งว่า มันไม่ใช่สิ่งเติมเต็มชีวิต (หรือถ้าพูดในท่วงทำนองของนักจิตวิเคราะห์ ‘ความรัก’ คือเครื่องยืนยันถึง ‘ความขาด’ ของเรา ความปรารถนาที่ไม่มีวันเติมเต็มได้) ความรักจึงไม่ได้นำมาซึ่งความสุข ไม่ว่าจะสำหรับตัวเขาเอง หรือสำหรับคนที่เขารัก คนที่เชื่อว่า ความรักคือความสุข ความรักคือความสมบูรณ์ของชีวิต ในที่สุดย่อมจะต้องถูกความรักบดขยี้ราวกับกงล้อประวัติศาสตร์ ด้วยเพราะ ‘ความรัก’ ที่เรามีย่อมพร้อมจะกลายเป็นความรักพังๆ ความรักที่พินาศย่อยยับไม่มีชิ้นดียิ่งกว่าเศษซากเครื่องบินตก

อาจฟังดูโหดร้าย แต่ก็เปราะบางพร้อมจะแหลกสลายทุกขณะจิต ไม่ว่าเราจะรัก หรือพยายามจะรักให้ดีกว่าเดิม ความรักจึงรับประกันความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานได้มากเสียยิ่งกว่าความสุขสมหวังเสียด้วยซ้ำไป แต่ถึงกระนั้น ท่ามกลางเรื่องราวร้ายๆ ที่จะเกิดขึ้นเพราะความรัก บาร์นส์กลับยืนยันว่า ‘ความรัก’ เป็นสิ่งที่มนุษย์เรายังต้องการ ถึงมันจะไม่ใช่ความสุขสมบูรณ์ในชีวิต แต่มันคือ ‘ความเป็นไปได้’ อย่างหนึ่งที่เราจะมีสุข และค้นพบความหมายของการดำรงอยู่

บาร์นส์ให้เหตุผลและคำอธิบายเช่นนี้ว่า ถ้ารูปแบบของจักรวาลที่เราอยู่นั้นเป็นไปตามหลักเอนโทรปี (Entropy) ที่แปลเป็นภาษาปกติทั่วไปได้ว่า ทุกสรรพสิ่งในจักรวาลนี้จะนำไปสู่จุดที่ฉิบหายวายป่วงในที่สุด เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งอย่างที่กำเนิดขึ้นนับตั้งแต่ดวงอาทิตย์ไปจนถึง ‘ความรัก’ ก็ย่อมจบสิ้นลงได้ ดังนั้น การเชื่อในความรักยังคงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ต่างจากที่เราเชื่อใน ‘ความจริง’ หรือแม้แต่ ‘เจตจำนง’ ของเรา ความรักสำหรับบาร์นส์จึงผูกโยงกับ ‘ความจริง’ หรือพูดในอีกทาง ‘ความรัก’ ทำให้เรามองเห็น ‘ความจริง’ อีกทั้งยังผลักดันให้เราประกาศ ‘ความจริง’ ออกมา

2.

Saint Augustine (1645-1650) โดย ฟิลิปป์ เดอ ช็องปาญ  

ถึงตรงนี้ ใครที่คุ้นเคยกับงานศิลปะ คงนึกไปถึงภาพของเซนต์ออกุสติน (Saint Augustine) ที่วาดโดย ฟิลิปป์ เดอ ช็องปาญ  (Philippe de Champaigne) จิตกรชาวเฟลมิชจากสมัยบาโรก ซึ่งในภาพนั้น ออกุสตินถือปากกาทำจากขนนกข้างหนึ่ง อีกข้างถือ ‘รูปหัวใจ’ ที่มีเปลวเพลิงลุกไหม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนหัวใจของพระเจ้า โดยช็องปาญวาดให้ปลายของเปลวเพลิงนั้นเอนเอียงมาทางศีรษะของออกุสติน จนก่อเกิดรัศมีรอบๆ ที่เหมือนทำให้ออกุสตินแลเห็น Veritas คำภาษาละตินที่แปลว่า ‘ความจริง’ ตรงด้านซ้ายสุดของภาพ ‘หัวใจ’ ที่นำไปสู่การเห็นความจริง แม้หัวใจนั้นจะไม่ใช่หัวใจของมนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเรา 

แน่นอนว่าบาร์นส์ไม่ได้เอ่ยถึงภาพเขียนโด่งดังชิ้นนี้ของเดอ ช็องปาญ หากเพียงแค่เอ่ยถึงภาพ The Burial of the Count of Orgaz (1586) ของ เอล เกรโค (El Greco) จิตรกรเอกจากยุคเรอเนสซองซ์ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นจิตรกรรมชิ้นเอกที่ถ่ายทอดความจริงได้ดีที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะจิตรกรได้บรรจุภาพของบุคคลสำคัญต่างๆ ในห้วงเวลานั้นไว้ในภาพ เพียงแต่มีสายตาของชายคนหนึ่งที่จ้องมองกลับมายังคนดู (ที่จริงมีเด็กเล็กๆ อีกคนหนึ่งด้วยที่มองออกมา แต่บาร์นส์มิได้กล่าวถึง) นักประวัติศาสตร์ศิลปะลงความเห็นว่า ชายคนนี้ก็คือจิตรกรเอล เกรโคเองนั่นเองที่เหมือนกับการประกาศแก่ผู้ชมว่า ฉันคือคนวาดภาพนี้ และฉันอยากให้ทุกคนรู้ 

บาร์นส์ยกตัวอย่างสายตาของเอล เกรโคขึ้นมาเชื่อมโยงกับอาชีพนักเขียนนวนิยายหรือนักเขียนร้อยแก้ว (Prose Writer) ที่สุดท้ายแล้วมีความจำเป็นต้องประกาศให้ผู้อ่านรับรู้ว่า ผม/ฉัน ที่เขียนถึงคือใคร ด้วยเหตุนี้เองบาร์นส์จึงเห็นว่า นักเขียนร้อยแก้วมีความเสียเปรียบนักกวี (Poet) โดยเฉพาะยามเมื่อเขียนเกี่ยวกับ ‘ความรัก’

The Burial of the Count of Orgaz (1586) ของเอล เกรโค (El Greco)

เพราะนักกวีสามารถคงความคลุมเครือของสรรพนาม ผม/ฉัน ไปจนจบ ไม่เพียงเท่านั้น กวีจำนวนมากสามารถเขียนเรื่องรักร้ายๆ ห่วยๆ หรือเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัวให้เป็นบทกวีที่งดงามได้ ในขณะที่นักเขียนนวนิยายหรือนักเขียนร้อยแก้วทั้งหลาย บาร์นส์เห็นว่า พวกเขาทำได้แค่เพียงเปลี่ยนเรื่องรักเหล่านั้นให้เป็นข้อเขียนหรือเรื่องราวเกี่ยวกับความรักร้ายๆ ห่วยๆ เพียงเท่านั้น 

อย่างถ้อยคำอันโด่งดังของกวี ฟิลิป ลาร์คิน (Philip Larkin) ที่ว่า “What will survive of us is love.” หรือ “สิ่งที่จะคงเหลืออยู่ของเราคือความรัก” บาร์นส์ก็ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่จะคงอยู่จริงๆ คือ ‘บทกวี’ ของลาร์คินที่เขาได้เขียนถึง ‘ความรัก’ เท่านั้น 

ความรักจริงๆ กับความรักในจินตนาการของกวี นักเขียน นักทฤษฎี หรือแม้แต่เราทั้งหลายจึงมีความแตกต่างกันอยู่ ซึ่งนำพาเรากลับไปสู่ปัญหาสำคัญ ที่บาร์นส์ได้กล่าวไว้ “หัวใจไม่ใช่รูปหัวใจ”

แต่นั่นไม่ได้แปลว่า กวีจะเป็นคนปากหวาน เชื่อไม่ได้ เพราะบาร์นส์เองก็ได้ชี้ให้เห็นว่า อย่างน้อยก็มี ดับเบิลยู. เอช. ออเดน (W.H. Auden) กวีและนักวิจารณ์ชาวอังกฤษคนหนึ่งที่เคยได้เอ่ยวาทะสำคัญ ผ่านจดหมายฉบับหนึ่งที่เขาเขียนไปถึง อี. เอ็ม. ฟอสเตอร์ (E.M. Foster) นักประพันธ์นวนิยายชาวอังกฤษว่า “We must love one another or die.” หรือ “เราจะต้องรักใครสักคนหรือไม่ก็ตายไปเสีย” แต่ในภายหลังจากนั้นอีกหลายปีต่อมา ออเดนก็เปลี่ยนใจ และได้ประกาศความคิดในเรื่องนี้ใหม่ว่า “We must love one another and die.” หรือ “เราจะต้องรักใครสักคนและตายไปเสีย”

การเปลี่ยนคำว่า ‘หรือ’ เป็น ‘และ’ (ภาษาไทยอนุโลมให้ใช้คำว่า ‘แล้ว’ ได้ด้วยเช่นกัน) ทำให้เราได้เห็นความหมายที่แตกต่างไปของคำประกาศนี้ ที่อันแรกเป็นนัยของทางเลือก ซึ่งฟังดูไม่สมเหตุสมผลสำหรับบาร์นส์สักเท่าไรนัก แต่ขณะที่อันหลังสมเหตุสมผลกว่า และให้ความหมายกับชีวิตมากกว่า ตรงที่มันย้ำเน้นการได้รักใครสักคนหนึ่งก่อนจะอำลาโลกนี้ไปเสีย

3.

ในขณะที่ผมกำลังเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่าง ‘หัวใจ’ กับ ‘รูปหัวใจ’ มิตรสหายและคนรู้จักของผมอีกหลายคนต่างก็กำลังเผชิญปัญหากับความยอกย้อนไม่ลงรอยกันระหว่าง ‘หัวใจ’ กับ ‘รูปหัวใจ’ หรือกล่าวให้ถูกต้องกว่าก็คือ ปัญหาระหว่าง ‘ความรัก’ ในโลกความเป็นจริง กับ ‘ความรัก’ ในโลกความนึกคิด/จินตนาการ ที่สร้างความเจ็บปวดและบาดแผลให้คนที่รักกัน มีบางคนพยายามเขียน พยายามเดินทางมาพบเพื่อพูดคุยปรึกษา ด้วยหวังว่า ผมอาจจะสามารถช่วยเหลือหรือชี้ทางสว่างแก่พวกเขาได้ ซึ่งแน่นอนว่า ผมช่วยเหลือได้มากที่สุดก็เพียงแค่รับฟัง ส่วนสิ่งที่เป็น ‘ความรู้’ หรือ ‘ความจริง’ เกี่ยวกับความรักนั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาจะได้มาด้วยตัวเอง

สิ่งที่ผมทำได้อีกอย่างในเวลานี้ คือการเน้นย้ำในสิ่งนักเขียนอย่างบาร์นส์ หรือนักคิดจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่า มนุษย์เรานั้นเกิดมาพร้อมกับความผูกพันกับชีวิตอื่นๆ พันธะเหล่านี้ช่วยขยายพื้นที่ของหัวใจ และเป็นพื้นที่ของหัวใจ (ไม่ใช่แสงสว่าง) ยิ่งมากก็ยิ่งทำให้เราแลเห็นและเข้าใจความจริงได้มากขึ้น

การเริ่มต้นรัก หรือทำความเข้าใจ ‘ความรัก’ จึงอาจต้องเริ่มจากการมองว่า ‘ความรัก’ และความสัมพันธ์ระหว่างคนรักไม่เคยราบเรียบสุขสงบ ‘ความรัก’ ทำลายชีวิตเดิมที่เรารู้จัก พร้อมไปกับการสร้างชีวิตใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย ในหลายครั้งหลายครา ‘ความรัก’ ผลักดันให้เราทำตรงกันข้ามกับหัวใจเรา เพราะเราให้ความสำคัญกับอีกหนึ่งหัวใจมากกว่า

‘ความรัก’ ของหลายคนจบสิ้นลง ไม่ใช่เพราะแค่เกลียดกัน หรือรักได้อย่างไม่ดีพอ แต่เป็นเพราะธรรมชาติของความรักหรือของโลกใบนี้ ที่ความสุขจะหาได้ยากยิ่งกว่าความทุกข์ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราได้รับความสุขอย่างล้นเกิน มันก็จะเปลี่ยนเป็นความเบื่อหน่าย 

โลกเป็นสถานที่ที่ความทุกข์ ความผิดหวัง งอกเงยได้ดีกว่า และเพราะฉะนั้น เราจึงยังต้องมีความหวังและความรัก ที่แม้จะเป็นเรื่องยาก ไม่เคยเรียบง่าย เหมือนอย่างที่เราวาดรูปหัวใจ

Tags: , ,